AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

คลิปคลอดลูกแบบธรรมชาติ…เห็นตั้งแต่หัวเริ่มโผล่ แม่เจ็บแค่ไหนก็ทนไหว!

นี่เป็นคลิป การคลอดลูกแบบ คลอดธรรมชาติ ถ้าใครยังไม่เคยเห็น หรืออยากเห็น ตามมาดูกันเลย แล้วคุณจะรู้ว่ากว่าเด็กคนหนึ่งจะคลอดออกมาได้ คนเป็นแม่ต้องเจ็บปวดแค่ไหน

สำหรับคุณแม่ท้องแล้ว ช่วงเวลาใกล้คลอดน่าจะเป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นดีใจมาก ๆ แต่ในความตื่นเต้นนั้นคงผสมปนเปไปด้วยความกลัวอยู่ไม่น้อย เพราะเชื่อได้ว่าคุณแม่คงได้ยินเรื่องราวการคลอดจากผู้มีประสบการณ์การคลอดมาอยู่บ้าง

ทั้งเรื่องของความเจ็บปวดระหว่างทำคลอด แถมยังมีความลังเลไม่รู้จะเลือกคลอดด้วยวิธีไหนดี ระหว่างการ คลอดธรรมชาติ หรือการผ่าคลอด แต่ถ้ากำลังสับสนอย่างนี้ เอาเป็นว่าลองมาดูข้อดีของการคลอดด้วยวิธีธรรมชาติกันก่อนดีไหมคะ

ข้อดีของ การคลอดลูกแบบ คลอดธรรมชาติ

  1. เคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ = การคลอดลูกแบบ คลอดธรรมชาติ จะเปิดโอกาสให้ร่างกายคุณแม่เคลื่อนไหวได้อย่างอิสระมากกว่าการผ่าท้องคลอด และยังกำหนดทิศทางการเคลื่อนไหวของลูกน้อยได้มากกว่าอีกด้วย
  2. ปลอดภัยต่อลูกน้อย / คลอดเร็วกว่า = สำหรับการผ่าท้องคลอดแพทย์จะต้องฉีดยาชา และเตรียมอุปกรณ์ในการคลอดต่าง ๆ อีกมากมาย ซึ่งก็จะชะลอกระบวนการคลอดให้ช้าขึ้นไปอีก แต่ถ้าคลอดด้วยวิธีธรรมชาติ ร่างกายของคุณแม่ที่เรียนรู้วิถีการให้กำเนิดลูกน้อยโดยสัญชาตญาณอยู่แล้วก็จะอำนวยความสะดวกให้คุณคลอดลูกน้อยอย่างปลอดภัยและใช้เวลาเพียงไม่นาน แค่ออกแรงเบ่งเขาอึดใจเดียว ลูกน้อยของคุณก็จะออกมาลืมตาดูโลกแล้วล่ะ
  3. ฟื้นตัวได้เร็วกว่า = การคลอดด้วยวิธีธรรมชาติจะทำให้คุณแม่เจ็บแค่ช่วงที่ออกแรงเบ่งเขาออกมา และหลังจากนั้นอีกนิดเดียวเท่านั้น แต่พอหลังคลอดที่ได้รับยาแก้ปวด บล็อคหลัง และวิธีการฟื้นฟูร่างกายอื่น ๆ ที่คุณหมอแนะนำก็จะสามารถฟื้นตัวได้รวดเร็วกว่า แถมแผลยังเล็กกว่าการผ่าท้องคลอดเยอะเลยด้วย
  4. ลดความเสี่ยงของอุปกรณ์แปลกปลอม = กระบวนการผ่าท้องคลอด ทางทีมแพทย์และพยาบาลจำเป็นต้องเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการทำคลอดเด็กให้ลืมตาออกมาดูโลกได้อย่างปลอดภัย ซึ่งนอกจากจะต้องสวนอุจจาระในเช้าวันผ่าตัดแล้ว ยังต้องให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำเพื่อชดเชยและปรับสภาพของร่างกายให้พร้อมที่จะรับการผ่าตัด และใส่สายสวนปัสสาวะพร้อมทั้งคาสายสวนปัสสาวะไว้ตลอดเวลาการคลอดด้วย

สุดท้ายคุณแม่จะมีความภูมิใจในความเป็นแม่ของตัวเองมากขึ้น เพราะใคร ๆ ก็รู้ว่าการคลอดด้วยวิธีธรรมชาติจะต้องใช้ความกล้าหาญและความอดทนของคนเป็นแม่แค่ไหน ดังนั้นหากคุณสามารถผ่านช่วงเวลาเจ็บปวดแสนสาหัสที่แสนคุ้มค่าแบบนั้นมาได้ก็เป็นธรรมดาที่จะเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเองอย่างที่สุด นอกจากนี้ยังว่ากันว่าการคลอดด้วยวิธีธรรมชาติจะเพิ่มความรู้สึกรักใคร่ผูกพันระหว่างคนเป็นแม่และลูกได้มากกว่าการผ่าท้องคลอดด้วยนะ

ข้อเสียของการคลอดเอง

อย่างไรก็ดีนอกจากการคลอดลูกแบบ คลอดธรรมชาติ จะมีข้อดีและ แต่ก็มีข้อเสียอยู่บ้าง คือ

  1. กำหนดวันเวลาคลอดไม่ได้ สำหรับคุณแม่ที่มีเตรียมฤกษ์หรือเตรียมตั้งชื่อไว้ตามวันเกิดแล้วก็คงจะกำหนดไม่ได้
  2. คุณแม่อาจต้องทนเจ็บปวดอยู่นาน ซึ่งเป็นกระบวนการธรรมชาติของการคลอด แต่ความเจ็บปวดในระหว่างการคลอดนี้สามารถให้ยาระงับปวดได้หลายวิธี เช่น การฉีดยาเข้าเส้นเลือด ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ฉีดยาชาเข้าไขสันหลัง หรือแม้แต่การฝังเข็ม
  3. ในระหว่างรอคลอดอาจเกิดภาวะผิดปกติบางอย่าง เช่น ปากมดลูกไม่เปิดเพิ่ม คลอดไม่ออก หัวใจลูกเต้นช้า ทำให้ต้องผ่าคลอดฉุกเฉินอยู่ดี แต่ไม่ต้องกังวลครับเพราะโดยธรรมชาติแล้วมนุษย์ส่วนใหญ่จะคลอดเองได้อยู่แล้ว

ชมคลิป >> “การคลอดลูกแบบธรรมชาติ เห็นชัดๆ ตั้งแต่หัวเริ่มโผล่” คลิกหน้า 2

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

 

อย่างไรก็ตามแต่ผู้เขียนเชื่อว่ามีคุณแม่ท้องหลายคน ที่ตั้งใจอยากจะคลอดลูกแบบ คลอดธรรมชาติ หรือเรียกว่า คลอดด้วยตัวเอง ซึ่งการ คลอดธรรมชาติ จะมีเป็นอย่างไร หากใครยังไม่เคยเห็น หรืออยากรู้ ตามมาดูชมคลิปคลอดลูก แบบธรรมชาติสุด ๆ จะเป็นอย่างไร  มาดูกันค่ะ

***หมายเหตุ : ∅ วิดีโอนี้อาจมีภาพความรุนแรงหรือภาพที่น่าขยะแขยง >> หากต้องการดูคลิกให้คลิกคำว่า “เลิกบัง Video”

คลิป การคลอดลูกแบบ คลอดธรรมชาติ

หรือคลิกดูได้ที่นี่ >> https://www.facebook.com/medicinaevidaoficial/videos/170162036955256/ 

ขอบคุณคลิปวีดีโอจาก : Medicina é vida

สำหรับคลิปการคลอดลูกข้างต้น เป็นขั้นตอนการคลอดธรรมชาติ ซึ่งวิธีที่จะช่วยให้คุณแม่ท้องคลอดง่ายๆ คุณแม่จำเป็นต้องเรียนรู้ขั้นตอนการคลอดธรรมชาติ เพื่อทำความเข้าใจกระบวนการคลอด และสามารคลอดลูกน้อยออกมาได้ด้วยตัวเองอย่างง่ายดาย ดังนี้…

1. รู้วิธีเบ่งคลอด

เมื่อคุณแม่เข้าสู่ห้องคลอด พยาบาลจะสอนให้คุณแม่เบ่งคลอด และคุณแม่ควรจะรอจังหวะที่พยาบาลหรือแพทย์บอกให้เบ่งจึงค่อยเบ่งคลอด เพราะถ้าเบ่งคลอดเร็วเกินไป เบ่งเมื่อปากมดลูกยังเปิดไม่เต็มที่ ปากมดลูกจะบวมมากและคลอดได้ช้า การที่คุณแม่อยากเบ่งคลอดนั้นเกิดจากหัวเด็กเคลื่อนที่ต่ำลงมาในช่องเชิงกรานและมากดลำไส้ใหญ่เหมือนกับอุจจาระลงมาอยู่ในลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย จึงทำให้คุณแม่รู้สึกอยากเบ่งคลอด ซึ่งจะเป็นการช่วยเร่งให้เด็กเคลื่อนต่ำลงมาเร็วขึ้น

“ยิ่งคุณแม่เบ่งลงไปที่ก้นอย่างเต็มที่เหมือนกับการเบ่งอุจจาระ และเบ่งแต่ละครั้งให้นานพอ เริ่มด้วยการหายใจเข้าให้เต็มปอด และเบ่งพร้อมกับการเจ็บท้องคลอด ก็จะช่วยให้หัวเด็กเคลื่อนลงมาเร็วและคลอดเร็วขึ้น คุณแม่อาจใช้มือทั้งสองข้างจับเหล็กข้างเตียงเพื่อช่วยยืดเวลาเบ่ง พร้อมทั้งยกศีรษะขึ้นเล็กน้อยให้คางจรดกับหน้าอก จะช่วยให้มีแรงเบ่งได้ดีขึ้น เมื่อหายเจ็บท้องคลอดก็หยุดเบ่ง เมื่อเจ็บท้องก็เบ่งใหม่ และใช้การหายใจช่วยตามวิธีที่ฝึกไว้”

(หากเบ่งในขณะที่มดลูกไม่หดรัดตัวหรือเบ่งขึ้นหน้าจนหน้าตาแดงไปหมด หัวเด็กก็จะไม่เคลื่อน แม้จะเบ่งจนหมดแรงก็ไม่คลอดสักที)

2. ขั้นตอนเตรียมทำคลอด

เมื่อคุณแม่เบ่งจนกระทั่งหัวเด็กเคลื่อนลงมาต่ำมากจนเห็นรำไร พยาบาลจะจัดท่านอนให้คุณแม่ใหม่ โดยให้ยกขาพาดบนขาหยั่ง แล้วเลื่อนเตียงส่วนปลายออกหรือสอดเข้าใต้เตียง จะทำให้ก้นอยู่ตรงขอบเตียงพอดี ซึ่งเป็นท่าที่หมอจะช่วยทำคลอดให้คุณแม่ได้สะดวก พยาบาลจะใช้ที่รัด รัดขาคุณแม่เอาไว้กับขาหยั่งเพื่อมิให้ขาหลุดลงมาจากเตียง (ส่วนคุณแม่ที่ไม่ค่อยให้ความร่วมมือหรือดิ้นตลอดเวลาก็อาจต้องถูกมัดแขนด้วย)

หลังจากจัดเตียงแล้ว พยาบาลก็จะใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคฟอกทำความสะอาดบริเวณหัวหน่าว โคนขา และปากช่องคลอด เพื่อลดการอักเสบของแผลและการติดเชื้อแก่ลูก ต่อจากนั้นหมอจะฟอกมือ ใส่เสื้อคลุม ใส่ถุงมือ และปูผ้าสะอาดที่โคนขาทั้งสองข้าง หน้าท้อง และก้น (ถ้าคุณแม่ถ่ายปัสสาวะไม่ออกหรือหมอพบว่ากระเพาะปัสสาวะเต็ม หมอจะสวนปัสสาวะให้ก่อนการคลอด) เสร็จแล้วพยาบาลก็จะช่วยเชียร์ให้คุณแม่เบ่งต่อ

3. หมออาจต้องใช้เครื่องมือช่วยคลอดสำหรับบางสถานการณ์

ในการคลอดระยะที่สอง ขณะที่คุณแม่กำลังเบ่งคลอดอยู่หมออาจมีความจำเป็นต้องรีบช่วยให้การคลอดสิ้นสุดโดยเร็ว เช่น แม่ไม่มีแรงเบ่ง เป็นโรคหัวใจหรือโรคครรภ์เป็นพิษ ความดันโลหิตสูงมาก เสียงหัวใจทารกเต้นช้ากว่าปกติ ฯลฯ ซึ่งถ้าปล่อยไว้นานอาจเป็นอันตรายได้ หมอก็จะช่วยคลอดโดยใช้เครื่องมือคลอดซึ่งมีอยู่ 2 ชนิด คือ คีมช่วยคลอด และ เครื่องดูดสุญญากาศ (เครื่องมือทั้งสองชนิดนี้หากใช้โดยหมอที่มีความชำนาญแล้วก็จะไม่มีอันตรายต่อแม่และเด็ก) ซึ่งการจะเลือกใช้เครื่องมือชนิดใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับความถนัดของแพทย์และตัวคุณแม่เอง ถ้าใช้เครื่องดูดสุญญากาศแม่จะต้องมีแรงเบ่งช่วยด้วย ไม่เช่นนั้นอาจจะคลอดไม่ได้ ส่วนคุณแม่ที่ดมยาสลบก็จะต้องใช้คีมเท่านั้น ไม่ใช้เครื่องดูดสุญญากาศ และในบางกรณีหมออาจจะต้องช่วยคลอดโดยการผ่าตัดทางหน้าท้อง

อ่านต่อ >> ขั้นตอนการคลอดธรรมชาติ จะช่วยให้คลอดง่ายๆ ที่คุณแม่ควรรู้” คลิกหน้า 3

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

4. ตัดฝีเย็บ(Episiotomy)

ต่อมาหมอจะฉีดยาชาเฉพาะที่บริเวณปากช่องคลอด แล้วก็ใช้กรรไกรตัดช่องคลอดเล็กน้อยเพื่อให้กว้างพอที่จะให้ศีรษะออกมาได้ ซึ่งเราเรียกว่า “การตัดฝีเย็บ“ ซึ่งการตัดฝีเย็บนี้จะช่วยทำให้ช่องคลอดไม่ขาดกะรุ่งกะริ่งเหมือนการคลอดเองที่บ้านหรือคลอดโดยหมอตำแย เมื่อเด็กและรกคลอดออกมาแล้วก็จะเย็บช่องคลอดเข้าที่ได้ง่าย รอยที่ตัดนั้นจะตัดจากช่องคลอดส่วนล่างสุดเฉียงไปทางซ้ายหรือขวา หรือหมออาจจะตัดตรงกลางไปในแนวใกล้ทวารหนัก ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและความถนัดของหมอแต่ละคน

5. ลูกคลอดออกมาแล้ว!

เมื่อตัดช่องคลอดแล้วคุณแม่จะต้องช่วยเบ่งอีกครั้งเพื่อให้มีแรงดันให้หัวเด็กโผล่และคลอดออกมา เมื่อหัวเด็กคลอดออกมาแล้ว ความสำคัญของขั้นตอนนี้ก็คือคุณแม่จะต้องให้ความร่วมมือ หมอและพยาบาลจะสั่งให้คุณแม่หยุดเบ่ง เพื่อให้ผู้ทำคลอดใช้ลูกยางสีแดงดูดเมือกและน้ำคร่ำออกจากปากและจมูกของลูกออกให้หมดเสียก่อน แล้วจึงจะทำคลอดตัวเด็กออกมา ในขณะที่ทำคลอดตัวเด็กออกมานี้ก็จะให้ผู้ช่วยฉีดยาที่ช่วยการหดรัดตัวของมดลูก (ยากลุ่มเออร์กอด เช่น Ergometrine) เพื่อช่วยให้มดลูกหดรัดตัวดีขึ้น รกจะได้คลอดเร็วและเสียเลือดน้อย

นระยะการคลอดหัวและลำตัวนี้ปกติจะใช้เวลาเพียง 2-3 นาทีเท่านั้น เมื่อลำตัวคลอดออกมาแล้ว ผู้ทำคลอดก็จะผูกและตัดสายสะดือเพื่อแยกเด็กออกจากรก ยกตัวเด็กให้คุณแม่ดูหน้าตาและหันก้นให้ดูว่าเพศหญิงหรือเพศชาย แล้วก็อุ้มเด็กไปใส่ในรถเข็น ดูดเมือกและน้ำคร่ำออกจากลำคอเพื่อไม่ให้เด็กสำลักหรือหายใจเอาน้ำคร่ำเข้าไปในปอด ตัดและแต่งสายสะดือ แล้วหยอดตาทารกด้วยยาฆ่าเชื้อเพื่อลดการอักเสบของเยื่อตา เพราะอาจมีเชื้อโรคเข้าตาในขณะคลอดได้ จากนั้นพยาบาลก็จะผูกป้ายชื่อคุณแม่ไว้ที่ข้อมือหรือข้อเท้าทันทีเพื่อมิให้ผิดตัว

6. ลูกร้องแล้ว♥

ใน 1 นาทีแรกหลังคลอดลูกก็จะร้องทันที ความทุกข์ทรมานตั้งแต่เริ่มตั้งท้อง แพ้ท้อง ปวดเมื่อย อึดอัด จนกระทั่งเจ็บท้องคลอด สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะหายไปหมดเมื่อลูกน้อยคลอดออกมาแล้วร้องเสียงดัง ซึ่งแสดงถึงความแข็งแรงสมบูรณ์ จากนั้นหมอจะใช้ลูกยางดูดเมือกและน้ำคร่ำในคอและในจมูกออก แต่ถ้าลูกไม่ร้องหรือร้องไม่ดังพอ ผู้ทำคลอดอาจจะให้ดมออกซิเจนและช่วยกระตุ้นบ้างตามความเหมาะสม เสร็จแล้วก็จะพามาให้คุณแม่เพื่อเริ่มสร้างสายสัมพันธ์กับลูกน้อย

7. ทำคลอดรก

หลังจากคลอดตัวเด็กออกมาแล้ว หมอก็จะช่วยทำให้คลอดรกโดยที่คุณแม่อาจรู้สึกตึง ๆ ถ่วง ๆ เล็กน้อย และจะมีเลือดออกมาทางช่องคลอด แต่จะไม่เกิน 200-300 ซีซี ในขณะเดียวกันหมอก็ตรวจดูว่ารกออกมาครบหรือไม่ ถ้ามดลูกรัดตัวไม่ดีรกอาจจะไม่ลอกตัวและอาจจะตกเลือดมากก็ได้ ถ้ารกไม่ลอกตัวในระยะเวลาอันสมควร ประมาณ 10-15 นาที หมอก็อาจจะต้องเริ่มช่วยเหลือโดยการตามวิสัญญีแพทย์มาช่วยให้สลบ เพื่อใช้มือล้วงรกออกมาจากในโพรงมดลูก ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเอารกออกมาได้ แต่จะมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่รกฝังลึกในผนังมดลูกจนไม่สามารถเอาออกมาได้ด้วยการล้วงหรือขูดมดลูก ก็อาจจำเป็นต้องเข้าห้องผ่าตัดและผ่าตัดเอามดลูกพร้อมรกออก เพราะถ้าปล่อยไว้จะทำให้คุณแม่ตกเลือดมากจนเสียชีวิตได้

8. เย็บฝีเย็บ

เมื่อทำคลอดรกเรียบร้อยแล้วหมอก็จะเย็บแผลที่ช่องคลอดที่ตัดเอาไว้ การเย็บแผลอาจจะต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งเพราะจะต้องเย็บเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อเป็นชั้น ๆ ให้เหมือนของเดิมมากที่สุด คุณแม่จึงอาจรู้สึกเมื่อยเพราะต้องอยู่บนขาหยั่งจนกว่าหมอจะเย็บแผลเสร็จ เมื่อเย็บเสร็จแล้วพยาบาลก็จะเอาขาคุณแม่ลงจากขาหยั่ง เช็ดหน้า เช็ดตัว และเปลี่ยนเสื้อผ้าให้ จากนั้นก็จะย้ายคุณแม่ออกจากห้องคลอดไปยังห้องสังเกตอาการหลังคลอดต่อไป

เพราะภายหลังการคลอดอาจมีการตกเลือดเกิดขึ้นได้ ซึ่งอาจเกิดขึ้นทันทีหลังคลอดแต่รกยังไม่คลอด หรือเกิดขึ้นในขณะที่รกคลอดออกมา หรืออาจจะเกิดขึ้นในขณะที่เย็บแผล หรือหลังจากเย็บแผลเสร็จแล้วก็ได้ ดังนั้น จึงมีกฎว่าหลังการคลอดจะต้องให้คุณแม่อยู่ในห้องสังเกตอาการหลังคลอดเพื่อสังเกตอาการผิดปกติต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นเป็นเวลา 2 ชั่วโมง แล้วจึงค่อยย้ายไปอยู่ตึกผู้ป่วยหลังคลอด

อาการที่พบได้หลังคลอดลูก แบบ คลอดธรรมชาติ

หลังจากคลอดรกออกมาแล้ว คุณแม่อาจมีอาการหนาวสั่นมาก หายใจไม่สะดวก เพราะตลอดระยะเวลา 9 เดือนที่ลูกอยู่ในท้อง เปรียบเสมือนกับคุณแม่มีเครื่องทำความร้อนอยู่ในตัว คอยให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย แต่ในชั่วขณะที่คลอดลูกออกมา ร่างกายของคุณแม่ต้องพยายามควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ในระดับเดิม โดยการทำให้กล้ามเนื้อหดและคลายตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างความร้อนออกมาทดแทนความร้อนที่ร่างกายสูญเสียไป อาการหนาวสั่นจะเกิดขึ้นกับคุณแม่ไม่นานนัก แล้วจะหายไปเองภายในเวลาไม่เกินครึ่งชั่วโมง

การตกเลือดหลังคลอด

หลังการคลอดสิ้นสุดลง มดลูกจะมีการหดรัดตัวเป็นก้อนแข็ง เพื่อให้แผลในโพรงมดลูกที่เกิดจากการลอกตัวของรกมีขนาดเล็กลง รวมทั้งกล้ามเนื้อมดลูกที่หดรัดตัวจะช่วยบีบเส้นเลือดบริเวณแผล ช่วยให้เลือดไหลช้าลงและหยุดไหลไปเองในที่สุด ปกติหลังคลอดจะมีน้ำคาวปลาสีแดง ๆ ประมาณ 2-3 วัน หลังจากนั้นก็จะค่อย ๆ จางลงจนกลายเป็นสีขาวภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่ถ้าหลังคลอดแล้วมดลูกไม่สามารถหดรัดตัวได้ตามปกติ เช่น มีเนื้อรกค้างอยู่ในโพรงมดลูก, กล้ามเนื้อมดลูกหย่อนยาน, ปัสสาวะเต็มกระเพาะปัสสาวะ, มีเนื้องอกของมดลูก เป็นต้น ก็จะทำให้เกิดการตกเลือดหลังคลอดได้ ดังนั้นหลังคลอดแล้วพยาบาลจะสวนปัสสาวะทิ้งเสมอ พร้อมกับฉีดยาให้มดลูกหดรัดตัวโดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้การได้เป็นแม่คนเป็นเรื่องที่น่ามหัศจรรย์และน่ายกย่องมาก ๆ อยู่แล้ว ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ดังนั้นไม่ว่าคุณจะเลือกให้เขากำเนิดมาด้วยวิธีไหน ก็น่าเชิดชูด้วยกันทั้งนั้น แต่ถ้าเป็นไปได้ คลอดด้วยวิธีธรรมชาติก็จะดีที่สุดนะคะ ^^

อ่านต่อ “บทความน่าสนใจ” คลิก!


ขอบคุณข้อมูลจาก : medthai.com