AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ถึง 35 UP แต่ท้องได้ แค่..ตรวจครรภ์..ช่วยลดความเสี่ยง

ตั้งท้องตอน 35+ ตรวจครรภ์ช่วยลดความเสี่ยง

สมัยนี้คุณแม่มีลูกกันเมื่ออายุมากขึ้น แต่ขอเพียงตรวจพบได้เร็ว ในช่วงอายุครรภ์ที่เหมาะสม จะช่วยให้คุณแม่ท้องที่อายุมากและครอบครัวสบายใจได้ค่ะคุณหมอณัฐฐิณี ศรีสันติโรจน์ สูตินรีแพทย์  ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์  เปิดประเด็นที่อยากฝากถึงคุณแม่ท้องที่อายุมาก พร้อมข้อควรรู้การ ตรวจครรภ์ ที่น่าสนใจมาฝากกันค่ะ

 

ถึง 35 UP แต่ท้องได้ แค่..ตรวจครรภ์..ช่วยลดความเสี่ยง

ไตรมาสแรก ตรวจครรภ์ ลดความกังวล ภาวะดาวน์ซินโดรม

ขอเริ่มต้นที่ การตรวจภาวะดาวน์ซินโดรม*  เพราะเป็นเรื่องที่คุณแม่อายุมากส่วนใหญ่ไม่อยากให้เกิดกับลูกน้อย และคุณแม่ก็มักกังวลกับการตรวจ  แต่คุณหมอกระซิบว่า ทุกวันนี้คุณแม่สบายใจได้มากขึ้น เพราะมีเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการตรวจหาภาวะดาวน์ซินโดรม ให้เป็นทางเลือกของคุณแม่ได้ ตรวจครรภ์ ในวิธีที่หลากหลายขึ้นค่ะ

• เจาะเลือดแม่ตรวจฮอร์โมนจากรก

ใช้วิธีเจาะเลือดคุณแม่เพื่อคำนวณหาปริมาณซีรั่มหรือฮอร์โมนในเลือดแม่ร่วมกับการวัดความหนาของของเหลวที่อยู่ด้านหลังต้นคอของทารกในครรภ์จากการตรวจด้วยการอัลตราซาวด์ ผลของการหาปริมาณฮอร์โมนต่างๆ ร่วมกับการวัดความหนาของของเหลวที่ต้นคอทารกในครรภ์ จะบอกความเสี่ยงที่ลูกน้อยในครรภ์จะเป็นดาวน์ซินโดรมว่ามีความเสี่ยง 1:xxx คือมีจำนวนเด็ก 1 คน ต่อเด็กจำนวน xxx คน ที่จะเป็นดาวน์ซินโดรม สำหรับคุณแม่ที่อายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป เรามีตารางให้เปรียบเทียบว่าอายุของคุณแม่มีผลต่อความเสี่ยงของลูกที่จะเป็นดาวน์ซินโดรมเท่าไร ดังนี้

Maternal age at term Risk of Down’s syndrome Maternal age at term Risk of Down’s syndrome Maternal age at term Risk of Down’s syndrome
20 1:1450 30 1:940 40 1:85
21 1:1450 31 1:820 41 1:70
22 1:1450 32 1:700 42 1:55
23 1:1400 33 1:570 43 1:45
24 1:1400 34 1:460 44 1:40
25 1:1350 35 1:350 45 1:35
26 1:1300 36 1:270 46 1:30
27 1:1200 37 1:200 47 1:30
28 1:1150 38 1:150 48 1:30
29 1:1050 39 1:110 49 1:25

ข้อมูลในตารางจาก : https://www.qmul.ac.uk/wolfson/services/antenatal-screening/screening-tests/calculating-the-risk-of-downs-syndrome/

คุณแม่สามารถใช้ผลของการเจาะเลือดนี้มาประกอบการตัดสินใจว่าผลความเสี่ยงจากการเจาะเลือดที่คุณแม่ได้รับเทียบเท่ากับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ในอายุเท่าไร ข้อดีของการตรวจแบบนี้คือ ความปลอดภัย เนื่องจากใช้เลือดแม่ในการตรวจ ไม่มีความเสี่ยงกับลูกน้อยในครรภ์ แต่มีข้อจำกัดก็คือความแม่นยำในการแปลผลยังต่ำมาก คือถูกต้องประมาณ 60% – 90% เท่านั้น และบอกผลได้แค่ว่าลูกในครรภ์ เสี่ยงที่จะเป็นดาวน์ซินโดรมได้เท่าไรเท่านั้น ไม่ได้บอกว่าลูกในครรภ์เป็นดาวน์ซินโดรมหรือไม่เป็นโดยตรง และที่สำคัญบางครั้งยังให้ผลการตรวจที่เป็นผลบวกลวงได้ด้วย เช่น คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ผลการตรวจออกมาว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะมีดาวน์ซินโดรมจำนวน 100 คน คุณแม่เหล่านี้จะถูกแนะนำโดยคุณหมอให้เจาะน้ำคร่ำเพื่อยืนยันผลให้แน่ชัด แต่ปรากฏว่ามีคุณแม่เพียงแค่ 5 คนเท่านั้นที่มีลูกเป็นดาวน์ซินโดรมจริงๆ ส่วนคุณแม่อีก 95 คนที่เหลือมีลูกที่ปกติดี แต่ก็ต้องถูกเจาะน้ำคร่ำ และที่แย่ไปกว่านั้นคือพบว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ลูกในครรภ์เป็นดาวน์ซินโดรมจริง แต่การทดสอบด้วยวิธีนี้ก็บอกได้ไม่ทั้งหมด เช่น คุณแม่ที่มีลูกเป็นดาวน์ซินโดรมจริงๆ 20 คน อาจจะผ่านการตรวจด้วยวิธีนี้ในคุณแม่แล้วพบว่าผิดปกติเพียงแค่ 17 คนเท่านั้น โดยอีก 3 คนที่เหลือจะทราบว่าลูกเป็นดาวน์ซินโดรมก็ต่อเมื่อคลอดออกมาแล้ว

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

เจาะเลือดตรวจดีเอ็นเอ 

หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า NIPD (Non-invasive prenatal diagnosis) เป็นการตรวจชนิดใหม่ที่ทำการรวมเอาข้อดีของการการเจาะน้ำคร่ำและการคำนวณหาปริมาณเซรั่มและฮอร์โมนจากเลือดแม่เข้าด้วยกัน ทำให้ NIPD นั้นเป็นการตรวจที่ปลอดภัย สะดวก ไม่มีความเสี่ยงกับการแท้งบุตร มีความแม่นยำเกือบจะเทียบเท่ากับการเจาะน้ำคร่ำ ถือว่าเป็นทางเลือกใหม่ให้กับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์กันทุกคน

NIPD ถูกคิดค้นโดย ศาสตราจารย์เดนนิส โล (Dennis Lo) จากฮ่องกง พบว่าในเลือดของคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์มี ดีเอ็นเอ (สารพันธุกรรมที่บรรจุในโครโมโซม) ของลูกในครรภ์ ปะปนอยู่ ซึ่งเป็นการค้นพบนี้ทำลายความเชื่อเดิมๆ ในวงการแพทย์ที่ว่า ดีเอ็นเอของลูกไม่สามารถข้ามผ่านเข้ามาอยู่ในกระแสเลือดแม่ได้ เนื่องจากมีรกเป็นตัวป้องกันหรือเลือกกรองสิ่งที่จะเข้าออกระหว่างร่างกายลูกกับร่างกายแม่ ภายหลังการค้นพบนี้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกได้ทำการวิจัยพัฒนาการวิเคราะห์ความผิดปกติทางพันธุกรรมของทารกจากเลือดแม่โดยการวิเคราะห์ดีเอ็นเอของลูกที่อยู่ในเลือดแม่ เราเรียกการตรวจแบบนี้ว่า Non-Invasive Prenatal Testing หรือเขียนย่อว่าNIPT (ซึ่งหมายถึงการตรวจความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ของทารกในครรภ์โดยไม่ต้องทำหัตถการที่เสี่ยง เช่น การเจาะน้ำคร่ำ การตัดชิ้นเนื้อรก หรือการดูดเลือดจากสายสะดือภายในมดลูก)

วิธีการตรวจ NIPD นี้ทำได้โดยการเจาะเลือดแม่ประมาณ 20 ซีซี. มาตรวจ ซึ่งสามารถตรวจได้ในคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 9 สัปดาห์ขึ้นไป เทคนิคนี้ยังสามารถตรวจหาโรคที่มีความผิดปรกติที่มีโครโมโซมเกินมาของคู่ที่ 21, 18, 13, X และ Y ได้อีกด้วย  ปัจจุบันมีบริษัทหรือแล็ปที่รับตรวจดีเอ็นเอหลายแห่ง เช่น panorama(natera), nifty(BGI)  materniT21(sequenom), Harmony ฯลฯ แต่ละแห่งมีจุดเด่นต่างกันไป คุณแม่สามารถปรึกษากับคุณหมอที่ฝากครรภ์ได้เลยค่ะ

 

เจาะน้ำคร่ำ

วิธีนี้คุณแม่จะคุ้นหูกัน คุณหมอจะอัลตราซาวนด์ท้องของคุณแม่เพื่อหาตำแหน่งที่ปลอดภัยและใช้เข็มเจาะผ่านผนังมดลูก เพื่อดูดน้ำคร่ำที่อยู่รอบตัวลูกน้อยมาตรวจ การเจาะน้ำคร่ำเพื่อตรวจหาความผิดปกติทางพันธุกรรมโดยเฉพาะภาวะดาวน์ซินโดรม  เป็นวิธีที่ให้ผลแม่นยำที่สุด ประมาณ 99%  แต่การเจาะน้ำคร่ำก็มีข้อจำกัดอยู่สองประการหลักๆ ประการแรก คือ มีความเสี่ยงในการแท้งบุตร เนื่องจากการที่เราจะได้เซลล์น้ำคร่ำมาวิเคราะห์นั้น คุณหมอจะต้องใช้เข็มเจาะเข้าไปผ่านหน้าท้องของคุณแม่เข้าไปในมดลูกเพื่อทำการดูดน้ำคร่ำที่อยู่รอบๆ ตัวทารก โดยสาเหตุของการแท้งบุตรอาจเกิดจากถุงน้ำคร่ำรั่ว มีการติดเชื้อในถุงน้ำคร่ำ หรือว่าเข็มที่เจาะไปโดนตัวทารกขณะเจาะ โดยอัตราการแท้งจะมีประมาณ 0.5% – 1% ส่วนประการที่สองเป็นเรื่องของระยะเวลาในการรอผล โดยปกติแล้วการเจาะน้ำคร่ำนั้นจะทำเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 16-20 สัปดาห์ ระยะเวลาที่รอการรายงานผลจะประมาณ 3-4 อาทิตย์ ซึ่งการรอคอยนี้สร้างความกระวนกระวายใจให้แก่คุณแม่เป็นอย่างมาก

หมายเหตุ* ภาวะดาวน์ซินโดรม เป็นโรคทางพันธุกรรมที่เกิดจากความผิดปกติของจำนวนโครโมโซมคู่ที่ 21

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

อ่านต่อ>> ตรวจครรภ์ อีก 2 เรื่องเพื่อความมั่นใจในไตรมาสแรก

ตรวจครรภ์ อีก 2 เรื่องเพื่อความมั่นใจในไตรมาสแรก

นอกจากการตรวจภาวะดาวน์ซินโดรมแล้ว ในไตรมาสแรกนี้คุณหมอณัฐฐิณี ย้ำว่า “คุณแม่ควรตรวจด้วยการอัลตราซาวนด์สักครั้งเพราะสามารถรู้โอกาสเสี่ยงเรื่องหลักๆ ในช่วงไตรมาสแรกได้”คือ

•  ตรวจการเต้นของหัวใจลูกน้อยและประเมินอายุครรภ์  ในช่วงไตรมาสแรกเป็นช่วงที่การอัลตราซาวดน์ประเมินอายุครรภ์แม่นยำมากที่สุด

•  ตรวจสอบตำแหน่งของลูกน้อยว่าเหมาะสม  เพื่อให้มั่นใจว่าคุณแม่ไม่ได้เกิดภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูก ซึ่งอาจต้องตรวจควบคู่กับฮอร์โมนเพื่อให้ได้ผลที่แม่นยำมากขึ้นค่ะ

เห็นไหมคะ ว่าผู้หญิงอายุ 35 up ก็ตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยได้ หากเรารู้จัก ตรวจครรภ์ และ ตรวจสุขภาพลูกในท้อง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการตั้งครรภ์ในวัย 35  ขึ้นไป คือการไปฝากครรภ์ทันทีที่รู้ว่าตั้งครรภ์ เพื่อให้แพทย์ประเมินและรับมือกับความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ค่ะ

 

อ่านบทความที่น่าสนใจได้ที่นี่

4 ทางเลือกในการตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรม แบบไหนดีที่สุด?

ดาวน์ซินโดรม รู้ล่วงหน้า..หยุดความเสี่ยงได้ตั้งแต่ลูกอยู่ในครรภ์

นี่คือ 4 เหตุผลของการมีลูกตอนอายุ 35 ดีกว่า มีตอนอายุ 25!

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids