AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

อยากท้อง ต้องเตรียมตัวอย่างไร

Credit Photo : Shutterstock

อยากท้อง ต้องเตรียมตัวอย่างไร เป็นคำถามที่หลายๆ คู่รักถามกันเข้ามามากค่ะ เพราะเท่าที่พูดคุยกันก็ได้ความว่าแต่งงานมา ได้ 1-2 ปีแล้ว และก็พร้อมที่จะมีลูก แต่ไม่รู้จะต้องเริ่มต้นในการเตรียมตัวในเรื่องใดก่อนบ้าง ฉะนั้นเพื่อเป็นการสนับสนุน ให้ทุกครอบครัวมีลูกอย่างสมบูรณ์ ทีมงาน Amarin Baby & Kids จะพาไปเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการตั้งท้องมีลูกกันค่ะ

 

อยากท้อง ต้องเตรียมตัวอย่างไร ?

อย่างที่เกริ่นไปค่ะว่ามีหลายคนถามกันเข้ามาคือ อยากท้อง ต้องเตรียมตัวอย่างไร ผู้เขียนเข้าใจดีเลยว่า ช่วงเวลาที่อยากมีลูก อยากท้อง แต่ไม่รู้ว่าต้องเตรียมตัวในเรื่องไหนก่อนดี หากจะให้แนะนำควรมีการเตรียม สุขภาพร่างกายของทั้งผู้หญิง ผู้ชาย ให้แข็งแรงล่วงหน้ากันอย่างน้อย 3 เดือน เพื่อตรวจเช็กสุขภาพ ทั้งร่างกาย และโรคทางพันธุกรรมว่าจะมีผลต่อลูกหรือไม่? รวมถึงภาวะเสี่ยงอื่นๆ เพื่อที่จะหาทางป้องกัน ซึ่งในเบื้องต้นเรื่องที่ต้องให้ ความสำคัญกันก่อนมีลูก นั่นก็คือ…

1. ตรวจสุขภาพก่อนมีลูก

ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย ก่อนที่จะมีลูก จำเป็นจะต้องไปตรวจเช็กสุขภาพกันก่อน ซึ่งปัจจุบันทุกโรงพยาบาลจะมีโปรแกรมตัวสุขภาพสำหรับคนที่เตรียมตัวมีลูกไว้บริการให้ด้วย อย่างโรคที่สุ่มเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ ก็เช่น  กลุ่มโรคเบาหวาน  ลมชัก เพราะยาที่ทานกับโรคนี้จะทำให้ตั้งครรภ์ยาก และโรคบางโรคที่ส่งต่อได้ทางพันธุกรรมได้แก่ ธาลัสซีเมีย ฮีโมฟีเลีย หากรวมกับพันธุกรรมของแม่แล้วทำให้ลูกผิดปกติ คุณหมอก็จะแนะนำให้ทราบถึงความเสี่ยง และหาวิธีป้องกันให้ค่ะ

2. อายุ

ช่วงอายุที่เหมาะสมสำหรับการตั้งครรภ์คือ 20 – 30 ปี และผู้หญิงอายุ 35 ปีขึ้นไปมีความเสี่ยงที่จะมีบุตรยาก ยกเว้นคนที่ ร่างกายสมบูรณ์  สำหรับผู้หญิงอายุมากโรคที่อาจเกิดขึ้นได้จากความผิดปกติของโครโมโซม เช่น ดาวน์ซินโดรม ส่วน ผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า 18 ปี เด็กที่คลอดออกมาจะมีน้ำหนักตัวน้อยหรือเสียชีวิตขณะคลอดได้

3. งาน

ถ้างานของคุณ โดยเฉพาะผู้หญิงที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสารเคมี เช่น สารตะกั่ว ก็มีผลทำให้โอกาสการตั้งครรภ์ลดน้อยลง  หรืองานที่ต้องใช้แรงยกของ ทำงานหนัก ควรเปลี่ยนงานใหม่

4. ลด เลิกบุหรี่ เหล้า

สิ่งเหล่านี้มีผลต่อระดับออกซิเจนในเลือดของผู้หญิง และทำให้เลือดสูบฉีดน้อยลง ถ้าตั้งครรภ์ก็จะเพิ่มความเสี่ยงของภาวะแท้งได้ค่ะ  แนะนำว่าทั้งผู้หญิง ผู้ชายที่เตรียมตัวสำหรับการมีลูก ควรลด หรือเลิกสูบหรี่ หรือดื่มเหล้าอย่างเด็ดขาดก็จะดีต่อสุขภาพก่อนท้องมากค่ะ

5. ยาบางตัว

ยาควบคุมโรคประจำตัวบางตัวเช่น ยาเบาหวาน  ยาแก้โรคซึมเศร้า อาจจะส่งผลต่อการตั้งครรภ์ และยาคุมกำเนิดที่ทำให้มีบุตรยากหากใช้ยาเป็นเวลานาน

6. วัคซีน

เหตุผลหนึ่งที่อยากให้ผู้หญิงไปตรวจร่างกายก่อนท้อง คือ การได้ทราบประวัติว่าเคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคเหล่านี้มาก่อนหรือไม่ หรือเคยได้รับนานมากแล้ว นั่นคือ
– วัคซีนป้องกันโรคหัด หัดเยอรมัน คางทูม และอีสุกอีใส
– วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน และบาดทะยัก
– วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบเอ วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก
ซึ่งหลังการฉีดวัคซีน โดยมากจะต้องเว้นระยะการตั้งครรภ์ไปประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปี ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีนที่ฉีดด้วยนะคะ ตรงนี้สามารถสอบถามจากคุณหมอได้อีกครั้งค่ะ

7. อาหาร

การดูแลร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรง ต้องเริ่มมาจากภายใน ด้วยการเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ ทานให้หลากหลายอย่างสมดุลกัน เพราะการที่ร่างกายได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ครบถ้วน จะช่วยให้เซลล์ภายในร่างกายต่างๆ มีความแข็งแรงสมบูรณ์พร้อมที่สุดสำหรับการมีลูก ยิ่งโดยเฉพาะในผู้หญิงยิ่งต้องบำรุงร่างกายก่อนท้องให้มากค่ะ

 

บทความแนะนำ คลิก>> ค่าใช้จ่ายในการตั้งครรภ์ ตั้งแต่ฝากครรภ์จนถึงตอนคลอด ต้องจ่ายเท่าไร?

อยากมีครรภ์ที่สมบูรณ์ คนที่จะเป็นพ่อแม่ในอนาคตต้องรู้จักวางแผนเตรียมความพร้อมให้กับตัวเองกันด้วยนะคะ ไม่ว่าจะเรื่องสุขภาพ เงินทอง ที่อยู่อาศัย คนช่วยเลี้ยงลูก หรือแม้แต่อาชีพหน้าที่การงาน ก็ต้องพร้อมเสมอ เพราะอะไรรู้ไหมคะ? เหตุผลคือถ้ารากฐานชีวิตของคนจะเป็นพ่อแม่ไม่พร้อม ลูกที่กำลังจะมีและเกิดมาเขาก็จะมีคุณภาพชีวิตที่แย่ได้ค่ะ

อ่านต่อ อาหารบำรุงก่อนตั้งครรภ์ หน้า 2

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

อาหารบำรุงก่อนตั้งครรภ์

ผู้หญิงที่เตรียมตัวจะเป็นแม่ต้องอ่านให้ดีค่ะ เพราะถ้าเมื่อใดที่คุณอุ้มท้อง ลูกจะดึงเอาสารอาหารจากร่างกายแม่ไปใช้ ถ้าร่างกายของคุณไม่ได้สะสมสารอาหารไว้มากพอ ร่างกายสึกหรอไปได้ง่ายมากๆ และหลังจากคลอดลูกอาจมีปัญหาสุขภาพตามมา ทั้งโรคกระดูกพรุน โรคโลหิตจาง เป็นต้น

เอาเป็นว่าเรามาเตรียมสะสมพลังงาน และสารอาหารต่างๆ ที่จำเป็นให้กับร่างกายก่อนท้องกันค่ะ อาหารที่ว่านี้ก็คือ กลุ่มอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ นอกจากนี้ควรงดอาหาร เครื่องดื่มจำพวก น้ำอัดลม แอลกอฮอล์อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ อาหารหมักดอง ของหวานมากๆ หรือประเภทมันเลี่ยนไขมันเยอะกันด้วยนะคะ

กรดโฟลิก (Folic Acid)

ผู้หญิงทุกคนที่กำลังเตรียมร่างกายเพื่อการตั้งครรภ์ จำเป็นอย่างมากที่ควรหากรดโฟลิกมาทานกัน ซึ่งสามารถหาซื้อตามร้านขายยาแผนปัจจุบัน หรือสอบถามจากคุณหมอที่ไปปรึกษาเรื่องการมีลูกก็ได้เช่นกันค่ะ

มีงานวิจัยทางการแพทย์แนะนำสำหรับผู้หญิงที่กำลังจะมีลูก ให้ทานโฟเลต(Folate) หรือ กรดโฟลิก(Folic Acid) ก่อนที่จะมีการตั้งครรภ์ล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เดือน และหลังจากตั้งครรภ์ก็ให้ทานต่อเนื่องไปจนอายุครรภ์ได้ 12 สัปดาห์ ซึ่งผลการวิจันพบว่าการทานโฟลิกจะช่วยป้องกัน และลดปัญหาความผิดปกติของระบบสมอง และระบบประสาทของทารกในครรภ์ เช่น ภาวะไม่มีเนื้อสมอง ภาวะไขสันหลังไม่ปิด สำหรับกรดโฟลิกมีความจำเป็นในการช่วยสร้างเซลล์สมอง และพัฒนาการของเซลล์สมองให้กับทารกในครรภ์[1]

แหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยกรดโฟลิก ที่นอกเหนือจากการทานในรูปวิตามินแล้ว ก็สามารถหาทานใน ผักใบเขียวเข้มทุกชนิด ฟักทอง ตับ ไข่แดง อะโวคาโด แคนตาลูป แครอท เป็นต้น ซึ่งปริมาณที่แนะนำต่อวันเพื่อให้ร่างกายได้รับกรดโฟลิกอย่างเพียงพอ คือ 400 ไมโครกรัมค่ะ

ธาตุเหล็ก (Iron)

ในช่วงที่ทารกน้อยกำลังเจริญเติบโตอยู่ในครรภ์ของแม่ เขาจะดูดเอาสารอาหารอย่างธาตุเหล็กจากร่างกายแม่ไปใช้เพื่อสร้างพัฒนาการสมอง และสร้างเลือดในร่างกาย ดังนั้นทั้งก่อนและระหว่างตั้งครรภ์แม่ต้องไม่ปล่อยให้ร่างกายขาดธาตุเหล็กเด็ดขาด เพราะการที่ปริมาณธาตุเหล็กในร่างกายแม่ลดลง อาจทำให้แม่มีปัญหาสุขภาพอย่างภาวะโลหิตจางตามมาได้ค่ะ แหล่งอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงก็ได้แก่ เนื้อสัตว์ ตับ ไข่แดง  ผักโขม ถั่วฝักยาว หน่อไม้ฝรั่ง ใบชะพลู ใบตำลึง งาดำ งาขาว ถั่วเหลือง ถั่วแดง ข้าวโอ๊ต เป็นต้น อย่าลืมหามารับประทานกันด้วยนะคะ

ไอโอดีน (Iodine)

หลายคนที่กำลังเตรียมตัวจะมีลูก อาจลืมไปว่าสารอาหารอย่างไอโอดีน นี่ก็สำคัญไม่แพ้สารอาหารตัวอื่นๆ เลยนะคะ แนะนำว่าทั้งก่อนตั้งครรภ์ และระหว่างตั้งครรภ์ จำเป็นมากที่แม่ต้องกินอย่าให้ขาด สำหรับไอโอดีนเป็นแร่ธาตุที่สำคัญต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์ ในคนท้องที่ร่างกายขาดหรือมีปริมาณไอโอดีนไมมากพอ สามารถส่งผลกระทบทำให้ พัฒนาการสมองของลูกในครรภ์ผิดปกติได้ การทำงานของกล้ามเนื้อไม่ประสานกัน ฯลฯ แหล่งอาหารที่ไอโอดีน ก็เช่น ในอาหารทะเลทุกชนิด ปลาทะเล ปู หอย ฯลฯ

แคลเซียม (Calcium)

รู้ไหมคะว่า หลังคลอดลูกแล้ว แม่อาจมีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับโรคกระดูกพรุน และฟันพุได้มาก ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะขณะ ตั้งครรภ์ลูกในท้องดูดเอาแคลเซียมจากร่างกายแม่ไปใช้ในการสร้างร่างกาย และสร้างพัฒนากระดูกเป็นจำนวนมาก  ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มีปัญหาสุขภาพตามมาในภายหลัง แนะนำว่าก่อนท้องและขณะตั้งครรภ์ แม่จะต้องเติมแคลเซียม ให้ร่างกายอย่างสม่ำเสมอ

ซึ่งตามปกติร่างกายของคนเราจะดูดซึมแคลเซียมครั้งละ 500-600 มิลลิกรัม แต่ในผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ร่างกายจะมีความต้องการปริมาณแคลเซียมสูงถึงวันละ 1,000-1,200 มิลลิกรัม แคลเซียมมีส่วนสำคัญต่อการทำงานของเซลล์ต่างๆ ภายในร่างกาย เป็นส่วนประกอบสำคัญของกระดูก ฟัน และเนื้อเยื่อต่างๆ ด้วยค่ะ ดังนั้นเรามาเริ่มสะสมแคลเซียมให้ร่างกายกันดีกว่า ซึ่งแหล่งอาหารที่อุดมด้วยแคลเซียม ก็คือ นมสด ชีส โยเกิร์ต งา ผักคะน้า กวางตุ้ง ตำลึง ขี้เหล็ก ใบบัวบก ถั่วพู ปลาข้าวสาร ปลาเล็กปลาน้อย(ทานได้ทั้งกระดูก)  กุ้งฝอย เต้าหู้ ถั่วเหลือง ถั่วแดง เป็นต้น

 

บทความแนะนำ คลิก>> 5 ท่าบริหารสำหรับคนอยากมีลูก

สุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ก่อนมีลูก ทำได้ไม่ยากค่ะ เพียงแค่เริ่มต้นดูแลตัวเองตั้งแต่วันนี้ด้วยการทานอาหารที่มีประโยชน์ หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่เครียด พักผ่อนให้เพียงพอ เมื่อร่างกายผ่อนคลาย การมีลูกก็ไม่ใช่เรื่องยากแล้วค่ะ

อ่านต่อ ท้องแล้วต้องรับมือกับอะไรบ้าง? หน้า 3

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

เตรียมพร้อมรับมือ เมื่อการตั้งท้องเริ่มขึ้นแล้ว

เชื่อว่าคนที่อยากท้อง อยากมีลูก น่าจะเคยศึกษาอ่านข้อมูลกันมาแล้วบ้างว่ามีสัญญาณอะไรบ้างที่บอกให้รู้ว่ากำลังท้อง ที่สังเกตง่ายๆ คือ ประจำเดือนขาด คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ แพ้ท้อง อยากของเปรี้ยว อ่อนเพลียง่วงนอนตลอดวัน เป็นต้น  นี่คืออาการพื้นฐานเบื้องต้นที่ทุกคนสามารถสังเกตความผิดปกติของร่างกายที่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับร่างกายของผู้หญิงอีก ซึ่งผู้เขียนขออนุญาตนำความรู้จากศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลเปาโล มาบอกต่อให้ดูแลตัวเองตอนตั้งครรภ์กันดังนี้ค่ะ…

1. น้ำหนักตัว

ตลอดการตั้งครรภ์ น้ำหนักจะค่อนๆ เพิ่มขึ้นช่วง 3 เดือนแรก จะเพิ่มไม่มาก ไม่เกิน 2 กิโลกรัมต่อเดือน ตลอดการตั้งครรภ์น้ำหนักควรเพิ่มอย่างน้อยประมาณ 10-12 กิโลกรัม

2. ขนาดของมดลูกและหน้าท้อง

เมื่ออายุครรภ์มากขึ้นหน้าท้องจะขยายออกไปมากขึ้น ช่วงหลังตั้งครรภ์ไป 3 เดือน อาจคลำพบก้อนแข็งนูนขึ้นมาเหนือหัวเหน่า นั่นคือมดลูกที่โตจากอุ้งเชิงกรานจนไปถึงระดับสะดือ เดือนที่ 8-9 เป็นช่วงที่รู้สึกอึดอัดมากเพราะยอดมดลูกโตขึ้นมาถึงระดับลิ้นปี่

3. เต้านมขยาย

หลังเดือนที่ 2 ขึ้นไป เส้นเลือดที่เต้านมจะขยาย หัวนมจะขยายใหญ่และมีสีคล้ำ อาจจะมีก้อนนูนที่ใต้รักแร้ซึ่งเป็นส่วนปลายของเต้านมที่เจริญเติบโต

4. ผนังหน้าท้องลาย

ผิวหน้าท้องจะยืดขยายคล้ายแตกออกที่เรียกว่าท้องลาย

5. ช่องคลอดเปลี่ยนแปลง

มีมูกและตกขาวเพิ่มขึ้น ถ้าตกขาวไม่มาก ถือว่าปกติ ควรรักษาความสะอาดด้วยน้ำสบู่แต่เพียงภายนอก หากมีอาการผิดปกติ  มีสีผิดปกติ กลิ่นเหม็นควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง[2]

นอกจากคำแนะนำเบื้องต้นทั้งหมดนี้แล้ว ก็ยังมีเรื่องของการดูแลช่องปากและฟันก่อนท้องด้วยนะคะ คือควรจะอุดฟัน ขูดหินปูน หรือถอนฟันซี่ที่ผุออกก่อนท้อง รวมทั้งให้หยดทานพวกวิตามินเสริมความงามต่างๆ โดยเฉพาะวิตามินเอที่ใช้ในการรักษาสิว เพราะอันนี้อันตรายเสี่ยงแท้ง เสี่ยงลูกพิการได้ค่ะ สรุปแล้วคือควรจะคลีนและเคลียร์ร่างกายทั้งภายใน ภายนอกให้สมบูรณ์พร้อมมากที่สุด เพื่อที่จะได้มีลูกกันง่ายๆ และเป็นการตั้งครรภ์คุณภาพค่ะ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใย

 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก

ฟันผุขณะตั้งครรภ์ กระทบสุขภาพลูกในท้อง!!
ยุติการตั้งครรภ์ ความจริงที่คุณแม่ยากจะเผชิญ


ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
1รศ.นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์. หนังสือคู่มือตั้งครรภ์และเตรียมคลอดสำหรับคุณแม่ยุคใหม่
2ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลเปาโล. www.paolohospital.com