เมื่อเข้าสู่ระยะสุดท้ายของการตั้งครรภ์ คุณแม่อาจสงสัยว่า จะรู้ได้ยังไงว่าใกล้คลอด ทั้งนี้ให้คุณแม่คอยสังเกตและเฝ้าดู อาการใกล้คลอด ต่างๆ ที่บ่งบอกว่า คุณแม่ใกล้จะได้พบหน้าเจ้าตัวน้อยที่เฝ้ารอแล้ว
อาการใกล้คลอด เป็นกลไกธรรมชาติของร่างกาย ที่ทำให้คุณแม่เริ่มรู้สึกว่ามีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้น เพื่อจะได้เตรียมพร้อมสำหรับการคลอดที่จะมาถึงในไม่ช้าโดย สัญญาณใกล้คลอด ที่คุณแม่ต้องสังเกตมีดังนี้
6 อาการใกล้คลอด ที่แม่ต้องสังเกต
-
ท้องลด
คุณแม่จะท้องลด เพราะลูกจะปรับตัวให้อยู่ในท่าพร้อมที่จะคลอด โดยเคลื่อนศีรษะตัวเองลงต่ำไปในอุ้งเชิงกราน หรือในบางรายอาจจะเอาก้นลง ทำให้มดลูกส่วนล่างขยายตัว เมื่อดูจากภายนอกจะมองเห็นว่าท้องของคุณแม่ลดต่ำลงมา
คุณแม่ท้องแรก ท้องจะลดต่ำลงมาประมาณกลางเดือนที่ 8 หรือ 2-3 สัปดาห์ก่อนคลอด ส่วนในคุณแม่รายที่เคยผ่านการตั้งครรภ์มาแล้ว อาการท้องลดจะเกิดก่อนการเจ็บคลอดไม่นาน
อาการท้องลดจะทำให้คุณแม่คลายแน่นหน้าอก หายใจได้สะดวกขึ้น แต่การที่ศีรษะหรือก้นของลูกอยู่ต่ำลงไปในอุ้งเชิงกราน จะทำให้คุณแม่รู้สึกหน่วงๆ บริเวณหัวหน่าว เหมือนเด็กจะไหลออกมา และลูกจะไปเบียดบริเวณกระเพราะปัสสาวะ และกดบริเวณอุ้งเชิงกรานของคุณแม่ ทำให้คุณแม่เก็บปัสสาวะได้น้อยลง ต้องเข้าห้องน้ำปัสสาวะบ่อยขึ้น
และจากการที่ศีรษะของลูกลดต่ำจึงทำให้คุณแม่มีอาการเท้าบวมมากขึ้น เวลาจะลุกจะนั่งก็รู้สึกว่าลำบากมากกว่าเดิม บางรายก็มีอาการเป็นตะคริวบ่อยขึ้นด้วย เพราะศีรษะของทารกและมดลูกกดทับเส้นเลือดดำในอุ้งเชิงกรานมากกว่าในระยะอื่น จึงทำให้เลือดไหลกลับจากขาไม่สะดวก
-
ท้องแข็ง
ส่วนใหญ่จะเป็นในช่วงเดือนที่ 8 ของการตั้งครรภ์ เป็นช่วงที่ลูกในท้องดิ้นมากที่สุด ทำให้มดลูกบีบตัวบ่อยขึ้นจึงเกิดอาการท้องแข็ง บางครั้งอาการท้องแข็งก็ไม่ใช่อาการของคุณแม่ใกล้คลอด แต่เกิดจากการที่คุณแม่รับประทานอาหารจนอิ่มมากเกินไป
ถ้าคุณแม่มีความรู้สึกว่ามดลูกบีบตัวเบาๆ ช้าๆ แข็งตัวอยู่พอสมควร แล้วคลายตัวช้าๆ เป็นวันละหลายครั้ง แต่ไม่เกิน 6-10 ครั้ง ซึ่งจะเกิดจากมดลูกบีบตัว อาการดังกล่าวไม่เป็นอันตราย แต่ถ้าแข็งจนเจ็บและเจ็บถี่มากขึ้นเรื่อยๆ ให้คุณแม่รีบไปโรงพยาบาลทันที ถึงจะยังไม่ถึงกำหนดคลอดก็ตาม
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ>> สัญญาณใกล้คลอด ข้อ 3-6 คลิกหน้า 2
-
เจ็บท้องเตือน
คุณแม่จะมีความรู้สึกว่าท้องแข็งเกร็ง เกิดจากการที่มดลูกบีบรัดตัว จะรู้สึกแน่น อึดอัด แต่ไม่เจ็บปวด การปวดท้องเตือนนั้นจะปวดแบบตึงๆ เจ็บท้องไม่สม่ำเสมอ แต่ปวดไม่มาก จะปวดเบาๆ อยู่บริเวณหน้าท้อง
หากคุณแม่นั่ง นอนพัก หรือเปลี่ยนท่า เปลี่ยนอิริยาบถ อาการดังกล่าวก็จะคลายลงได้ จะเจ็บบริเวณท้องน้อย แต่ไม่ปวดร้าวไปด้านหลัง อาการเจ็บท้องเตือนอาจทำให้คุณแม่เกิดความสับสนว่าใกล้คลอดหรือยัง
การเจ็บท้องเตือนจะมีอาการคล้ายการเจ็บท้องคลอดแต่จะไม่เจ็บเท่า จะเจ็บครั้งละประมาณ 25 วินาที มักจะเกิดขึ้นในช่วง 2-3 เดือนก่อนคลอด และจะปวดถี่หรือรุนแรงมากขึ้นเมื่อใกล้คลอด
ปัจจัยที่กระตุ้นให้อาการเจ็บท้องเตือนเป็นถี่ขึ้น ได้แก่ การยกของหนัก การสัมผัสที่ท้อง การมีเพศสัมพันธ์ การเคลื่อนไหวของทารก การขาดน้ำ เป็นต้น ส่วนการดูแลเมื่อมีอาการเจ็บท้องเตือนถี่ คุณแม่ควรลดกิจกรรมที่ต้องออกแรงหรือการเปลี่ยนท่าเพื่อลดอาการเจ็บท้องเตือน นอนพักตะแคงซ้าย ดื่มน้ำสักแก้ว (การขาดน้ำจะทำให้การเจ็บท้องเตือนเป็นถี่ขึ้น) ปัสสาวะบ่อยๆ (การอั้นปัสสาวะจะกระตุ้นให้เจ็บท้องเตือนได้บ่อยขึ้น) หายใจเข้าออกยาวๆ ลึกๆ อย่างช้าๆ จะช่วยลดอาการเจ็บท้องเตือนได้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
-
มูกเลือดออกทางช่องคลอด
ร่างกายของคุณแม่จะสร้างมูกขึ้นมาเพื่อปิดปากมดลูกไว้ กันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่มดลูกระหว่างการตั้งครรภ์ เมื่อถึงเวลาคลอด ปากมดลูกของคุณแม่จะบางลงและเปิดขยายตัวมากขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอดที่จะมาถึง มูกที่อุดอยู่คือสิ่งแรกที่จะต้องเปิดออกก่อน โดยไหลออกมาเองทางช่องคลอด ซึ่งในขณะที่มดลูกขยายตัว อาจเกิดการแตกของเส้นเลือดเล็กๆ บริเวณปากมดลูก ทำให้มีเลือดไหลออกมาผสมกับมูก คุณแม่อาจจะตกใจ กลัวแท้งลูก อาการเช่นนี้เป็น อาการใกล้คลอด ของคุณแม่ ให้คุณแม่เตรียมกระเป๋าไปคลอดได้เลย
(อ่านเพิ่มเติม บทความน่าสนใจ จัดกระเป๋าเตรียมคลอดที่โรงพยาบาลและลิสต์ของใช้ลูก)
อ่านต่อ>> สัญญาณใกล้คลอด ข้อ 3-6 คลิกหน้า 3
-
น้ำเดิน
น้ำเดิน หรือ ถุงน้ำคร่ำแตก จะมีลักษณะเป็นน้ำใสๆ คล้ายปัสสาวะไหลออกมาทางช่องคลอด ไม่มีกลิ่น อาจจะขุ่นเล็กน้อย เป็นอาการที่แสดงว่า ถึงเวลาที่คุณแม่จะคลอดแล้ว
เมื่อถุงน้ำคร่ำแตก มดลูกจะหดตัวเล็กลง บีบหัวเด็กให้เคลื่อนต่ำลงสู่อุ้งเชิงกรานเพื่อจะคลอด หากคุณแม่มีน้ำเดินช่วงเริ่มต้นของการเจ็บท้องคลอด คุณแม่อาจมีความเสี่ยงในการติดเชื้อได้
คุณแม่ควรรักษาความสะอาดบริเวณปากช่องคลอด ไม่ควรใส่ผ้าอนามัยแบบสอด หรือมีเพศสัมพันธ์ หรือลงแช่ในน้ำอุ่น เมื่อคุณแม่เกิดอาการน้ำเดินหรือถุงน้ำคร่ำแตก ควรติดต่อคุณหมอสูติที่ฝากครรภ์ หรือเตรียมตัวไปโรงพยาบาลได้ เพราะโดยทั่วไปมักจะคลอดภายใน 24 ชั่วโมงหลังน้ำเดิน
ถ้ารู้สึกว่ามีอะไรดันช่องคลอดหลังถุงน้ำคร่ำแตก อาจเป็นสายสะดือยื่นออกมา ต้องติดต่อโรงพยาบาลทันที
(อ่านเพิ่มเติม บทความน่าสนใจ สายสะดือพันคอทารกในครรภ์ แม่จะรู้ได้อย่างไร)
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
-
เจ็บท้องคลอด
การเจ็บท้องคลอดจะเริ่มที่หลัง แล้วปวดร้าวมาถึงด้านหน้าบริเวณหัวหน่าวและท้องน้อย บางครั้งจะปวดร้าวลงขา มีความรู้สึกปวดหน่วงๆ เหมือนปวดท้องเวลามีประจำเดือน หรืออาจจะปวดคล้ายปวดท้องอึ
คุณแม่ที่เคยเจ็บท้องเตือน เคยปวดเล็กปวดน้อย ก็จะกลายเป็นปวดแรงขึ้นเป็นจังหวะ ในระยะแรกมดลูกจะหดรัดตัวนานครั้งละ 30-60 วินาที ทุก 10-15 นาที แล้วจะถี่ขึ้นเป็นทุก 5 นาที
อาการเจ็บท้องคลอด หรือที่เรียกว่า เจ็บท้องจริง ในคุณแม่ท้องแรกมักจะเจ็บครรภ์นานประมาณ 12-14 ชั่วโมง (แต่ถ้าเป็นท้องต่อไปจะคลอดง่ายกว่าท้องแรก) จะเจ็บถี่ขึ้นทุกๆ 2-4 นาที เจ็บนานครั้งละ 60-90 วินาที เมื่อใกล้คลอดจะมีอาการเจ็บถี่ขึ้น แม้ว่าคุณแม่จะเปลี่ยนท่า เปลี่ยนอิริยาบถ หรือนอนพักอาการก็ไม่ดีขึ้น
การเจ็บท้องคลอดของคุณแม่แต่ละท่านนั้นจะมีอาการแตกต่างกันออกไป เมื่อมีอาการเจ็บท้อง คุณแม่อาจโทรหาคุณหมอสูติที่ฝากครรภ์หรือโรงพยาบาลเพื่อให้ประเมินว่า ถึงเวลาที่คุณแม่ควรไปโรงพยาบาลแล้วหรือยัง หากเป็นท้องแรก คุณแม่ควรโทรหาคุณหมอสูติเมื่อมดลูกหดรัดตัวเป็นจังหวะทุกๆ 5 นาที ครั้งละ 30-40 วินาที เพราะเป็นสัญญาณเตือนว่าใกล้คลอดแล้ว แต่ถ้าไม่ใช่ท้องแรก คุณแม่ควรโทรหาคุณหมอสูติเมื่อมดลูกหดรัดตัวเป็นจังหวะทุกๆ 7 นาทีค่ะ
อาการที่คุณแม่ควรรีบไปโรงพยาบาลทันที เพราะอาจเป็นอันตรายต่อคุณแม่และลูกในครรภ์ได้ -อายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์ แต่มีความรู้สึกว่ามดลูกบีบรัดตัวเป็นจังหวะ -มีความรู้สึกว่าลูกไม่ดิ้นนานถึง 8-10 ชั่วโมง หรือดิ้นน้อยกว่า 10 ครั้ง ภายใน 24 ชั่วโมง -คุณแม่มีความรู้สึกว่าเจ็บท้องคลอดอย่างรุนแรง ไม่สามารถที่จะทนได้ -มีเลือดสด ๆ ออกมาทางช่องคลอด อาจจะไม่ใช่การเจ็บท้องคลอดธรรมดา อาจจะมีรกเกาะต่ำหรือรกขวางทางคลอด
อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก
ประทับใจ! ภาพวินาทีแรกคลอด ความงดงามที่แม่ไม่เคยได้เห็น
10 เทคนิคดี๊ดี ช่วยคุณแม่บรรเทาอาการเจ็บครรภ์คลอด
ขอบคุณข้อมูลจาก
หนังสือ เตรียมตัวก่อนคลอด. “สังเกตสารพัดอาการบ่งชี้ เมื่อถึงเวลาคลอด”. พญ.ภักษะ เมธากูล. หน้า 24-31.