AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

2 เรื่องสำคัญ แม่ท้องต้องทำ เพื่อให้ลูกเกิดมาครบ 32 และมีสมองดี

กลัวลูกออกมาไม่สมบูรณ์ …การตั้งครรภ์เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ก่อให้เกิดความรู้สึกทั้งความสุข ความตื่นเต้นให้กับสมาชิกในครอบครัวและสิ่งหนึ่งที่เป็นความคาดหวังของผู้เป็นพ่อแม่ก็คือ ลูกน้อยในครรภ์จะเติบโตด้วยความสมบูรณ์แข็งแรง มีอวัยวะครบ 32 ประการ

แต่การขาดความรู้ความเข้าใจในการดูแลตนเองของผู้เป็นแม่ ตั้งแต่การเตรียมความพร้อมก่อนตั้งครรภ์จนถึงระยะครรภ์ โดยเฉพาะในช่วง 1 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นช่วงที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาสมองและระบบประสาทของทารก ซึ่งหากแม่ท้องได้รับสารอาหารหรือการดูแลที่ไม่เพียงพอ ทารกจะเสี่ยงต่อความพิการแต่กำเนิดและจะมีปัญหาปากแหว่งเพดานโหว่และเชาว์ปัญญาต่ำ

เรื่องสำคัญแม่ท้องต้องทำ! หาก กลัวลูกออกมาไม่สมบูรณ์ ครบ 32

ความผิดปกติของทารกที่เกิดขึ้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์แม่ เป็นภาวะที่พบได้ตามธรรมชาติ เช่น ฝาแฝดตัวติดกัน คนมีแขนขาสั้น คนแคระ เด็กหัวบาตร ที่ถูกพามาแสดงในงานวัด ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่เรียกว่าเป็นความพิการแต่กำเนิด

โดยเมื่อแรกคลอดพบว่าเด็กพิการอย่างใดอย่างหนึ่งร้อยละ 3.5 เมื่อได้ติดตามต่อไปจนถึงอายุ 5 ปี เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 7.5 เพราะความพิการบางอย่างซ่อนอยู่และแสดงออกภายหลัง

เด็กบางคนคลอดออกมาลืมตาแป๋วแต่ความจริงตาบอดมองไม่เห็น พ่อแม่จะทราบในภายหลัง บางคน 2 ขวบแล้วยังไม่พูดสักทีพบว่าหูไม่ได้ยิน เป็นต้น ซึ่งความรุนแรงก็มีความแตกต่างกันตั้งแต่อาการน้อยมากจนถึงตาย ซึ่งเด็กที่เกิดมามีความพิการมากจำนวนร้อยละ 10 ตายตั้งแต่อายุ 1 เดือนแรก

Good to know : โรคพิการแต่กำเนิดมีมากกว่า 7,000 โรค ปัจจุบันมีทารกพิการแต่กำเนิดทั่วโลกกว่า 8 ล้านคน ประเทศไทยมีทารกแรกเกิด 800,000 คน /ปี พบพิการแต่กำเนิด 3-5 % หรือ 24,000-40,000 คน/ปี ซึ่งในประเทศไทยยังไม่มีการจดทะเบียนและจัดเก็บข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ

1. เตรียมฝากครรภ์ และตรวจหาความผิดปกติของทารก

สำหรับว่าที่คุณแม่ ซึ่งกำลังตั้งครรภ์อยู่ สิ่งสำคัญคือเมื่อรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ ควรรีบไปฝากครรภ์ทันที การตรวจว่าทารกในครรภ์สมบูรณ์ดีหรือไม่ เริ่มตั้งแต่รู้ว่าตั้งครรภ์ คุณแม่มาฝากครรภ์ แพทย์จะตรวจเลือดและปัสสาวะเพื่อดูความพร้อมของสุขภาพแม่ และนัดติดตามดูการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์เป็นระยะๆ หากตรวจพบว่าเป็นปกติ ทารกก็น่าจะสมบูรณ์ดี แต่อย่างไรก็ตามต้องเน้นย้ำว่า “การตั้งครรภ์เป็นความเสี่ยงของคุณแม่และทารกในครรภ์ตลอดการตั้งครรภ์และการคลอด” เพราะทางการแพทย์ยังไม่สามารถติดตามดูทารกได้ตลอดเวลา ยังต้องอาศัยความร่วมมือในการนับการดิ้นของทารกในครรภ์แม่ เพื่อช่วยบอกความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งความรู้ ความเข้าใจและร่วมมือกันระหว่างแพทย์และครอบครัวก็จะลดปัญหาและภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้

Must readนัดตรวจครรภ์ครั้งแรก เตรียมตัวอย่างไรดี
Must read4 ทางเลือกในการตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรม แบบไหนดีที่สุด?

โดยสูติแพทย์จะทำการตรวจหาความผิดปกติของทารกในครรภ์ ด้วยวิธีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เช็กประวัติคุณพ่อและคุณแม่ เพื่อดูความเสี่ยงของการเป็นโรคติดต่อทางพันธุกรรม  การอัลตราซาวด์  การตรวจเลือด การเจาะน้ำคร่ำ เพื่อตรวจดูโครโมโซมว่า ผิดปกติหรือไม่ และเมื่ออายุครรภ์อยู่ในช่วงระยะตตั้งแต่สัปดาห์ที่ 18 ถึงสัปดาห์ที่ 34 ก็จะมีการวัดความสูงยอดมดลูก ซึ่งจะแสดงได้ถึงทารกในครรภ์มีสุขภาพแข็งแรง มีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง การตรวจอัตราการเต้นของหัวใจทารกโดยเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ และการตรวจการดิ้นของทารกในครรภ์ ซึ่งการตรวจทั้งหมดนี้จะช่วยให้คุณแม่ท้อง รู้ได้ว่าลูกในท้องมีภาวะที่เป็นปกติหรือไม่

อ่านต่อ >> “สารอาหารสำคัญเพื่อลูกครบ 32 และมีสมองดี” คลิกหน้า 2

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

2. สารอาหารสำคัญเพื่อลูกครบ 32 และมีสมองดี

นายกสมาคมเพื่อเด็กพิการฯ บอกอีกว่า สาเหตุของโรค ส่วนใหญ่มีพันธุกรรมเกี่ยวข้อง  50 % และอีก 50% เกิดจากสิ่งแวดล้อม สิ่งเสพติดต่างๆ ก็มีส่วนทำให้เกิดโรคได้เช่นกัน การสูบบุหรี่ของแม่ขณะตั้งครรภ์มีผลทำให้น้ำหนักแรกเกิดของเด็กน้อย การดื่มเหล้าทำให้สมองเด็กไม่สมบูรณ์

นอกจากนี้ผู้หญิงในวัย 25-35 ปี เหมาะสมต่อการตั้งครรภ์ และต้องมีความรู้ความเข้าใจในการตั้งครรภ์ ในประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีการป้องกันการเกิดโรคอย่างจริงจัง มีการส่งเสริมให้ผู้หญิงที่จะตั้งครรภ์และเด็กได้รับอาหารเสริม วิตามิน แร่ธาตุที่สำคัญ นั่นคือ โฟเลต ไอโอดีน และเหล็ก

♥ ความสำคัญของโภชนาการกับการป้องกันความพิการแต่กำเนิด

ภาวะโภชนาการของผู้เป็นแม่ขณะตั้งครรภ์นั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด โฟเลตมีหน้าที่สำคัญในกระบวนการสร้าง DNA และเซลล์ต่างๆของร่างกายของลูกน้อย ให้เจริญเติบโต ส่วนไอโอดีนและธาตุเหล็กก็มีผลต่อการพัฒนาสมองและระบบประสาทเช่นกัน

การขาดโฟเลตกับความพิการแต่กำเนิด สามารถป้องกันได้ถ้าแม่ได้รับโฟเลตเพียงพออย่างน้อย 6 สัปดาห์ก่อนตั้งครรภ์ เพื่อให้เด็กกับแม่แข็งแรง และเกิดภาวะพิการแต่กำเนิดต่างๆ น้อยที่สุด ซึ่งผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ควรได้รับ

Must readกระทรวงสาธารณะสุข ชวนคนไทยมีลูกเพื่อชาติ

โดยการผลิตยาวิตามินชนิดนี้จะมีส่วนผสม 3 ชนิด ได้แก่ เหล็ก กรดโฟลิก และไอโอดีน เพื่อความสะดวกต่อการบริโภค ซึ่งตัวยาวิตามินในตอนนี้สามารถเข้าไปขอรับยาพร้อมคำแนะนำได้ที่โรงพยาบาลรัฐทุกระดับทั่วประเทศ

และหากลูกน้อยในครรภ์ได้รับสารอาหารเหล่านี้จะส่งผลดีถึงลูกในท้องนอกจากจะช่วยลดโอกาสการเกิดความพิการแต่กำเนิดของหลอดประสาทแล้ว ยังสามารถลดโอกาสการเกิดปากแหว่งได้ประมาณ 1 ใน 3 ลดโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ร้อยละ 25-50 ลดความผิดปกติของแขนขา ประมาณร้อยละ 50 และยังลดความพิการของระบบทางเดินปัสสาวะ ภาวะไม่มีรูทวารหนัก

“อีกสิ่งที่สำคัญและพิเศษที่สุด อีกอย่างหนึ่งคือ นมแม่ ภายในนมแม่มีสารอาหารที่มีประโยชน์และคุณค่ามากกว่านมชนิดไหนๆ เมื่อคลอดเด็กมาแล้ว ควรสร้างภูมิคุ้มและกันป้องกันให้เด็กตั้งแต่เริ่มแรก โดยให้เด็กทารกได้รับนมแม่ตั้งแต่เริ่มแรกจนหมดช่วงวัยด้วย”

แนะนำบทความน่าสนใจ ที่แม่ควรอ่านต่อ!

อ่านต่อ >> ร่างกายครบ 32 มีอะไรบ้าง” คลิกหน้า 3

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

เรามักจะได้ยินคำว่า “เกิดมา ครบ 32 ก็ดีแล้ว” คำว่า “ครบ 32” นั้นหมายถึงอวัยวะใดบ้าง ซึ่งคนทั่วไปเข้าใจว่าเกิดมาแล้วมี แขน ขา ตา จมูก ปาก หู หรืออวัยวะ ที่เราเห็นๆ กันภายนอก แต่คำนี้นั้นมีที่มา ซึ่งคำว่า ครบสามสิบสอง พจนานุกรม ฉบับมติชน แปลความหมายว่า มีอวัยวะครบทุกส่วน ไม่มีส่วนใดขาดหรือเกิน

ทั้งนี้อวัยวะครบ 32 ที่พูดถึงคือ อวัยวะทางการทำสมาธิ ไม่ใช่ จำนวนอวัยวะจริง เป็นคำที่มาจากคติในทางพระพุทธศาสนา ที่ถือว่าร่างกายของคนเราสามารถพิจารณาจำแนกออกเป็นธาตุทั้ง 4 คือ

ในจำนวนธาตุทั้ง 4 นี้ มีอยู่ 2 ธาตุ ที่สามารถจับต้องได้ คือ ปฐวีธาตุ กับ อาโปธาตุ

ปฐวีธาตุ เป็นธาตุที่มีลักษณะแข้นแข็ง มี 19 อย่าง ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า  กับ มันสมอง อีก 1 อย่าง รวมเป็นทั้งหมด 20 อย่าง

ส่วน อาโปธาตุ เป็นธาตุที่มีลักษณะเอิบอาบ มี 12 อย่าง ได้แก่ ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร   หากเรานับรวม ปฐวีธาตุ และ อาโปธาตุ ก็จะได้ 32 อย่าง เราจึงเรียกว่า อาการ 32 ซึ่งตรงกับภาษาบาลีว่า ทวัตติงสาการ

คำว่าอาการ 32 จึงมิได้หมายถึงอวัยวะ 32 ส่วน อย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่หมายถึงส่วนที่ประกอบขึ้นเป็นร่างกายของเราตามที่อธิบายไว้เบื้องต้น

การพิจารณาร่างกายแยกเป็นส่วน ๆ ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า อาการ 32 นี้ ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า ธาตุกัมมัฏฐาน คือ กรรมฐานที่พิจารณาธาตุเป็นอารมณ์ โดยกำหนดพิจารณากายนี้แยกเป็นส่วน ๆ ให้เห็นว่าเป็นเพียงธาตุ 4  แต่ละอย่างไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา

คำว่า อาการ 32 นี้ เป็น 1 ในคำที่มาจากพระพุทธศาสนาหลายคำที่ใช้กันโดยทั่วไปในภาษาไทย ด้วยเหตุที่ประเทศไทยมีประชาชนนับถือพระพุทธศาสนาเป็นส่วนใหญ่ และนับถือติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายร้อยปี คำศัพท์เหล่านี้จึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทย และอาจมีการกลายความหมายจากเดิมไปบ้าง สำหรับผู้ที่มีปัญหาข้อข้องใจในการใช้ภาษาไทยติดต่อได้ที่ ราชบัณฑิตยสถาน โทร.0-2356-0466-70, http://www.royin.go.th

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!


ขอบคุณข้อมูลจาก :www.doctor.or.th , www.ryt9.com , www.thaihealth.or.th และ xn--42cgsa4cva6cs2icn0t.blogspot.com