AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

“เตียงคลอดลูก” แบบใหม่ ดึงขื่อเบ่งคลอดแบบโบราณ

เตียงดึงขื่อ

ในสมัยก่อน จะเห็นได้ว่าเมื่อผู้หญิงคลอดลูก จะมีผ้ามาพาดไว้กับขื่อ เพื่อใช้จับในช่วงที่ออกแรงเบ่ง คุณหมอสูติฯ จึงได้ออกแบบ เตียงคลอดลูก แบบใหม่ ที่เหมาะสำหรับการคลอดธรรมชาติ

“เตียงคลอดลูก” แบบใหม่ ดึงขื่อเบ่งคลอดแบบโบราณ

ลักษณะของ เตียงคลอดลูก ในสมัยนี้ ก็จะเหมือนกับเตียงที่เอาไว้ใช้ตรวจภายในทั่วไป คือเป็นเตียงที่นอนราบ และมีขาหยั่งไว้สำหรับใช้วางขา ซึ่งในการคลอดธรรมชาติ คุณแม่จะต้องเบ่งคลอดโดยอาศัยจังหวะของการบีบตัวของมดลูก ในการเบ่งคลอดนั้น ในสมัยโบราณมักจะใช้ผ้ามาให้คุณแม่ได้จับเพื่อช่วยในการออกแรงเบ่ง นายแพทย์ โอฬาริก มุสิกวงศ์ สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จึงได้ออกแบบเตียงคลอดลูกแบบใหม่ ที่ผสมผสานการคลอดธรรมชาติแบบใหม่และการคลอดธรรมชาติแบบโบราณเข้าด้วยกัน เพื่อให้คุณแม่เกิดความสะดวกในการเบ่งคลอดมากขึ้น โดยวัตถุประสงค์ของคุณหมอนั้น ก็เพื่อสนับสนุนให้แม่ ๆ หันมาคลอดธรรมชาติกันมากขึ้นนั่นเอง โดยคุณหมอได้ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ ดังนี้

“ส่วนตัวหมอสนับสนุนให้คลอดแบบธรรมชาติ เพราะมีข้อดีเยอะมาก โดยเฉพาะเรื่องการฟื้นตัว ตอนนี้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และกระทรวงสาธารณสุข มีรณรงค์ในเรื่องนี้ รวมถึงมีการทำวิจัยเรื่องการผ่าคลอดโดยไม่จำเป็น ส่วนผู้หญิงที่อายุมากกว่า 35 ปี คนส่วนใหญ่คลอดเองได้”

โดยเตียงคลอดลูก ที่คุณหมอออกแบบนี้ ถูกออกแบบให้ถูกเรียกว่า “เตียงดึงขื่อ” คือจจะมีลักษณddะที่เหมือนเตียงตามโรงพยาบาลทั่วไป คือเตียงแบบราบที่สามารถปรับระดับให้นอนหรือนั่งได้ แต่สิ่งที่มีเพิ่มเติมเข้ามาก็คือขื่อที่ติดอยู่บริเวณปลายเตียง เมื่อคุณแม่ต้องการเบ่งคลอด เพียงแค่นำผ้ามาคล้องไว้กับขื่อ แล้วดึงเพื่อเบ่งคลอดนั่นเอง

และ ล่าสุดวันที่ 16 ก.ค.62 นพ.โอฬาริก ก็ได้เผยคลิปการทดลอง “เตียงคลอดดึงขื่อเวอร์ชั่น 2” โดยเพิ่มที่วางขา ซึ่งคุณแม่สามารถใช้ยันขาได้ด้วย นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์เสริมเป็นที่สำหรับดึงด้านข้าง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคุณแม่ที่ต้องการคลอดแบบธรรมชาติ

ดูคลิปการสาธิต “เตียงคลอดดึงขื่อเวอร์ชั่น 2” ที่นี่

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก : Olarik Musigavong

หลังจากที่คุณหมอได้ทดลองใช้เพื่อทดสอบถึงความแข็งแรงและการใช้งานของ เตียงคลอดลูก แล้ว ก็ได้มีเสียงตอบรับอย่างล้นหลาม ว่าเตียงแบบนี้น่าจะทำให้คลอดได้ง่ายขึ้น แต่ก่อนที่แม่ท้องจะได้ไปนอนบนเตียงคลอดนี้ แม่ ๆ จะต้องเตรียมตัวและผ่านขั้นตอนใดบ้างเมื่อไปถึงโรงพยาบาลเพื่อเตรียมคลอด อ่านต่อหน้าที่ 2 ได้เลยค่ะ

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

อ่านต่อ วิธีการปฏิบัติตัวเมื่อไปถึงโรงพยาบาลเพื่อคลอดลูก

วิธีการปฏิบัติตัวเมื่อไปถึงโรงพยาบาลเพื่อคลอดลูก

เมื่อคุณแม่รู้สึกถึงการบีบตัวของมดลูก หรือปวดท้องคลอด ก็ถึงเวลาที่จะต้องไปโรงพยาบาลเพื่อคลอดลูกกันแล้ว แต่เคยสงสัยหรือไม่คะว่า เมื่อไปถึงโรงพยาบาลแล้ว ควรจะปฏิบัติตัวอย่างไรบ้างก่อนที่จะได้คลอดลูก มาดูขั้นตอนกันค่ะ

  1. แจ้งเจ้าหน้าที่ว่าจะมาคลอดบุตร เพื่อให้เจ้าหน้าที่เตรียมรถเข็นให้คุณแม่นั่ง
  2. ให้ญาติ หรือ สามีแยกไปทำทำหลักฐานการอยู่โรงพยาบาล
  3. คุณแม่จะถูกนำไปเข้าห้องคลอดที่เรียกว่า “ห้องรับ” ในห้องนี้จะมีเจ้าหน้าที่พยาบาลประจำอยู่ จะซักประวัติและสาเหตุทีทำให้แม่มาคลอด เช่น มีเลือดออก เสียงการเต้นของหัวใจลูก ว่าผิดปกติหรือไม่ ถ้ามีเหตุผิดปกติก็จะมีสูติแพทย์มาดูแลฉุกเฉิน
  4. หลังจากซักประวัติเรียบร้อยแล้ว ก็ทำการเปลี่ยนชุดของโรงพยาบาล และชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดอุณหภูมิร่างกาย ชีพจร อัตราการหายใจวัดความดันโลหิต
  5. พยาบาลจะเข้ามาเตรียมความพร้อมบริเวณอวัยวะเพศ ได้แก่ โกนขนบริเวณอวัยวะเพศ หรือ โกนขนบริเวณหน้าท้อง (ในกรณีที่ผ่าท้องคลอด) จากนั้นก็ตรวจปากมดลูกว่าเปิดมากหรือเปิดน้อยเพียงใด (ตรวจทางทวารหนัก) ตรวจดูการหดรัดตัวของมดลูก ว่าเจ็บจริงหรือเจ็บหลอก ถ้าเป็นการเจ็บจริงคลอดแน่นอน ก็จะสวนทวารหนัก เอาอุจจาระออกให้หมด (บางรายปากมดลูกเปิดมาก ๆ จะคลอดก็จะงดการสวน)
  6. หลังถ่ายเสร็จ พยาบาลก็จะพาไปนอนในห้องรอคลอดซึ่งอยู่ใกล้กัน มีเตียงหลายเตียง คุณแม่จะได้ยินเสียงร้องครวญครางของคุณแม่คนอื่น ๆ ก็ไม่ต้องตกใจ บางคนอาจจะมีอาการปวดท้องนานหลายชั่วโมง ในบางคนอาจจะปวดท้องไม่ถึงชั่วโมงก็คลอดเลยได้
  7. เมื่อพยาบาลตรวจพบว่าถึงเวลาคลอดแล้ว โดยการตรวจดูการเปิดของปากมดลูก เมื่อปากมดลูกใกล้เปิดถึง 10 เซนติเมตรแล้ว หรือ คุณแม่รู้สึกว่ามีน้ำไหลออกมาจากช่องคลอด หรือคุณแม่เริ่มเจ็บท้องมากขึ้นและถี่ขึ้น ก็ถึงเวลาไปนอนบน เตียงคลอดลูก เพื่อเตรียมตัวคลอดกันได้แล้ว

เมื่อถึงเวลาคลอดแล้ว เพียงคุณแม่ทำตามที่คุณหมอและพยาบาลสอน ในการกำหนดลมหายใจและจังหวะของการเบ่ง อีกไม่นานเกินรอ คุณแม่ก็จะได้เห็นสมาชิกใหม่มาร้องไห้อยู่ข้าง ๆ คุณแม่กันแล้วค่ะ

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

น้ำคร่ำแตก เป็นอย่างไร? แตกต่างกับกลั้นปัสสาวะไม่อยู่หรือไม่

อาการใกล้คลอด 6 สัญญาณที่แม่ต้องสังเกต

ปากมดลูกเปิดเป็นยังไง แม่ท้องรู้ไว้ก่อนเข้าห้องคลอด!

คลอด ธรรมชาติ หายใจและเบ่งอย่างไรให้ถูกวิธี?

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : www.thairath.co.th, เฟสบุ๊ค คุณหมอโอฬาริก มุสิกวงศ์, honestdocs.co

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids