ผลวิจัยเผย! คุณพ่อท่านไหนกินยาแก้แพ้เป็นประจำ เสี่ยงต่อการ “มีบุตรยาก”
หากคุณพ่อท่านไหนที่อยากมีลูก แต่ติดปัญหาพยายามเท่าไรก็ไม่สมหวังเสียที อาจจะต้องตรวจเช็คตัวเองให้ดีหลังอ่านบทความนี้!
เมื่อคณะนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันชื่อดัง ได้ทำการตีแผ่ข้อมูลงานวิจัย ถึงแนวโน้มที่ยาแก้แพ้กลุ่มแอนติฮิสตามิน อาจจะมีส่วนทำให้การผลิตฮอร์โมนในเพศชายผิดปกติได้ หากใช้ยานี้ต่อต่อกันเป็นระยะเวลานาน
คณะวิทยาศาสตร์จากสถาบันชีววิทยาและการทดลอง ทางการแพทย์ของอาร์เจนตินา ตีพิมพ์เผยแพร่ผลการวิเคราะห์ข้อมูลลงในวารสาร Reproduction โดยระบุว่า ผลการทดลองกับสัตว์ในงานวิจัยหลายชิ้นที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ ส่วนใหญ่ชี้ถึงแนวโน้มที่ยาแก้แพ้กลุ่มแอนติฮิสตามีนจะทำให้การผลิตฮอร์โมนเพศชายจากอัณฑะผิดปกติ หากใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน
โดยยากลุ่มแอนติฮิสตามีน (Antihistamines) หรือยาแก้แพ้ที่นิยมใช้ลดน้ำมูก ผื่นคัน และภูมิแพ้จากสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ ทั่วไปนั้น ในระยะยาวอาจส่งผลให้การทำงานของอัณฑะบกพร่อง และเป็นปัญหาต่อการเจริญพันธุ์ของผู้ชายได้
ผลวิเคราะห์ดังกล่าวชี้ว่า แอนติฮิสตามีนอาจส่งผลให้สเปิร์มหรือตัวอสุจิมีจำนวนลดลง ทั้งมีอัตราการตายสูงและรูปร่างผิดแปลกไปจากมาตรฐานด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการมีบุตรยาก
ทั้งนี้ ดร. คาโรลินา มอนดิโญ ผู้นำคณะนักวิจัยดังกล่าวว่า ฮิสตามีน (Histamine) เป็นโมเลกุลที่ร่างกายผลิตขึ้นเพื่อตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอมที่ล่วงล้ำเข้ามา ทำให้เกิดอาการแพ้เช่น จามหรือคัน แต่นอกจากนั้นแล้วฮิสตามีนยังมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับระบบควบคุมวงจรการหลับและตื่น รวมทั้งพฤติกรรมทางเพศและการเจริญพันธุ์อีกด้วย หากใช้ยาแก้แพ้ซึ่งมีผลยับยั้งการทำงานของฮิสตามีนมากเกินไป ก็อาจส่งผลกระทบเรื่องการมีบุตรได้
อย่างไรก็ดี ดร. คาโรลินา กล่าวว่า “ยังไม่มีการทดลองในมนุษย์ เพื่อยืนยันเรื่องผลข้างเคียงของยาแก้แพ้ต่อการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศของผู้ชายโดยตรง จึงอาจต้องมีการทดลองซ้ำในวงกว้างขึ้นอีก ซึ่งอาจนำไปสู่การคิดค้นยาแก้แพ้ชนิดใหม่ ที่จะไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงดังกล่าวขึ้น”
เช่นเดียวกับ ดร.ฉันนะ ชัยเสนา ผู้เชี่ยวชาญจากอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน (ไอซีแอล) แสดงความเห็นว่า ผลการวิเคราะห์ดังกล่าว ยังไม่สามารถบ่งชี้ได้แน่นอนว่ายาแอนติฮิสตามีนเป็นตัวการที่ทำให้จำนวนของสเปิร์มลดลง เพราะในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา คุณภาพของตัวอสุจิในหมู่ประชากรเพศชายทั่วโลกลดลงเรื่อย ๆ จากหลายสาเหตุ อย่างไรก็ตาม ขอแนะนำให้ลดการใช้ยาแก้แพ้ลงเหลือเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อเป็นการป้องกันไว้ก่อนดีที่สุด
ภาวะการ มีบุตรยาก คืออะไร
ภาวะมีบุตรยาก คือ ภาวะที่คู่สมรสไม่สามารถตั้งครรภ์ได้หลังจากพยายามมีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 วัน โดยไม่ได้คุมกำเนิดมาแล้วอย่างน้อย 1 ปี นอกจากนี้ยังมีปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจส่งผลให้มีลูกยาก เช่น
- ฝ่ายหญิงมีสุขภาพไม่แข็งแรง มีอายุมากกว่า 35 ปี
- ฝ่ายหญิงมีรอบเดือนไม่สม่ำเสมอ มีประวัติเคยผ่าตัดหรือมีการอักเสบในช่องท้องมาก่อน
- ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสุขภาพไม่แข็ง เคยมีอุบัติเหตุหรือมีการติดเชื้อรุนแรงที่อวัยวะเพศมาก่อน
ม่ีการศึกษามากมายที่พบว่า “การมีลูกยากนั้นจะเกิดขึ้นจากฝ่ายหญิงมากกว่าประมาณ 40-50% ในขณะที่ฝ่ายชายจะพบได้น้อยกว่าประมาณ 25-30% และเกิดทั้งจากฝ่ายชายและฝ่ายหญิงร่วมกัน 20% ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 15% จะเป็นกรณีที่ตรวจไม่พบเจอสาเหตุทั้งจากฝ่ายชายและฝ่ายหญิงด้วยวิธีการตรวจพื้นฐาน”
สาเหตุของการมีบุตรยากนั้นสามารถเกิดได้ทั้งฝ่ายกับชายหรือฝ่ายกับหญิงเพียงฝ่ายเดียวหรือเกิดจากทั้ง 2 ฝ่ายร่วมกันก็ได้ (คู่สมรสจำนวนไม่น้อยที่สาเหตุการมีบุตรยากมาจากความผิดปกติของทั้ง 2 ฝ่ายร่วมกัน) หรืออาจตรวจไม่พบสาเหตุความผิดปกติใด ๆ เลยก็มี เรามาดูสาเหตุไปพร้อม ๆ กันค่ะ
สาเหตุที่ทำให้มีบุตรยาก
- สาเหตุจากฝ่ายหญิง คู่สมรสบางคู่นั้นพบว่าฝ่ายหญิงมีความผิดปกติในอวัยวะสืบพันธุ์ เช่น รังไข่ทำงานไม่ได้ตามปกติและสามารถตกไข่ได้ มีความผิดปกติของฮอร์โมนในร่างกายที่ส่งผลต่อการตกไข่ ท่อรังไข่อุดตัน มีเนื้องอกมดลูกขนาดใหญ่หรืออยู่ในโพรงมดลูก มีซีสต์หรือเนื้องอกรังไข่ มีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือมีพังผืดที่เกิดขึ้นในช่องเชิงกรานหรือที่ปีกมดลูก เป็นต้น จากสถิติพบว่าสาเหตุการมีบุตรยากในฝ่ายหญิงมาจาก การอุดตันของท่อนำไข่ หรือมีความผิดปกติของเยื่อบุช่องท้องประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ 35 เปอร์เซ็นต์ การตกไข่ผิดปกติหรือไม่สม่ำเสมอ 25 เปอร์เซ็นต์
- สาเหตุจากฝ่ายชาย ในบางคู่สาเหตุการมีบุตรยากอาจเกิดขึ้นกับฝ่ายได้เช่นกัน เช่น ฝ่ายชายมีอวัยวะสืบพันธุ์ผิดปกติมาแต่กำหนดจนไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ ฝ่ายชายมีพันธุกรรมที่ผิดปกติเกี่ยวกับโครโมโซม หรือยีนที่ทำให้ไม่สามารถสร้างเชื้ออสุจิได้หรือสร้างได้น้อยกว่าปกติ เช่น เชื้ออสุจิมีปริมาณน้อย เชื้ออสุจิอ่อนแอ เชื้ออสุจิมีรูปร่างผิดปกติ หรือแม้แต่เป็นหมัน (ตรวจไม่พบเชื้ออสุจิในน้ำอสุจิ) ฝ่ายชายได้รับสารเคมีบางชนิดเป็นประจำ เช่น ยาฆ่าแมลง สารตะกั่ว สารประกอบเบนซีน รวมถึงการใช้ยาบางชนิด มีโรคประจำตัวบางอย่างที่ส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ เช่น เบาหวาน หรือเป็นโรคคางทูมตั้งแต่ในวัยเด็ก เป็นผู้สูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ เคยได้รับอุบัติเหตุมาก่อน เป็นต้น
คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลใจไปค่ะ การมีบุตรยากนั้น รักษาได้แต่อาจจะต้องอาศัยระยะเวลาและความร่วมมือจากคู่สมรสด้วยนะคะ ที่สำคัญ หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ และงดดื่มสุราของมึนเมา และบุหรี่กันด้วยนะคะ เพราะสิ่งเหล่านี้ก็ถือเป็นสาเหตุที่ส่งผลทำให้มีบุตรยากด้วยเช่นกันค่ะ
ขอบคุณที่มา: BBC Thai และ MedThai
อ่านต่อเรื่องอื่นที่น่าสนใจ:
- วิจัยชี้! ผู้ชาย เซ็กส์เสื่อม เพราะยาแก้ปวด ชนิดนี้
- อยากมีลูกง่าย วิจัยเผย! คืนนี้ต้องมีเซ็กส์เบื้ล
- ควรมีลูกห่างกันกี่ปี มีลูกหัวปีท้ายปี แบบคนสมัยก่อนได้ไหม
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่