AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

13 สาเหตุที่ทำให้น้ำนมแม่มาน้อย

Credit Photo : Shutterstock

สาเหตุที่ทำให้น้ำนมแม่มาน้อย อาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยจนคุณแม่ลูกอ่อนส่วนใหญ่เกิดความเครียดว่าทำไมน้ำนมไม่มา หรือน้ำนมทำไมมาน้อย แล้วจะต้องทำอย่างไรให้น้ำนมแม่ผลิตออกมาได้ปริมาณมากเพียงพอเพื่อให้ลูกได้กินตั้งแต่แรกเกิด ทีมงาน Amarin Baby & Kids มีข้อมูลในเรื่องนี้มาบอกต่อให้ทราบกันค่ะ

 

สาเหตุที่ทำให้น้ำนมแม่มาน้อย เพราะอะไร

คุณแม่ที่เพิ่งคลอดลูกใหม่ๆ ต้องรู้ สาเหตุที่ทำให้น้ำนมแม่มาน้อย นั้นมาจากเหตุปัจจัยใดบ้าง เพื่อจะได้ปรับเปลี่ยนไปในทางที่ถูกต้อง และทำให้น้ำนมแม่ผลิตออกมาได้มากเพียงพอเพื่อใช้เลี้ยงลูกตั้งแต่แรกคลอดไปจนอย่างน้อย 6 เดือน หรือให้ได้นานมากกว่านี้

บทความแนะนำ คลิก >> ทำอย่างไรดี ? ท่อน้ำนมอุดตันเพราะ “ไวท์ดอท (white dot)” !!

วิธีสังเกตง่ายๆ ว่าในหนึ่งวันลูกได้กินนมแม่อย่างเพียงพอหรือไม่ ให้สังเกตที่ ลูกอุจจาระเกินปริมาณ 2 เท่าของขนาดพื้นที่ของแกนกระดาษทิชชู่ (แกนกระดาษทิชชู่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 ซม.) หรือปัสสาวะเกิน 6 ครั้ง[1] ถือว่าร่างกายลูกได้รับน้ำนมแม่เพียงพอในแต่ละวันแล้วค่ะ

อ่านต่อ น้ำนมแม่มาน้อย เพราะสาเหตุนี้ คลิกหน้า 2

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

ดังนั้นเราไปดูกันว่าเพราะอะไร น้ำนมแม่ถึงมาน้อย ทีมงานมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาให้แม่ๆ ได้รู้กันดังนี้…

  1. ไม่ได้ให้นมลูกอย่างเต็มที่ เพราะมีการเสริมนมผง หรือให้ลูกกินนมแม่จากขวด การที่ลูกไม่ได้ดูดกระตุ้นเต้าแม่ได้ อย่างเต็มที่ ก็จะทำให้น้ำนมแม่มาน้อย
  2. ให้ลูกกินอาหารเสริมก่อน 6 เดือน
  3. แม่ไม่ได้ให้ลูกดูดนมแม่จากเต้าบ่อยทุก 2-3 ชั่วโมงมาตั้งแต่แรกคลอด
  4. ช่วงให้นมลูก แม่ทานอาหารไม่เพียงพอ การที่ร่างกายได้รับสารอาหารไม่ครบมากเพียงพอ ก็ส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตน้ำนมแม่ได้เช่นกัน
  5. แม่ที่ให้นมลูกต้องดื่มน้ำเปล่าสะอาดให้มากกว่า 8-10 แก้วต่อวัน เพราะน้ำเป็นส่วนสำคัญที่ใช้ในการผลิตน้ำนมแม่ของกระบวนการร่างกาย
  6. ในแม่ที่มีปัญหาเลือดจาง ก็มีผลต่อการสร้างน้ำนมของร่างกายได้มาก แนะนำว่าให้ปรึกษาคุณหมอ และส่วนมากจะได้รับคำแนะนำให้ทานธาตุเหล็กควบคู่ไปกับอาหารที่ทานทุกวันด้วยควบคู่กันไป
  7. แม่ทานยาคุมที่มีส่วนผสมของเอสโตรเจน ก็มีผลต่อการกระบวนการสร้างน้ำนม
  8. ให้ลูกดูดนมแม่ไม่ถูกวิธี หรือลูกมีปัญหาผังผืดใต้ลิ้นก็เป็นเหตุให้ลูกดูดกระตุ้นจากเต้าแม่ได้ไม่ดี
  9. แม่ไม่ให้ลูกดูด หรือไม่ได้ปั๊มนมตามรอบทุก 2-3 ชั่วโมง จนเกิดปัญหาเต้านมคัดมาก
  10. แม่ที่ให้นมลูกมีภาวะเครียดจากเรื่องต่างๆ ทั้งการเลี้ยงลูก และปัญหาภายในครอบครัว ฯลฯ
  11. เมื่อแม่ไม่ได้ให้ลูกดูดนมแม่กระตุ้นอย่างต่อเนื่อง ร่างกายจะกลับสู่ภาวะมีประจำเดือนอีกครั้ง เมื่อประจำเดือนมาน้ำนมแม่ก็หดหายไป
  12. ทานสมุนไพรขับน้ำคาวปลา ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
  13. ทานยาแก้แพ้ #CPM หรือ ยา #pseudoephedrine ติดต่อหลายวัน จะทำให้ไปกดการสร้างน้ำนมได้มาก[2]

เมื่อรู้สาเหตุที่อาจทำให้น้ำนมแม่มาน้อยกันคร่าวๆ แล้ว ก็มาต่อกันด้วยวิธีกระตุ้นนมแม่อย่างถูกวิธีด้วยหลักง่ายๆ กันค่ะ 

 

อ่านต่อ กระตุ้นนมแม่ให้มาเร็วด้วยหลัก 3 ดูด คลิกหน้า 3

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

กระตุ้นนมแม่ให้มาเร็ว และมีปริมาณเพียงพอ ต้องใช้หลัก 3 ดูด

1. ดูดเร็ว

หมายถึงการให้ลูกน้อยดูดนมแม่ทันทีหรือภายใน 30 นาทีแรกหลังคลอด เรียกว่าเป็นชั่วโมงแรกที่สำคัญในการสร้างน้ำนมแม่แก่ลูกน้อย เพื่อช่วยกระตุ้นให้ฮอร์โมนอ็อกซิโทซิน และโปรแลคติน สร้างน้ำนมจากเต้านมให้คุณแม่ได้เร็วที่สุด และยังช่วยกระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูกคุณแม่ ป้องกันไม่ให้คุณแม่ตกเลือดหลังคลอด แถมยังเป็นการสร้างความรักความผูกพันเมื่อแรกพบกันระหว่างคุณแม่และลูกน้อย ลูกน้อยจะได้อยู่ในอ้อมอกคุณแม่ซึมซับความอบอุ่นผูกพัน รวมทั้งการดูดเต้าของลูกน้อยจะช่วยกระตุ้นให้น้ำนมแม่มาเร็วและมามากอีกด้วย

2. ดูดบ่อย

ให้ลูกดูดนมแม่ทุก 2-3 ชั่วโมงหรือเมื่อลูกต้องการ ในช่วง 2-3 วันแรกหลังคลอด แม้จะยังไม่มีน้ำนมออกมาก็ตาม เพราะการให้ลูกดูดกระตุ้นบ่อยๆ จะเป็นการสร้างน้ำนมและช่วยระบายน้ำนมออกจากเต้า ให้เต้านมคุณแม่สามารถผลิตน้ำนมใหม่เรื่อยๆ อย่างสม่ำเสมอ รวมถึงช่วยป้องกันเต้านมคุณแม่ไม่ให้คัดหรือเจ็บอีกด้วย

ที่สำคัญคือการให้ลูกดูดนมแม่บ่อยๆ ในช่วง 2-3 วันแรกหลังคลอด จะทำให้ลูกน้อยได้รับหัวน้ำนม หรือโคลอสตรัม (Colostrum) ซึ่งมีสารภูมิต้านทานมาก แต่ไม่ใช่แค่สารอาหารที่ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานให้ลูกน้อยเท่านั้นเพราะในหัวน้ำนมยังมีสารอาหารสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างเซลล์ต่างๆในร่างกายของลูกและยังมีพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ที่ช่วยกระตุ้นการเคลื่อนตัวของลำไส้ช่วยเร่งการขับขี้เทาของลูกน้อยออก เพื่อช่วยป้องกันลูกน้อยตัวเหลืองให้ลูกขับถ่ายง่ายและอุจจาระนิ่มอีกด้วย

3. ดูดถูกวิธี

นั่นคือการให้ลูกน้อยของคุณแม่ดูดนมในท่าที่ถูกต้อง คือ ลูกน้อยต้องเปิดปากกว้าง อมหัวนมและลานนมให้กระชับและลึกจนเหงือกกดบนลานหัวนม ซึ่งการดูดถูกวิธีนี้จะทำให้น้ำนมไหลพุ่งออกมาได้ดี ป้องกันหัวนมคุณแม่เจ็บหรือแตก จากการให้ลูกดูดไม่ถูกต้องได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีอีกวิธีที่สำคัญคือ

ดูดนมจนเกลี้ยงเต้าทีละข้าง การให้ลูกน้อยดูดนมจนเกลี้ยงเต้า เป็นขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้ลูกได้คุณค่าจากน้ำนมแม่ครบถ้วนเต็มที่ ทั้งยังช่วยระบายน้ำนมและกระตุ้นการสร้างน้ำนมใหม่ของคุณแม่ให้เพิ่มขึ้นตามความต้องการของลูกน้อยอีกด้วย

บทความแนะนำ คลิก >> ขนาดกระเพาะทารก จะจุปริมาณน้ำนมแม่ได้เท่าไหร่?

 

ทุกปัญหาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีทางแก้ไขเสมอค่ะ และเพื่อให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ประสบความสำเร็จ คุณแม่สามารถขอคำปรึกษาได้ที่คลินิกนมแม่ทั่วประเทศ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใย

 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก

ฝีเต้านม หลังคลอดลูก อาการ และการรักษา
น้ำนมน้อย นมแม่ไม่พอ ? และเคล็ดลับขับน้ำนมด้วยวิธีธรรมชาติ
สารพัน คำถามเกี่ยวกับ นมแม่ ที่แม่มือใหม่ต้องรู้

 


ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
1www.breastfeedingthai.com
2นมแม่แฮปปี้