AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

วิธี “คำนวณวันคลอด” ด้วยตัวเอง คำนวณง่ายและแม่นยำ

คำนวณวันคลอด

แม่ท้องหลาย ๆ คนอาจสงสัยว่าคุณหมอทราบได้อย่างไรว่าลูกจะคลอดออกมาวันไหน และการคำนวณนี้จะแม่นยำแค่ไหน ทีมงานขอแจงรายละเอียดการ คำนวณวันคลอด ให้คุณแม่ได้อ่านกันค่ะ

วิธี “คำนวณวันคลอด” ด้วยตัวเอง คำนวณง่ายและแม่นยำ

การทราบกำหนดคลอดนั้นมีความสำคัญมาก เพราะข้อมูลนี้จะช่วยให้แพทย์ทราบถึงพัฒนาการของลูกในท้องที่ควรจะเป็นในแต่ละสัปดาห์ ช่วยให้แพทย์กำหนดการตรวจสุขภาพต่าง ๆ ของแม่ท้องและลูกในท้องได้อย่างถูกต้อง และยังช่วยให้แม่ท้องเตรียมตัวในช่วงใกล้คลอดได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย

วิธีนับอายุครรภ์

ก่อนจะทราบกำหนดคลอดแม่ท้องต้องทราบอายุครรภ์ก่อน การตั้งครรภ์สำหรับมนุษย์นั้นใช้เวลาตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์จนถึงวันคลอดทั้งสิ้น 40 สัปดาห์ โดยจะเริ่มนับตั้งแต่วันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้ายเป็นสัปดาห์ที่ 1 เหตุผลที่ไม่นับอายุครรภ์เป็นเดือนหรือเป็นวันเพราะว่าในแต่ละเดือนจะมีจำนวนวันไม่เท่ากัน บางเดือนมี 30 วัน บางเดือนมี 31 วัน และในเดือนกุมภาพันธ์มีจำนวนวันเพียง 27-28 วัน ทำให้การ คำนวณวันคลอด นั้นทำได้ยากนั่นเอง

วิธี คำนวณวันคลอด

การคำนวณวันคลอด ข้อมูลที่สำคัญที่สุดในการใช้คำนวณคือ วันแรกที่มีประจำเดือนครั้งสุดท้าย โดยส่วนมากเราจะเคยชินกับการจำว่าประจำเดือนหมดวันสุดท้ายเมื่อไหร่ ทำให้การคำนวณคลาดเคลื่อน แต่จริง ๆ แล้วข้อมูลที่ใช้นับนั้นคือวันแรกของการมีประจำเดือนต่างหาก เช่น คุณแม่มีประจำเดือนครั้งสุดท้ายตั้งแต่วันที่ 1-3 มกราคม ข้อมูลที่จะนำมานับคือวันที่ 1 มกราคม และหากประจำเดือนมาไม่ตรงตามกำหนด ก็ไม่ควรนำมานับ เช่น ในช่วงเดือนมกราคม ประจำเดือนควรจะมาในวันที่ 1 มกราคม แต่กลับเลื่อนไปวันที่ 5-8 มกราคม ข้อมูลที่จำนำมานับในการ คำนวณวันคลอด คือวันที่ 5 มกราคม นั่นเอง

สูตร คำนวณวันคลอด

มีสูตรในการคำนวณวันคลอดแบบง่าย ๆ  อยู่ 2 วิธี ดังนี้

  1. นับจากวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้ายบวกไปอีก 9 เดือน และนับบวกต่อไปอีก 7 วัน ก็จะได้วันกำหนดคลอด สมมติว่า วันแรกที่ประจำเดือนมาครั้งสุดท้ายของคุณแม่คือวันที่ 1 มกราคม ก็ให้บวกไปอีก 9 เดือน ซึ่งจะตรงกับวันที่ 1 ตุลาคม แล้วให้นับบวกต่อไปอีก 7 วัน ดังนั้น กำหนดคลอดของคุณแม่ก็จะตรงกับวันที่ 8 ตุลาคม
  2. นับจากวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้ายย้อนหลังไป 3 เดือนและนับบวกต่อไปอีก 7 วัน ก็จะได้วันกำหนดคลอด สมมติว่า วันแรกที่ประจำเดือนมาครั้งสุดท้ายของคุณแม่คือวันที่ 1 มกราคม ก็ให้นับย้อนหลังไปอีก 3 เดือน คือ ธันวาคม พฤศจิกายน และตุลาคม และนับบวกไปอีก 7 วัน ดังนั้น กำหนดวันคลอดของคุณแม่จะตรงกับวันที่ 8 ตุลาคม
ภาพจาก : https://medthai.com

จากตารางด้านบนนี้ แถวบน คือ วันที่มีประจำเดือนครั้งสุดท้าย / แถวล่าง คือ กำหนดวันคลอด โดยสูตรการนับทั้ง 2 วิธีนี้ จะให้ผลเหมือนกัน (แล้วแต่ว่าจะสะดวกนับแบบไหน) เป็นสูตรที่สูติแพทย์และผดุงครรภ์ใช้กันทั่วโลก ซึ่งอาศัยการสังเกตจากประสบการณ์และการทำสถิติการคลอดของคนทั่วโลก แต่จะให้ผลอย่างแม่นยำในกรณีที่คุณแม่จำวันที่ประจำเดือนมาครั้งสุดท้ายได้เท่านั้น

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

อ่านต่อ คลอดไม่ตรงกำหนดคลอด ลูกจะปลอดภัยไหม?

คลอดไม่ตรงกำหนดคลอด ลูกจะปลอดภัยไหม?

ปกติแล้วคุณแม่ส่วนใหญ่อาจไม่ได้คลอดบุตรตรงตามกำหนดคลอดที่แพทย์ระบุเสมอไป หากคุณแม่มีรอบเดือนมาสม่ำเสมอทุก ๆ 28-30 วัน มักจะคลอดก่อนวันที่กำหนดไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ มีเพียง 5-6% ของคุณแม่ตั้งครรภ์ที่คลอดลูกได้ตรงกำหนดวันคลอดเท่านั้น และอีก 40% มักจะคลอดลูกเกินกำหนด โดยจะคลอดในสัปดาห์ที่ 42-44 ของการตั้งครรภ์  ดังนั้น คุณแม่ไม่ต้องกังวลไปว่าจะต้องคลอดในวันที่กำหนดเท่านั้น ลูกถึงจะออกมาสมบูรณ์แข็งแรง เพราะ ในทางการแพทย์จะถือว่าการคลอดในสัปดาห์ที่ 38-42 ยังอยู่ในระยะที่ถือว่าเป็นการคลอดครบกำหนด แต่หากคลอดก่อนสัปดาห์ที่ 38 นั้นจะถือว่าเป็นการคลอดก่อนกำหนด และหากคลอดหลังสัปดาห์ที่ 42 นั้นจะถือว่าเป็นการตั้งครรภ์เกินกำหนด ซึ่งการคลอดก่อนหรือเกินกำหนดนั้น อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนและ ความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ของแม่ท้องและลูกในท้องได้ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจจะทำให้คลอดไม่ตรงตามกำหนดคลอดได้ เช่น คุณแม่ที่ท้องแรกคลอดก่อนกำหนด ท้องที่สองก็มีโอกาสที่จะคลอดก่อนกำหนดได้เช่นกัน หรือคุณแม่อาจจะจำไม่ได้แน่นอนว่ามีประจำเดือนครั้งสุดท้ายวันไหน ทำให้การคำนวณวันคลอดอาจจะคลาดเคลื่อนได้เช่นกัน

การคำนวณวันคลอดมีความสำคัญต่อสุขภาพของทารกในครรภ์

ถ้าจำไม่ได้ว่ามีประจำครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ จะคำนวณอย่างไร?

ผู้หญิงหลาย ๆ คนที่อาจจะไม่ได้จดบันทึกประจำเดือนไว้ หรือประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ หรือใช้ยาคุมกำเนิดประเภทต่าง ๆ เมื่อหยุดคุมกำเนิดประจำเดือนยังไม่มาก็พบว่าตั้งท้อง หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตรหลังคลอดทำให้ไม่มีประจำเดือน เป็นต้น ในกรณีที่กล่าวมานี้ทำให้คุณแม่มีปัญหาในการนับหรือจำวันที่ประจำเดือนมาครั้งสุดท้ายไม่ได้ ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้โดยการประเมินจากขนาดมดลูกและอัลตราซาวนด์ (โดยการวัดขนาดความกว้างของหัวเด็ก และความยาวของเด็กในท้อง) โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้เช่นกัน แต่การคาดคะเนโดย 2 วิธีนี้ อาจทำให้การคำนวณวันคลอดคลาดเคลื่อนไปได้ 1-2 สัปดาห์

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

แจงละเอียด! ขั้นตอนการฝากครรภ์ เตรียมตัวอย่างไร? ทำอะไรบ้าง?

10 วิตามินคนท้อง ที่ควรกินเพื่อบำรุงแม่และลูกในท้อง

7 วิธีดูแลตัวเองตอนท้อง อยากให้ลูกในท้องแข็งแรง ต้องทำสิ่งนี้

 

ข้อมูลอ้างอิงจาก : medthai.com

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids