AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

แม่เตือน! นับลูกดิ้น สำคัญจริงกับชีวิตลูก

คุณแม่สูญเสียลูกในครรภ์เพราะไม่ได้ นับลูกดิ้น ทุกชั่วโมงพร้อมเตือนหากพบอะไรผิดปกติรีบหาหมอทันที!

 

 

ก่อนอื่นต้องขอแสดงความเสียใจกับการจากไปของน้อง พร้อมกับขอขอบคุณคุณแม่ท่านนี้มาก ๆ ที่อนุญาตให้เรานำเรื่องราวนี้มาแชร์เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้กับคุณแม่ท่านอื่น ๆ ค่ะ โดยคุณแม่ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านทีมงาน Amarin Baby & Kids ว่า

ตอนนี้เราได้เสียลูกไปในขณะที่ตั้งครรค์ได้ 36 w หรือ 8 เดือนกว่าค่ะ แค่อีกไม่กี่วันน้องก็จะได้ออกมาลืมตาดูโลกแล้ว น้องเป็นผู้หญิงนะค่ะ เราฝากพิเศษกับคุณหมอท่านหนึ่งที่ดังมากในระดับจังหวัด เราไปหมอทุกครั้งตามนัดทุกครั้ง หมอซาวด์เห็นลูกเราตลอด เห็นหัวใจ แขนขา ครบ ปกติทุกอย่าง แต่ก่อนที่ลูกเราจะเสียสองอาทิตย์ เรามีความรู้สึกว่าลูกดิ้นน้อยลง เราก็ไปหาหมอตรวจ พอหมอซาวด์ก็เห็นว่าหัวใจเต้นปกติ เราก็กลับบ้านปกติ หลังจากกลับบ้านเราก็รู้สึกว่าลูกดิ้นนะ แต่ดิ้นน้อย เราก็ลองค้นหาข้อมูลในกูเกิ้ลดู ส่วนใหญ่เขาบอกว่า มักเป็นอาการใกล้คลอด เพราะเขาตัวใหญ่แล้ว พื้นที่ในการดิ้นก็จะน้อยลง เราก็คิดมาแบบนี้ตลอด

หลังจากนั้นสองอาทิตย์ เมื่อวันจันทร์ที่ 31/7/60 เรามีความรู้สึกว่าลูกไม่ดิ้น แต่ท้องเราเดี๋ยวก็โย้ไปทางซ้ายมั่ง ขวามั่ง แต่ไม่มีการดิ้นดุกดิก ๆ เราเลยคิดว่าลูกคงโก่งตัวเล่น พอวันอังคาร์ที่ 1/8/60 เรารู้สึกท้องแข็งถี่ตลอด เรากลัวว่าจะมีการใกล้คลอด แต่เราก้อยังไม่รู้สึกว่าลูกเราดุกดิกหรือถีบเลย มีเพียงอาการท้องแข็งเท่านั้น เราไม่เจ็บไม่ปวดท้องแต่อย่างใด ไม่มีเลือดไม่มีมูกหรือน้ำอะไรไหลเลย

พอเวลา 18:00 เราถึงมือหมอ หมอฟังคลื่นหัวใจเด็กก็ไม่ได้ยินเสียงหัวใจ หมอเลยซาวด์ดูน้องในท้อง สรุปหัวใจน้องไม่เต้นแล้ว หมอบอกว่าลูกในท้องเสียชีวิตแล้วนะครับ เราถามหมอว่าเกิดขึ้นได้ยังไง แต่หมอก็ให้คำตอบเราไม่ได้ เราช็อกมาก เสียใจทรมานเหมือนใจจะขาด อยากให้เป็นเราแทนที่จากโรคนี้ไป ไม่ใช่นางฟ้าตัวน้อยของแม่

เราเลยอยากเอาเรื่องนี้มาแชร์ให้คุณแม่ที่กำลังตั้งทัองอยู่ ได้โปรดอย่าห่วงงาน ได้โปรดอย่าชะล่าใจ ได้โปรดอย่าคิดไปเองว่าลูกจะไม่เปนอะไร พยายามนับลูกดิ้นทุกครั้งทุกชั่วโมง หากมีความผิดปกติให้รีบหาหมอ อย่ากลัวว่าใครจะว่าว่าเรากลัวเกินเหตุ อย่าสนคำพูดใคร ให้รีบหาหมอให้เร็วที่สุด อย่าให้เป็นเหมือนเรา สุดท้ายเราตั้งชื่อลูกเราว่า “ตั้งโอ๋” ตอนนี้เขาคงไปอยู่บนสรวงสวรรค์เป็นนางฟ้าตัวน้อยๆอยู่บนนั่น แล้วแม่จะรอหนูมาเกิดอีกครั้ง รักนะนางฟ้าตัวน้อยของแม่ 

ทีมงาน Amarin Baby & Kids ขอแสดงความเสียใจกับการจากไปของน้องอีกครั้ง และขอให้เป็นกำลังใจให้คุณแม่ผ่านช่วงเวลานี้ไปได้นะคะ

อ่าน ข้อมูลเกี่ยวกับลูกดิ้น คลิก!


เครดิต: เพจคนท้องคุยกัน

เครดิต: Parent Magazine

 

“ลูกดิ้น” คืออะไร?

การดิ้นของลูก” ในทางการแพทย์ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก เพราะเปรียบเสมือนเป็นสัญญาณที่บ่งบอกให้คุณแม่ทราบว่าลูกในครรภ์ยังมีชีวิตอยู่ บอกได้ถึงสุขภาพของลูกน้อยในครรภ์ และบอกได้ว่าตอนไหนที่ลูกกำลังตื่นหรือหลับอยู่ ในบางครั้งที่คุณแม่พูดคุยกับลูก ลูกอาจมีปฏิกิริยาโต้ตอบว่าเขารับรู้ได้ด้วยการดิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ การนับลูกดิ้นจะมีความสำคัญอย่างมากเลยละค่ะ เพราะจำนวนการดิ้นจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าลูกมีสุขภาพความเป็นอยู่ที่ดีหรือไม่ในระหว่างการตั้งครรภ์ ถ้าลูกดิ้นอย่างสม่ำเสมอก็เป็นเครื่องชี้ว่าลูกยังมีสุขภาพแข็งแรงดี

เวลาลูกดิ้นรู้สึกอย่างไร?

เวลาที่ทารกในครรภ์ดิ้นนั้น คุณแม่จะรู้สึกเหมือนกับว่าโดนปลาตอด ตุ๊บ ๆ หรือรู้สึกกระตุกเบา ๆ ที่ท้อง เมื่อมดลูกมีขนาดใหญ่ขึ้นการดิ้นของลูกก็จะแรงมากขึ้น จนบางครั้งคุณแม่อาจเห็นหรือรู้สึกได้เลยว่ามีอวัยวะบางส่วน เช่น เท้า กำลังดันท้องคุณแม่อยู่ก็เป็นได้

ลูกเริ่มดิ้นตอนกี่เดือน?

จริง ๆ แล้วลูกน้อยของคุณแม่เริ่มดิ้นตั้งแต่อายุครรภ์ประมาณ 6 – 8 สัปดาห์แล้วละค่ะ แต่อาจจะเป็นเพราะว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่ค่อนข้างเบา ทำให้คุณแม่ไม่สามารถรับรู้ความรู้สึกเหล่านั้นได้ อีกทั้งมดลูกยังมีขนาดเล็กอยู่ ปริมาณน้ำคร่ำยังมีน้อยและแรงดิ้นของลูกยังเบาเกินไปจนไม่สามารถส่งผ่านไปยังผนังท้องให้คุณแม่รับรู้ได้

สำหรับคุณแม่ท้องแรกจะรู้สึกชัดเจนก็ตอนที่มีอายุครรภ์ประมาณ 18 – 20 สัปดาห์ ผิดกับคุณแม่ที่เคยผ่านการคลอดมาแล้วจะรู้สึกว่าลูกดิ้นไวกว่าเมื่อมีอายุครรภ์ 16 – 18 สัปดาห์ค่ะ

อ่านวิธีการนับลูกดิ้น คลิก!

เครดิตภาพ: David Lewis

 

6 วิธีการ ” นับลูกดิ้น “

สำหรับวิธีการนับลูกดิ้นก็มีอยู่ด้วยกันหลายวิธีค่ะ ยกตัวอย่างเช่น

  1. การจดบันทึกจำนวนครั้งที่ลูกดิ้นตลอดทั้งวันตลอด 24 ชั่วโมง หรือจดบันทึกในช่วงที่คุณแม่ยังตื่นอยู่ในช่วงเวลาตั้งแต่ 9 โมงเช้าจนถึงบ่าย 3 โมงเย็น ซึ่งแต่ละวิธีจะมีการประเมินที่แตกต่างกัน และสำหรับวิธีนี้นั้น อาจจะไม่สะดวกสำหรับคุณแม่เท่าไหร่นัก เพราะจะต้องทำงานยุ่งจนบางครั้งอาจจะหลงลืมการนับไป
  2. เป็นเทคนิคการนับแบบ Sadovsky technique โดยให้เริ่มนับตั้งแต่คุณแม่มีอายุครรภ์ได้ 28 สัปดาห์ ด้วยการจดจำนวนครั้งที่ลูกดิ้นหลังจากเพิ่งรับประทานอาหารอิ่มใหม่ ๆ ซึ่งเป็นช่วงที่มีปริมาณน้ำตาลในเลือดสูง (ลูกจะได้รับพลังงานมากขึ้นและจะดิ้นบ่อยขึ้นเป็นพิเศษ) เพราะจะเป็นช่วงที่สามารถกระตุ้นการดิ้นของลูกได้เป็นอย่างดี โดยลูกน้อยควรมีจำนวนการดิ้นไม่ต่ำกว่า 3 ครั้งใน 1 ชั่วโมงหลังจากที่คุณแม่รับประทานอาหารอิ่มใหม่ ๆ ในแต่ละมื้อ (ถ้าลูกขยับตัวติดต่อกันให้ถือว่า ลูกดิ้น 1 ครั้ง) ถ้าทั้ง 3 มื้อรวมกันแล้วดิ้นมากกว่า 10 ครั้งก็ถือว่าปกติครับสำหรับวันนั้น แต่หากลูกดิ้นน้อยกว่า 3 ครั้งใน 1 ชั่วโมง ให้นับต่ออีกทันที 1 ชั่วโมง และหากยังน้อยกว่า 3 ครั้งอีก ก็ให้รีบไปพบแพทย์ค่ะ
  3. ใช้เกณฑ์เหมือนข้อ 2 ครับ แต่เด็กจะต้องดิ้นอย่างน้อย 4 ครั้งต่อมื้อ (หรือน้อยกว่า 12 ครั้งต่อวัน ) ถ้าหลังอาหารมื้อใดก็ตามที่นับเด็กดิ้นครบ 1 ชั่วโมงแล้วยังน้อยกว่า 4 ครั้งต่อวัน ซึ่งอาจเป็นเพราะลูกกำลังหลับอยู่ ก็ให้สังเกตต่อไปให้ครบ 6 ชั่วโมง แล้วนับจำนวนครั้งที่ลูกดิ้น ถ้าผลรวมยังน้อยกว่า 4 ครั้งใน 6 ชั่วโมง หรือรวมจำนวนครั้งที่ลูกดิ้นทั้ง 3 มื้อ (เช้า กลางวัน เย็น) ยังน้อยกว่า 12 ครั้ง ให้รีบมาพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
  4. ให้คุณแม่หาเวลาว่างในแต่ละวัน แล้วลองนับจำนวนครั้งที่ลูกดิ้นใน 1 ชั่วโมง ถ้าดิ้นเท่ากับ 3 ครั้ง หรือมากกว่าใน 1 ชั่วโมงถือว่าลูกยังปกติดี
  5. เทคนิคการนับลูกดิ้นแบบ Count to Ten ให้นับลูกดิ้นตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น หรือใช้เวลาประมาณ 10-12 ชั่วโมง แล้วดูว่าลูกดิ้นมากกว่า 10 ครั้งหรือเปล่า ถ้าดิ้นมากกว่า 10 ครั้งก็ถือว่ายังปกติดีค่ะ
  6. ให้นับลูกดิ้นใน 2 ชั่วโมง ถ้าดิ้นมากกว่า 10 ครั้งก็ถือว่ายังปกติดีเช่นกัน

ทั้งนี้หากคุณแม่รู้สึกว่าลูกดิ้นน้อยมากจากที่เคยเป็นไม่เหมือนทุกวันที่ผ่านมา ก็ไม่ต้องรอให้นับจนครบ 10 ครั้ง ให้นับภายใน 1 ชั่วโมง ว่าลูกดิ้นได้กี่ครั้ง ถ้าดิ้นได้ตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปยังถือว่าว่าปกติ แต่ถ้านับได้น้อยกว่า 3 ครั้งใน 1 ชั่วโมง ให้นับต่อไปอีก 1 ชั่วโมงติดกันทันที เพราะลูกอาจหลับอยู่เลยไม่ดิ้นก็ได้ แต่เด็กในท้องจะมีรอบการหลับการตื่นไม่เกิน 1 ชั่วโมง (ในแต่ละครั้งเด็กจะหลับประมาณ 20-40 นาที และอาจหลับได้ยาวถึง 75 นาที) เพราะฉะนั้นในชั่วโมงถัดไปลูกจึงต้องตื่นมาให้เราได้นับแน่ ๆ แต่ถ้านับแล้วยังได้น้อยกว่า 3 ครั้ง ชั่วโมงถัดมาก็ยังน้อยกว่า 3 ครั้งอีก ก็แสดงว่านับได้น้อยกว่า 3 ครั้ง ติดกัน 2 ชั่วโมง คุณแม่ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีนะคะ

เครดิต: Med Thai

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:

 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids