ในปัจจุบันวิธีการผ่าคลอดก็ถือเป็นทางเลือกสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ ที่ต้องการความสะดวกสบายเพิ่มขึ้น ต้องการฤกษ์วันคลอดแน่นอน และต้องการคลอดแบบชนิดที่ไม่ต้องมีอาการเจ็บปวดมาก จึงเป็นเหตุให้สถานการณ์การผ่าตัดคลอดเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ซึ่งโดยปกติการผ่าคลอดแพทย์มักจะกำหนดวันล่วงหน้า แต่ก็มีอีกหลายกรณีที่เป็นสัญญานเตือนว่า ทำไมต้องผ่าคลอด ข้อบ่งชี้ที่คุณแม่ไม่สามารถเลือกได้เองว่าจะขอคลอดลูกแบบธรรมชาติ
ทำไมต้องผ่าคลอด ข้อบ่งชี้ที่แม่เลือกคลอดเองตามธรรมชาติไม่ได้!
ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ส่งเสริมให้เกิดการคลอดเองตามธรรมชาติก่อน และโดยปกติแพทย์จะแนะนำคุณแม่ตั้งครรภ์ให้คลอดปกติเองก่อน แต่ก็มีข้อบ่งชี้ที่จำเป็นต้องผ่าคลอดเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจคาดไม่ถึง ถ้าแพทย์มีความเห็นว่าการคลอดด้วยวิธีปกติจะทำให้คุณแม่หรือทารกในครรภ์มีความเสี่ยงมากเกินไป ก็จะแนะนำให้ใช้วิธีการผ่าตัดคลอด
กรณีเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์แม่
- ลูกไม่กลับหัว หรือทารกอยู่ในท่าผิดปกติ เช่น ท่าขวาง, ท่าก้นออก ซึ่งถือเป็นท่าที่ผิดปกติในการคลอด เพราะการคลอดโดยธรรมชาติทารกจะต้องเอาศีรษะลง ดังนั้นการผ่าคลอดจึงเป็นวิธีเหมาะสมที่สุด
- มีความผิดปกติของรก เช่น ภาวะรกเกาะต่ำขวางทางออกของทารก อาจจำเป็นต้องนอนพักบนเตียงเพื่อดูอาการ และเมื่อถึงกำหนดคลอดก็อาจต้องใช้การผ่าคลอด ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด อาการนี้มักจะเกิดขึ้นในช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 3 ทั้งนี้ภาวะดังกล่าวอาจทำให้เกิดเลือดออกและปวดที่บริเวณมดลูก อีกทั้งยังทำให้ทารกไม่ได้รับออกซิเจนจึงทำให้ต้องทำการผ่าคลอดแบบฉุกเฉินเพื่อรักษาชีวิตทารกในครรภ์
- มีภาวะแทรกซ้อนที่ต้องทำให้คลอดโดยเร็ว เช่น สายสะดือย้อย, สายสะดือพันคอ
- มีภาวะผิดสัดส่วนระหว่างศีรษะทารกและอุ้งเชิงกราน ทารกในครรภ์มีขนาดศีรษะที่ใหญ่กว่ากระดูกเชิงกรานของแม่ ทำให้เด็กไม่สามารถลอดผ่านเชิงกรานแม่ออกมาได้ จึงต้องใช้การผ่าคลอด
- ครรภ์เป็นพิษอย่างรุนแรง ทารกอยู่ในภาวะวิกฤติ เสียงหัวใจลูกเต้นช้าผิดปกติ ภาวะความดันโลหิตสูง หรือมีการแตกของมดลูก
- ทารกสำลักน้ำคร่ำ
- มดลูกแตก คือแม่และทารกในครรภ์ขาดออกซิเจน จำเป็นต้องได้รับการผ่าคลอดโดยด่วน
- ภาวะความเครียดของทารกในครรภ์ ซึ่งมักจะเกิดจากการที่ทารกขาดออกซิเจนไปเลี้ยงอย่างเพียงพอ จำเป็นต้องผ่าคลอดเพื่อความปลอดภัย
- ตั้งท้องแฝดหรือท้องแฝด 3 คนขึ้นไป ในบางกรณีที่มีลักษณะการกลับตัวของทารกไม่พร้อมสำหรับการคลอด หรือร่างกายคุณแม่ไม่พร้อมสำหรับการคลอดแบบธรรมชาติ ก็อาจต้องใช้การผ่าคลอดแทน
กรณีที่เกิดจากร่างกายของแม่ตั้งครรภ์
- คุณแม่เคยผ่าคลอดมาก่อนหรือเคยผ่าตัดมดลูก โดยส่วนใหญ่แล้วเมื่อคุณแม่เคยผ่านการผ่าคลอดมาแล้ว การคลอดครั้งต่อไปก็อาจต้องใช้การผ่าคลอดเช่นกัน
- มีการวินิจฉัยพบปัญหาสุขภาพที่อาจเป็นอันตรายต่อแม่ตั้งครรภ์หากทำวิธีคลอดแบบธรรมชาติเช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคมะเร็งปากมดลูก ครรภ์เป็นพิษ มีความดันโลหิตสูงชนิดรุนแรงหรือมีความเจ็บป่วยอื่น เป็นต้น ซึ่งหากมีภาวะแทรกซ้อนก็จำเป็นต้องใช้วิธีผ่าคลอด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายกับทารกในครรภ์
- ปากมดลูกไม่เปิด มีการคลอดที่เป็นไปได้ช้า มีแนวโน้มการคลอดลูกเองตามธรรมชาติไม่สำเร็จ
- การติดเชื้อของแม่ เช่น ติดเชื้อไวรัส HIV โรคตับอักเสบ หรือมีการกำเริบของเริมที่อวัยวะเพศที่สามารถติดต่อสู่ลูกผ่านการคลอดทางช่องคลอด ก็จำเป็นต้องทำการผ่าคลอดเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อจากแม่สู่ลูกที่อาจเป็นอันตรายต่อทารก
- อุ้งเชิงกรานแคบผิดปกติหรือไม่ขยาย โดยปกติเมื่อครบกำหนดคลอดอุ้งเชิงกรานจะขยายออกเพื่อให้เด็กได้คลอดออกจากท้องแม่ แต่หากคุณแม่มีอุ้งเชิงกรานที่ผิดปกติหรืออุ้งเชิงกรานไม่ขยาย ก็จำเป็นต้องคลอดด้วยการผ่าตัดคลอดเท่านั้น
ทั้งนี้ข้อบ่งชี้บางข้อในแต่ละโรงพยาบาลอาจตั้งไว้ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับการวินิจัยของคุณหมอ ความพร้อมของบุคลากรและเครื่องมือของแต่ละโรงพยาบาล โดยการผ่าคลอดนั้นแบ่งได้เป็น 2 กรณีคือ แบบวางแผนล่วงหน้าและแบบฉุกเฉิน และมักเป็นตัวเลือกหลัง ๆ หากคุณแม่มีร่างกายที่แข็งแรงและสามารถคลอดด้วยวิธีธรรมชาติได้
อ่านต่อ เตรียมตัวอย่างไรเมื่อแม่ต้องผ่าคลอด คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
เตรียมตัวอย่างไรเมื่อแม่ต้องผ่าคลอด
โดยส่วนใหญ่แล้วการผ่าคลอดจะมีการนัดหมายไว้ล่วงหน้า ซึ่งขั้นตอนการผ่าตัดคุณหมอจะแนะนำให้พูดคุยกับวิสัญญีแพทย์เพื่อซักประวัติการเจ็บป่วยและโรคประจำตัว นอกจากนี้แพทย์อาจแนะนำให้คุณแม่ทำการตรวจเลือดก่อนทำการผ่าตัด เพื่อดูระดับฮีโมโกลบินและกรุ๊ปเลือดของคุณแม่ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์จัดเตรียมเลือดสำรองไว้ในกรณีทื่ให้เลือดในระหว่างการผ่าตัดได้อย่างถูกต้อง และหลังจากผ่าคลอดคุณแม่จำเป็นต้องได้รับการพักผ่อนและการพักฟื้นอย่างมากเพื่อให้แผลผ่าตัดหายเร็วขึ้น หรือใช้เวลาประมาณ 6 สัปดาห์เพื่อให้รอยแผลจากการผ่าตัดคลอดหายดี ดังนั้นการดูแลลูกน้อยในช่วงนี้คุณแม่จึงควรมีคนคอยช่วยเหลือดูแลทารกและเพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนฟื้นตัวแข็งแรงขึ้นนะคะ
การดูแลตัวเองหลังผ่าคลอด
หลังการผ่าคลอด คุณแม่และลูกน้อยจะต้องอยู่ในโรงพยาบาลอย่างน้อย 3-5 วัน เนื่องจากการผ่าคลอดใช้เวลาฟื้นตัวได้นานกว่าการคลอดธรรมชาติ โดยในระหว่างอยู่ในโรงพยาบาล คุณหมอและพยาบาลจะคอยเฝ้าระวังการติดเชื้อของแผลผ่าตัด ควบคุมอาการปวดหลังจากการผ่าตัด ซึ่งอาจต้องใช้ยาแก้ปวดทางสายน้ำเกลือ รวมทั้งปริมาณน้ำที่ดื่มและการทำงานของกระเพาะปัสสาวะหรือลำไส้ โดยระหว่างนี้คุณแม่อาจจะพยายามลุกขึ้นเดินไปรอบ ๆ ห้อง ให้ร่างกายได้เคลื่อนไหว เพื่อป้องกันท้องอืด และทำให้ลำไส้ได้ขยับกลับมาทำงานได้ตามปกติเร็วขึ้น และจะช่วยให้คุณแม่ฟื้นตัวได้เร็วขึ้นด้วย
เมื่อออกจากโรงพยาบาลกลับมาพักฟื้นที่บ้าน คุณแม่ควรดูแลตัวเองหลังผ่าคลอดดังนี้
- ในช่วงสัปดาห์แรก ๆ ควรพักผ่อนให้มาก ๆ
- สามารถขยับตัวเบา ๆ บ่อย ๆ แต่ยังไม่ควรออกแรงเยอะ หลีกเลี่ยงการยกของที่มีน้ำหนักมากกว่าทารก เพื่อช่วยให้ลำไส้ทำงานมากขึ้น ลดอาการท้องอืด ลดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ และระบบทางเดินหายใจ พร้อมกับช่วยลดพังผืดในช่องท้อง และช่วยฟื้นตัวได้เร็ว
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ในช่วง 6 สัปดาห์แรก เมื่อตรวจร่างกายหลังคลอดแล้ว มดลูกกลับเข้าสภาพปกติก็สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ
- หลีกเลี่ยงการขับรถเอง เนื่องจากแผลผ่าคลอดนั้นจะอยู่บริเวณเข็ดขัดนิรภัย และอาจเกิดอาการบาดเจ็บที่แผลซ้ำได้หากมีการเบรครถอย่างกะทันหันหรือเกิดอุบัติเหตุ
- ในช่วงพักฟื้นหลังคลอด คุณแม่ควรได้รับโภชนาการที่เพียงพอเพื่อให้แผลหายเร็วและเตรียมสารอาหารสำหรับสร้างน้ำนมให้ลูกน้อย ในช่วงแรก ๆ หลังการผ่าคลอดควรค่อย ๆ จิบน้ำหรือของเหลว เช่น น้ำซุป แกง ใส ๆ ที่ละนิดก่อนค่อยเพิ่มเป็นอาหารเหลว เช่นโจ๊ก และเปลี่ยนมาเป็นอาหารรสจืด ย่อยง่าย กินอาหารที่มีกากใยสูงอย่างผักและผลไม้สด ในช่วงนี้ควรงดกินอาหารรสจัด อาหารหมักดอง แอลกอฮอล์ กาแฟ ชา และน้ำอัดลมหรือมีคาเฟอีน
- การตรวจร่างกายหลังผ่าคลอดควรไปตามที่หมอนัด หากมียาก็ควรกินยาตามที่หมอกำหนดให้นะคะ
อาการหลังผ่าคลอดที่ควรรีบไปหาหมอ
ทว่าหากการกลับมาพักฟื้นที่บ้าน คุณแม่ควรสังเกตว่ามีไข้หลังผ่าคลอดหรือไม่ ซึ่งอาจเกิดจากการอักเสบของแผลผ่าคลอด หรือจากการที่มดลูกอักเสบ และหากมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบติดต่อแพทย์โดยเร็วที่สุด
- มีสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น มีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง มีอาการแดง บวม หรือมีของเหลวไหลออกมาจากแผลผ่าตัด
- มีอาการปวดที่หน้าอก ร่วมกับอาการแดง หรือมีไข้
- มีของเหลวกลิ่นเหม็นไหลออกมาจากช่องคลอด
- รู้สึกเจ็บขณะปัสสาวะ
- มีเลือดออกจนเต็มผ้าอนามัยภายในเวลา 1 ชั่วโมง หรือมีเลือดออกต่อเนื่องกันมากกว่า 8 สัปดาห์หลังจากผ่าคลอด
ปัจจุบันการผ่าคลอดความก้าวหน้ามากขึ้น และพบว่าประเทศไทยมีอัตราการผ่าท้องคลอดสูงมากคือประมาณร้อยละ 35-40 หรือ 1 ใน 3 ของหญิงตั้งครรภ์ทั้งหมด ขณะที่องค์การอนามัยโลกกำหนดว่าการผ่าท้องคลอดที่มีความจำเป็นตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ไม่ควรเกินร้อยละ 15 แม้จะยอมรับว่าโดยทั่วไปว่าการผ่าตัดคลอดในปัจจุบันมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีคลอดเองโดยธรรมชาติแล้วการผ่าตัดคลอดยังคงมีอันตรายและความเสี่ยงมากกว่าการคลอดทางช่องคลอด ดังนั้นหากคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ไม่มีข้อบ่งชี้หรือความจำเป็นเพียงพอในการผ่าคลอด การเบ่งคลอดลูกเองแม้จะรู้สึกเจ็บปวดแต่ปัจจุบันก็มีเครื่องมือทางการแพทย์มาช่วยให้คุณแม่คลอดลูกเองได้ง่ายขึ้น และยังคงได้ผลลัพธ์ดี ๆ เช่น ทำให้คุณแม่ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น สามารถให้ลูกน้อยกินนมแม่ได้ทันที ทารกจะได้รับเชื้อแบคทีเรียที่ดีมีภูมิคุ้มกันตั้งแต่แรกคลอด รวมถึงลดความเสี่ยงอันตรายจากการผ่าตัดโดยไม่จำเป็นด้วย อย่างไรก็ตามไม่ว่าคุณแม่ที่ต้องคลอดลูกด้วยวิธีไหน ทีมแม่ ABK ขอให้ปลอดภัย สุขภาพแข็งแรง ทั้งแม่ลูกกันทุกคนนะคะ.
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.pobpad.com, www.sanook.com, www.bangkokhospital.com
อ่านต่อบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
การผ่าคลอด โดยไม่มีข้อบ่งชี้ เพิ่มความเสี่ยงจากการคลอด!!
ผ่าคลอด ภาวะแทรกซ้อน เรื่องที่แม่ท้องต้องรู้!
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่