นอกจากภาวะรกค้าง รกเกาะต่ำ ที่ส่งผลอันตรายต่อคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์แล้ว รกเกาะติดแน่น เป็นอีกภาวะหนึ่งที่อันตรายอย่างมาก เพราะทำให้คุณแม่หลังคลอดต้องตัดมดลูกหรือตกเลือดเสียชีวิตได้ เราจึงมาให้ความรู้เรื่อง รกเกาะติดแน่น อันตรายถึงต้องตัดมดลูก แก่คุณแม่ผู้อ่านได้รู้จักและระมัดระวังกันค่ะ
รกเกาะติดแน่น อันตรายถึงต้องตัดมดลูก
รกเกาะติดแน่นคืออะไร
โดยปกติแล้วเมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ ร่างกายคุณแม่จะสร้างรกขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่นำอาหารจากแม่ไปเลี้ยงลูกน้อยในครรภ์ ซึ่งรกก็มักจะไปฝังตัวติดอยู่กับเยื่อบุโพรงมดลูก และการฝังตัวของรกจะไม่ลึกลงไปถึงชั้นกล้ามเนื้อของผนังมดลูก โดยจะฝังลึกสุดเพียงไม่เกินชั้นเยื่อบุโพรงมดลูก (ผนังมดลูกจะมีชั้นเยื่อบุโพรงมดลูกอยู่ด้านนอก และมีผนังมดลูกชั้นกล้ามเนื้อมดลูกอยู่ด้านใน) จนเมื่อมีการคลอด รกก็จะหลุดลอกหรือคลอดตามออกมาได้ง่าย หรือหากมีรกค้างอยู่คลอดออกมาไม่หมด คุณหมอที่ทำคลอดจะช่วยล้วงเพื่อคลอดรกด้านในออกมาให้หมด
แต่สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์บางคน การฝังตัวของรกไม่เป็นไปตามปกติเช่นนั้น รกในครรภ์คุณแม่กลับฝังตัวลึกเข้าไปถึงชั้นกล้ามเนื้อมดลูก และบางคนอาจฝังลึกมากจนทะลุชั้นกล้ามเนื้อมดลูกออกมานอกมดลูกได้อีกด้วย เมื่อรกฝังลึกขนาดนี้จึงส่งผลทำให้รกเกาะติดแน่นกับผนังมดลูก และไม่ยอมลอกตัวออกมาเมื่อถึงเวลาคลอด ถือเป็นภาวะอันตรายที่ทำให้คุณแม่เสียเลือดมากจากการคลอด เพราะมดลูกหดรัดตัวได้ไม่ดี จนถึงกับต้องตัดมดลูกทิ้งเลยทีเดียวค่ะ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ทำไมรกจึงเกาะติดแน่น
สาเหตุของการที่รกเกาะติดแน่น หรือเกิดการฝังตัวลึกนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มักพบในคุณแม่ที่มีประวัติบางอย่าง ดังนี้
- คุณแม่ที่เคยขูดมดลูกมาก่อน เช่น การขูดมดลูกจากการรักษาโรคเลือดออกผิดปกติจากมดลูก เคยขูดมดลูกจากการแท้ง จะมีโอกาสทำให้เมื่อเวลาคุณแม่ตั้งครรภ์รกจะฝังลึกเข้าไปในกล้ามเนื้อมดลูกได้มาก โดยสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการขูดมดลูกที่ลึกเกินไป จึงทำให้รกฝังตัวบริเวณที่เคยขูดมดลูกนั้นได้ลึกหรือมากกว่าปกติ
ติดตาม รกเกาะติดแน่นอันตรายถึงต้องตัดมดลูก คลิกต่อหน้า 2
- คุณแม่ที่เคยคลอดลูกหลายครั้ง เนื่องจากคุณแม่ที่เคยคลอดลูกหลายคน เป็นสิ่งที่บอกว่าร่างกายก็ย่อมเคยมีการสร้างรกขึ้นหลายครั้งเช่นกัน ทำให้รกมีการสร้าง เกาะมดลูก และลอกหลุดออกจากผนังมดลูกหลายครั้ง จนทำให้เกิดแผลจากการหลุดลอกของรก และแผลนั้นอาจลึกจนถึงชั้นกล้ามเนื้อมดลูกได้ เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ในครั้งต่อมา รกที่เกิดขึ้นใหม่จึงไปฝังตัวและเกาะที่บริเวณตรงนั้นจนทำให้รกฝังตัวลึกลงไปกว่าปกติจนถึงชั้นกล้ามเนื้อมดลูก
- คุณแม่ที่เคยผ่าตัดคลอดหรือผ่าตัดที่มดลูกเพราะการผ่าตัดคลอดหรือการผ่าตัดที่มดลูก เช่น ผ่าตัดเนื้องอกมดลูกออกจะทำให้เกิดแผลที่ผนังมดลูก ซึ่งคุณแม่บางคนผ่าตัดแล้วเกิดแผลเป็นแล้วไม่สมานเป็นเนื้อเดียวกัน เมื่อตั้งครรภ์รกที่สร้างขึ้นไปฝังตัวลงบริเวณแผลนี้ก็อาจทำให้รกฝังตัวลึกกว่าปกติได้
นอกจากนี้หากคุณแม่เคยมีประวัติมดลูกอักเสบติดเชื้อ ก็มีโอกาสที่รกจะเกาะติดแน่นได้ด้วย ดังนั้นหากคุณแม่ตั้งครรภ์มีประวัติต่างๆ ดังที่กล่าวมา ควรแจ้งแพทย์ที่ฝากครรภ์ให้ทราบเสมอ
เมื่อคุณแม่คลอดแล้วแต่รกยังเกาะติดแน่น คุณแม่จะมีการเสียเลือดไปเรื่อยๆ เนื่องจากรกที่เกาะติดอยู่ในมดลูกจะไปขัดขวางการหดรัดตัวของมดลูก และทำให้โพรงมดลูกไม่สามารถยุบขนาดลงได้ เลือดก็จะออกจากโพรงมดลูกในปริมาณมากเรื่อย จนทำให้แพทย์ต้องรีบตัดสินใจรักษาด้วยการตัดมดลูกออก เพราะหากปล่อยทิ้งไว้เลือดของคุณแม่จะออกเรื่อยๆ ไม่หยุดจนทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ติดตาม รกเกาะติดแน่นอันตรายถึงต้องตัดมดลูก คลิกต่อหน้า 3
การรักษารกเกาะติดแน่น
ตามที่ได้กล่าวไปแล้วว่า เมื่อรกเกาะติดแน่นจนคุณแม่เสียเลือดมาก แพทย์จำเป็นจะต้องตัดมดลูกออก เนื่องจากการผ่าตัดเพื่อดึงรกออกจากมดลูก หรือพยายามขูดเอารกที่ฝังมดลูกลึกออกมาเป็นเรื่องที่ทำได้ยากและมีอันตราย อาจทำให้มดลูกทะลุ และคุณแม่เสียเลือดมากอย่างรวดเร็วได้ ดังนั้น การผ่าตัดมดลูกออกไปพร้อมกับรกที่เกาะติดอยู่จึงเป็นวิธีการรักษาที่จำเป็นต้องทำเพื่อช่วยชีวิตคุณแม่ ซึ่งนอกจากจะตัดมดลูกออกแล้ว แพทย์ก็มักจะต้องให้เลือดคุณแม่ไปพร้อมกันด้วยเสมอ และสุดท้ายคือเมื่อคุณแม่ถูกตัดมดลูกทิ้งจะทำให้ไม่สามารถตั้งครรภ์มีลูกได้อีก ทั้งนี้การวินิจฉัยของแพทย์ในการรักษาก็เพื่อรักษาชีวิตของคุณแม่ไว้ให้ปลอดภัยที่สุดค่ะ
จะรู้ได้อย่างไรว่ารกเกาะติดแน่น
การที่รกเกาะติดแน่นเป็นเรื่องที่ไม่สามารถรู้ก่อนได้เลย จะได้รู้ได้เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์แล้วเท่านั้น ซึ่งอาจมีการวินิจฉัยพบได้ในระหว่างที่คุณแม่ตั้งครรภ์ จากการอัลตราซาวนด์หรือวิธีอื่นๆ หรืออาจมารู้ว่าเกิดภาวะนี้อย่างชัดเจนจริงๆ ก็ตอนที่คุณแม่คลอดลูกน้อยแต่รกไม่คลอดออกมาด้วยนั่นเอง
อย่างไรก็ตามขอให้คุณแม่อย่างกังวลใจจนเกินไป เพราะภาวะนี้มีสถิติที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งนัก แม้แต่คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีประวัติความเสี่ยงที่กล่าวมาข้างต้น เช่น เคยผ่าตัด เคยขูดมดลูก หรือคลอดลูกหลายคน ส่วนใหญ่ก็มักไม่มีปัญหาเรื่องรกไม่ลอกตัวออกมา การเกิดภาวะนี้จึงเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่ได้เกิดได้ง่ายๆ กับคุณแม่ท้อง แต่หากเกิดเมื่อใดก็ต้องรีบจัดการรักษาและแก้ไขทันที เพื่อช่วยชีวิตคุณแม่ให้เร็วที่สุด
อ่านต่อบทความที่น่าสนใจ
แม่ท้องเครียด ส่งผลต่อลูกในท้องอย่างไร?
รู้ก่อนท้อง! เป็นโรคไต มีลูกได้ไหม ?
เป็นเนื้องอกมดลูก มีลูกได้ไหม?
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่