แผลผ่าคลอดอักเสบ ปวด คัน เป็นหนอง อาจเกิดขึ้นได้กับคุณแม่ผ่าคลอดทุกคน แต่จะรู้ได้อย่างไรว่า แผลที่ผ่านั้นจะได้รับผลกระทบหรือความเสี่ยงจากอาการดังกล่าวหรือไม่ หากเป็นแล้วต้องทำอย่างไร หรือมีวิธีที่จะป้องกันและดูแลตัวเองหลังผ่าคลอดแบบไหนบ้าง วันนี้เราจัดข้อมูลแบบเจาะลึกมานำเสนอกันค่ะ
ทำไมต้องผ่าคลอด
ปัจจุบันคุณแม่นิยมหันมาผ่าคลอดมากขึ้น ด้วยเหตุผลต่าง ๆ กัน เช่น การผ่าคลอดไม่ต้องเผชิญกับความเจ็บและน่ากลัวขณะคลอดเหมือนการคลอดเองตามธรรมชาติ เพราะคุณหมอจะให้ดมยาสลบหรือบล็อกหลัง ซึ่งต่างกับการคลอดเองที่คุณแม่จะต้องอดทนรอเจ็บท้อง ซึ่งไม่รู้ระยะเวลาว่านานแค่ไหนกว่าลูกจะคลอดออกมาสู่โลกภายนอก แต่เหตุผลการผ่าคลอดที่เป็นที่นิยมมากที่สุดในตอนนี้คงจะเป็นการเลือกฤกษ์วันคลอดที่เป็นมงคลสำหรับลูก จึงทำให้คุณแม่ตัดสินใจผ่าคลอดเพิ่มมากขึ้น
ในอดีตการผ่าคลอดดูจะเป็นเรื่องอันตรายกับชีวิตของทั้งคุณแม่และคุณลูก คุณหมอจะเลือกผ่าคลอดให้กับครรภ์ที่ผิดปกติ และไม่สามารถคลอดเองตามธรรมชาติได้เท่านั้น เช่น กระดูกเชิงกรานแคบเกินกว่าจะคลอดเองได้ เด็กไม่กลับหัว ครรภ์เป็นพิษ รกเกาะต่ำ คุณแม่มีโรคประจำตัว เป็นต้น แต่ในปัจจุบันวิวัฒนาการทางการแพทย์ก้าวหน้ามาก ทั้งอุปกรณ์เครื่องมือที่ทันสมัย วิธีลดความเจ็บปวดระหว่างคลอด การให้คำแนะนำก่อนคลอด ระหว่างคลอด และหลังคลอด ซึ่งทำให้คุณแม่มั่นใจมากยิ่งขึ้น ถึงแม้จะรู้ว่าการผ่าคลอดมีความเสี่ยงมากกว่าการคลอดเองตามธรรมชาติก็ตาม
บทความแนะนำ ผ่าคลอด หรือ คลอดธรรมชาติ แบบไหนดีกว่ากัน?
อันตรายและความเสี่ยงที่เกิดจากการผ่าคลอดมีหลายอย่าง เช่น ความเสี่ยงจากการบล็อกหลังหรือดมยาสลบ ความเสี่ยงจากการเลือกวันคลอดซึ่งอาจทำให้ทารกเกิดความผิดปกติ ความเสี่ยงจากการเสียเลือดระหว่างผ่าคลอด และความเสี่ยงจากการติดเชื้อที่แผลผ่าคลอด ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณแม่โดยตรง
บทความแนะนำ ผ่าคลอด ดมยาสลบหรือบล็อกหลังดี?
อ่านต่อ>> สัญญาณเตือน เมื่อแผลผ่าคลอดอักเสบ คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
แผลผ่าคลอดอักเสบ … ลักษณะ อาการ การดูแล
ปัญหาของการผ่าคลอดที่ทำให้คุณแม่หลายคนเป็นกังวล ก็คือ ปัญหาการติดเชื้อจากแผลผ่าคลอด การติดเชื้อหลังคลอดแบ่งได้เป็นการติดเชื้อจากแผลหน้าท้องด้านนอกและแผลภายในมดลูก หากมีการอักเสบของแผลไม่รุนแรง เช่น ปวดแผล ปวดท้องน้อย รู้สึกไม่สบายตัว คุณหมอจะให้ยาปฏิชีวนะมารับประทานเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ก็จะหายได้ แต่หากยังไม่หายและมีอาการรุนแรง หรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น แผลผ่าตัดติดเชื้อลุกลาม เป็นพังผืดในช่องท้อง มีการอักเสบในอุ้งเชิงกราน และติดเชื้อในกระแสเลือด อาจจะต้องทำการรักษาเร่งด่วนด้วยยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือด เพราะมีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
อาการที่บ่งบอกว่า แผลผ่าคลอดอักเสบและติดเชื้อ ได้แก่ มีอาการปวดแผล ปวดท้องน้อยอย่างรุนแรง มีรอยบวมแดงที่แผลผิดจากเดิมที่ไม่เคยมี แผลปริ ไม่ติดกัน มีเลือดซึม ปัสสาวะแสบขัด น้ำคาวปลาผิดปกติ มีกลิ่นเหม็นและมีเลือดแดงสีเข้มขึ้นปะปน มีอาการบวมที่ขา อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนว่าแผลผ่าตัดกำลังเกิดการติดเชื้อ ควรรีบไปพบคุณหมอก่อนถึงกำหนดนัดตรวจ
โดยทั่วไปแผลผ่าคลอดจะหายเองในช่วง 2-3 เดือน เมื่อผ่าคลอดแล้ว 1 วันคุณหมอจะเริ่มให้คุณแม่ขยับตัวหรือลุกเดิน เพื่อไม่ให้เกิดพังผืดยึดเกาะด้านในช่องท้อง จากนั้นอีก 7 วันจะนัดมาดูแผลว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ หากไม่มีการติดเชื้อและแผลเริ่มสมานกัน ก็จะทำการตัดไหม และเริ่มดูแลรักษาแผลให้สะอาด เพราะในระยะ 1-2 เดือนนี้ เป็นช่วงที่แผลหน้าท้องจะสมานกันสนิท ส่วนแผลภายในมดลูกจะหายสนิทในช่วง 3 เดือน คุณแม่จะสามารถเริ่มออกกำลังกาย และทำงานเบา ๆ ได้ การดูแลรักษาอย่างถูกวิธีจะช่วยให้แผลค่อย ๆ หายเอง
อ่านต่อ>> การดูแลรักษาแผลผ่าคลอดแบบถูกวิธี คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
การดูแลรักษาแผลผ่าคลอด
คุณแม่บางคนอาจรู้สึกกังวลต่ออาการที่เกิดจากแผลผ่าคลอด และไม่รู้ว่าควรต้องปฏิบัติตัวอย่างไร กับอาการเหล่านี้ เรามีวิธีดูแลแผลผ่าคลอดแบบถูกวิธี มานำเสนอค่ะ
- ในช่วง 7 วันแรก หลังผ่าตัด ต้องทานยาและทำตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด หากมีอาการปวดแผลสามารถทานยาพาราเซตามอล เพื่อลดอาการปวดได้
- เมื่อครบ 7 วัน คุณหมอจะนัดมาดูแผลผ่าตัด หากแผลติดสนิทดี คุณหมอจะให้ตัดไหม หลังจากนั้นคุณแม่ต้องดูแลทำความสะอาดแผลให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- ควรสอบถามคุณหมอเรื่องแผล ว่าสามารถโดนน้ำได้หรือไม่ เพราะแผลผ่าตัดที่โดนน้ำมีโอกาส แผลผ่าคลอดอักเสบ ติดเชื้อสูงกว่าแผลฝีเย็บ และทำให้แผลปริแยก ติดยาก ผิวไม่เรียบเนียนอีกด้วย
- ในช่วง 1-2 เดือน หลังคลอด ยังไม่ควรยกของหนัก ขับรถ ออกกำลังกาย และมีเพศสัมพันธ์ เนื่องจากแผลภายในมดลูกจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน จึงจะหายสนิท ดังนั้นหากเกิดการกระทบกระเทือนอาจทำให้ฉีกขาดได้ เมื่อแผลหายสนิทจึงเริ่มทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ทีละน้อย และค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจนกว่าจะเป็นปกติ
- แผลคีลอยด์ หรือแผลนูนแดงที่เกิดจากการผ่าตัด สามารถป้องกันได้ โดยในช่วง 3 เดือนแรกหลังผ่าตัดไม่ควรใช้กล้ามเนื้อหน้าท้องหรือทำกิจกรรมเคลื่อนไหวใด ๆ ที่จะทำให้แผลยืดตึงตลอดเวลา เพราะการยืดและหดของผิวหนังจะทำให้แผลนูนไม่เรียบเนียนตามเดิม
อ่านต่อ>> กฎทองของคุณแม่ เพื่อแผลผ่าคลอดสวย สุขภาพแข็งแรง คลิกหน้า 4
กฎทองของคุณแม่ เพื่อแผลผ่าคลอดสวย สุขภาพแข็งแรง
- อย่านอนติดเตียง หลังผ่าคลอดหรือช่วงพักฟื้นที่บ้าน คุณแม่ต้องขยันเดินและขยับตัว เพื่อให้แผลผ่าตัดไม่เกิดพังผืด ซึ่งช่วยให้คุณแม่ฟื้นตัวได้เร็วยิ่งขึ้นด้วย
- ดูแลแผลและผิว ระยะเพิ่งคลอดนี้เป็นช่วงที่ต้องรักษาแผลและดูแลผิวไม่ให้เกิดรอยแผลเป็น ควรหาตัวช่วย เช่น ยาทารอยแผลเป็นมาฟื้นฟูผิวหน้าท้องให้เรียบเนียน
- ดื่มน้ำมาก ๆ คุณแม่หลังคลอดจะท้องผูกได้ง่าย การดื่มน้ำมาก ๆ จะช่วยลดอาการท้องผูกและไม่ต้องเบ่งอุจจาระแรง ๆ จนเกิดอาการเจ็บแผลผ่าตัดที่หน้าท้องและในมดลูก
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอ ทั้งการดูแลแผล การทานยา การดูแลสุขภาพ และการพักผ่อน เพื่อให้ร่างกายของคุณแม่กลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว
- ทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อป้องกันการขาดสารอาหารจากการคลอดลูก และถือเป็นช่วงสร้างน้ำนมดีให้กับทารก
แผลผ่าคลอดจะไม่ติดเชื้อหรือเกิดอาการผิดปกติอย่างแน่นอน หากคุณแม่ดูแลทำความสะอาดแผลอย่างสม่ำเสมอ ทานอาหารที่เป็นประโยชน์เพื่อให้แผลสมานตัวเร็ว หมั่นเดินออกกำลังกาย ไม่ละเลยที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอ และไปตรวจแผลตามนัดหมาย ไม่ว่าคุณแม่จะต้องผ่าคลอดอีกครั้ง ก็ไม่ต้องกังวลเรื่อง แผลผ่าคลอดอักเสบ อย่างแน่นอนค่ะ
อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก!
“ผ่าคลอด น้ำนมไหลช้า” จริงหรือ? พร้อมเทคนิคนวดเปิดท่อน้ำนม (มีคลิป)
แผลผ่าคลอด แนวนอนกับแนวตั้งต่างกันอย่างไร และแบบไหนดีกว่ากัน!
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
รศ.นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล.จะคลอดธรรมชาติ หรือ ผ่าคลอด ดีนะ?.
รศ.พญ ประนอม บุพศิริ.ภาวะติดเชื้อหลังคลอด (Postpartum infection).
MRG Online.แนะวิธีดูแลแผลเป็น หลังผ่าคลอด ให้ผิวหน้าท้องเนียนสวย ไม่นูนแดง.
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่