AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

Tubal ligation การทำหมันหญิงคืออะไร?

การทำหมัน

การทำหมันหญิง (Tubal ligation หรือ Female surgical sterilization) เป็นการคุมกำเนิดชนิดหนึ่ง โดยการทำให้ท่อนำไข่ทั้ง 2 ข้างอุดตัน มีผลให้ตัวอสุจิไม่สามารถปฏิสนธิกับไข่ได้ การทำหมันหญิง แบบนี้จะมีประสิทธิภาพสูง ปลอดภัย และมีอัตราการล้มเหลว (การตั้งครรภ์หลังการผ่าตัด) ต่ำ (0.5-0.7%) เหมาะสำหรับผู้ที่มีบุตรเพียงพอแล้ว หรือมีข้อห้ามในการตั้งครรภ์ หรือมีข้อห้ามในการใช้ฮอร์โมน

ซึ่งภายหลังการทำหมันก็สามารถทำงานได้ตามปกติ เพียงแต่ห้ามยกของหนักในช่วง 3-4 วันแรกเท่านั้น ไม่มีข้อห้ามอื่น ๆ สามารถร่วมเพศได้เลย เพราะให้ผลในการคุมกำเนิดแบบทันที ไม่ต้องรอนาน 3-4 เดือนเหมือนที่เข้าใจกัน โดยสามารถแบ่งการทำหมันออกได้เป็น 4 วิธี ดังนี้

1. การทำหมันหลังคลอด (การทำหมันเปียก)

เป็นการทำหมันภายใน 6 สัปดาห์แรกหลังการคลอดบุตร โดยนิยมทำในช่วง 48 ชั่วแมงแรกหลังการคลอดบุตร เนื่องจากสามารถทำได้โดยง่าย แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก เนื่องจากมดลูกยังมีขนาดโตลอยอยู่ในช่องท้องเหนืออุ้งเชิงกราน จึงทำให้สามารถหาท่อนำไข่ทั้ง 2 ข้างได้ง่าย วิธีที่นิยมทำกันก็คือ การลงแผลผ่าตัดใต้สะดือ ขนาดแผลยาวประมาณ 2-5 เซนติเมตร แล้วทำการผูกท่อนำไข่และตัดท่อนำไข่บางส่วนออกทั้งสองข้าง เมื่อทำเสร็จแล้วต้องนอนพักโรงพยาบาลประมาณ 1-2 วัน จึงจะกลับบ้านได้ หลังผ่าตัดประมาณ 6-7 วัน จึงมาตัดไหม

ส่วนคนที่ผ่าท้องคลอด แพทย์จะทำหมันไปพร้อมกันเลย จะได้ไม่ต้องมาทำใหม่อีก ซึ่งจะต้องนอนพักในโรงพยาลประมาณ 4-5 วัน และแพทย์ส่วนใหญ่มักจะแนะนำให้ทำหมันด้วยวิธีนี้ ด้วยเหตุผลดังกล่าว เพราะฉะนั้นผู้ที่คิดจะทำหมันด้วยวิธีนี้จะต้องคิดและตัดสินใจให้แน่วแน่ในขณะที่กำลังตั้งครรภ์ เมื่อคลอดเสร็จจะได้ทำหมันได้เลย

2. การทำหมันปกติ (การทำหมันแห้ง)

เป็นการทำหมันในระยะที่ไม่ใช่ในช่วง 6 สัปดาห์แรกหลังการคลอดบุตร มดลูกจะมีขนาดปกติและอยู่ในอุ้งเชิงกราน การผ่าตัดจึงมีความยากในการหาท่อนำไข่มากกว่าการทำหมันเปียก แต่ก็ใช้เวลาทำไม่นาน เพียงแค่ 10-15 นาที เมื่อทำเสร็จแล้วหมอจะให้นอนพักประมาณ 2-3 ชั่วโมงก็กลับบ้านได้เลย พร้อมกับให้ยาแก้ปวดไปกิน อีกประมาณ 6-7 วันจึงค่อยกลับมาให้หมอตัดไหม . . . ซึ่งการทำหมันแห้งก็สามารถทำได้โดย

การผ่าตัดหน้าท้อง (Laparotomy)

และการผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopy)

อ่าน >> วิธีการทำหมันแบบที่ 3 และ 4 ต่อ คลิ๊กเลย

3. การทำหมันหญิงแบบอุดท่อนำไข่ (Essure)

เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากกว่า 2 วิธีแรก โดยจะเป็นการสกัดกั้นไม่ให้ไข่กับสเปิร์มมาเจอกัน โดยใช้วัตถุขนาดเล็กที่ทำขึ้นมาโดยเฉพาะ สอดเข้าไปในท่อนำไข่ โดยใช้กล้องส่องตรวจโพรงมดลูก ใส่เข้าไปทางช่องคลอด ผ่านปากมดลูก เพื่อสร้างปฏิกิริยากระตุ้นให้ร่างกายให้สร้างพังผืดขึ้นมาปิดท่อนำไข่ ซึ่งจะใช้เวลาในการทำเพียง 5 นาทีเท่านั้น

หลังทำเสร็จก็ไม่ทำให้เกิดรอยแผลเป็นจากการผ่าตัดแต่อย่างใด และเพียงชั่วเวลา 3 เดือนหลังทำหมัน เนื้อเยื่อที่อยู่รอบ ๆ ขดลวดก็จะเจริญเติบโตจนท่อนำไข่ถูกอุดตันลงอย่างสมบูรณ์ หลังจากใส่อุปกรณ์เข้าไป ผู้ทำหมันสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ แต่ต้องใช้วิธีการคุมกำเนิดอย่างอื่นร่วมด้วยเพื่อรอให้ร่างกายสร้างพังผืดขึ้นมาปิดท่อรังไข่ได้ทั้งหมดก่อน

4. การทำหมันหญิงโดยการตัดมดลูก (Hysterectomy)

เป็นการผ่าตัดเพื่อเอามดลูกออกไปจากร่างกาย (ไม่รวมรังไข่) ซึ่งเป็นการป้องกันการตั้งครรภ์ได้แบบถาวร และวิธีนี้ยังใช้สำหรับการรักษาโรคบางโรคได้อีกด้วย เช่น มะเร็งของระบบอวัยวะสืบพันธุ์สตรี

ข้อดีของการทำหมันหญิง คือ

ข้อเสียและจำกัดของการทำหมันหญิง คือ

อ่าน >> ผลข้างเคียงหลังจากการทำหมัน คลิ๊กเลย

การทำหมันหญิงมีผลต่อความรู้สึกทางเพศหรือไม่?

การทำหมันหญิงไม่มีผลแทรกซ้อน ที่ทำให้ความรู้สึกทางเพศลดลง มีการศึกษาพบว่าหลังทำหมันมีการเพิ่มความรู้สึกทางเพศเนื่องจากหมดกังวลเรื่องปัญหาการตั้งครรภ์

การทำหมันหญิงมีผลต่อประจำเดือนหรือไม่?

การทำหมันหญิงไม่มีผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว ยกเว้นภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้หลังการผ่าตัดดังกล่าวแล้วในหัวข้อผลข้างเคียงจากการทำหมันหญิง เนื่องจากเป็นการผ่าตัดเพียงบางส่วนของท่อนำไข่ ไม่มีผลต่อรังไข่และมดลูก ไม่มีผลรบกวนฮอร์โมนเพศในร่างกาย สามารถมีประจำเดือนได้ตามปกติ

โอกาสตั้งครรภ์หลังทำหมันหญิงมีหรือไม่? อย่างไร?

หลังการทำหมันหญิงพบมีโอกาสตั้งครรภ์ได้ พบอัตราการล้มเหลว/การตั้งครรภ์อยู่ในช่วง 0.2 – 0.7% ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยเช่น มีการตั้งครรภ์อยู่แล้วก่อนการทำหมัน ความชำนาญของผู้ผ่าตัด ความยาวของท่อนำไข่ที่ตัดออก วิธีการผ่าตัด แม้ว่าจะทำการผ่าตัดโดยผู้เชี่ยวชาญมีประสบการณ์สูงและใช้วิธีการผ่าตัดที่ถูกต้อง ยังมีรายงานพบการเชื่อมต่อกันเองของปลายท่อนำไข่ทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้

หากต้องการมีบุตรหลังทำหมันหญิงสามารถทำได้หรือไม่? อย่างไร?

หากต้องการมีบุตรหลังทำหมันหญิง เช่น มีการแต่งงานใหม่ บุตรเสียชีวิต สามารถตั้งครรภ์ได้โดย

  1. การผ่าตัดแก้หมัน โดยการผ่าตัดเชื่อมต่อท่อนำไข่ที่ถูกตัดขาดออกจากกัน ต้องทำโดยแพทย์ที่มีความชำนาญ ได้รับการฝึกฝนมาโดยเฉพาะ มีโอกาสตั้งครรภ์ 15-90%ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ความชำนาญของแพทย์ผู้ผ่าตัด และเครื่องมือที่ใช้ในการผ่าตัด การใช้กล้องขยายช่วยในการผ่าตัด ตำแหน่งที่ถูกตัดท่อนำไข่ ความยาวของท่อนำไข่ที่เหลือ วิธี การผ่าตัดทำหมัน ระยะเวลาหลังจากการผ่าตัดทำหมัน อายุ และสุขภาพของผู้ทำหมัน และของสามี
  2. การใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ได้แก่ การทำเด็กหลอดแก้ว โดยใช้ยากระตุ้นไข่และใช้เข็มดูดเก็บไข่จากรังไข่ จากนั้นนำมาผสมกับอสุจินอกร่างกาย จนได้ตัวอ่อน จึงย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูก เพื่อให้ตัวอ่อนฝังตัวและเจริญเติบโตต่อไป วิธีนี้ค่าใช้จ่ายสูง ต้องใช้แพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะด้าน ต้องมีอุปกรณ์และห้องปฏิบัติการที่มีเครื่องมือพิเศษ ซึ่งมีโอกาสตั้งครรภ์ 25-40%

คุณแม่และคุณพ่อที่วางแผนคุมกำเนิดด้วยวิธีการทำหมัน จำเป็นต้องศึกษาข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับการทำหมัน ทั้งข้อดี ข้อเสียอย่างละเอียดและควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเนื่องจากสุขภาพของตัวผู้ทำหมันนั้นสำคัญ เพราะบางคนอาจจะมีข้อยกเว้นและมีร่างกายที่ไม่เหมาะในการทำหมัน รวมไปถึงการตัดสินใจทำหมันในสภาวะที่มีแรงกดดัน มีปัญหาทางศาสนา วัฒนธรรม อาจต้องใช้การคุมกำเนิดอย่างอื่นทดเเทน


ขอบคุณข้อมูลจาก : หาหมอดอทคอม แหล่งรวมข้อมูลสุขภาพ โรงพยาบาลและแพทย์