AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

คลอดยาก สาเหตุที่ทำให้คลอดยาก ทรมานระหว่างคลอด

คลอดยาก เป็นสิ่งที่แม่ท้องทุกคนกังวลมากที่สุด เพราะแม่ท้องจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเมื่อถึงเวลานั้นจะ คลอดยาก หรือ คลอดง่าย มาศึกษากันก่อนดีกว่าค่ะ ว่ามีสาเหตุใดบ้างที่ทำให้คลอดยาก และจะป้องกันได้อย่างไร

คลอดยาก สาเหตุที่ทำให้คลอดยาก ทรมานระหว่างคลอด

ภาวะคลอดยากคืออะไร?

ภาวะคลอดยาก ดูได้จากปัจจัยดังต่อไปนี้

  1. การคลอดลูกที่ไม่ได้อยู่ในภาวะปกติ
  2. มีความยากลำบากในการคลอดลูกทางช่องคลอด
  3. ใช้เวลาในการคลอดยาวนานกว่าปกติ (ใช้เวลาในการคลอดนับแต่เจ็บครรภ์จริงมากกว่า 20 ชั่วโมง สำหรับท้องแรก และ 12 ชั่วโมง สำหรับท้องหลัง หรือ ปากมดลูกใช้เวลาในการเปิดมากกว่า 1 เซนติเมตรต่อชั่วโมง)
  4. ไม่มีความก้าวหน้าในการคลอด โดยปกติแล้ว หลังจากเจ็บครรภ์คลอดจริง ปากมดลูกจะค่อย ๆ เปิดกว้างขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด ลูกในท้องก็ควรจะค่อย ๆ เคลื่อนต่ำลงมา

หากแม่ท้องและลูกในท้องมีปัจจัยนี้ แพทย์จะพิจารณาการใช้เครื่องมือต่าง ๆ เพื่อช่วยในการคลอด เช่น ใช้เครื่องดูดสุญญากาศ (Vacuum extraction) การใช้คีมช่วยคลอด (Forcep extraction delivery) และการผ่าตัดคลอด ซึ่งอาจทำให้มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงหรือผลเสียต่อทั้งมารดาและทารกในภาวะที่มีการคลอดยากเพิ่มมากขึ้นด้วย

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

อ่านต่อ สาเหตุที่ทำให้คลอดยาก และ จะเกิดอะไรขึ้นหากแม่ท้อง คลอดยาก

สาเหตุที่ทำให้คลอดยาก

 

จากรูป สาเหตุที่ทำให้คลอดยาก แบ่งออกเป็น 4 สาเหตุใหญ่ ๆ ได้แก่

1. Passage เส้นทางที่ลูกในท้องจะเดินทางลงมาจากมดลูกสู่ช่องคลอด

เป็นสาเหตุที่เกิดจากความผิดปกติของแม่ท้องเอง ซึ่งนำพามาสู่การ คลอดยาก ซึ่งปัจจัยต่อไปนี้คือสาเหตุของการคลอดยากที่เกิดมาจากความผิดปกติของแม่ท้อง

  1. ความผิดปกติของช่องเชิงกราน ส่งผลให้ช่องเชิงกรานมีรูปร่างผิดปกติ ทำให้การคลอดผ่านช่องเชิงกรานลำบาก ซึ่งสาเหตุที่แม่ท้องมีช่องเชิงกรานแคบ ได้แก่ แม่ท้องมีภาวะการเจริญเติบโตผิดปกติ แม่ท้องตัวเล็ก แม่ท้องมีฮอร์โมนเพศหญิงที่ไม่สมบูรณ์ แม่ท้องเป็นโรคกระดูก กระดูกเชิงกรานแตกหรือร้าว แม่ท้องที่มีความพิการแต่กำเนิด แม่ท้องที่อายุยังไม่ถึง 16 ปี จึงทำให้กระดูกเชิงกรานยังเติบโตได้ไม่เต็มที่
  2. แม่ท้องมีเนื้องอกในมดลูก
  3. มดลูกมีลักษณะคว่ำหน้า
  4. ปากมดลูกผิดปกติ
  5. ช่องคลอดผิดปกติ
  6. กระเพาะปัสสาวะโพ่งตึง

2. Passenger ปัจจัยที่เกิดจากลูกในท้อง

  1. ศีรษะทารกไม่สัมพันธ์กับช่องเชิงกราน เช่น ศีรษะทารกมีขนาดใหญ่กว่าช่องเชิงกราน ทำให้ไม่ได้สัดส่วนระหว่างขนาดศีรษะทารกกับความกว้างของช่องเชิงกราน เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการคลอดยากที่พบมากที่สุด
  2. ทารกอยู่ในท่าผิดปกติ
    • ทารกท่าขวาง

    • ทารกท่าหน้า

    • ทารกท่ากัน

3. การตั้งครรภ์แฝด

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

อ่านต่อ สาเหตุที่ทำให้คลอดยาก และ จะเกิดอะไรขึ้นหากแม่ท้อง คลอดยาก

3. Psyche สาเหตุทางด้านจิตใจของแม่ท้อง

เมื่อแม่ท้องรู้สึกกังวลและกลัวการคลอด ก็สามารถส่งผลให้คลอดยากได้เช่นกัน เพราะเมื่อแม่ท้องกลัวหรือกังวล ร่างกายก็จะหลั่งสารที่ไปยับยั้งการหดรัดตัวของมดลูก ทำให้ใช้เวลาในการคลอดยาวนานขึ้น

4. Power ความผิดปกติจากแรงเบ่งและการหดรัดตัวของมดลูก

  1. มดลูกหดรัดตัวรุนแรงกว่าปกติ ไม่เป็นจังหวะ ไม่ประสานงานกัน การหดรัดตัวไม่ได้เริ่มที่ยอดมดลูก หรือ มดลูกส่วนกลางมีการหดรัดตัวมากกว่าส่วนยอด ส่งผลให้เกิดอันตรายดังต่อไปนี้
  2. มดลูกหดรัดตัวน้อยกว่าปกติ ทำให้ทารกไม่สามารถดันตัวออกมาได้
  3. แม่ท้องหมดหรือขาดแรงเบ่ง อาจเป็นเพราะเบ่งไม่เป็น หรืออ่อนเพลียเกินไปที่จะเบ่ง หรือ อยู่ในภาวะขาดน้ำ หรือ ได้รับยาแก้ปวดมากจนเกินไปจนไม่รู้สึกถึงการปวดเบ่ง สาเหตุนี้ส่งผลให้เกิดอันตรายดังต่อไปนี้

จะเกิดอะไรขึ้นหากแม่ท้องคลอดยาก?

ภาวะคลอดยากที่ก่อให้เกิดอันตรายกับแม่ท้อง

  1. ทำให้ช่องทางคลอดฉีกขาด แม่ท้องเสียเลือดมาก
  2. เสี่ยงต่อการติดเชื้อแผลที่ช่องคลอดมาก เพราะเสียเลือดมาก เย็บซ่อมแซมแผลฝีเย็บใช้เวลานาน เนื้อเยื่ออวัยวะเพศชอกช้ำมาก จึงติดเชื้อง่าย
  3. หากเสียเลือดมากและให้เลือดทดแทนจำนวนมาก หรือไม่เพียงพอ อาจเกิดภาวะเลือดออกทั่วร่างกาย
  4. เสี่ยงต่อการได้รับการใช้เครื่องมือช่วยคลอด ได้แก่ คีมช่วยคลอด เครื่องดูดสุญญากาศ
  5. เสี่ยงต่อการได้รับการผ่าตัดคลอด
  6. หากทารกตัวโต จะทำให้กล้ามเนื้อมดลูกหดรัดตัวไม่ดี ทำให้เสียเลือดมาก และเพิ่มโอกาสตกเลือดหลังคลอด
  7. เสี่ยงต่อมดลูกแตก

ภาวะคลอดยาก ที่ทำให้เกิดอันตรายกับลูกในท้อง

  1. ร่างกายทารกชอกช้ำจากการคลอดยาก หรือจากหัตถการช่วยคลอดต่างๆ
  2. การคลอดติดไหล่ (Shoulder dystocia) ทำให้มีภยันตรายต่อเส้นประสาทของแขน(Brachial plexus injury)ทารกจากกระบวนการช่วยคลอด ทำให้ทารกยกแขนหรือกำมือไม่ได้
  3. เกิดความพิการทางสมองของทารกเนื่องจากคลอดยาก ส่งผลทำให้สมองขาดออกซิเจน ซึ่งความรุนแรงของอาการทางสมองขึ้นกับว่าขาดออกซิเจนนานเพียงใด
  4. ทารกมีโอกาสเสียชีวิตได้

ภาวะคลอดยาก ป้องกันได้อย่างไรบ้าง?

ภาวะคลอดยาก ไม่ได้เกิดจากการที่แม่ท้องไม่ระวังตัว หรือ เกิดจากการกระทำของแม่ท้องเพียงอย่างเดียว บางเหตุการณ์ก็เป็นเรื่องที่สุดวิสัย ที่ทำให้คลอดยาก ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์นี้ สิ่งที่แม่ท้องควรทำคือ

  1. ฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่น ๆ และไปหาหมอทุกครั้งตามนัด
  2. ดูแลสุขภาพตนเองระหว่างตั้งครรภ์ตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เช่น ระมัดระวังเรื่องการรับประทานอาหาร ไม่ควรให้น้ำหนักตัวมารดาเพิ่มมากเกินไประหว่างตั้งครรภ์ และหากมีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ได้ตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล แต่ ในกรณีที่มีปัญหาเรื่อง ช่องเชิงกราน เนื้องอกต่างๆ เช่น เนื้องอกในอุ้งเชิงกราน เนื้องอกมดลูก เป็นสิ่งที่ป้องกันไมได้ ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อหาวิธีการคลอดที่เหมาะสมต่อไป

แม้ว่าการคลอด เป็นประสบการณ์ที่น่ากลัวสำหรับแม่ท้อง ไม่มีแม่ท้องคนไหนที่ไม่กลัวการคลอด แต่สิ่งที่ได้รับหลังคลอดนั้นกลับสวยงามและเป็นสิ่งที่แม่ท้องรอคอย ดังนั้น แนะนำให้ทำใจให้สบาย ผ่อนคลาย และเชื่อมั่นในฝีมือของคุณหมอ และพยาบาลที่ทำคลอดค่ะ

อ่านบทความที่น่าสนใจได้ที่นี่

วิธีเร่งคลอด มีกี่แบบ? จำเป็นหรือไม่ที่ต้องเร่ง

ท้องแข็งใกล้คลอด เป็นแบบไหน? ท้องแข็งแบบไหนอันตราย

คลอดธรรมชาติแบบบล็อคหลัง อีกหนึ่งทางเลือกของคุณแม่

 

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : haamor.comafairgo.net, babycenter.com, tobepregnant.net

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids