ปากมดลูกเปิด เป็นสัญญาณบอกให้แม่ท้องควรเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อต้อนรับสมาชิกใหม่ได้แล้ว แต่หลายคนคงสงสัย โดยเฉพาะคุณแม่ครรภ์แรกว่า ปากมดลูกเปิดเป็นยังไง ต้องรออีกนานแค่ไหนถึงจะเป็นเวลาคลอดจริง ๆ แล้วถ้าปากมดลูกไม่เปิดขึ้นมา จะมีผลต่อตัวเองและลูกน้อยในท้องหรือไม่ เรื่องสำคัญอย่างนี้อย่าชะล่าใจ แม่ท้องต้องรู้ไว้ก่อนเข้าห้องคลอดนะคะ
ปากมดลูก คือ เนื้อเยื่อส่วนปลายสุดของมดลูก มีลักษณะเป็นคอคอดต่อลงมาจากตัวมดลูก มีมูกเลือดปิดกั้นเพื่อป้องกันเชื้อโรค และปกป้องลูกน้อยก่อนจะออกมาสู่โลกภายนอก ซึ่งเมื่อก้าวเข้าสู่เดือนที่ 9 ของการตั้งครรภ์ คุณหมอจะขอตรวจปากมดลูกว่าเปิดหรือยัง เพื่อกำหนดวันคลอดให้คุณแม่ได้เตรียมพบหน้าลูกน้อยค่ะ
ปากมดลูกเปิดเป็นยังไง
ปากมดลูกเปิด เป็นอาการเตือนก่อนคลอดอีกอย่างหนึ่ง และบ่งบอกให้รู้ว่าคุณแม่จะคลอดง่ายหรือยากอีกด้วย เมื่อปากมดลูกเริ่มเปิด จะมีลักษณะอ่อนนุ่ม บางลง และเคลื่อนไปทางด้านหน้าของช่องคลอดจนสั้นลง เส้นเลือดบริเวณปากมดลูกจะแตกจากการขยายตัว จนทำให้มูกไหลออกมาพร้อมเลือดทางช่องคลอด ซึ่งเป็นสัญญาณบอกว่าลูกน้อยพร้อมจะออกมาสู่โลกภายนอกแล้ว
บทความแนะนำ 6 อาการใกล้คลอด ที่แม่ต้องสังเกต
คุณหมอจะรอให้ปากมดลูกเปิดจนถึง 10 เซนติเมตร หรือที่เรียกว่า Fully Dilatation เพื่อให้ลูกสามารถคลอดออกมาได้อย่างสะดวก ปลอดภัย แต่บางคนที่แม้มดลูกจะบีบรัดหดตัวเหมือนอาการคนใกล้คลอดแล้ว หากพบว่าปากมดลูกยังไม่เปิด เพราะแข็งอยู่ คุณหมออาจเปลี่ยนไปเป็นการผ่าคลอดแทน
ปากมดลูกเปิดเท่าไหร่ บอกอะไรได้บ้าง
- ปากมดลูกเปิด 1 เซนติเมตร เป็นสัญญาณเตือนให้รู้ว่า ลูกน้อยในครรภ์กำลังจะใกล้ออกมาพบหน้าคุณแม่แล้ว ให้จัดกระเป๋าเตรียมคลอดไว้เลย และขอให้ทำใจสบาย ๆ ไม่วิตกกังวล หรือเครียดมากนัก เพราะกว่าปากมดลูกจะเปิดถึง 10 เซนติเมตร คุณแม่ยังคงมีเวลาตั้งสติเตรียมความพร้อมได้อยู่ระยะหนึ่ง สำหรับคุณแม่ที่เคยตั้งครรภ์แล้วจะใช้เวลาไม่เกิน 13-14 ชั่วโมง ส่วนคุณแม่ครรภ์แรกจะไม่เกิน 20 ชั่วโมง ทั้งนี้ ปากมดลูกของแต่ละคนอาจเปิดช้าหรือเร็วไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย จิตใจ และสรีระของคุณแม่ด้วย
- ปากมดลูกเปิด 4-8 เซนติเมตร เรียกว่า “ระยะเร่ง” เป็นระยะที่คุณแม่จะเจ็บครรภ์จริง เพราะมดลูกหดตัวทุก 15-30 นาที โดยจะหดตัวครั้งละ 45-60 วินาที จึงรู้สึกเจ็บท้องไปเรื่อย ๆ เป็นระยะ ๆ ช่วงนี้ปากมดลูกจะบางตัวลงจนกระทั่งเปิดหมด คุณแม่ที่ตั้งครรภ์แรก ปากมดลูกจะใช้เวลาเปิดประมาณ 3-5 ชั่วโมง ส่วนคุณแม่ที่มีประสบการณ์คลอดธรรมชาติมาแล้วจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง จากนั้นมดลูกจะบีบตัวแรงและถี่ขึ้นทุก ๆ 2-3 นาที ในระยะนี้คุณแม่ควรผ่อนคลายอารมณ์ สูดลมหายใจเข้าออกลึก ๆ และไม่ควรเบ่งคลอด แม้ว่าจะรู้สึกอยากเบ่งก็ตาม เพราะปากมดลูกยังเปิดไม่เต็มที่ อาจเป็นอันตรายทั้งต่อตัวคุณแม่และลูกในท้องได้
- ปากมดลูกเปิด 10 เซนติเมตร ซึ่งเป็นความกว้างเท่ากับเชิงกราน เรียกระยะนี้ว่า “ระยะเบ่ง” ใช้เวลาประมาณ 30 นาที-1 ชั่วโมง เป็นระยะที่ศีรษะของลูกลงมาบริเวณเชิงกรานพร้อมจะออกมาสู่โลกภายนอกแล้ว โดยจะหมุนเอาส่วนหน้าคว่ำลงให้ศีรษะค่อย ๆ เคลื่อนลงมาจนถึงปากมดลูก ช่วงนี้คุณแม่จะเจ็บปวดอย่างรุนแรง เพราะกล้ามเนื้อเชิงกรานยืดออกให้ลูกคลอดออกมา แต่ถ้าปากมดลูกยังเปิดไม่กว้างพอ คุณหมออาจต้องกรีดเพื่อขยายปากช่องคลอด
บทความแนะนำ วิธีเบ่งคลอดลูกที่ถูกต้อง สำหรับคุณแม่เตรียมคลอดลูก
อ่านต่อ>> ปากมดลูกเปิดช้า ต้องทำอย่างไร คลิกหน้า 2
ปากมดลูกเปิดช้า ต้องทำอย่างไร
เมื่อถึงกำหนดคลอดแล้ว แต่ปากมดลูกเปิดช้า ยังเปิดน้อยอยู่ คุณหมอจะประเมินศักยภาพร่างกาย และความพร้อมของปากมดลูกคุณแม่ว่าจะสามารถคลอดเองได้หรือไม่ ถ้าปากมดลูกเริ่มอ่อนนุ่มลง คุณหมออาจเลือกใช้วิธีเร่งคลอดที่เหมาะสมเพื่อให้ปากมดลูกเปิดเต็มที่ ซึ่งคุณแม่ไม่ต้องกลัวนะคะ เพราะการเร่งคลอดในปัจจุบันมีความปลอดภัย และมีหลายวิธี
- การเจาะน้ำคร่ำ จะใช้วิธีนี้เมื่อปากมดลูกขยายมากแล้วแต่ถุงน้ำคร่ำยังไม่แตก โดยจะเริ่มเจาะเมื่อปากมดลูกเปิดประมาณ 3 เซนติเมตร เพื่อให้ศีรษะของลูกเลื่อนตัวต่ำลงมาและไปกดขยายปากมดลูกให้เปิด ถ้าพบว่าน้ำคร่ำเป็นสีเหลืองหรือเขียว คุณหมอจะเร่งให้คลอดในเวลาที่จำกัด หากคลอดไม่ได้จะเปลี่ยนไปเป็นการผ่าคลอดแทน เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย
- การเซาะแยกถุงน้ำคร่ำ หรือการกวาดปากมดลูก คุณหมอจะใช้นิ้วกวาดมดลูกเพื่อค่อย ๆ ขยายปากมดลูกและกระตุ้นให้มีการเจ็บครรภ์ เป็นวิธีเร่งคลอดที่ปลอดภัย ทำได้ง่าย และได้ผลดี ไม่ทำให้คุณแม่และลูกติดเชื้อ ลดการใช้ยาเร่งคลอด และไม่เพิ่มโอกาสการผ่าคลอด
- ยาเร่งคลอด เป็นยาที่ผสมในน้ำเกลือ มีคุณสมบัติทำให้มดลูกบีบตัว เร่งให้เจ็บครรภ์เร็ว และคลอดเร็ว ซึ่งคุณหมอจะเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อดูว่ามดลูกหดรัดตัวเร็วหรือแรงมากไปหรือไม่ ซึ่งอาจทำให้เด็กในท้องขาดออกซิเจนได้
ปากมดลูกเปิดแล้ว แต่ทำไมไม่คลอดสักที
ถ้าปากมดลูกเปิดหมดแล้ว แต่คุณแม่ยังไม่คลอด คุณหมอจะใช้คีมมาช่วยทำคลอด แต่ต้องตรวจครรภ์เพิ่มเติมก่อนว่า ศีรษะของลูกลงมาในระดับต่ำเกินกระดูกเชิงกรานส่วนกลาง และเอียงไม่เกิน 45 องศาหรือยัง เพราะถ้าศีรษะของลูกยังอยู่สูงอาจส่งผลต่อสมองของลูก และอาจทำให้กระดูกเชิงกรานของแม่แยก หรือมดลูกแตกได้
คุณแม่ใกล้คลอดที่กำลังกังวลว่าปากมดลูกจะเปิดตามปกติหรือไม่ ขอให้ทำจิตใจให้สบาย ผ่อนคลาย ไม่เคร่งเครียด วิตกกังวลมาก และพบคุณหมอตามนัดหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อตรวจดูความพร้อมของร่างกายก่อนคลอด ขอให้มั่นใจว่าคุณหมอจะต้องหาวิธีการคลอดที่เหมาะสม เพื่อให้ลูกน้อยได้ออกมาสู่อ้อมกอดอันอบอุ่นของคุณแม่อย่างปลอดภัยแน่นอน
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
www.enfababy.com .อาการปากมดลูกเปิด ก่อนการคลอดลูก.
www.medthai.com .8 วิธีการเร่งคลอด…ทำอย่างไรให้ปากมดลูกเปิด ??.