การมีลูกนั้นถือเป็นส่วนหนึ่งที่มาเติมเต็มชีวิตคู่ ได้สร้างครอบครัวที่อบอุ่นพร้อมหน้าพ่อ แม่ ลูก แต่เนื่องจากไลฟ์สไตล์และปัจจัยหลายอย่างในปัจจุบันอาจทำให้โอกาสในการมีลูกยากขึ้น ซึ่งหากคู่แต่งงานที่วางแผนมีลูกมีเพศสัมพันธ์เป็นปกติโดยไม่มีการคุมกำเนิดเป็นระยะเวลา 1-2 ปี แต่ยังไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น พยายามเท่าไหร่ก็ไม่เป็นผล อาจหมายความว่าภาวะร่างกายของทั้งคู่หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกำลังประสบปัญหาการมีลูกยาก หนึ่งในเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เป็นตัวช่วยตอบโจทย์เพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์คือ การทำ เด็กหลอดแก้ว เพื่อความเข้าใจที่มากขึ้น ว่าที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำความรู้จักกับนวัตกรรมการทำเด็กหลอดแก้ว โอกาสที่จะช่วยให้คู่แต่งงานที่อยากมีลูกมีโอกาสมีลูกได้ง่ายขึ้น รวมถึงปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกันค่ะ
การทำ เด็กหลอดแก้ว โอกาส vs ความเสี่ยงที่พ่อแม่ควรรู้
ตามธรรมชาติปกติแล้วการตกไข่ของผู้หญิงจะมีเพียงเดือนละครั้งเท่านั้น แต่ในหลายคู่แต่งงานที่มีลูกยาก อยากมีลูกใจจะขาด กลับพบว่าโอกาสที่จะเกิดการตั้งครรภ์สำเร็จในหนึ่งรอบเดือนนั้นอาจจะมีน้อยมาก ไม่ได้มีลูกดั่งใจหวัง ซึ่งนวัตกรรมการทำ “เด็กหลอดแก้ว” หรือ IVF (In Vitro Fertilization) เป็นวิธีการทางเลือกที่ใช้รักษาภาวะมีบุตรยาก นับว่าเป็นอีกทางออกที่ช่วยเพิ่มโอกาสการมีลูกได้ ด้วยการการฉีดยาเพื่อกระตุ้นการตกไข่ แล้วคัดไข่ที่สมบูรณ์ของฝ่ายหญิงและคัดอสุจิที่แข็งแรงของฝ่ายชายผสมกันให้เกิดการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย จากนั้นแพทย์จึงนำตัวอ่อนที่ได้ มาเพาะเลี้ยงต่อจนอายุ 3-5 วัน แล้วจึงนำตัวอ่อนฉีดกลับเข้าไปที่โพรงมดลูกฝ่ายหญิง เพื่อให้เกิดการฝังตัวและตั้งครรภ์แบบปกติต่อไป โดยขั้นตอนในการปฏิสนธิระหว่างสเปิร์มและเซลล์ไข่ จะถูกทำในหลอดทดลองที่มีลักษณะเป็นหลอดแก้ว จึงเรียกวิธีการนี้ว่า “เด็กหลอดแก้ว” นั่นเอง
คลิปวิดีโออธิบายขั้นตอนการทำ IVF หรือเด็กหลอดแก้วจาก รศ.นพ.ชาติชัย ศรีสมบัติ สูตินรีแพทย์ผู้ชำนาญการ ด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล
อย่างไรก็ตามแม้วิธีนี้จะประสบความสำเร็จอย่างมาก สำหรับผู้ที่มีลูกยากที่ให้ความสนใจในการทำเด็กหลอดแก้วมากขึ้น แต่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์ด้วย เช่น ในกรณีคู่สามีภรรยาที่ประสบปัญหาภาวะมีบุตรยากจริง ๆ หลังจากวางแผนมีลูกด้วยการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกันอย่างสม่ำเสมอเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี และมีสุขภาพที่แข็งแรงมากพอที่จะตั้งครรภ์ได้ หรือฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิงมีปัญหาสุขภาพ อาทิเช่น
- ท่อนำไข่เกิดความเสียหายหรืออุดตัน ทำให้เซลล์ไข่ไม่ได้รับการผสมกับสเปริ์ม หรือตัวอ่อนไม่สามารถเคลื่อนที่ไปฝังตัวในมดลูกได้
- มีความผิดปกติเกี่ยวกับการตกไข่ เช่น การตกไข่จำนวนน้อย หรือไม่มีการตกไข่ในบางเดือน ซึ่งทำให้ไข่มีโอกาสได้รับการผสมน้อยลง
- เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ คือ ภาวะที่มีเนื้อเยื่อเกิดขึ้นและเจริญเติบโตนอกมดลูกขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจะรบกวนการทำงานของระบบรังไข่ มดลูก และท่อนำไข่ จนอุดตันรังไข่ส่งผลให้ไข่ไม่สามารถออกไปรับการปฏิสนธิกับอสุจิที่ท่อนำไข่
- ฝ่ายชายผลิตอสุจิไม่แข็งแรง ผลิตอสุจิได้จำนวนน้อยอสุจิไม่มีประสิทธิภาพในการเคลื่อนที่ หรืออสุจิมีขนาดและรูปร่างผิดปกติ ที่อาจเกิดได้จากปัจจัยต่าง ๆ เช่น การสูบบุหรี่หรือดื่มสุราทำให้การผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนและการสร้างตัวอสุจิน้อยลง ความเครียดที่มีผลต่อฮอร์โมนที่ใช้ผลิตอสุจิในผู้ชายและทำให้อวัยวะเพศชายไม่แข็งตัว น้ำหนักตัวที่มากเกินไปจะมีปริมาณน้ำเชื้อและจำนวนตัวอสุจิน้อย เป็นต้น ซึ่งจะทำให้อสุจิเคลื่อนตัวเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ได้ยากขึ้น
- มีปัญหาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ จึงไม่สามารถมีลูกได้หรือมีโอกาสที่จะมีลูกน้อยมาก
- ภาวะมีบุตรยากที่ไม่สามารถหาสาเหตุได้
ว่าที่คุณพ่อคุณแม่ที่จะเข้ารับการรักษาด้วยการ IVF ควรเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?
เมื่อประสบปัญหาภาวะมีบุตรยาก ในกรณีที่คิดจะรักษาด้วยวิธีเด็กหลอดแก้ว ควรไปพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาและตรวจวินิจฉัยปัจจัยต่าง ๆ ว่าสามารถทำเด็กหลอดแก้วได้หรือไม่ โดยแพทย์จะพิจารณาจากประวัติการรักษาที่ผ่านมา ข้อดี ข้อเสีย ความเสี่ยง โอกาสประสบความสำเร็จ และค่าใช้จ่ายในการทำเด็กหลอดแก้ว โดยราคาการทำ IVF ในประเทศไทยจะอยู่ที่ประมาณ 100,000-300,000 บาทต่อครั้ง ซึ่งผู้ป่วยจะตัดสินใจเข้ารับการรักษาร่วมกับแพทย์ จากนั้นแพทย์จะตรวจร่างกายผู้ป่วยและทดสอบคัดกรองด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ตรวจทดสอบการทำงานของรังไข่ ตรวจคัดกรองภาวะติดเชื้อ ทดสอบโพรงมดลูก วิเคราะห์คุณภาพและความผิดปกติของน้ำอสุจิ รวมถึงการทดสอบถ่ายฝากตัวอ่อน เป็นต้น
ก่อนที่จะเข้าการรักษาด้วยวิธีเด็กหลอดแก้ว ว่าที่คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมตัว ดังนี้
สำหรับว่าที่คุณแม่
- ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละไม่ต่ำกว่า 2 ลิตร และรับประทานโปรตีน อย่างน้อยวันละประมาณ 60 มิลลิกรัม เพื่อคุณภาพของเซลล์ไข่ที่ดี
- ควรงดการดื่มแอลกฮอล์ งดสูบบุหรี่ อย่างน้อย 3 เดือนก่อนเข้ารับการรักษา
- หลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
- ออกกำลังกายในเวลาที่พอดีอย่างสม่ำเสมอ
- นอนหลับพักผ่อนอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง
- หากมีการกินยาเพื่อบรรเทาอาการป่วย ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง
สำหรับว่าที่คุณพ่อ
- งดการมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 3 วันก่อนการเก็บเชื้ออสุจิ เพื่อตรวจหรือเพื่อนำไปใช้ผสมกับไข่ไม่สวมใส่กางเกงชั้นในหรือกางเกงที่รัดแน่นจนเกินไป
- หลีกเลี่ยงการลงแช่อ่างน้ำอุ่นและการทำซาวน่า
- งดการดื่มแอลกฮอล์ งดสูบบุหรี่ อย่างน้อย 3 เดือนก่อนเข้ารับการรักษาเช่นเดียวกัน
- ออกกำลังกายที่ไม่โหมแรงหนักเกินไปอย่างสม่ำเสมอ
- หากิจกรรมผ่อนคลายเพื่อไม่ให้เกิดภาวะเครียด
- พักผ่อนนอนหลับ ทำจิตใจให้สบาย
ขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้ว
ทั้งนี้ในแต่ละขั้นตอนอาจมีความแตกต่างขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลนั้น ๆ โดยหลังจากแพทย์ตรวจร่างกายผู้ป่วยและทดสอบคัดกรองด้วยวิธีต่าง ๆ ก่อนวางแผนรักษาและนัดหมายในขั้นตอนต่อไป สรุปเป็นขั้นตอนหลักได้ดังนี้
- กระตุ้นไข่ – แพทย์จะฉีดยากระตุ้นการตกไข่ ซึ่งต้องฉีดต่อเนื่องเป็นประจำประมาณ 10-12 วัน และตรวจสอบความคืบหน้าของการกระตุ้นการตกไข่ และทำการฉีดฮอร์โมนเข็มสุดท้ายก่อนเก็บไข่ประมาณ 34-38 ชั่วโมง
- เก็บไข่ – แพทย์จะดูดไข่ออกจากช่องคลอด ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที
- ผสม – แพทย์นำไข่และสเปิร์มที่ได้ไปทำการปฏิสนธิกันในห้องปฏิบัติการ พร้อมกับฉีดยาฮอร์โมนให้กับฝ่ายหญิงเพื่อเตรียมมดลูกให้พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์
- เลี้ยงตัวอ่อน 3-5 วันและตรวจเช็คโครโมโซม – คัดเลือกตัวอ่อนที่มีคุณภาพดีที่สุด และตรวจเช็คโครโมโซมก่อนย้ายตัวอ่อนกลับเข้าไปฝังในโพรงมดลูก
- ฉีดตัวอ่อนกลับเข้าไปที่โพรงมดลูก – โดยแพทย์จะทำการนัดฉีดตัวอ่อน และเข้าสู่การตั้งครรภ์ต่อไป
ทั้งนี้ขั้นตอนในการรักษาด้วยวิธีเด็กหลอดแก้วจะใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์ โดยความสำเร็จที่เป็นไปได้ในการตั้งครรภ์จากเด็กหลอดแก้ว มีอัตราการเกิดในกลุ่มผู้หญิงอายุ 34 ปีลงมา อยู่ที่ 30-40% ในการถ่ายฝากตัวอ่อนครั้งแรก และอัตราการเกิดลดต่ำลงมากในกลุ่มผู้หญิงที่อายุมากกว่า 35 ปี ซึ่งขึ้นอยู่กับคุณภาพของไข่ในฝ่ายหญิงจะเปลี่ยนแปลงตามอายุ และอาจเกิดได้จากปัจจัยอื่น ๆ เช่น สุขภาพของว่าที่คุณแม่ ฝ่ายหญิงมีมดลูกไม่แข็งแรงหรือมดลูกทำงานผิดปกติ ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ หรือมีปัญหาสุขภาพร้ายแรงและเป็นอันตรายหากตั้งครรภ์ เป็นต้น ในกรณีที่ไม่ประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์ด้วยวิธีนี้ ผู้ป่วยควรได้พักฟื้นสภาพร่างกายและจิตใจ โดยเว้นช่วงหลาย ๆ เดือนก่อนที่จะวางแผนมีลูกใหม่อีกครั้ง หรือเลือกวิธีการที่เหมาะสมต่อไป
ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการทำเด็กหลอดแก้ว
แม้การทำ IVF เป็นนวัตกรรมที่เพิ่มโอกาสให้สามีภรรยามีลูกได้ แต่ก็อาจมีผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นกับว่าที่คุณแม่หลังจากถ่ายฝากตัวอ่อนเรียบร้อยแล้ว โดยความเสี่ยงที่มักจะเกิดขึ้นมากที่สุด อาทิเช่น
- รังไข่บวม เนื่องจากได้รับฮอร์โมนกระตุ้นที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์มากเกินไป ส่งผลให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องอืด แน่นท้อง หายใจลำบาก และอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องร่วงได้
- เกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกเนื่องจากไข่ที่ได้รับการผสมอาจเข้าไปฝังตัวอยู่ในท่อนำไข่แทนที่จะฝังตัวและเจริญเติบโตภายในมดลูก ซึ่งภาวะนี้ตัวอ่อนในครรภ์ไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ ทั้งนี้ความเสี่ยงที่จะเกิดการตั้งครรภ์ในลักษณะนี้มีเพียง 2-5% เท่านั้น
- เกิดความเครียด เนื่องจากการทำเด็กหลอดแก้วส่งผลกระทบทั้งต่อร่างกายและจิตใจหลายอย่าง อาจมีปัญหาจากการปรับตัวเพื่อมีลูกจากการทำเด็กหลอดแก้ว ส่งผลให้เกิดความเครียดได้ ซึ่งผู้ป่วยควรพูดคุยและได้รับกำลังใจจากคนในครอบครัว บุคคลใกล้ชิด หรือสามารถเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ หรือนักบำบัด เป็นต้น
- ได้รับผลข้างเคียงจากยา ผู้ป่วยอาจมีผลข้างเคียงจากการใช้ยาในในระหว่างกระบวนการทำเด็กหลอดแก้วและการถ่ายฝากตัวอ่อน ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวดหัว กระสับกระส่าย ร้อนวูบวาบ อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดได้
- เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด หากสุขภาพของแม่ไม่แข็งแรง อาจมีความเสี่ยงสำหรับทารกที่เกิดจากการทำเด็กหลอดแก้วคลอดก่อนกำหนด หรือทารกมีน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อยได้ และอาจมีปัญหาเรื่องการหายใจ เพราะปอดทารกยังพัฒนาไม่เต็มที่
- เสี่ยงภาวะแทรกซ้อน อาจมีภาวะแทรกซ้อนในขั้นตอนการเก็บไข่ เช่น จากการการใช้ยาสลบ ยาชา การติดเชื้อ การเกิดแผลในมดลูก และอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อกระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ หรือเส้นเลือดในบริเวณใกล้เคียงได้
- มีโอกาสตั้งครรภ์ลูกแฝด ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับผู้ที่มีการถ่ายฝากตัวอ่อนมากกว่า 1 ตัว ตัวอ่อนทั้งหมดอาจฝังตัวที่ผนังมดลูกและตั้งครรภ์ลูกแฝดได้ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อคุณแม่ที่ต้องอุ้มท้องลูก 2 คน และเสี่ยงต่อภาวะที่เด็กเกิดมามีน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อยไปด้วย
- เสี่ยงแท้ง อัตราการแท้งลูกของแม่ที่ตั้งครรภ์เด็กหลอดแก้วอยู่ที่ 15-25% โดยอัตราจะแปรผันเพิ่มมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มมากขึ้นของผู้ที่ตั้งครรภ์
ทั้งนี้สิ่งที่จำเป็นต้องรู้ก่อนว่าที่คุณพ่อคุณแม่คิดทำเด็กหลอดแก้ว คือ การไม่ประสบผลสำเร็จในการทำครั้งแรก และมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงในการทำแต่ละครั้ง ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนเข้ารับการรักษาด้วยวิธีเด็กหลอดแก้ว และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ดีที่สุดนะคะ.
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.pobpad.com, www.honestdocs.co, www.phyathai.com
อ่านบทความน่าสนใจอื่น ๆ คลิก :
อยากมีลูกต้องทำไง ? ลอง 9 วิธีแบบธรรมชาติและวิทยาศาสตร์ ลูกมาแน่
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่