AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ทำความรู้จักกับการ คลอดลูก หมอตำแย โบราณ คลิก!

ก่อนดูตอนอวสาน ต้องทำความรู้จักกับการ คลอดลูก หมอตำแย โบราณ สไตล์แม่หญิงการะเกด บอกเลยงานนี้พีคมาก!

 

 

แค่คิดก็เศร้าแล้วที่ต้องถึงวันที่ละครดังอย่าง บุพเพสันนิวาส มาถึงตอนอวนสาน … และหนึ่งในฉากที่ถูกจัดได้ว่าพีคมากๆ สำหรับละครเรื่องนี้ก็คงหนีไม่พ้น ฉากที่แม่หญิงของพวกเรา คลอดลูก หมอตำแย แบบไทยแท้โบราณ

คุณแม่หลาย ๆ ท่านอาจจะพอรู้จักกับหมอตำแยมาบ้างคร่าว ๆ แล้วใช่มั้ยคะ เผลอ ๆ อาจจะมีคุณแม่บางท่านเคยคลอดด้วยวิธีมาแล้วเสียด้วยซ้ำ … เอาเป็นว่าจะอย่างไรก็แล้วแต่ วันนี้ทีมงานจะมาขอนำเสนอเรื่องราวของ “หมอตำแย” กันก่อน งานนี้ละค่ะ พอถึงเวลาตอนคลอดลูกของแม่หญิงเราก็จะทราบกันแล้วละค่ะว่า ที่มาของ หมอตำแย นั้นคืออะไร พร้อมกันแล้วหรือยังคะ ถ้าหากพร้อมแล้วเราไปดูเรื่องเล่านี้พร้อม ๆ กันเลยค่ะ

เรื่องเล่าการ คลอดลูก หมอตำแย โบราณ

“หมอตำแย” หนึ่งในอาชีพโบราณ ที่สมัยนี้หายากขึ้นทุกทีไป ซึ่งเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับหมอตำแยนั้นมีมากมายค่ะโดยเฉพาะอย่างยิ่งในท้องถิ่นที่ยังไม่ได้รับความเจริญเ ช่นปัจจุบัน หมอตำแยของไทยจะมีฐานะที่เป็นที่ยอมรับในสังคมมาก หมอตำแยมักจะไปให้บริการตามบ้านของผู้ที่จะคลอด จนกระทั่งประเทศไทยได้มีการเปิดการเรียนการสอนในวิชาผดุงครรถ์ ในเวลาต่อมา จึงทำให้คนไทยได้เรียนรู้เรื่องการทำคลอดมากขึ้น และ แน่นอนว่าวิชาที่เป็นหลักการและเอกสารนั้นมักจะมาจากต่างประเทศ

       
ในอดีตนั้นประเทศไทยจะไม่มีหมอตำแยที่เป็นผู้ชายเลย ซึ่งสอดคล้องกับ หมอตำแยของฝรั่งที่เราเรียกว่า “midwives” อันหมายถึง บุคคลในระดับชั้นสูงที่ทำหน้าที่ทำคลอด เนื่องจากบุคคลที่จะทำคลอดในสมัยแรกเริ่มของโลกนั้นชาวตะวันตกมองว่าเป็นหน้าที่ของชนชั้นสูงในสังคม และเป็นหน้าที่ของสตรีเท่านั้น โดยการเป็นผู้ทำคลอดนี้ถือว่าเป็น หน้าที่ที่ควรได้รับค่าตอบแทน และการยอมรับต่อสาธารณะเป็นอย่างยิ่ง การเรียนรู้ในเรื่องการทำคลอดตลอดจนการประดิษฐอุปกรณ์ต่าง ๆ และได้สอนต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้หน้าที่ของหมอตำแยนั้นพัฒนาการข้ามไปสู่เรื่องศาสตร์ของการผ่าตัด ซึ่งในตอนนั้นศาสตร์นี้ ยังไม่เป็นที่ยอมรับและยกย่องมากนัก การพัฒนาการของการทำคลอดได้ผ่านมาจนถึง การศึกษาอย่างจริงจังในเรื่อง “ สูติศาสตร์ หรือ Obstetrics” นั่นเองค่ะ

ที่มาของ “หมอตำแย”

การ คลอดลูก หมอตำแย โบราณนั้นคืออะไร แล้วคำว่า “หมอตำแย” นั้นเริ่มจากการที่ในสมัยก่อนนั้นผู้ที่ช่วยทำคลอดส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้หญิงที่มากประสบการณ์ โดยชาวบ้านจะรู้จักกันในนาม “หมอตำแย” ซึ่งคำเดียวกันนี้ ศัพท์สาธารณสุขใช้ ‘ผดุงครรภ์โบราณ’ ถ้าดูจากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ คำว่าตำแย อีกความหมายหนึ่งก็คือ คำที่ใช้เรียกหญิงผู้ทําคลอดตามแผนโบราณว่า หมอตําแย (มาจากมหาเถรตําแย ผู้ทําตําราว่าด้วยวิชานี้) น่าสังเกตว่าชื่อ “ตำแย” ไม่ปรากฏในคำบาลีเลย คงเป็นชื่อที่จำต่อๆกันมาจนเพี้ยนจากชื่อเดิม หากพิจารณาเสียงที่ใกล้เคียงกันก็น่าจะสันนิษฐานได้ว่า เป็นชื่อที่กลายมาจาก “อาเตรยะ” อาจารย์หมอของชีวกโกมารภัจ นั่นเอง

“ชีวกโกมารภัจ” ไปร่ำเรียนกับมหาเถรตำแยที่สำนักทิศาปาโมกข์ในสมัยพุทธกาล อยู่เมืองตักสิลา ในแคว้นคันธาระ ปัจจุบันอยู่ในตอนเหนือของแคว้นปันจาป ประเทศปากีสถาน มีชื่อเสียงในทางศิลปวิทยา รวมทั้งวิชาการแพทย์ด้วย ในตำนานคติพุทธถือว่า”ชีวกโกมารภัจ”เป็นแพทย์หลวงประจำตัวพระเจ้าพิมพิสารแห่งแคว้นมคธ และถือว่าเป็นแพทย์ประจำองค์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยและต่อมายังได้รับยกย่องให้เป็นบรมครูของการแพทย์แผนโบราณของไทย ชื่อของมหาเถรตำแย ในความรู้จักของคนไทยจึงมีมาแต่โบราณกาล ค่อยๆตัดคำหายไป กลายเป็น ”หมอตำแย”ในสมัยก่อนยังไม่มีหมอทำคลอดแผนปัจจุบัน มีแต่ผู้หญิงที่พอจะทำคลอดเป็นเรียนสืบต่อกันมา

คุณแม่หลาย ๆ ท่านอาจจะสงสัยว่า แล้วผู้ชายเป็นหมอตำแยได้หรือไม่ คำตอบก็คือ อาชีพหมอตำแยนั้น เป็นของผู้หญิงเท่านั้น แต่ผู้ชายก็สามารถทำได้ด้วยเช่นกัน แต่อาจจะแตกต่างกันตรงหน้าที่ ยกตัวอย่างเช่น หมอตำแยผู้หญิงจะทำหน้าที่เฉพาะการทำคลอด และการทำความสะอาดเด็กเท่านั้น

ข้อห้ามสำคัญที่ครูหมอตำแยโบราณสั่งสอนมาก็คือ การห้ามบอกพ่อแม่เด็กและญาติพี่น้องว่าเด็กในท้องเป็นเพศอะไร แม้ว่าหมอตำแยจะรู้คำตอบตั้งแต่คุณแม่ท้องได้ตั้งแต่แปดเดิมแล้ว แต่ก็ไม่สามารถพูดหรือบอกใครได้ค่ะ นี่ถือเป็นข้อห้ามเดียวที่สำคัญในวิชาชีพของหมอตำแยไทยแล้วละค่ะ ว่าแต่การ คลอดลูก หมอตำแย เป็นอย่างไรอยากรู้ไปหาคำตอบนั้นพร้อม ๆ กันค่ะ

วิธีการ คลอดลูก หมอตำแย ไทยโบราณ

สำหรับขั้นตอนการคลอดลูกนั้น อยู่ที่เด็กทารกด้วยนะคะว่า เอาส่วนไหนออกมาก่อน ยกตัวอย่างเช่น เด็กบางคนเอาหัวออกมาก่อน บางเด็กก็ขามาก่อน บางเด็กก็มือมาก่อน แต่เด็กที่ขากับมือออกมาก่อนนี้ยากหน่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ารกขาดนี้ยากมากเลยค่ะ ถ้าหมอตำแยไม่ชำนาญก็จะเป็นอันตรายกับชีวิตของทารกได้ ส่วนในรกต้องจับรีดให้คนเขาดูด้วยว่ามีขาดไหม ถ้าไม่ขาดก็ดี แต่ถ้ามีขาด ต้องหายาให้กินเดี๋ยวนั้น โดยเอามาคั่วรวมกันให้มันไหม้สักหน่อย แล้วละลายในน้ำให้กิน ยาที่ว่าก็คือ

1.ซเมาอั๊จม์แซ๊ะ (หญ้าหนวดแมว) ๗ ส่วน
2.ดินปืนดินพลุประมาณ ๑ ช้อน
3.สน๊อกปั๊วะ (คราบงูที่ลอกคราบ) ๗ ส่วน
4.ปิงวาย (แมงมุม) ๗ ส่วน
5.มะเร็งพเลิง (เจตมูลเพลิง) ๗ ส่วน

ส่วนเด็กที่คลอดมาใหม่นั้นก็ตัดสะดือแล้วมัดกับด้ายสีดำ ด้ายนั้นพันมัดสองจุด เวลาตัดไม่ใช้มีด แต่ตัดกับหอยกาบ แล้วก็อาบน้ำให้ ล้างมือ ถูตัว แล้วก็ให้นอนกับกระด้งหรือฉะเนียง จวมบูน (บายศรีเชิญครู) เอากะลามะพร้าวใส่ขี้เถ้า หมาก ๔ ลูก ใบพลู ถ้าไม่มีให้เอาใบขนุนวางไว้ ๔ ทิศ ทิศละใบ ส่วนธูปเอาต้นหญ้าคาแทน เทียน ๒ เล่ม

หลังจากที่แม่เมื่อคลอดลูกแล้ว ก็ให้นอนราบกับพื้น รออาบน้ำร้อน หม้อที่ต้มน้ำต้องใช้หม้อดินใหญ่ หรือหม้อที่ใช้สาวไหม ซึ่งต้องใส่รากทมึ๊ย (ต้นป่าน) เกลือ ใบมะขาม เปลือกมะขาม ใส่ในหม้อต้มพอเดือด แล้วก็ตักให้คนคลอดกินและอาบ ส่วนใต้ถุนบ้านนั้นมีหลุมอยู่ ๑ หลุม หลุมนี้ใช้สำหรับรองน้ำที่อาบเวลาอาบน้ำก็ไหลตกลงไปในหลุม ในหลุมก็ใส่ซังเคิร (กิ่งเล็บเหยี่ยว) ใส่หัวไพล เอาแหปิดล้อมรอบบริเวณหลุม เพื่อป้องกันผีปอบ อย่าให้มันเขาไปได้ ถ้ามันเข้าไปได้แล้วมันจะไปกินเลือดหรือรกที่อยู่ในหลุม ส่วนสามีก็เอาฟืนท่อนใหญ่ๆ มาก่อไฟให้ภรรยาที่นอนราบกับพื้นอยู่บนบ้าน ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณพ่อคุณแม่จะต้องทำการยกครูให้หมอตำแยโดย

1.จวมบูน (บายศรีเชิญครู) ประกอบด้วยใบพลูหรือใบขนุนทิศละ ๔ ใบ ธูป ๒ ดอก เทียน ๔ เล่ม กรวยดอกไม้ ๕ กรวย ใส่จานไว้

2.บายศรีปากชาม ๑ คู่ แต่ละจานประกอบด้วย กล้วย ๔ ลูก ข้าวต้มมัด ๔ มัด หมาก ๔ ลูก เงิน ๔ บาท

นอกจากนี้ก็มีของไหว้พระพิษณุ เรียกว่า “พิษณุการ” คือมีข้าวเปลือก ๑ กระเชอ ตรงกลางวาหัวขวานถาก ๑ เล่ม ข้างๆ

วางไข่ต้ม ๑ ฟอง ถ้วยใส่ข้าวสาร ๒ ถ้วย หมาก ๑ ลูก เทียน ๒ เล่ม (ปักในถ้วยข้าวสาร) กรวยดอกไม้ ๕ กรวย กรรไกร มีดโกน หวี แป้ง ด้ายชุบน้ำขมิ้น แล้วเอาใบหญ้าคาปักไว้ ไก่ต้ม ๑ ตัว ใส่ถาดวางไว้ข้างๆ กระเชอ

อย่าไรก็ตาม ภายหลังปี พ.ศ. ๒๕๐๐ มีระเบียบจากทางราชการบังคับให้หมอตำแยทั่วประเทศต้องผ่านการอบรมขึ้นทะเบียน หมอตำแยเจอระเบียบหยุมหยิบของราชการก็เลยลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ และนับแต่นั้นคนทั่วไปก็เริ่มหันไปคลอดลูกยังอนามัยสถานผดุงครรภ์ และโรงพยาบาล ด้วยความนิยมในความสะดวก สะอาด และน่าจะปลอดภัยได้มากกว่า หมอตำแยก็เลยค่อย ๆ หายไป ส่วนอดีตหมอตำแยรุ่นคุณย่า คุณยายก็จะนำวิชาเหล่านี้มาใช้กดจุด นวดแผนโบราณ เพราะการเป็นหมอตำแยนั้น ต้องรู้จักเส้นและจุดต่าง ๆ ในร่างกายเป็นอย่างดี

มาถึงตอนนี้คุณแม่ ๆ ก็คงทราบกันดีแล้วใช่ไหมคะว่าการ คลอดลูก หมอตำแย โบราณของคนไทยในสมัยก่อนนั้นเป็นอย่างไร ทีนี้ก็คงเหลือแต่รอดูแม่หญิงคลอดลูกแฝดให้ท่านหมื่นก็พอ เตรียมตัวฟินต่อไปพร้อม ๆ กันเลยนะคะ

ขอบคุณที่มา: MGR Online

อ่านต่อเรื่องอื่นที่น่าสนใจ:

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids