เปิดตัว"มอลลี กิบสัน" เด็กผู้จุดประกายความหวังผู้ มีลูกยาก - Amarin Baby & Kids
ทารกจากตัวอ่อนแช่แข็ง ความหวังคนมีลูกยาก

เปิดตัว”มอลลี กิบสัน” เด็กผู้จุดประกายความหวังผู้ มีลูกยาก

event
ทารกจากตัวอ่อนแช่แข็ง ความหวังคนมีลูกยาก
ทารกจากตัวอ่อนแช่แข็ง ความหวังคนมีลูกยาก

มีลูกยาก ทำไงดี เทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยได้ พิสูจน์แล้วจากหนูน้อย มอลลี่ กิบสัน ทารกที่เกิดจากตัวอ่อนที่ถูกแช่แข็งมานานถึง 27ปีมารู้จักเธอพร้อมแนวทางในไทยกัน

เปิดตัว”มอลลี กิบสัน” เด็กผู้จุดประกายความหวังผู้ มีลูกยาก!!

ปัจจุบันศาสตร์ความรู้และเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่มีความเจริญก้าวหน้าไปมาก ทำให้ภาวะการมีลูกยากของคู่สามีภรรยาที่ไม่พร้อม ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เช่น การใช้ “อสุจิ” หรือ “ไข่” ของผู้ที่ไม่ใช่พ่อแม่มาทำเด็กหลอดแก้ว ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการช่วยคู่สมรสที่มีลูกยากให้สามารถมีลูกได้สมใจ

เด็กหลอดแก้ว  “มอลลี กิบสัน” ทารกผู้เกิดจากตัวอ่อนที่ถูกแช่แข็งนานที่สุดในโลก

มอลลี กิบสัน (Molly Gibson) ถือกำเนิดลืมตาดูโลกในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แต่ตัวอ่อนของเธอถูกแช่แข็งตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 1992 หรือถูกแช่แข็งมายาวนาน 27 ปีกว่าจะได้ลืมตาดูโลก ครอบครัวกิบสันประสบปัญหามีบุตรยากมาโดยตลอด และได้ติดต่อศูนย์บริจาคตัวอ่อนแห่งชาติ หรือ NEDC (National Embryo Donation Center) องค์กรไม่แสวงหากำไรซึ่งเก็บตัวอ่อนแช่แข็งของคนไข้ที่มาเข้ารับการทำเด็กหลอดแก้วแต่ไม่ได้ใช้ตัวอ่อน

มอลลี่ กิบสัน ทารกจากตัวอ่อนแช่แข็งนาน 27 ปี
มอลลี่ กิบสัน ทารกจากตัวอ่อนแช่แข็งนาน 27 ปี

ตัวอ่อนของมอลลี ถูกรับบริจาคโดยสามีภรรยา ทีนา (Tina) และ เบน กิบสัน (Ben Gibson) ซึ่งอาศัยอยู่ในรัฐเทนเนสซี สหรัฐอเมริกา ทำให้ มอลลี ได้ทำลายสถิติตัวอ่อนที่ถูกแช่แข็งก่อนที่จะได้เกิดเป็นเด็กทารกได้นานที่สุดในโลก โดยที่เจ้าของสถิติก่อนหน้านี้คือ เอมมา กิบสัน พี่สาวของเธอเอง

NEDC ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 17 ปีก่อน และได้ดำเนินการบริจาคตัวอ่อนให้ผู้ที่ต้องการมาแล้วหลายคน จนถึงขณะนี้มีทารกที่กำเนิดจากตัวอ่อนแล้วมากกว่า 1,000 คน โดยที่ในปัจจุบันมีการบริจาคตัวอ่อนราว 200 ตัวในแต่ละปี โดยที่ผู้ขอรับบริจาคประมาณ 95% เป็นผู้ที่ประสบปัญหามีบุตรยาก อายุการเก็บรักษาตัวอ่อนแช่แข็งไม่มีที่สิ้นสุด แต่กรอบเวลาถูกจำกัดด้วยอายุของเทคโนโลยี ทารกคนแรกที่เกิดจากตัวอ่อนแช่แข็งที่ได้มาจากการบริจาคของคนไข้ทำเด็กหลอดแก้วเกิดในออสเตรเลียในปี 1984

ข้อมูลอ้างอิงจาก brandthink

จากข่าวของหนูน้อยมอลลี่ ข้างต้นทำให้คู่สมรสที่มีลูกยากหลาย ๆ คู่คงสงสัยกันแล้วว่าการทำเด็กหลอดแก้วด้วยการใช้ตัวอ่อนที่ถูกแช่แข็งนั้น ในประเทศไทยมีการบริการดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร วันนี้ทาง ทีมแม่ ABK จึงได้ทำการหาข้อมูลเกี่ยวกับภาวะการ มีลูกยาก ขั้นตอนการรักษา รวมถึงสถานการณ์แนวโน้มการแช่แข็งตัวอ่อนเพื่อการทำเด็กหลอดแก้วในประเทศไทยมารวบรวมไว้ให้ได้ศึกษากัน เพื่อเป็นข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจ เผื่ออยากจะมีเทพธิดาตัวน้อยน่ารัก ๆ แบบหนูน้อยมอลลี่ กิบสัน กันบ้าง

ลูกคุณไข่ของใคร?ลูกใครมาจากไข่ของคุณ?

สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  จัดเสวนา คุยกัน…ฉันท์วิทย์ เรื่อง “ลูกคุณ…ไข่ของใคร ลูกใคร…มาจากไข่ของคุณ”

นายแพทย์สมชาย สุวจนกรณ์ สูติ-นรีแพทย์   ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาผู้มีบุตรยาก โรงพยาบาลพระรามเก้า  กล่าวว่า  การทำเด็กหลอดแก้ว ถือเป็นทางเลือกในการรักษาตอนท้าย ๆ หลังจากที่รักษาโดยวิธีอย่างอื่น เช่น  การกระตุ้นการตกไข่  การฉีดเชื้อเข้าโพรงมดลูก  หรือการผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติของมดลูกและรังไข่ ฯลฯ  แล้วไม่เกิดการตั้งครรภ์

วิธีการการทำเด็กหลอดแก้ว เริ่มจากการกระตุ้นไข่ การเก็บไข่ออกมาปฏิสนธิกับอสุจิในห้องปฏิบัติการจนได้ตัวอ่อน แล้วเลี้ยงตัวอ่อนภายนอกร่างกายประมาณ 2-5 วัน เพื่อให้ตัวอ่อนเจริญเติบโตจนถึงระยะพร้อมจะฝังตัว จากนั้นจึงนำไปใส่คืนในโพรงมดลูก    ซึ่งในขั้นตอนการเก็บไข่นั้น แพทย์จะฉีดยาเพื่อกระตุ้นให้ไข่สุกหลายๆใบ  (เฉลี่ยประมาณ 10 ใบต่อครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุของผู้ถูกกระตุ้น)  เพื่อนำมาปฏิสนธิกับอสุจิที่เตรียมไว้ให้เกิดตัวอ่อนจำนวนมากในครั้งเดียว โดยวิธีนี้มีข้อดีคือทำให้การใส่ตัวอ่อนกลับในโพรงมดลูกสามารถทำได้มากกว่า 1 ตัวอ่อน(เฉลี่ยครั้งละ 2-3 ตัวอ่อน)  เพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์  อีกทั้งหากการใส่ตัวอ่อนครั้งแรกไม่สำเร็จ (เนื่องจากการใส่ตัวอ่อนแต่ละครั้งจะมีโอกาสตั้งครรภ์เพียง 30 % เท่านั้น) ก็สามารถนำตัวอ่อนแช่แข็งที่เหลือมาใช้ได้ทันที ซึ่งเท่ากับช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้าน ยาฉีด ,การเตรียมอสุจิ, การปฏิสนธิ ได้มาก  แต่ในกรณีของผู้เข้ารับการรักษาที่ประสบความสำเร็จตั้งครรภ์ได้ตั้งแต่ในช่วงการใส่ตัวอ่อน 1-2  ครั้งแรก จะทำให้เหลือตัวอ่อนแช่แข็งจำนวนหนึ่ง ซึ่งผู้เข้ารับการรักษาจะต้องตัดสินใจว่าจะมีแนวทางการจัดการตัวอ่อนแช่แข็งที่เหลืออย่างไร ทั้งนี้ในหลายประเทศ เช่น ประเทศออสเตรเลียได้มีกฎหมายที่ชัดเจน คืออนุญาตให้เก็บตัวอ่อนแข็งได้ไม่เกิน 5 ปี จากนั้นผู้เข้ารับการรักษาต้องแสดงเจตจำนงว่าจะทำลายตัวอ่อนทิ้ง หรือจะบริจาคให้หน่วยงานวิจัย หรือบริจาคให้แก่คู่สมรสอื่นที่มีภาวะมีบุตรยาก เป็นต้น

มีลูกยาก เทคโนโลยีช่วยได้
มีลูกยาก เทคโนโลยีช่วยได้

“ส่วนในบ้านเรายังไม่มีกฎหมายที่ชัดเจนถึงระยะเวลาการเก็บรักษาหรือการจัดการใดๆ ส่วนใหญ่ผู้เข้ารับการรักษามักจะขอเก็บแช่แข็งตัวอ่อนไว้ก่อน  และทางโรงพยาบาลจะมีการติดต่อเก็บค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาอย่างต่อเนื่องทุกปี หากคู่สมรสใดไม่ต้องการเก็บไว้ ทางโรงพยาบาลจะให้แสดงเจตจำนง 2 แนวทาง คือ 1. บริจาคเพื่อการวิจัยทดลองทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งในทางปฏิบัติยังไม่มีการนำมาใช้ เพราะยังเป็นข้อถกเถียงในด้านจริยธรรมการทดลอง หรือ 2. บริจาคให้คู่สมรสที่มีปัญหาทั้งอสุจิและไข่  โดยปัจจุบันยังปิดข้อมูลของคู่สมรสที่บริจาคไว้เป็นความลับเพราะยังไม่มีกฎหมายรองรับและในทางสังคมน่าจะเป็นแนวทางปฏิบัติที่มีผลดีต่อครอบครัวทั้งคู่มากกว่า หากแต่ว่าคู่สมรสบางส่วนที่บริจาคมักจะมีข้อกังวลว่าเด็กจะมีโอกาสมาพบกันหรือแต่งงานกันหรือไม่ ซึ่งแม้ในความเป็นจริงจะมีโอกาสเกิดได้ แต่เป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมาก  จึงทำให้สัดส่วนการบริจาคในปัจจุบันยังมีไม่ถึง 10%   ส่วนเรื่องการกำจัดตัวอ่อนทิ้งนั้นยังไม่มีในประเทศไทย เพราะในประเด็นทางจริยธรรมยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่าตัวอ่อนถือว่ามีสถานะเป็นชีวิตแล้วหรือไม่”

นายแพทย์สมชาย  กล่าวต่อว่า ปัญหาปัจจุบันแนวโน้มของตัวอ่อนแช่แข็งจะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ มีการจัดเก็บอย่างกระจัดกระจายในแต่ละโรงพยาบาลโดยไม่มีกรอบกำหนดทิศทางที่ชัดเจน ซึ่งหากใครมองว่าตัวอ่อนเป็นแค่เซลล์ธรรมดาแล้วมีการทำลายทิ้งก็จะเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย  แนวทางการจัดการที่ดีมองว่าน่าจะมีธนาคารจัดเก็บตัวอ่อน เพื่อรวบรวมตัวอ่อนแช่แข็งจากโรงพยาบาล โดยมีการทำข้อมูลเก็บไว้อย่างละเอียด ส่วนค่าใช้จ่ายอาจจะมาจากแต่ละหน่วยงาน เพื่อว่าหากในอนาคตมีกฎหมายหรือแนวทางที่รองรับว่าสามารถนำตัวอ่อนไปใช้ประโยชน์ได้  ก็จะมีคุณค่ามาก ซึ่งค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาก็ไม่ได้มีต้นทุนสูงมากนัก

ข้อมูลอ้างอิงจาก กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

สรุปความได้ว่า

  • เมื่อคู่สมรสมีภาวะการมีลูกยาก จะมีขั้นตอนการรักษาตามขั้นตอน โดยเริ่มต้นจากการซักประวัติ ตรวจเลือด ตรวจเชื้ออสุจิ ตรวจภายในของทั้งคู่ หลังการตรวจวินิจฉัยและทราบสาเหตุ จะรักษาตามสาเหตุนั้น ๆ ก่อน เช่น ติ่งเนื้อในโพรงมดลูก ถุงน้ำ chocolate เป็นต้น กรณีที่แก้ไขปัจจัยนั้น ๆ แล้วยังไม่ตั้งครรภ์ หรือไม่สามารถแก้ไขได้ แพทย์จะพิจารณาใช้ เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ตามความเหมาะสมต่อไป
  • การทำเด็กหลอดแก้วเป็นวิธีหนึ่งในเทคโนโลยีช่วยแก้ปัญหาภาวะการมีบุตรยาก นอกจากเด็กหลอดแก้วแล้วเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ยังมีเทคโนโลยีอื่น ๆ อีก เช่น การใส่เซลล์สืบพันธุ์เข้าไปในท่อนำไข่ (GIFT: gamete intrafallopian transfer), การนำตัวอ่อนที่ได้รับการผสมแล้วเข้าไปในท่อนำไข่ (ZIFT: zygote intrafallopian transfer), การฉีดอสุจิเข้าไปในไข่ (ICSI: intracytoplasmic sperm injection) การย้ายตัวอ่อนในระยะต่าง นอกจากนี้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ยังรวมไปถึงกระบวนการตัดแยกเซลล์ของตัวอ่อน (blastomere biopsy) เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยตัวอ่อนก่อนการฝังตัว (preimplantation genetics diagnosis) ด้วย ซึ่งจะใช้วิธีใดก็ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ตามสาเหตุที่แตกต่างกันไปของแต่ละคู่สมรสที่เข้ารับการรักษา
  • การแช่แข็งตัวอ่อน หรือกระบวนการแช่แข็งตัวอ่อน คือ กระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความเย็น เพื่อเก็บรักษาไข่ที่ปฏิสนธิแล้ว เพื่อที่ว่าจะได้ย้ายกลับเข้าสู่โพรงมดลูกในระยะต่อไป ซึ่งในการกระตุ้นไข่แต่ละครั้งอาจได้จำนวนไข่หรือตัวอ่อนมากกว่าตัวอ่อนที่จะใส่ในแต่ละครั้ง โดยทั่วไปจะใส่ตัวอ่อนต่อครั้งไม่เกิน 3 ตัวอ่อน ดังนั้นตัวอ่อนที่เหลือก็สามารถเก็บไว้โดยการแช่แข็งที่อุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียส
    รวมทั้งไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิแล้ว แต่ยังไม่สามารถย้ายฝากเข้าสู่โพรงมดลูกได้ไม่ว่าด้วยภาวะใดก็ควรจะได้รับการแช่แข็ง เพื่อเก็บรักษาไว้ เมื่อต้องการใช้ตัวอ่อนที่ถูกแช่แข็งตัวอ่อนจะถูกทำให้กลับคืนสู่สภาวะอุณหภูมิเดิมตามขั้นตอนทางเทคนิค รวมทั้งตรวจสอบว่ามีความเหมาะสมทางการแพทย์ที่จะย้ายฝากเข้าสู่โพรงมดลูกหรือไม่

    มีลูกยาก ปรึกษาแพทย์ช่วยได้
    มีลูกยาก ปรึกษาแพทย์ช่วยได้

“ตราบใดที่ตัวอ่อนได้รับการดูแลอย่างถูกต้องในถังเก็บไนโตรเจนเหลว ตัวอ่อนจะสามารถใช้การได้ต่อไป จากการเกิดของมอลลี่ทำให้เราได้รู้ว่า ตัวอ่อนสามารถอยู่รอดได้อย่างน้อย 27 ปี หรืออาจมากกว่านั้น” ดร. ซอมเมอร์เฟลท์ ผู้ดูแลกระบวนการจากกรณีของหนูน้อย มอลลี่ กิบสันกล่าวซึ่งสามารถสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการจับเก็บดูแลตัวอ่อนได้นาน โดยไม่มีการจำกัดเวลา แล้วสถานการณ์การบริจาคตัวอ่อนในประเทศไทยนั้นจะเป็นอย่างไร

การบริจาค ไข่ อสุจิ ตัวอ่อน กับกฎหมายประเทศไทย

การบริจาคไข่ อสุจิในประเทศไทยเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย แต่การบริจาคไข่ และอสุจิเพื่อการค้าเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในประเทศไทย ซึ่งมีกฎข้อบังคับ ดังนี้

ตามประกาศของแพทยสภา ที่ ๙๕ (๙) ๒๕๕๘

การบริจาคไข่

  • ผู้บริจาคต้องมีอายุระหว่าง 20 ถึง 35 ปี
  • ผู้บริจาคไข่ต้องมีหรือเคยมีสามีที่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีที่มีสามีที่ชอบด้วยกฎหมายต้องมีหนังสือ ยินยอมจากสามีที่ชอบด้วยกฏหมายเป็นลายลักษณ์อักษร ผู้รับบริจาคไข่ต้องเป็นผู้มีสัญชาติเดียวกันกับผู้บริจาค ห้ามผู้รับบริจาคไข่ใช้ไข่จากผู้บริจาคมากกว่า 1 คนในแต่ละรอบการรักษา ผู้บริจาคไข่บริจาคไข่ได้ไม่เกิน 3 ครั้ง
  • ข้อมูลผู้บริจาคไข่จะถูกจัดเก็บเป็นเวลา 20 ปี
  • ห้ามผู้รับบริจาคไข่รับไข่จากผู้บริจาคเกิน 1 คนในแต่ละรอบการรักษา

การบริจาคอสุจิ

  • มีอายุระหว่าง 20-45 ปี
  • ผ่านการตรวจประเมินสุขภาพกายและสุขภาพจิต
  • คู่สมรสของผู้บริจาคอสุจิต้องลงนามใน “หนังสือแสดงความยินยอม”
  • ต้องไม่เป็นญาติกับผู้รับอสุจิ
  • ไม่มีประวัติการใช้ยาเสพติด
  • ไม่มีประวัติการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • ไม่มีประวัติการเป็นโรคทางพันธุกรรม
  • ไม่มีประวัติเป็นโรคติดต่อ (เช่น HIV/AIDS)
  • ผู้บริจาคอสุจิต้องยินยอมให้ตรวจหาเชื้อ HIV/AIDS ก่อนส่งตัวอย่างอสุจิและตรวจซ้ำอีกครั้งหลังจากตรวจครั้งแรก 6 เดือนก่อนใช้อสุจิในขั้นตอนการรักษา
  • ผู้บริจาคอสุจิสามารถบริจาคอสุจิได้เฉพาะกรณีที่เมื่อบริจาคแล้วมีการตั้งครรภ์จนได้บุตรไม่เกิน 10 ครอบครัว

การบริจาคตัวอ่อน

  • ผู้บริจาคตัวอ่อนต้องมีหรือเคยมีสามีที่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีที่มีสามีที่ชอบด้วยกฎหมายต้องมี หนังสือยินยอมจากสามีที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษร
  • ผู้บริจาคตัวอ่อนต้องมีอายุระหว่าง 20 ถึง 45 ปี ขณะทำการปฏิสนธิตัวอ่อน ผู้รับบริจาคตัวอ่อนต้องเป็นผู้มีสัญชาติเดียวกันกับผู้บริจาคและมีสามีหรือภรรยาที่ชอบด้วยกฏหมาย

ข้อบังคับทางกฎหมายเกี่ยวกับการแช่แข็งตัวอ่อนมีดังต่อไปนี้

    • คู่สมรสที่ต้องการแช่แข็งตัวอ่อนต้องสมรสกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
    • ก่อนการแช่แข็งตัวอ่อน ทั้งสามีและภรรยาต้องลงนามใน “หนังสือแสดงความยินยอม”
    • คู่สมรสต้องตรวจร่างกายเพื่อดูว่าเป็นโรคติดต่อหรือไม่
    • ตรวจคัดกรองเพื่อแยกตัวอ่อนที่ “ติดเชื้อ” ออกจากตัวอ่อนที่ “ไม่ติดเชื้อ” (เช่น มีเชื้อ HIV/ไม่มีเชื้อ HIV)
    • สามีหรือภรรยาที่ต้องการใช้ตัวอ่อนของคู่สมรสที่เสียชีวิตไปแล้วต้องมีเอกสารยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากคู่สมรสก่อนเสียชีวิต
    • ต้องรายงานต่อกระทรวงสาธารณสุข (ประเทศไทย) หากต้องการใช้ตัวอ่อนแช่แข็งหลังการเสียชีวิตของคู่สมรส
    • อาจไม่สามารถใช้ตัวอ่อนแช่แข็งของคู่สมรสที่เสียชีวิตมานานกว่า 5 ปีได้

      ลูกคือโซ่ทองคล้องใจ ช่วยให้ครอบครัวสมบูรณ์
      ลูกคือโซ่ทองคล้องใจ ช่วยให้ครอบครัวสมบูรณ์

การอุ้มบุญ

ภรรยาที่ชอบด้วยกฏหมายมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ว่าไม่สามารถตั้งครรภ์เองได้ ต้องมีสัญชาติไทย ในกรณีที่สามีหรือภรรยามิได้มีสัญชาติไทยต้องจดทะเบียนสมรสมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี หญิงรับการตั้งครรภ์แทนทั้งที่เป็นญาติสืบสายโลหิตและมิใช่ญาติสืบสายโลหิต มีสัญชาติเดียวกันกับสามี และภริยาที่ชอบด้วยกฏหมายที่ประสงค์จะมีบุตรโดยให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทนมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 40 ปีบริบูรณ์ และเคยบุตรมาแล้วโดยการคลอดธรรมชาติไม่ เกิน 3 ครั้ง หรือในกรณีที่ผ่าคลอดไม่เกิน 1 ครั้ง ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากสามีที่ชอบด้วยกฏหมาย หรือชายที่อยู่กินกันฉันสามีภริยา จะรับตั้งครรภ์แทนจนได้คลอดบุตรไม่เกิน 2 ครั้ง

ซึ่งจะเห็นได้ว่าในข้อกฎหมาย และระเบียบปฎิบัติในเรื่องของการรับบริจาคตัวอ่อน อสุจิ หรือไข่ในประเทศไทยนั้นหากเป็นเพื่อการรักษาสามารถทำได้ แต่ยังไม่มีองค์กรที่ทำการเก็บรวบรวมเป็นหลัก เป็นการให้บริการของแต่ละโรงพยาบาล และสถานพยาบาล ซึงยังคงมีค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาแช่แข็งทั้งไข่ อสุจิ และตัวอ่อน โดยจะมีการชำระค่าบริการเป็นรายปี ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของสถานพยาบาลและผู้รับบริการแต่ละแห่งแตกต่างกันไป โดยค่าใช้จ่ายในการแช่แข็งตัวอ่อน ไข่ อสุจินั้นแม้จะเป็นค่าใช้จ่ายในราคาที่ไม่สูงมาก (ประมาณราคา 5,000-7,000บาท) แต่คู่สมรสที่มีปัญหาภาวะมีบุตรยากต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายทั้งขั้นตอนในการรักษาจนจบที่สามารถได้คลอดบุตรนั้นมีขั้นตอนกระบวนการที่ค่อนข้างมาก จึงทำให้ราคาค่าใช้จ่ายทั้งกระบวนการค่อนข้างสูง และแตกต่างกันไปตามเคสของแต่ละคู่ด้วย

ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในยุคปัจจุบันทำให้ความหวังของคู่สมรสที่มีปัญหาในการมีลูกยากนั้น คลายความกังวลไปได้มากยิ่งขึ้นเมื่อวิทยาการสมัยใหม่ ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าตัวอ่อนแช่แข็งนั้นสามารถมีอายุการเก็บแช่แข็งไว้ได้นานกว่า 27 ปี อย่างกรณีของหนูน้อยมอลลี่ กิบสัน และมีแนวโน้มว่าจะนานขึ้นไปอีก จึงอยากขอเป็นกำลังใจให้ทุกคู่ที่ต้องการมีลูกได้สมหวัง กลายเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์กันทั่วหน้า

ข้อมูลอ้างอิงจาก รพ.บำรุงราษฎร์ / med.cmu.ac.th/aivfclinic.com

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

วิจัยเผย! ผู้ชายกินยาแก้แพ้บ่อย เสี่ยง “มีบุตรยาก”

สิ่งต้องรู้เมื่อจะ ฝากไข่ อายุ 40 รีบใช้ ควรเก็บไข่ก่อน35ปี

มีบุตรยาก ชี้เป้า 15 ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก ช่วยสานฝันโอกาสให้ได้เป็นพ่อแม่สมปรารถนา

อยากมีลูกต้องกินอะไร? 6 อาหารโด๊ปนี้…ช่วยได้

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up