คุณแม่อาจเคยได้ยินได้ฟังมาว่า การคลอดลูกนั้นเจ็บปวดที่สุดในชีวิต ทำเอาคุณแม่หลายท่านกลัวการคลอดลูก และอยากจะเลือกการผ่าคลอดแทน แต่อย่างที่ทราบดีว่า ข้อเสียของการผ่าคลอดนั้นก็มีไม่น้อย และการคลอดธรรมชาติ แม้จะเจ็บปวด แต่มีข้อดีต่อทั้งคุณแม่และลูกน้อยมากกว่าการผ่าคลอด ดังนั้น การเตรียมความพร้อมเรียนรู้ เทคนิคบรรเทาความเจ็บปวดระหว่างคลอด จะช่วยคุณแม่บรรเทาอาการเจ็บครรภ์คลอดได้ ซึ่ง Amarin Baby & Kids ได้รวบรวม วิธีบรรเทาความเจ็บปวดระหว่างคลอด มาไว้ให้คุณแม่ลองนำไปใช้กันค่ะ
อยากคลอดง่าย แม่ท้องต้องผ่อนคลาย
เหมือนจะพูดง่ายแต่ทำยากใช่ไหมคะ ชั่วโมงนี้เจ็บเจียนตาย จะผ่อนคลายได้อย่างไรกัน?…เรามาเพิ่มระดับความผ่อนคลาย รับมือกับอาการเจ็บท้องคลอด ด้วยเทคนิคต่อไปนี้
วิธีบรรเทาความเจ็บปวดระหว่างคลอด
1. นวดผ่อนคลาย
คุณแม่อาจเตรียมอุปกรณ์เหล่านี้ใส่ไว้ในกระเป๋าเตรียมไปคลอด ได้แก่ น้ำมันนวด กระเป๋าน้ำร้อน ลูกกลิ้งนวดหลัง แป้งฝุ่น ฯลฯ โดยอาจให้คุณพ่อหรือญาติสนิทนวดบริเวณกระดูกสันหลัง ด้วยมือหรือลูกกลิ้งนวดหลัง เพื่อช่วยบรรเทาความเจ็บปวดในช่วงแรกของการเจ็บท้องคลอด ควรทาน้ำมันนวดหรือแป้งฝุ่นที่ผิวหนังของคุณแม่และมือผู้นวด เพื่อช่วยลดความแห้งกระด้างของผิว และวางกระเป๋าน้ำร้อนประคบไว้ที่บริเวณก้นกบ จะช่วยบรรเทาอาการปวดหลังของคุณแม่ได้
2. เติมความสดชื่น
บางช่วงระหว่างการเจ็บท้องคลอด คุณแม่อาจไม่อยากดื่มน้ำอะไรทั้งนั้น เพียงแค่อยากอมอะไรที่ช่วยให้พอชุ่มคอ เช่น น้ำแข็งก้อนละเอียดที่เตรียมไว้ในกระติก ถ้าคุณแม่อมน้ำแข็งไว้ในปากจะรู้สึกเย็นสบายและผ่อนคลายมากขึ้น หรือคุณแม่อาจใช้สเปรย์น้ำแร่ สำหรับใช้ฉีดหน้าหรือตามแขนขาเพื่อให้รู้สึกสดชื่นขึ้นในขณะเจ็บท้องคลอด
3. อ่านหนังสือ ฟังเพลง หรือเล่นเกม
หนังสือ นิตยสาร สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต ไว้ฟังเพลงสบายๆ หรือเอาไว้เล่นเกมต่าง ๆ เนื่องจากในระยะแรกของการเจ็บท้องคลอดมักใช้เวลานาน และอาจเป็นการรอคอยที่ทำให้คุณแม่เบื่อได้ หากมีอะไรทำเพลินๆ เพื่อช่วยเบี่ยงเบนความสนใจไปจากความเจ็บปวด ก็จะช่วยให้คุณแม่ลืมความเจ็บปวดไปได้บ้าง
4. นึกถึงสิ่งที่ทำให้มีความสุข
นอกจากโฟกัสที่ลมหายใจแล้ว คุณแม่อาจโฟกัสสิ่งที่ทำให้คุณมีความสุข เช่น ใบหน้าของสามีสุดที่รัก หรือนึกถึงภาพที่ชอบหรือทำให้มีกำลังใจ หรือจินตนาการว่าคุณแม่กำลังอยู่ในสถานที่ผ่อนคลาย เป็นต้น วิธีนี้จะช่วยเบี่ยงเบียนความสนใจคุณแม่ไปจากความเจ็บปวดได้เช่นกัน
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ ฝึกหายใจอย่างถูกวิธี ลดเจ็บปวดระหว่างคลอด คลิกหน้า 2
5. หายใจอย่างถูกวิธี
เทคนิคการหายใจเป็นวิธีการช่วยให้คุณแม่ผ่อนคลาย และลดความเจ็บปวดจากการเจ็บครรภ์คลอด เนื่องจากช่วยเบี่ยงเบนความสนใจจากความเจ็บปวดหรือเจ็บครรภ์ โดยเป็นการควบคุมการหายใจแทน โดยคุณแม่ควรฝึกตั้งแต่ตั้งครรภ์อย่างถูกวิธีและสม่ำเสมอ จะทำให้คุณแม่สามารถเผชิญกับสถานการณ์จริงได้อย่างมั่นใจ
อยู่ในท่านั่งหรือนอนที่สบาย กล้ามเนื้อต่าง ๆ ผ่อนคลายและทำจิตใจให้สบาย จากนั้นเพ่งจุดสนใจหรือความสนใจอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง เพื่อให้เกิดสมาธิ
ทุกครั้งที่ฝึกควรมีคำสั่งว่า “มดลูกหดรัดตัว มดลูกคลายตัว” เพื่อให้เคยชินว่าการหายใจมีความสัมพันธ์กับการหดรัดตัวของมดลูกและเมื่ออยู่ในสถานการณ์จริงจะควบคุมการหายใจได้โดยอัตโนมัติ
การฝึกการหายใจวิธีต่างๆ ควรระวังไม่ให้เกิดความดันของกะบังลมไปกดมดลูกเหมือนกับการเบ่งคลอดในการฝึกถ้าคุณพ่อหรือผู้ใกล้ชิดร่วมฝึกด้วยจะช่วยให้คุณแม่ผ่อนคลายและมีผู้ช่วยกระตุ้นหรือบอกวิธีการใช้เทคนิคการหายใจวิธีต่างๆ เพื่อบรรเทาอาการเจ็บครรภ์คลอด
วิธีการหายใจเพื่อบรรเทาอาการเจ็บครรภ์คลอด มี 3 วิธี ดังนี้
วิธีที่ 1 การหายใจแบบช้าลึก การหายใจแบบนี้ใช้เมื่อเริ่มเจ็บครรภ์ ซึ่งมดลูกหดรัดตัวไม่รุนแรง เทคนิคนี้สามารถใช้ได้ตลอดการเจ็บครรภ์คลอด แต่ถ้าไม่สามารถใช้การหายใจวิธีนี้บรรเทาอาการเจ็บครรภ์ได้ ให้เปลี่ยนวิธีการหายใจเป็นวิธีที่ 2 แต่วิธีนี้ก็ยังใช้ได้อีกเมื่อไม่เจ็บครรภ์
วิธีปฏิบัติ คือ เมื่อเริ่มเจ็บครรภ์ ให้หายใจเข้าทางจมูกหรือปากก็ได้ช้าๆ และค่อยๆ ผ่อนหายใจออกทางจมูกหรือปากก็ได้ช้าๆ โดยจำนวนครั้งของการหายใจประมาณ 6-9 ครั้งต่อนาที
วิธีที่ 2 การหายใจแบบเร็วตื้น การหายใจแบบนี้ใช้เมื่อเจ็บครรภ์รุนแรง นาน และถี่ขึ้น หรือเจ็บปวดมากจนไม่สามารถควบคุมได้ด้วยวิธีที่ 1
วิธีปฏิบัติ คือ เมื่อเริ่มเจ็บครรภ์ให้หายใจเข้าทางจมูกช้าๆลึกๆ และหายใจออกทางปากช้าๆ 1-2 ครั้ง แล้วหายใจเข้าและออกผ่านปากและจมูกแบบเบาๆ ตื้นๆ และเร็วๆ จำนวนครั้งของการหายใจประมาณ 24-32 ครั้งต่อนาที เมื่ออาการเจ็บครรภ์ทุเทาลงให้หายใจเข้าทางจมูกช้าๆ ลึกๆ และหายใจออกทางปากช้าๆ 1-2 ครั้ง
วิธีที่ 3 การหายใจแบบหอบสลับเป่า การหายใจแบบนี้ใช้เมื่อเจ็บครรภ์รุนแรงมาก จนไม่สามารถใช้วิธีที่ 1 หรือ 2 ได้ ส่วนมากจะอยู่ในระยะใกล้คลอด
วิธีปฏิบัติ คือ เมื่อมดลูกเริ่มหดรัดตัวให้หายใจเข้าทางจมูกช้าๆ ลึกๆ และหายใจออกทางปากช้าๆ 1-2 ครั้ง ตามด้วยหายใจแบบเร็วๆ ตื้นๆ 3 หรือ 4 ครั้ง แล้วเป่าลมออกทางปาก 1 ครั้ง จำนวนครั้งของการหายใจประมาณ 24-32 ครั้งต่อนาที และเมื่ออาการเจ็บครรภ์ทุเทาลงให้หายใจเข้าทางจมูกช้าๆ ลึกๆ และหายใจออกทางปากช้าๆ 1-2 ครั้ง
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ วิธีลดเจ็บปวดระหว่างคลอด ข้อ 6-10 คลิกหน้า 3
6. อาบน้ำอุ่น หรือแช่น้ำอุ่น
การอาบน้ำอุ่นๆ ช่วยลดความเจ็บปวดได้ดีทีเดียวค่ะ โดยเฉพาะถ้าคุณแม่นั่งบนเก้าอี้และเปิดฝักบัวรดไปที่ท้องหรือหลังโดยตรง นอกจากจะช่วยให้ผ่อนคลายแล้ว ยังอาจช่วยกระตุ้นให้คุณแม่คลอดเร็วขึ้นด้วย
7. ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการคลอด
สิ่งที่ทำให้คุณแม่ส่วนใหญ่กลัวการคลอด คือ ความไม่รู้ ดังนั้นระหว่างการตั้งครรภ์ คุณแม่ควรหาความรู้จากแหล่งต่างๆ อาทิ หนังสือ นิตยสาร เว็บไซต์ วิดีโอ คลาสอบรมคุณแม่มือใหม่ การเยี่ยมชมห้องคลอด พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ เพื่อคุณแม่จะได้เข้าใจกระบวนการคลอด การได้รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ช่วยลดความวิตกกังวลและทำให้คุณแม่ผ่อนคลายได้
8. บอกความรู้สึกออกมา
หากคุณรู้สึกวิตกกังวล กลัวความเจ็บปวด กลัวการคลอด กลัวลูกไม่ปลอดภัย กลัวในสิ่งที่คุณควบคุมไม่ได้ หรืออะไรก็ตาม ควรคุยกับสูติแพทย์ที่คุณฝากครรภ์ บอกความกังวลให้คุณหมอทราบ เพื่อที่จะได้วางแผนการคลอด ที่ช่วยให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลายและลดความกังวลลงได้
9. พยายามเคลื่อนไหว
คุณแม่ควรเคลื่อนไหวให้มากเท่าที่คุณแม่จะทำได้ การเปลี่ยนท่าทางบ่อยๆ ยืน เดิน เอนหลัง โยกตัว นั่งยองๆ หรือใช้ลูกบอล ไม่เพียงช่วยบรรเทาความเจ็บปวด แต่ยังเป็นการใช้แรงโน้มถ่วงช่วยให้คลอดง่ายขึ้นด้วยค่ะ
10. การระงับปวดโดยใช้ยาชาเฉพาะที่
ในกรณีที่คุณแม่ไม่สามารถทนความเจ็บปวดได้และต้องการระงับปวด สามารถขอให้คุณหมอทำการบล็อกหลังเพื่อระงับปวดได้ โดยวิธีนี้ยอมรับกันว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด สามารถหลีกเลี่ยงการใช้ยาระงับปวดที่ฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำหรือทางกล้ามเนื้อได้ และยังสามารถใช้ต่อหากต้องการผ่าตัดคลอดหรือทำหมันหลังคลอดได้ด้วย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก
เจ็บท้องหลอก เจ็บท้องจริง แม่ท้องใกล้คลอดจะรู้ได้อย่างไร ?
15 ภาพคลอดลูก ที่บรรยายความงดงามของการให้กำเนิดได้ดีที่สุด
ที่มา : fitpregnancy.com, บทความเผยแพร่ทางวิทยุกระจายเสียง โดย สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา