แผลฝีเย็บอักเสบ ต้องทำอย่างไร - Amarin Baby & Kids
แผลฝีเย็บอักเสบ

แผลฝีเย็บอักเสบ ต้องทำอย่างไร

account_circle
event
แผลฝีเย็บอักเสบ
แผลฝีเย็บอักเสบ

แผลฝีเย็บอักเสบ อาการสุดทรมานของคุณแม่หลังคลอดเองตามธรรมชาติที่คงไม่มีใครอยากเจอ แต่อาการนี้ก็ใช่ว่าจะเป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ง่าย หากมีการเตรียมตัวก่อนคลอด และดูแลตัวเองหลังคลอดให้ดี วันนี้เราจึงขอนำคุณแม่มารู้จักสาเหตุ สัญญาณเตือนบอกอาการ รวมทั้งวิธีป้องกัน เพื่อให้ปลอดภัยจาก แผลฝีเย็บอักเสบ กันค่ะ

มาทำความรู้จักกับ “แผลฝีเย็บ” กันก่อน

หลายคนคงสงสัยว่า ทำไมการคลอดธรรมชาติยังต้องมีการผ่าตัดและเย็บแผลด้วย.. อธิบายง่าย ๆ ให้เห็นภาพชัด ๆ ก็คือ แผลฝีเย็บ เกิดจากการตัดหรือกรีดผิวหนังส่วนที่เรียกว่า “ฝีเย็บ” ซึ่งอยู่ระหว่างช่องคลอดถึงทวาร เพื่อเปิดทางให้ทารกออกมาได้สะดวก และไม่ทำให้แผลฉีกขาดเองซึ่งอาจจะควบคุมไม่ได้ คุณหมอจึงจำเป็นต้องตัดเนื้อส่วนนั้นเพิ่ม และเย็บกลับหลังจากคลอดเสร็จ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะต้องตัดฝีเย็บเพื่อคลอด

มีการเปิดเผยผลการศึกษาทางการแพทย์ว่า การคลอดเองโดยไม่ต้องตัดฝีเย็บ เป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับคุณแม่ แต่คุณหมอก็ต้องประเมินความเสี่ยงต่าง ๆ อย่างรอบด้านก่อนตัดสินใจ เช่น หากหัวหรือไหล่ทารกใหญ่กว่าช่องคลอด หรือเด็กมีภาวะผิดปกติ ก็จำเป็นต้องตัดฝีเย็บเพื่อให้สามารถเปิดทางให้กว้างและคลอดได้สะดวกที่สุด แต่หากปากช่องคลอดเปิดและทารกสามารถผ่านออกได้สะดวกก็ไม่จำเป็นต้องตัดฝีเย็บ

 

สัญญาณเตือน แผลฝีเย็บอักเสบ …ควรพบคุณหมอ

หลังคลอดเองตามธรรมชาติ คุณแม่จะเริ่มมีอาการปวดตึงที่แผลฝีเย็บอยู่บ้าง แต่อาการเหล่านี้จะค่อย ๆ ดีขึ้น ในช่วง 1 สัปดาห์ แต่หากแผลมีการติดเชื้อ สัญญาณเตือนที่คุณแม่จะสังเกตได้คือ มีไข้ขึ้นสูง ปวดหัว ปวดตัว เห็นความผิดปกติจากอาการปวดบวมบริเวณแผลฝีเย็บ ปากช่องคลอด และก้น หรืออาจจะมีก้อนหนองหรือฝีบริเวณปากช่องคลอด และมีอาการปัสสาวะแสบขัดร่วมด้วย

การติดเชื้อบริเวณฝีเย็บเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก หากมีอาการรุนแรงจะมีขั้นตอนของอาการอักเสบแสดงให้เห็น เริ่มต้นจากอาการบวมแดง พบเนื้อตายรอบแผล และมีน้ำเหลืองปนเลือดหรือหนองไหลออกมาจากแผล จากนั้นแผลก็จะปริและแยกจากอาการบวม ในอดีตก็จะปล่อยให้แผลหายเองใน 3-4 เดือน ถ้าไม่หายจึงจะรักษาด้วยการซ่อมแซมบาดแผล แต่ในปัจจุบันสามารถรักษาได้อย่างรวดเร็ว โดยคุณหมอจะวินิจฉัย และให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ จากนั้นจึงเริ่มซ่อมแซมแผลด้วยการเย็บใหม่  และดูแลแผลทำความสะอาด ตัดเนื้อที่ตายรอบแผลออก หรือตกแต่งซ่อมแผลเพื่อให้หายเร็วขึ้น

การดูแลและรักษาอาการอักเสบจากแผลฝีเย็บเป็นสิ่งจำเป็น หากไม่แน่ใจว่ามีอาการแผลติดเชื้ออยู่หรือไม่ ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อขอคำแนะนำในการรักษา เพราะการรับประทานยาปฏิชีวนะหรือยาแก้ปวดบางชนิดของคุณแม่เพิ่งคลอดจะมีผลข้างเคียงต่อการให้นมกับลูกได้

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

ดูแลแผลฝีเย็บหลังคลอด

การดูแลตนเองเบื้องต้นเมื่อปวดฝีเย็บ

การดูแลแผลอักเสบและแผลฝีเย็บหลังคลอด มีข้อปฏิบัติที่ไม่ซับซ้อน เพียงแต่คุณแม่อาจจะต้องใส่ใจเป็นพิเศษ ถึงแม้จะเป็นแผลเล็ก แต่ถ้าเกิดภาวะติดเชื้อขึ้น ก็จะทำให้เกิดความยุ่งยากและเสียเวลาในการรักษาเพิ่มอีกเท่าตัว

  1. ประคบเย็นที่แผลในช่วงหลังคลอด เพื่อบรรเทาอาการปวดและลดบวม แต่ถ้าต้องการอาบน้ำขอแนะนำให้เป็นน้ำอุ่นจะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด แต่ควรทำหลังคลอดมาแล้วมากกว่า 24 ชั่วโมง
  2. แช่แผลฝีเย็บในน้ำอุ่นวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 10-15 นาที เพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดี แผลหายเร็วขึ้น
  3. รักษาความสะอาดบริเวณแผลอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดการติดเชื้อ
  4. ทานยาตามคำแนะนำของคุณหมอเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นยาปฏิชีวนะแก้ปวด หรือทาครีมแก้ปวดเฉพาะที่
  5. พยายามอย่าให้แผลรับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง เช่น การเบ่งอุจจาระ การใช้สายฉีดชำระแรงเกินไป หรือการเช็ดทำความสะอาดแบบรุนแรง
  6. ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผักผลไม้ที่มีเส้นใยสูง และดื่มน้ำเยอะ ๆ เพื่อช่วยให้ระบบขับถ่ายได้ดี ทำให้คุณแม่ไม่ต้องเบ่งถ่ายอุจจาระ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แผลฝีเย็บแตกได้
  7. สังเกตอาการอย่างต่อเนื่อง หากมีความผิดปกติ รีบพบคุณหมอก่อนวันนัดหมาย

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

ป้องกัน-แผลฝีเย็บ

เตรียมตัวก่อนคลอดให้ดี ไม่ต้องมี “แผลฝีเย็บ”

การตัดฝีเย็บอาจจะไม่จำเป็นสำหรับคุณแม่ทุกคน ถ้าได้ลองปฏิบัติตัวเพื่อเตรียมความพร้อมได้อย่างเหมาะสมในช่วงใกล้คลอด เช่น การออกกำลังกายกล้ามเนื้อเชิงกรานให้แข็งแรง จะช่วยให้คลอดง่ายขึ้นและลดปัญหาช่องคลอดฉีกขาด การนวดฝีเย็บด้วยน้ำมันมะกอกหรือน้ำมันจากธรรมชาติ ในช่วง 3-4 สัปดาห์ก่อนคลอดทุกวัน วันละ 3-4 นาที จะทำให้กล้ามเนื้อยืดหยุ่นและผ่อนคลาย การใช้น้ำมันนวดหรือช่วยหล่อลื่นปากช่องคลอดในช่วงก่อนคลอดจะช่วยให้ปากช่องคลอดไม่ฉีกขาดได้ง่าย และที่สำคัญอย่าลืมฝึกการเบ่งคลอด เพื่อช่วยให้คุณแม่มีแรงตลอดการคลอดอีกด้วย

การติดเชื้อ และ แผลฝีเย็บอักเสบ ที่เกิดจากการคลอดเองตามธรรมชาติไม่ใช่เรื่องน่ากลัว และมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก หากคุณแม่ดูแล ใส่ใจ และเตรียมความพร้อมทั้งก่อนคลอดและหลังคลอดเป็นอย่างดี เชื่อว่าการคลอดตามธรรมชาติจะเป็นวิธีที่คุณแม่ประทับใจและมีความสุขครั้งหนึ่งในชีวิตเลยทีเดียว


แหล่งข้อมูลอ้างอิง

นพ.บรรพจน์ สุวรรณชาติ.ยาต้านการอักเสบเพื่อลดการปวดฝีเย็บหลังคลอดบุตร.

รศ.พญ.ประนอม บุพศิริ.ภาวะติดเชื้อหลังคลอด (Postpartum infection).

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์.การติดเชื้อของอวัยวะสืบพันธุ์และอุ้งเชิงกราน.

สูติกรรมพิเศษ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า.อาการที่พบในระยะหลังคลอด และการปฏิบัติตัวเพื่อสุขภาพที่ดี.

อ่านต่อบทความน่าสนใจอื่นๆ คลิก

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up