สำหรับคู่รักที่พร้อมจะสร้างคำว่า “ครอบครัว” ให้สมบูรณ์ด้วยการมี “ลูก” เป็นโซ่ทองคล้องใจ อันดับแรกก็ต้องเริ่มเตรียมตัวเตรียมร่างกายและจิตใจให้ดี เพราะใคร ๆ ก็อยากให้การถือกำเนิดของเจ้าตัวน้อยนั้นออกมาราบรื่นไร้ปัญหาใช่ไหมล่ะคะ…โดยเฉพาะคนที่กำลังจะเป็นคุณแม่ยิ่งต้องเตรียมตัวมากเป็นพิเศษ ลองมาดูกันดีกว่าค่ะว่ามีอะไรบ้างที่ว่าที่คุณแม่ควรจะได้ทำ เพื่อเตรียมตัวก่อนที่จะมีเจ้าตัวน้อยบ้าง
วิธีที่ 1 เล่นโยคะ
ความเครียดมักเป็นตัวแปรที่ผกผันสวนทางกับระดับฮอร์โมนสืบพันธุ์ การเล่นโยคะจะทำให้คุณสมาธิจดจ่ออยู่ที่ลมหายใจเข้าออกระหว่างที่ทำท่าต่างๆ จึงช่วยลดความเครียดจากชีวิตประจำวันได้ นอกจากนี้ ขณะที่ยืดหยุ่นร่างกาย ผู้ฝึกโยคะยังต้องสูดลมหายใจเข้าออกช้าๆ ซึ่งจะช่วยให้หัวใจเต้นช้าลง แต่เพิ่มปริมาณออกซิเจนในเลือดมากขึ้น นายแพทย์โรเบิร์ต เอ กรีน ผู้เขียน Perfect Hormone Balance for Fertility แนะนำว่า การเล่นโยคะครั้งละ 45 นาที 2 ครั้ง/สัปดาห์ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้
วิธีที่ 2 บอกลาผลิตภัณฑ์ที่มีสารพทาเลต
สารพทาเลตเป็นสารเคมีซึ่งใช้เติมลงไปในพลาสติกเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น มีรายงานถึงความเป็นพิษของสารชนิดนี้ว่า อาจทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ในเด็ก และอาจทำให้หญิงตั้งครรภ์เกิดภาวะตั้งครรภ์เกินกำหนด*
สารในตระกูลพทาเลตที่คุณสาวๆ อาจต้องสัมผัสในชีวิตประจำวัน คือ บิวทิลเบนซิลพทาเลท (butylbenzyl phthalate, BBP) ซึ่งเป็นสารที่สร้างลอกเลียนฮอร์โมนเอสโตรเจน เป็นส่วนผสมที่ทำให้เกิดความมันเงาในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เช่น สีทาเล็บ ลิปสติก หรือน้ำหอมบางยี่ห้อ ฯลฯ มีรายงานว่า สารเคมีชนิดนี้อาจส่งผลให้เกิดมะเร็งเต้านม และภาวะมีบุตรยากได้
*แหล่งข้อมูลอ้างอิง : เอกสารของกลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ
วิธีที่ 3 กินผักผลไม้ปลอดสารพิษ
สารเคมีในยาปราบศัตรูพืชยับยั้งการเจริญเติบโตของวัชพืช แมลง และสัตว์อื่นๆ อย่างไร ก็ส่งผลกับร่างกายคุณอย่างนั้น เพียงแต่อาจจะส่งผลน้อยกว่าหรือเห็นผลช้ากว่า ดังนั้นพยายามเลือกกินผักที่แน่ใจว่า ปลอดสารพิษ หรือถ้าเลี่ยงไม่ได้ ก็ควรล้างผักและผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทาน
วิธีที่ 4 ไปตามนัดสูติแพทย์
การไปพบสูติแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการมีบุตร เป็นสิ่งที่ว่าที่คุณพ่อคุณแม่ในอนาคตควรปฏิบัติ เพราะสาเหตุของการมีบุตรยากหลายประการ เช่น รังไข่ทำงานผิดปกติ โรคต่อมไทรอยด์ โรคเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ หรือภาวะความผิดปกติของสเปิร์มในฝ่ายชาย ฯลฯ ไม่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า จะต้องให้สูติแพทย์ตรวจวินิจฉัยและหาวิธีรักษา
นอกจากนี้ สูติแพทย์ยังช่วยให้คุณคำนวณวันไข่ตกได้แม่นยำขึ้น วางแผนการฉีดวัคซีนต่างๆ เช่น วัคซีนป้องกันหัดเยอรมัน (ซึ่งต้องฉีดก่อนตั้งครรภ์อย่างน้อย 3 เดือน) และตรวจหาความเสี่ยงของโรคทางพันธุกรรม เช่น ธาลัสซีเมียได้ด้วย
อ่านต่อ >> “วิธีเตรียมร่างกายคุณผู้หญิงให้พร้อมมีลูก” คลิกหน้า 2
วิธีที่ 5 ทานไอศกรีมและดื่มนม (ไม่พร่องมันเนย)
สาวๆ ที่กังวลเรื่องน้ำหนักมักคิดว่า การดื่มนมพร่องมันเนย หรือนมไขมันต่ำ อ้วนน้อยกว่าการดื่มนมธรรมดา แต่สำหรับใครที่อยากมีเจ้าตัวเล็กไว้เชยชม คงต้องเลี่ยงนมไขมันต่ำไปก่อน เพราะผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดพบว่า ผู้หญิงที่บริโภคผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำอาจมีปัญหาไข่ไม่ตกมากขึ้นถึงร้อยละ 85 ขณะที่การบริโภคผลิตภัณฑ์นมอื่นๆ ซึ่งมีไขมัน เช่น นมจืด (ไม่พร่องมันเนย) และไอศกรีม กลับลดความเสี่ยงนี้ได้
นายแพทย์จอร์เก ชาร์วาโร หัวหน้าคณะวิจัย และผู้เขียน The Fertility Diet อธิบายว่า สาเหตุอาจมาจากสารอาหารและฮอร์โมนในนมที่ช่วยกระตุ้นการเจริญพันธุ์นั้นละลายได้ในไขมัน ดังนั้นนมพร่องมันเนยที่สกัดไขมันออก ก็อาจมีสารอาหารเหล่านี้น้อยลงตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เตรียมตัวจะเป็นว่าที่คุณแม่ก็ไม่ควรมีปัญหาน้ำหนักเกิน ดังนั้นคุณจึงควรบริโภคผลิตภัณฑ์จากนมแต่พอดี และลดไขมันชนิดอื่นซึ่งไม่ดีต่อสุขภาพ (เช่น บรรดาอาหารขยะต่างๆ) ลงด้วย
วิธีที่ 6 เข้านอนให้เร็วขึ้น
“8% ของการตกไข่จะเกิดขึ้นในช่วงระหว่างเที่ยงคืน – ตีสี่ ขณะที่คุณกำลังนอนหลับสนิท” คุณหมอกรีน กล่าว การนอนหลับไม่เพียงพออาจส่งผลต่อการผลิตไข่ รวมถึงลดระดับฮอร์โมนสืบพันธุ์ของคุณได้ ดังนั้น จงพยายามเข้านอนเร็วๆ เข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลาทุกวัน รวมถึงงดอาหารและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน 6-8 ชั่วโมงก่อนเข้านอน เพื่อให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น
วิธีที่ 7 กินคาร์โบไฮเดรตที่ ‘มีประโยชน์’
คาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว เช่น น้ำตาล แป้ง ข้าวขาว และมันฝรั่ง ฯลฯ จะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดและเปลี่ยนเป็นพลังงานอย่างรวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกัน ถ้ากินมากเกินไปก็อาจสะสมอยู่ในกระแสเลือด จนเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง รวมถึงโรคอ้วนซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะรังไข่ทำงานผิดปกติ (Polycystic Ovarian Syndrome – POCS)
ดังนั้น พยายามเลือกกินคาร์โบไฮเดรตชนิดเชิงซ้อน เช่น ข้าวซ้อมมือ ถั่ว ผลไม้ที่มีกากใย และธัญพืชฯลฯ แทนดีกว่า เพราะอาหารเหล่านี้มีสารอาหารชนิดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโปรตีน ใยอาหาร และวิตามินเกลือแร่ เมื่อกินเข้าไปแล้ว ร่างกายจะต้องใช้เวลาย่อยสลาย จึงให้พลังงานอย่างต่อเนื่อง และไม่ทำให้อ้วน (ถ้าไม่กินมากเกินไป)
วิธีที่ 8 เพิ่มกรดโฟลิก
ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Fertility and Sterility รายงานว่า กรดโฟลิกไม่ได้ส่งผลดีแค่กับว่าที่คุณแม่ไตรมาสแรก แต่ยังช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ด้วย เพราะฉะนั้น รีบกินอาหารที่มีกรดโฟลิกเช่น ผักใบเขียว ข้าวกล้อง ถั่วแดง และผลไม้ ฯลฯ ตุนไว้เสียแต่วันนี้ ผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ควรได้รับกรดโฟลิกอย่างน้อยวันละ 400 ไมโครกรัม (และเพิ่มเป็น 600 ไมโครกรัมเมื่อตั้งครรภ์)
อ่านต่อ >> “วิธีเตรียมร่างกายคุณผู้หญิงให้พร้อมมีลูก” คลิกหน้า 3
วิธีที่ 9 ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว
การออกกำลังกายประเภทคาร์ดิโอ เช่น กระโดดเชือก เต้นรำ ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ หรือแม้แต่การเดินขึ้นบันได จะช่วยให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย รวมไปถึงอวัยวะในระบบสืบพันธุ์มากขึ้น พออ่านบทความนี้จบแล้ว ก็ลุกจากโต๊ะ หรือหน้าจอคอมพิวเตอร์ แล้วออกไปเดินหรือวิ่งจ๊อกกิ้งบ้างก็ดีนะ
วิธีที่ 10 สืบประวัติสุขภาพของครอบครัว
คุณไม่สามารถเปลี่ยน DNA ได้ก็จริง แต่คุณสามารถตรวจสอบว่า ตนเองมีความเสี่ยงต่อโรคที่ติดต่อทางพันธุกรรมใดบ้าง โรคเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุขัดขวางไม่ให้คุณมีเจ้าตัวน้อยสมใจเสียที หากคุณจะใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ การสืบประวัติครอบครัว (โดยเฉพาะประวัติด้านการมีบุตร) จะช่วยให้แพทย์หาวิธีการรักษาภาวะมีบุตรยากที่เหมาะสมที่สุดได้
วิธีที่ 11 หยุดสูบบุหรี่
“พูดน่ะมันง่าย แต่ให้หยุดจริงๆ น่ะยากกว่า” สิงห์อมควันสาวหลายคนคงออกปาก แต่ถ้าคุณตั้งใจจะมีลูกจริงๆ บุหรี่ก็ไม่ใช่สิ่งพึงประสงค์อีกต่อไป เพราะการสูบบุหรี่จะลดโอกาสในการตั้งครรภ์ถึงร้อยละ 10-40 นอกจากนี้สารพิษในบุหรี่ยังส่งผลต่อการตกไข่และคุณภาพของไข่ด้วย
วิธีที่ 12 เลี่ยงสารหล่อลื่น
ความเครียด ภาวะฮอร์โมนเอสโตรเจนลดต่ำ หรือยาบางชนิดอาจทำให้ช่องคลอดแห้ง แต่คู่สมรสทั้งหลายก็ไม่ควรใช้เจลหล่อลื่นทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ เพราะเจลหล่อลื่นส่วนใหญ่ (ไม่ว่าจะเป็นชนิดน้ำหรือชนิดที่ทำจากปิโตรเลียม) จะไปขัดขวางการเคลื่อนที่ของสเปิร์ม ทำให้สเปิร์มว่ายไปสู่มดลูกได้ยากขึ้น
วิธีที่ 13 กินปลาแทนเนื้อ
อาหารจานเนื้อเช่น สเต็ก อุดมไปด้วยกรดไขมันอิ่มตัวซึ่งอาจอุดตันหลอดเลือด ขณะที่ไขมันในเนื้อปลาส่วนใหญ่เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัว แถมยังมีโอเมก้า 3 และ DHA ที่ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดี ทำให้เลือดไหลเวียนไปบริเวณมดลูกมากขึ้น และเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์