ปั๊มนมเกลี้ยงเต้า คืออะไร? ทำไมถึงดีกับลูก … แล้วจะต้องทำอย่างไรถึงจะเกลี้ยงเต้า!!
สวัสดีค่ะคุณแม่ที่กำลังให้นมลูก ๆ ทุกท่าน … เคยได้ยินคำว่า ปั๊มนมเกลี้ยงเต้า กันบ้างหรือไม่คะ? ทราบไหมคะว่าแท้จริงแล้วคืออะไร จากประสบการณ์ทีมงาน Amarin Baby and Kids เข้าใจดีว่า คุณแม่หลาย ๆ ท่านอาจจะเข้าใจว่า การปั๊มนมเกลี้ยงเต้านั้นก็แค่เอาเครื่องปั๊มมาปั๊มน้ำนมออกเท่านั้น จะเกลี้ยงหรือไม่เกลี้ยงก็ไม่รู้ เพราะไม่เข้าใจคำว่า “เกลี้ยงเต้า” เลยไม่รู้ว่า ทุก ๆ วันที่ปั๊มในแต่ละครั้งนั้น สรุปแล้วเกลี้ยงจริง ๆ หรือไม่ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเกลี้ยง จะมีเคล็ดลับวิธีเด็ดอะไร วันนี้ทีมงานได้เตรียมข้อมูลเอาไว้ให้แล้วละค่ะ
แต่ก่อนที่เราจะไปดูกันนั้น เรามาทำความเข้าใจกับกระบวนการผลิตน้ำนมแม่กันก่อนดีกว่านะคะ น้ำนมแม่ที่เรารู้จักกันนั้นมีด้วยกัน 2 ส่วนดังนี้
- น้ำนมส่วนหน้า คือ น้ำนมที่มีสีขาวใส น้ำนวมส่วนนี้ประกอบไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุค่ะ ซึ่งมีน้ำตาลแลคโตสคอยให้พลังงานกับลูก ๆ อีกทั้งยังกระตุ้นระบบขับถ่ายของลูกน้อยได้อีกด้วย และไม่ใช่แค่นั้นน้ำนมส่วนนี้มีน้ำเป็นส่วนผสมมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์เลยละค่ะ
- น้ำนมส่วนหลัง คือ น้ำนมที่มีลักษณะเหลือข้น อันประกอบไปด้วย โปรตีน ไขมันดีที่มีสูงมากกว่าน้ำนมส่วนหน้ามากถึง 2-5 เท่า ซึ่งไขมันตัวนี้จะช่วยเสริมพัฒนาการของสมองและสายตาให้กับลูก อีกทั้งยังมีโอเมก้าและคอเลสเตอรอลที่ทำหน้าที่ช่วยสร้างใยสมองที่นมยี่ห้อไหน ก็ไม่สามารถมาทดแทนหรือเลียนแบบได้เลย
จะรู้ได้อย่างไรว่าเกลี้ยงเต้า?
คุณแม่หลายท่านสงสัยว่า แล้วจะไปรู้ได้อย่างไรว่าเกลี้ยงเต้าจริง ๆ แนะนำให้คุณแม่สังเกตจากอาการดังต่อไปนี้
- นมคัด
- เจ็บนมบ่อยทั้ง ๆ ที่นมก็ปั๊มนมไปแล้ว
- น้ำนมน้อยลง
- หน้าอกบวม
- เจ็บลานนม
- หัวนมอักเสบ
- นมแข็ง
หากคุณแม่มีอาการดังต่อไปนี้ นั้นหมายถึงว่า น้ำนมของคุณแม่ยังไม่เกลี้ยงเต้าจริง ทั้งนี้ทีมงานมีวิธีแนะนำมาฝากกันค่ะ
6 วิธีเด็ดสู่การ ปั๊มนมเกลี้ยงเต้า
- เลือกเครื่องปั๊มนมให้ถูกต้องและเหมาะสม – พยายามหลีกเลี่ยงเครื่องปั๊มนมที่ใหญ่หรือหนักมากจนเกินไป และทางที่ดีพยายามเลือกเครื่องปั๊มนมที่สามารถใช้ไฟบ้านได้ เพื่อความเสถียรและความต่อเนื่องในการปั๊มนแต่ละครั้ง
- ปั๊มด้วยมือ – จริง ๆ แล้วเครื่องปั๊มนมที่สะดวกและประหยัดที่สุดก็คือ “มือ” นี่ละค่ะ ที่นอกเหลือจากจะไม่ต้องเสียเงินแล้ว ยังไม่ต้องกังวลเรื่องน้ำหนักของเครื่องปั๊มอีกด้วยนะคะ
- ให้ลูกดูด – ตัวช่วยในการปั๊มนมเกลี้ยงเต้าที่ดีที่สุดก็คือ “ลูกน้อยของเรา” นี่ละค่ะ ไม่ใช่แค่นั้นนะคะ ยังช่วยสร้างและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างคุณแม่กับลูกน้อยได้อีกด้วย
- อย่ารีบจนเกินไป – การปั๊มนมของคุณแม่แต่ละครั้ง ควรใช้เวลาอย่างน้อย 10-15 นาทีต่อข้าง ต่อการปั๊มในแต่ละครั้ง อย่าเร่งรีบจนเกินไป เพราะการเร่งรีบอาจจะทำให้คุณแม่ได้แต่น้ำนมส่วนหน้าเท่านั้น และนั่นอาจทำให้ลูกพลาดสารอาหารสำคัญที่มีอยู่ในน้ำนมของคุณแม่อีกด้วย
- ใช้วลา – ด้วยความที่น้ำนมของคุณแม่นั้นมีการผลิตตลอดเวลาทำให้ปริมาณน้ำนมที่ได้แต่ละครั้งนั้นอาจจะได้ไม่เท่ากันเท่าไรนัก แต่เมื่อไรก็ตามที่ปริมาณน้ำนมของคุณแม่เพิ่มมากขึ้น คุณแม่ก็ควรใช้ระยะเวลาในการปั๊มนมให้มากขึ้นตามไปด้วยอย่างน้อย 20-30 นาทีค่ะ
- ใช้เครื่องปั๊มพร้อมกับให้ลูกดูด – คุณแม่หลาย ๆ ท่านอาจจะสงสัยว่ามันคืออะไร ความหมายก็คือ ให้คุณแม่ใช้เครื่องปั๊มนมปั๊มข้างนึง อีกข้างนึงให้ลูกดูดไปด้วย ทำแบบนี้ไปพร้อม ๆ กันจะช่วยให้น้ำนมออกได้ดีกว่าเดิม อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นให้ร่างกายผลิตน้ำนมได้มากขึ้นได้อีกด้วยนะคะ
เรียบเรียงเนื้อหาโดย: ฝ่ายบรรณาธิการ Amarin Baby and Kids
อ่านต่อบทความอื่นที่น่าสนใจ:
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่