ใครที่วางแพลนจะมีลูกคนที่ 2 เตรียมรอฟังข่าวดี เพราะสรรพากรเล็งเพิ่ม ค่าลดหย่อนบุตร ตั้งแต่คนที่ 2 เป็นต้นไปได้ 3 หมื่นบาทต่อคน เพิ่มจากค่าคลอดบุตรเดิม เพื่อเป็นการกระตุ้นให้มีลูกมากกว่า 1 คน สำหรับสิทธินี้เล็งใช้กับเด็กเกิดใหม่ตั้งแต่มกราคม 2561 ทีมงาน Amarin Baby & Kids มีรายละเอียดคร่าวๆ มาฝากค่ะ
ค่าลดหย่อนบุตร เพิ่มจากเดิมเป็น 30,000 บาท
ถือเป็นเรื่องดีสำหรับทุกครอบครัวที่อยากมีลูกเพิ่มเพราะค่าคลอดบุตรสามารถลดหย่อนภาษีได้เพิ่มจากเดิมคือ 15,000 บาทเป็น 30,000 ต่อคน สำหรับรายละเอียดข่าวนี้ไปดูพร้อมกันค่ะ…
นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเกี่ยวกับมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการมีบุตร ที่จะมีการเพิ่มค่าลดหย่อนบุตรคนที่ 2 เป็นต้นไป อีกคนละ 30,000 บาท โดยจะเร่งให้มีผลบังคับใช้ได้โดยเร็ว
แหล่งข่าวจากกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมกำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่…) พ.ศ. …. หรือร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การเพิ่มค่าลดหย่อนบุตร ระหว่างวันที่ 25 ก.ย.-16 ต.ค.นี้ โดยเป็นมาตรการที่จะให้มีสิทธิหักค่าลดหย่อนบุตรเพิ่มขึ้นอีก 30,000 บาทต่อบุตรหนึ่งคน สำหรับค่าคลอดบุตรตั้งแต่บุตรคนที่ 2 เป็นต้นไป
“กระทรวงการคลังมองว่า ประเทศไทยมีประชากรวัยแรงงานลดลงอย่างมาก เนื่องจากมีอัตราการเกิดของประชากรลดลง ทำให้อัตราส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทุกปี รัฐบาลจึงมีนโยบายให้มีมาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนการมีบุตร เพื่อจูงใจให้ผู้มีเงินได้ที่มีบุตรคนที่ 2 เป็นต้นไปที่เกิดตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2561 เป็นต้นไป ได้รับการบรรเทาภาระภาษี โดยให้มีสิทธิหักค่าลดหย่อนบุตรเพิ่มขึ้นอีก 30,000 บาทต่อบุตรหนึ่งคน สำหรับค่าคลอดบุตรตั้งแต่คนที่ 2 ขึ้นไป ทั้งนี้ จะมีผลสำหรับปีภาษี 2561 ที่จะยื่นแบบช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. 2562”
ทั้งนี้ การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรดังกล่าว จะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 47 (1) (ค) ที่ปัจจุบันให้หักลดหย่อนแบบเหมาได้ 30,000 บาทต่อปี ซึ่งหากเป็นบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมายจะไม่จำกัดจำนวนบุตร แต่หากเป็นบุตรบุญธรรมจะใช้สิทธิหักลดหย่อนได้สูงสุด 3 คน แต่หากเป็นกรณีมีทั้งบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมายและบุตรบุญธรรม จะนับจากบุตรที่ถูกต้อง ตามกฎหมาย 3 คนแรกที่ยังมีชีวิตอยู่ก่อน ถ้าไม่ครบ 3 คน ก็สามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตรบุญธรรมได้อีกคนครบ 3 คน นอกจากนี้ สามีภรรยาที่เป็นคู่สมรสสามารถใช้บุตรคนเดียวกันในการหักลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาทด้วย – ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ
ก็หวังว่าร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การเพิ่มค่าลดหย่อนบุตรจะผ่านการอนุมัติ และได้ใช้จริงในต้นปีหน้าค่ะ และนอกจากการลดหย่อนภาษีคลอดบุตรแล้ว สำหรับคุณแม่ที่ทำงานบริษัทตอนนี้รัฐบาลเริ่งพิจารณาให้มีการปรับวันลาคลอด จากเดิมทีให้ลาคลอดได้ 90 วัน (3 เดือน) มาเป็นลาคลอดได้ 180 วัน (6 เดือน) ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยจะมีการรับฟังความคิดเห็นในช่วงเดือน ตุลาคมนี้ คาดว่าจะออกประกาศได้ภายในเดือน มี.ค. 2561 ค่ะ มีลูกแล้วได้รับสิทธิประโยชน์ดีๆ แบบนี้ ต้องเริ่มวางแพลนมีลูกกันได้แล้วนะคะ
อ่านต่อ สิทธิในการได้รับค่าจ้าง และสิทธิประโยชน์ของการลาคลอดที่แม่ควรรู้ หน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ประโยชน์ของการใช้สิทธิลาคลอด
หลังคลอดลูกมีความจำเป็นที่คุณแม่จะต้องพักฟื้นร่างกาย และได้ใช้ช่วงเวลาหลังคลอดนี้ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังนั้นเพื่อให้คุณแม่หลังคลอดได้ทราบสิทธิประโยชน์ของตัวเอง ลองดูข้อมูลเหล่านี้เพิ่มเติมในเรื่องของสิทธิการลาคลอดค่ะ…
สำหรับคุณแม่ที่รับราชการ
มีสิทธิ์ลาคลอดได้ 90 วันโดยไม่ต้องมีใบรับรองแพทย์ (ซึ่งในปีหน้าจะเปลี่ยนเป็น 180 วัน จากที่พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ได้เผยในการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2560)
สำหรับข้าราชการ สามารถรับเงินเดือนได้ตามปกติ 90 วัน โดยรับจากส่วนราชการ
พนักงานรับราชการ สามารถรับเงินเดือนได้ตามปกติ โดย 45 วันรับจากส่วนราชการ และอีก 45 วันรับจากสำนักงานประกันสังคม พร้อมมีสิทธิ์ลากิจเพื่อเลี้ยงดูบุตรได้ไม่เกิน 150 วันทำการ โดยไม่รับเงินเดือน
นอกจากนี้ ยังสามารถเบิกเงินช่วยเหลือการคลอดบุตรได้ครั้งละ 400 บาทโดยไม่รวมค่ารักษาพยาบาลซึ่งเบิกแยกเป็นกรณีพิเศษได้พร้อมยังได้รับเงินสวัสดิการสำหรับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายเดือนละ 50 บาทต่อบุตร 1 คนแต่ไม่เกิน 3 คน จนกว่าบุตรจะมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์
สำหรับคุณแม่ที่ทำงานในบริษัทเอกชน
มีสิทธิ์ลาคลอดได้ 90 วัน (เปลี่ยนเป็น 180 วันในปีหน้า เช่นเดียวกับคุณแม่ที่เป็นข้าราชการ) โดยไม่ต้องมีใบรับรองแพทย์เช่นกัน
ส่วนค่าใช้จ่ายตามกฎหมายแล้วบริษัทจะต้องทำบัตรประกันสังคมให้สามารถใช้บัตรประกันสังคมเบิกค่าใช้จ่ายตามระเบียบของบัตรได้ทันทีโดยจะได้รับสิทธิ์ค่าทำคลอดบุตรแบบเหมาจ่ายครั้งละ 13,000 บาทสำหรับบุตรที่คลอดหลัง 1 มกราคม 2554 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ยังได้รับเงินช่วยเหลือการหยุดงานเพื่อคลอดบุตร โดยนายจ้างจะจ่ายค่าจ้างให้ 45 วัน และ อีก 45 วัน ประกันสังคมจะจ่ายให้ (โดยผู้ประกันที่เป็นหญิงมีสิทธิเบิกค่าคลอดได้ 2 ครั้งและผู้ประกันตนชายเบิกค่าคลอดบุตรได้ 2 ครั้ง) สำหรับผู้ประกันตนหญิงมีสิทธิรับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของ ค่าจ้างเฉลี่ยเป็นระยะเวลา 90 วัน คิดจากฐานเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท
สำหรับคุณแม่ที่ทำงานในรัฐวิสาหกิจ
คุณแม่ทำงานในรัฐวิสาหกิจสามารถเบิกเงินช่วยเหลือการคลอดบุตรได้ครั้งละ 400 บาท ไม่รวมค่ารักษาพยาบาลโดยส่วนนี้ คุณแม่เบิกค่าใช้จ่ายได้ตามระเบียบพนักงานรัฐวิสาหกิจ และยังได้รับเงินช่วยเหลือบุตรจำนวน 50 บาทต่อคนต่อเดือน พร้อมสิทธิ์ลาคลอดได้ 60 วันโดยรับเงินเดือนตามปกติ และลากิจเพื่อเลี้ยงดูบุตรได้ไม่เกิน 30 วันโดยไม่ได้รับเงินเดือน
สำหรับคุณแม่ที่ประกอบอาชีพอิสระ
ในกรณีที่คุณแม่ประกอบอาชีพอิสระสามารถใช้บริการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง โครงการ 30 บาทรักษา ทุกโรคโดยในส่วนของการฝากครรภ์ การสร้างภูมิคุ้มกันโรคของเด็กสามารถเข้ารับบริการได้ฟรี หรือชำระ 30 บาท สำหรับการคลอดบุตรไม่เกิน 2 ครั้ง พร้อมการตรวจรักษารวมถึงค่าห้องและค่ายา
สำหรับสิทธิการได้รับเงินประกันสังคมค่าสงเคราะห์บุตร เอกสารที่ต้องเตรียมไปขอรับสิทธิ์ประโยชน์ คือ…
– แบบสปส.2-01
– สำเนาสูติบัตรของบุตร
– สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
– ทะเบียนสมรสพร้อมสำเนา
– สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรกที่มีชื่อและเลขที่บัญชี
จากนั้นให้ไปยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนได้ที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่/จังหวัดทุกแห่ง และหากไม่เข้าใจในส่วนใดสามารถดูรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.sso.go.th/ หรือสายด่วนประกันสังคม 1506 นะคะ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก
ต้องรู้! สิทธิประกันสังคมฟรี ที่เพิ่มมาในปี 2560
เงินประกันสังคมของพ่อแม่ ส่งต่อสู่ทายาทได้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ประชาชาติธุรกิจ
www.dumex.co.th
สำนักงานประกันสังคม. www.sso.go.th