การมีลูกแฝด ถือเป็นความต้องการยอดฮิตของคู่สมรสหรือครอบครัวที่มีความพร้อมมากพอ ด้วยความที่ท้องครั้งเดียวแต่ได้เด็กน่ารักพร้อมกันถึง 2 คน (หรือมากกว่า) จึงทำให้คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ คนสงสัยว่าถ้าอยากได้ลูกแฝดต้องทำอย่างไร ?
ธรรมชาติการที่จะเกิดลูกแฝดนั้นถือได้ว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์พอสมควรเหมือนกันฝาแฝดมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท คือ
1. เด็กแฝดที่เกิดจากการปฏิสนธิจากไข่ 1 ใบ (Identical twins) เด็กจะรูปร่างหน้าตาเหมือนกัน เพศเดียวกัน
2. เด็กแฝดที่เกิดจากการปฏิสนธิจากไข่มากกว่า 1 ใบ (Fraternal twins) จะมีรูปร่าง หน้าตา ไม่เหมือนกันซึ่งอาจเป็นคนละเพศกันก็ได้
การตั้งครรภ์แฝดโดยธรรมชาตินั้นไม่สามารถกำหนดหรือคาดเดาได้เลย เพราะเป็นเรื่องของกระบวนการทางธรรมชาติล้วนๆ แล้วถ้าท้องนี้คุณแม่อยากจะมีลูกแฝด จะมีโอกาสเป็นไปได้แค่ไหน มาดูปัจจัยที่ทำให้คุณแม่มีโอกาสได้ลูกแฝดกันดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง
1. คนในครอบครัว…มี ลูกแฝด
คนในครอบครัวมีประวัติมี ลูกแฝด โดยเฉพาะครอบครัวฝ่ายมารดา เพราะผู้หญิงจะได้รับยีนแฝดที่ทำให้เกิดการผลิตไข่มากกว่าคนที่ไม่มียีนนี้ ทำให้คุณแม่มีโอกาสมีลูกแฝดนั่นเอง ซึ่งแฝดในที่นี้หมายถึงแฝดคล้ายเท่านั้น เพราะสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ แต่แฝดเหมือนไม่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ค่ะ
2. อายุ น้ำหนัก ส่วนสูง เชื้อชาติ
มีงานวิจัยออกมาแล้วว่า คุณแม่ที่มีอายุมากมีโอกาสตั้งครรภ์แฝดสูงกว่าคุณแม่อายุน้อย โดยคุณแม่ที่อายุมากกว่า 45 ปี มีโอกาสได้ลูกแฝดถึง 17% ในเรื่องของน้ำหนักก็มีผลเช่นกัน หากคุณแม่มีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 30 และรูปร่างสูง ก็มีโอกาสตั้งครรภ์แฝด นอกจากนี้ผู้หญิงเชื้อชาติแอฟริกันอเมริกัน มีอัตราการตั้งครรภ์แฝดสูงกว่าเชื้อชาติอื่น และเอเชียถือเป็นเชื้อชาติที่มีโอกาสตั้งครรภ์แฝดได้น้อยที่สุด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณแม่ก็ไม่ควรรอมีลูกตอนอายุมากๆหรือเพิ่มน้ำหนักเกินมาตรฐานเพื่อให้ได้ลูกแฝดนะคะ เพราะผลแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์แฝดก็จะสูงตามไปด้วย
3. กินยากระตุ้นไข่และกรดโฟลิก
การกินยากระตุ้นการตกไข่ของคุณแม่ ในกรณีของผู้มีบุตรยาก ทำให้คุณแม่มีโอกาสตั้งครรภ์แฝดสูงกว่าวิธีธรรมชาติ ส่วนงานวิจัยจากประเทศออสเตรเลียพบกว่า กรดโฟลิกมีส่วนช่วยให้ตั้งครรภ์แฝดมากขึ้น แม้จะมีนักวิจัยอื่นๆแย้งว่าพิสูจน์ได้ยาก แต่การกินกรดโฟลิกก่อนการตั้งครรภ์ก็เป็นเรื่องจำเป็นของคุณแม่กำลังจะท้องอยู่ดีค่ะ เข้าตำราว่า กินไว้ไม่เสียหาย
4. รับประทานอาหารที่มีแคลเซียม
ผลงานวิจัยของดร.แกรี่ สไตน์แมน ประจำศูนย์การแพทย์ที่เมืองลองไอแลนด์ มลรัฐนิวยอร์ก บอกว่าผู้หญิงที่ดื่มนมมากกว่าปกติ 5 เท่าจะมีโอกาสได้ลูกแฝดมากกว่าผู้หญิงที่เป็นมังสวิรัติที่ไม่บริโภคอาหารประเภทเนื้อเลยถึง 5 เท่า !! นอกจากนี้ผลการวิจัยยังสันนิษฐานด้วยว่าโปรตีนที่พบในตับของสัตว์เป็นปัจจัยของการมีลูกแฝด เพราะโปรตีนชนิดนี้มีองค์ประกอบการเติบโตคล้ายอินซูลิน เรียกว่า IGF ที่พบได้ในนมวัวและผลิตภัณฑ์ของสัตว์อื่น ๆ ซึ่งเป็นโปตีนที่จะช่วยให้รังไข่มีปฏิกิริยาไวขึ้นและช่วยเพิ่มจำนวนไข่ให้มากขึ้น
อ่านต่อ >> “เทคนิควิธีการทำลูกแฝด” ข้อ 5-10 คลิกหน้า 2
5. ให้นมลูก
ดร.แกรี่ สเตนแมน สูตินรีแพทย์และนรีเวชศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแพทย์ไมอามี่ บอกว่าหากคุณแม่ตั้งครรภ์ในช่วงที่ให้นมลูก จะช่วยเพิ่มโอกาสได้ลูกแฝดในท้องต่อไปมากกว่าคุณแม่ที่ไม่ได้ให้นมลูก หากใครคิดว่ายังท้องไหว ก็ลุยเลยค่ะ
6. จำนวนครรภ์หรือการตั้งครรภ์หลัง ๆ
คุณแม่ที่เคยคลอดบุตรมาแล้วหลายคนจะมีโอกาสตั้งครรภ์แฝดได้มากขึ้นเช่นกัน เพราะการตั้งครรภ์หลายครั้งจะทำให้ไข่มีโอกาสตกเยอะขึ้น
7. กินยาคุมเกิน 3 ปีขึ้นไป
เมื่อหยุดกินยา ก็จะทำให้ตกไข่มากขึ้น เพราะยามีฤทธิ์ไปกดฮอร์โมนใต้สมองไม่ให้ไข่ตก พอหยุดกินฮอร์โมนที่ถูกกดไว้ก็เหมือนถูกปลดปล่อย (วิธีนี้หลายคนอาจจะทำไม่ได้ เพราะอยากมีลูกแล้วตอนนี้ และเราก็ไม่แนะนำด้วย เพราะโอกาสได้ลูกแฝดก็น้อยด้วย)
8. กินเยอะๆ
ผู้หญิงที่กินเยอะจะมีโอกาสตั้งครรภ์แฝดมากกว่าเนื่องจากร่างกายมีความสมบูรณ์มากกว่า (แต่เราก็ไม่แนะนำข้อนี้นะคะ เพราะแม่ที่อ้วนจะส่งผลเสียกับลูกค่ะ
9. โชคช่วย
หากคุณพ่อคุณแม่คู่ไหนอยากได้แฝดเหมือนล่ะก็ คงต้องอาศัยโชคช่วยล้วนๆ เพราะการตั้งครรภ์แฝดเหมือนไม่สามารถคาดเดาและกะเกณฑ์ได้ เป็นเพียงการสุ่มจากธรรมชาติเท่านั้น บ้านไหนอยากได้ลูกแฝดเหมือนและได้สมใจ ถือว่าบ้านนั้นโชคดีสุดๆ
10. ทำเด็กหลอดแก้ว
อันนี้น่าเป็นไปได้มากที่สุด เพราะถ้าร่างกายแข็งแรง โอกาสที่ไข่ที่มีการปฏิสนธินอกร่างกายจะติดทุกฟองมีสูงค่ะ (แต่การทำเด็กหลอดแก้วก็ราคาร่วมแสนนะคะ)
สัญญาณบอกคุณกำลังตั้งครรภ์จะได้ลูกแฝด
แม้ว่าธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์จะถูกกำหนดให้มีลูกได้ทีละคน แต่ก็มีในบางคนที่ตั้งท้องลูกแฝดทั้งที่ต้องการและไมได้ต้องการ หลายคนจะได้ยินเสมอๆว่า การมีลูกแฝดถือเป็นกำไร เพราะตั้งท้องเพียงครั้งเดียว กลับมีเด็กออกมาถึงสองคน แต่ในคำแนะนำของแพทย์แล้ว การตั้งครรภ์แฝดตั้งแต่สองคนขึ้นไปจึงถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติ ทำให้มีภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์มากขึ้น ซึ่งเป็นอันตรายได้ทั้งลูกทั้งแม่ ยิ่งตั้งครรภ์จำนวนลูกมากขึ้น อันตรายก็จะยิ่งมากขึ้นเป็นเงาตามตัวนั่นเองค่ะ ทีนี้เราจะทราบได้อย่างไรว่าตั้งครรภ์แฝด
อ่านต่อ >> “สัญญาณบอกคุณกำลังตั้งครรภ์จะได้ลูกแฝด” คลิกหน้า 3
…คุณแม่สามารถสังเกตความผิดปกติได้ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์
- ร่างกายของเราจะมีอาการอ่อนเพลียมากกว่าปกติ เพราะทารกสองคนต้องการอาหารปริมาณมากทำให้คุณแม่อ่อนเพลียแพ้ท้อง อาเจียน
- ขนาดของท้องโตเร็วเทียบกับผู้ตั้งครรภ์คนอื่นที่มีอายุเท่ากัน ปกติสามเดือนแรกยังไม่ค่อยเห็นว่าท้องโต แต่ครรภ์แฝดท้องจะโตมาก ตั้งครรภ์สามเดือนท้องอาจโตเท่ากับครรภ์ห้าเดือนน้ำหนักตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว
- คุณแม่มีน้ำหนักขึ้นมาก และขึ้นเร็วให้สงสัยว่าจะมีครรภ์แฝด คุณแม่รู้สึกว่าลูกดิ้นเร็วกว่าปกติ คุณแม่รู้สึกลูกดิ้นมากครั้ง เนื่องจากในครรภ์มีทารกสองคนหรือมากกว่า ทำให้รู้สึกว่าลูกดิ้นมาก ดิ้นพร้อมกันทั้งด้านซ้าย และด้านขวา หรือทั้งด้านบน และด้านล่าง
- ในการตรวจร่างกายคุณแม่ในครรภ์แฝด แพทย์จะตรวจพบว่า ขนาดของครรภ์มากกว่าขนาดของมดลูกตามอายุครรภ์ที่ควรจะเป็น
- การฟังตำแหน่งของเสียงหัวใจเด็กจะฟังหัวใจได้สองตำแหน่ง และคลำส่วนต่างๆ ของเด็กทางหน้าท้อง อาจคลำได้เกินหนึ่งคน
ข้อควรระวังหากตั้งครรภ์ลูกแฝด
- เด็กต้องการอาหารมากพอสำหรับ 2 คน แต่แม่ก็กินได้จำกัด
- เรื่องมดลูก เพราะหากมดลูกของแม่ดีแข็งแรง อาหารที่ส่งมาก็จะมาก พบว่าแฝดในแม่อายุมาก มดลูกจะไม่แข็งแรงลูกได้รับอาหารน้อยหรือไม่ก็แย่งอาหารกันเอง เมื่อเด็กคลอดจะมีอาการหายใจหอบ ติดเชื้อ อ่อนแอ ซึ่งเป็นโรคของเด็กที่มีน้ำหนักตัวน้อย
- กรณีแย่งอาหารกัน ถ้าเป็นแฝดเหมือนเกิดจากไข่ใบเดียวกัน บางทีรกอาจจะเชื่อมกัน เด็กอีก คนก็จะดูดเลือดจากเด็กอีกคนไป เด็กที่ดูดเยอะก็จะตัวใหญ่ ส่วนอีกคนก็จะผอมแห้งเหี่ยว แต่เด็ก ที่ได้เลือดเยอะใช่ว่าจะดี เพราะมีโอกาสหัวใจวายได้เหมือนกัน แต่เด็กที่แย่จะเป็น คนที่ถูกแย่ง เลือดไปมากกว่า จึงต้องดูแลเป็นพิเศษมากกว่าครรภ์อื่นๆ
- หากคุณแม่มีเด็กแฝดในท้องเยอะประสิทธิภาพ ความสามารถ ความฉลาด และพัฒนาการ จะไม่เท่าเด็กที่เกิดมาเดี่ยว ๆได้
การตั้งครรภ์แฝดไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ที่ตั้งใจอยากมีน้อง ก็ควรเตรียมตัวให้พร้อม ไปตรวจครรภ์อย่าสม่ำเสมอ ใส่ใจในเรื่องการดูแลตัวเองให้แข็งแรง เตรียมจิตใจให้พร้อม เพียงเท่านี้การตั้งครรภ์ก็จะไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นอีกต่อไปค่ะ
อ่านต่อบทความน่าสนใจ
คลิก >> 8 วิธีช่วยแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ที่มีเบบี๋ฝาแฝด
คลิก >> แม่ตัวเล็กแต่ท้องลูกแฝด เสี่ยงอะไรบ้าง?
คลิก >> แม่ท้องแฝดระวัง! เจ็บท้องก่อนกำหนด
คลิก >> “ท้องแฝด” ภาวะต้องระวังยิ่ง
คลิก >> “ท้องแฝด” ต้องใส่ใจตรวจละเอียดในไตรมาสสอง
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.momadad.com