ท้องแข็ง หนึ่งในอาการที่แม่ท้องในไตรมาสที่ 3 ต้องเจอ และอาการท้องแข็งก็เป็น 1 ในสัญญาณของอาการใกล้คลอดอีกด้วย ทำให้แม่ท้องที่มีอาการท้องแข็งเร็วเกิดความกังวลว่าอาจจะทำให้คลอดก่อนกำหนดได้
ท้องแข็ง เป็นอย่างไร? ท้องแข็งบ่อยเสี่ยงคลอดก่อนกำหนดไหม?
ท้องแข็ง เป็นอย่างไร?
แม่ท้องหลาย ๆ คน โดยเฉพาะแม่ท้องท้องแรก มักจะไม่แน่ใจในอาการท้องแข็งที่เกิดขึ้นกับตน ว่าใช่อาการท้องแข็งหรือไม่ หรือเป็นเพียงอาการท้องอืดทั่ว ๆ ไป พญ.ธาริณี ลำลึก สูตินรีแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ศูนย์สุขภาพหญิง รพ.พญาไท ได้อธิบายเกี่ยวกับอาการท้องแข็งเอาไว้ว่า อาการท้องแข็ง คือ เมื่อเอามือไปจับบริเวณท้องจะรู้สึกได้ว่าเป็นก้อน ๆ ตึง ๆ และมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ เป็นพัก ๆ ในบางรายอาจมีความแข็งมาก-น้อยแตกต่างกันออกไป หรือมีอาการปวดเกร็งเสียวช่วงท้องน้อยด้วย โดยทั่วไปแล้วจะมีอาการท้องแข็งได้ วันละ 3-4 ครั้ง ในช่วงไตรมาส 3 แต่จะไม่สม่ำเสมอ
โดยอาการท้องแข็ง ท้องจะแข็งไปทั่วทั้งท้อง แตกต่างจาก ท้องแข็ง เพราะลูกโก่งตัว อาการท้องแข็งเพราะลูกโก่งตัว ลักษณะท้องที่แข็งจะแข็งไม่ทั่วท้อง หากคุณแม่จับดูที่ท้องจะพบว่าท้องมีลักษณะทั้งแข็งและนิ่มอยู่ในเวลาเดียวกัน ซึ่งท้องแข็งแบบนี้เป็นเพราะลูกในท้องดิ้น หรือโก่งตัวขึ้น ที่คุณแม่จะเห็นว่าหน้าท้องนูนแข็งเด่นขึ้นมาเป็นจุดเล็กๆ โดยปกติแล้วท้องแข็งลักษณะนี้ไม่ถือว่าเป็นเรื่องปกติไม่ได้มีอันตรายอะไรกับคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ค่ะ
สาเหตุของอาการท้องแข็ง (ที่ไม่ใช่ท้องแข็งในช่วงใกล้คลอด)
- แม่ท้องมีความเครียดในขณะตั้งครรภ์ เมื่อแม่ท้องเครียด จะมีการเปลี่ยนแปลงทางชีวะเคมีในร่างกายของคุณแม่ ประกอบด้วย การเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนความเครียด และทำให้สภาพภายในมดลูกง่ายต่อการติดเชื้อในขณะตั้งครรภ์ และอาจเกิดอาการท้องแข็งได้ (อ่านต่อ เครียดตอนท้อง ระวัง 7 ผลร้ายที่แม่ท้องต้องเจอ..หากเครียดเกิน!)
- ทารกในครรภ์ดิ้นมากอาจไปโดนกับผนังมดลูก มดลูกถูกกระตุ้นจึงเกิดการบีบตัว
- มดลูกเกิดการบีบตัวเองจากกล้ามเนื้อมดลูกขาดเลือด เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้คลอดก่อนกำหนด หรือแท้งได้
- การกินอาหารและมีแก๊สในกระเพาะอาหาร เมื่อใดก็ตามที่กินอาหารลงไปเยอะ ๆ ก็อาจไปเบียดกับมดลูกจนรัดตัวได้เหมือนกัน (อ่านต่อ คนท้อง ท้องอืด รับมือได้ไม่ยากอย่างที่คิด)
- พฤติกรรมกับกิจกรรมในชีวิตประจำวันอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดอาการท้องแข็ง เช่น การพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำงานหนัก มีเพศสัมพันธ์ที่รุนแรง และการกลั้นปัสสาวะบ่อย (อ่านต่อ แม่ท้องนอนไม่พอ กระทบลูกในท้องอย่างไร?) (5 ท่าเซ็กส์ปลอดภัย ขณะตั้งครรภ์)
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ ท้องแข็ง บ่อยและถี่ เลี่ยงคลอดก่อนกำหนดหรือไม่?
ท้องแข็ง บ่อยและถี่ เลี่ยงคลอดก่อนกำหนดหรือไม่?
เพราะอาการท้องแข็ง เป็น 1 ในสัญญาณที่แสดงว่าใกล้จะถึงเวลาคลอดแล้ว แต่หากอาการท้องแข็งนี้ เกิดขึ้นในช่วงที่ยังไม่ควรจำคลอดล่ะ? ในแม่ท้องบางคน เริ่มมีอาการท้องแข็งตั้งแต่เดือนที่ 6-7 ของการตั้งครรภ์ ทำให้เกิดความกังวลว่าอาจจะเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดได้ ซึ่งต้องขอบอกว่าเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดจริง ๆ ค่ะ แต่อาการท้องแข็งที่เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดนั้น จะมีสัญญาณต่าง ๆ ให้คุณแม่ได้รู้ว่าไม่ใช่อาการท้องแข็งที่เกิดขึ้นตามปกติทั่วไป ได้แก่
- เมื่อจับบริเวณท้อง จะรู้สึกแข็งตึงไปทั่วทั้งท้อง ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งนิ่ม
- อาการปวดจะเป็นจังหวะ หรือเป็นช่วง ๆ เช่น ปวดทุก ๆ 10 นาที และในการปวดแต่ละครั้งจะปวดนานถึงครึ่งนาทีถึง 1 นาที เป็นต้น
- ท้องแข็งบ่อย ใน 1 วัน ไม่ควรจะท้องแข็งเกิน 10 ครั้งต่อวัน
- เมื่อมีการเบี่ยงเบนความสนใจโดยการเปลี่ยนท่าทาง หรือ หยุดทำกิจกรรมที่อาจทำให้ท้องแข็ง อาการท้องแข็งก็ยังไม่หาย
- รู้สึกปวดบริเวณกระดูกเชิงกรานคล้ายถูกกดทับ (อ่านต่อ สาเหตุ คนท้องปวดก้นกบ พร้อมท่าบริหารสะโพกให้แข็งแรง)
- มีเลือดออกทางช่องคลอด หรือพบมูกเลือดไหลออกมาจากช่องคลอด
- ถุงน้ำคร่ำแตก ซึ่งจะพบของเหลวใสไหลออกมาจากช่องคลอด
อาการท้องแข็งพร้อมกับอาการเหล่านี้ เป็นสัญญาณว่าใกล้คลอดแล้ว ดังนั้นจึงเป็นเรื่องอันตรายหากเกิดในช่วงก่อนกำหนดคลอด เมื่อมีอาการดังกล่าว คุณแม่ควรรีบไปพบแพทย์ในทันที
อ่านต่อ ท้องแข็งใกล้คลอด เป็นแบบไหน? ท้องแข็งแบบไหนอันตราย
ดูแลตัวเองอย่างไร เมื่อเกิดอาการท้องแข็งก่อนกำหนดคลอด
- ลดกิจกรรมทั้งในและนอกบ้านโดยเฉพาะงานหนัก ที่ทำให้เหนื่อยและเกิดความเครียดได้ง่าย (อ่านต่อ คนท้องอารมณ์อ่อนไหว มีผลกับลูกในท้องอย่างไร)
- เลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่กระตุ้นมดลูกให้บีบรัดตัว เช่น การจับ-ลูบท้อง การเหวี่ยงหรือขยับตัวแรง ๆ และหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงใกล้คลอด
- หลังมื้ออาหารควรเดินเล่นหรือนั่งพักสักครู่ก่อน ไม่ควรนอนหลับทันที เพื่อช่วยในการย่อยอาหารและไม่ทำให้เกิดอาการจุกเสียดจนท้องแข็งได้
- ไม่ควรกลั้นปัสสาวะ เพราะการกลั้นปัสสาวะทำให้กระเพาะปัสสาวะโตขึ้น จนไปเบียดกับมดลูก ทำให้เกิดอาการท้องแข็งตึง
- หาเวลาพักผ่อนให้มากยิ่งขึ้น โดยการนั่งอ่านหนังสือ ฟังเพลง หรือนอนหลับให้เพียงพอต่อความต้องการ เพื่อลดความเครียด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดอาการท้องแข็ง
ในช่วงเวลาใกล้คลอด สิ่งที่ควรคำนึงถึงเป็นสิ่งแรกคือการคลอด ดังนั้น หากคุณแม่มีอาการที่บ่งบอกว่าอาจจะคลอดก่อนกำหนด หรือไม่แน่ใจว่าอาการที่เกิดขึ้นเป็นอันตรายหรือไม่ ก็ควรรีบเข้าไปพบแพทย์ ไม่ควรรอจนถึงเวลานัดค่ะ
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
ลูกดิ้นตอนกี่เดือน ลูกดิ้น สัญญาณสำคัญที่แม่ท้องต้องรู้
คลอดฉุกเฉิน ปัญหาที่คุณแม่ใกล้คลอดต้องระวัง!!
การผ่าคลอด โดยไม่มีข้อบ่งชี้ เพิ่มความเสี่ยงจากการคลอด!!
7 สัญญาณ อันตรายระหว่างตั้งครรภ์ ที่แม่ท้องต้องรีบหาหมอ
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลพญาไท, เดลินิวส์, www.pobpad.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่