นมแม่หดถึงคราวพึ่ง นมกล่อง เลือกยังไงหากลูกแพ้นมวัว - Amarin Baby & Kids
เทคนิคเลือก นมกล่อง สำหรับเด็กแพ้นมวัว

นมแม่หดถึงคราวพึ่ง นมกล่อง เลือกยังไงหากลูกแพ้นมวัว

event
เทคนิคเลือก นมกล่อง สำหรับเด็กแพ้นมวัว
เทคนิคเลือก นมกล่อง สำหรับเด็กแพ้นมวัว

ลูกแพ้นมวัว นมแม่ก็หด ถึงคราวต้องพึ่ง นมกล่อง แล้วสิ แม่จ๋าอย่าพึ่งมึนกับนมทางเลือกมากมาย วันนี้เรามีวิธีเลือกนมให้เหมาะกับลูก ไม่แพ้ ไม่ขาด มีคุณค่าแน่นอน

นมแม่หดถึงคราวพึ่ง นมกล่อง!! เลือกยังไงหากลูกแพ้นมวัว

ปัจจุบันพบเด็กที่มีอาการแพ้นมวัวมากขึ้น ทั้งในรายที่เป็นแบบรุนแรง และไม่รุนแรง แล้วคุณแม่คงเกิดคำถามขึ้นในใจว่า จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกแพ้นมวัวหรือไม่?

อาการแพ้นมวัวต่างกับภาวะขาดเอนไซม์ย่อยแล็กเทส ซึ่งเป็นน้ำตาลชนิดหนึ่งที่พบในนมวัว ทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องอืด หรือท้องเสียตามมาหลังการรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมทั้งหลาย ในขณะที่อาการแพ้นมวัวจะส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้มีอาการรุนแรงมากกว่าอาการแพ้น้ำตาลแล็กโทส มาลองเช็กสัญญาณที่บ่งบอกว่าลูกน้อยของเรามีความเสี่ยงจากการแพ้นมวัวกันก่อน

เด็กแพ้นมวัว มีอาการผื่นแดง
เด็กแพ้นมวัว มีอาการผื่นแดง

7 สัญญาณที่บ่งบอกอาการแพ้นมวัว

1. มีผื่นขึ้น

อาการแพ้นมวัวที่พบคือมักพบผื่นขึ้นส่วนใหญ่มักขึ้นเป็นเม็ดเล็กๆ บริเวณใบหน้า ศีรษะ หน้าผาก หรือบางคนอาจมีผื่นขึ้นที่ด้านนอกแขน ข้อศอก ข้อมือ รวมถึงขึ้นตามลําตัว ซึ่งลูกอาจเป็นไม่นาน แต่พอหาย ก็อาจกลับมาเป็นใหม่ได้

อ่านต่อ ลูกเป็นผดร้อน หรือผื่นภูมิแพ้ แม่จะรู้ได้อย่างไร วิธีสังเกตความต่าง

2. ถ่ายเป็นมูกเลือด

เด็กมีที่มีอาการแพ้นมวัวรุนแรง จะท้องเสีย ถ่ายเป็นมูกเลือด อาจส่งผลให้ลำไส้อักเสบเรื้อรังและทำให้เด็กมีปัญหาในการย่อยและดูดซึมอาหาร ซึ่งจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็กเองด้วย

อ่านต่อ แม่โพสต์เตือน! สาเหตุที่ทารกท้องเสีย ลำไส้อักเสบ

3. ท้องเสียเรื้อรัง

อาการท้องเสียอาจเป็นเรื้อรัง และไม่ได้เป็นทันทีหลังจากกินนมเข้าไป คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตบ่อย ๆ หลังจากที่ลูกน้อยดื่มนมไปหากพบว่าลูกอาจจะแพ้นมวัวจนทำให้ท้องเสียก็ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาต่อไป

อ่านต่อ การดูแลเมื่อลูกท้องเสีย

4. แหวะหรืออาเจียน

หลังจากที่ลูกน้อยแพ้นมวัวและดื่มนมหรืออาหารที่มีส่วนผสมจากนมเข้าไป อาจทำให้สำรอกนมออกมาหรืออาเจียนทุกครั้งที่ดื่มนม คุณแม่จึงต้องตั้งใจสังเกตทุกครั้งที่ให้ลูกกินนมหรืออาหารที่มีส่วนผสมจากนม

5. ร้องงอแงผิดปกติหลังกินนม

เมื่อลูกน้อยดื่มนมเข้าไปและมีการร้องงอแงผิดปกติหรือต่างไปจากเวลาที่ลูกน้อยร้องไห้ อาจเป็นไปได้ว่าลูกแพ้นมวัวหรือนมวัวไม่ย่อยจนทำให้ปวดท้องจึงเกิดการร้องกวน

อ่านต่อ แม่แชร์ 11 วิธีรับมือลูกชอบร้องงอแง เทคนิคดี ๆ จากหมอญี่ปุ่น

อาการแพ้นมวัวลูกร้องงอแง อาจไม่ใช่โคลิก
อาการแพ้นมวัวลูกร้องงอแง อาจไม่ใช่โคลิก

6. น้ำมูกไหลเรื้อรัง

ในขั้นแรกคุณพ่อคุณแม่อาจเข้าใจว่าลูกแพ้อากาศหรือเป็นหวัดธรรมดาได้ แต่หากสังเกตเห็นว่าลูกมีน้ำมูกไหลเรื้อรังทุกครั้งหลังจากที่ให้ลูกกินนม นั่นอาจเป็นสัญญาณของเด็กที่มีอาการแพ้นมวัว

7. มีอาการหอบ

หายใจมีเสียงวี้ดๆ ร่วมกับมีอาการหายใจเหนื่อย หน้าอกกระเพื่อม ซึ่งถือเป็นอาการทางระบบหายใจของเด็กที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดจากการแพ้นมวัว ต้องรีบพาไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยอาการที่แท้จริง

ซึ่งโดยปกติแล้วที่เมื่อเด็กอายุ 1 ปี จะมีโอกาสหายจากแพ้นมวัวประมาณ 30-50% และจะมีโอกาสหายมากขึ้น เมื่ออายุมากขึ้นโดยส่วนใหญ่หายได้ภายในอายุ 5 ปีขึ้นไป ซึ่งสามารถทราบได้โดยปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อความแน่ใจ ยิ่งโดยเฉพาะในรายที่มีอาการรุนแรง
ดังนั้นในช่วงที่ลูกยังเล็ก วิธีการที่ดีที่สุดที่คุณหมอแนะนำ คือ การให้ทานนมแม่ โดยให้แม่หลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนประกอบจากนมก็สามารถให้นมลูกได้ตามปกติ

การปฏิบัติตัวเมื่อลูกมีภาวะแพ้นมวัว

การอ่านฉลากอาหารจึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่คุณแม่ควรมองหาคำที่บ่งบอกถึงส่วนประกอบจากนม เช่น คาเซอีน เวย์ แลคโตเฟอร์ริน แลคโตโกลบูลิน แลคตัลบูมิน หรือสังเกตส่วนผสมที่สะกดขึ้นต้นด้วยคำว่าแลค เช่น แลคโตส แลคเตท เป็นต้น หากมีควรหลีกเลี่ยงทั้งตัวคุณแม่เองที่ให้นมลูก หรือลูกในวัยที่สามารถรับประทานอาหารอื่นนอกจากนมได้แล้วแต่ยังมีอาการแพ้นมวัวอยู่

ผู้ที่แพ้นมวัวสามารถดื่มนมถั่วเหลือง นมข้าวโอ๊ต หรือนมแอลมอนด์ที่เปี่ยมคุณค่าทางสารอาหาร อุดมด้วยแคลเซียมและวิตามินดี หรือรับประทานอาหารอื่น ๆ เช่น ไอศกรีม ช็อกโกแล็ต หรือโยเกิร์ต ที่ไม่ผสมนมวัวได้ นอกจากนี้ แม่ที่ต้องให้นมลูกที่แพ้นมวัวต้องระมัดระวังการรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมทุกประเภทไปด้วย เพราะโปรตีนจากนมวัวนั้นสามารถไหลผ่านน้ำนมไปสู่ลูกได้ การที่แม่ไม่อาจรับประทานนมวัวจึงเสี่ยงต่อการขาดแคลเซียมและสารอาหารที่ควรได้รับจากนม แม่อาจทดแทนสารอาหารที่ขาดไปด้วยการรับประทานอาหารเสริม เช่น แคลเซียม วิตามินดี และวิตามินบี 2 และหมั่นรับประทานอาหารจำพวกบร็อคโคลี่ หน่อไม้ฝรั่ง และถั่วเหลืองมาก ๆ

แม่ให้นมลูกแพ้นมวัว งดผลิตภัณฑ์นม นมกล่อง
แม่ให้นมลูกแพ้นมวัว งดผลิตภัณฑ์นม นมกล่อง

นมแม่หด ถึงเวลานมกล่อง

นมแม่คือแหล่งสารอาหารที่ดีที่สุดของทารก การให้นมในระยะ 4-6 เดือนแรกแทนการใช้นมผสมจากนมวัว ยังอาจช่วยปกป้องและลดความเสี่ยงต่อการแพ้นมวัวของลูกน้อยในอนาคตได้สูง แต่หากแม่มีน้ำนมไม่เพียงพออีกต่อไป ในวันที่ลูกเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ การหาทางเลือกเสริมก็เป็นอีกหนึ่งที่จะช่วยให้ลูกน้อยได้รับสารอาหารครบถ้วน เพียงพอต่อพัฒนาการของร่างกายได้เช่นกัน

สำหรับเด็กที่แพ้นมวัว จึงเป็นเรื่องที่ยุ่งยากเสียหน่อยในการหาผลิตภัณฑ์นมจากแหล่งอื่น ๆ มาทดแทนนมแม่ที่มีปริมาณไม่เพียงพออีกต่อไป เพราะแหล่งนมที่ได้จากวัว ซึ่งเป็นแหล่งน้ำนมหลักนั้นลูกไม่สามารถรับประทานได้ แล้วเราจะหาแหล่งนมจากไหนที่จะมาเสริมให้แก่ลูกน้อยที่แพ้นมวัวกันละ

นมทางเลือกสำหรับเด็กที่แพ้นมวัว

  • นมทำจากถั่วเหลือง (Soy-based Formulas) การใช้โปรตีนจากถั่วเหลืองแทนนมถือเป็นทางเลือกที่ดีทีเดียว เพราะในนมถั่วเหลืองเต็มไปด้วยสารอาหารครบถ้วนไม่แพ้นมวัว และมีการเติมแคลเซียมเพื่อเพิ่มคุณค่าทางสารอาหาร ทว่าเด็กบางคนที่แพ้นมวัวอาจมีความเป็นไปได้ที่จะแพ้นมถั่วเหลืองตามไปด้วย แล้วปริมาณเท่าใดถึงจะทำให้ลูกได้รับสารอาหารครบถ้วนเทียบเท่านมวัวกันนะ??
  • Hypoallergenic Formulas สูตรให้นมทางเลือกสำหรับเด็กที่แพ้ทั้งนมวัวและนมถั่วเหลือง ด้วยการผลิตที่ใช้เอนไซม์สลายโปรตีนนม เช่น โปรตีนเคซีนหรือโปรตีนเวย์ บางครั้งอาจใช้ความร้อนหรือการคัดกรองในกระบวนการผลิต และบางสูตรที่ไม่ใช้นมแต่ใช้กรดอะมิโนแทน จึงมีโอกาสน้อยมากที่ทารกจะแพ้นมสูตรนี้
  • นมแพะ นมควาย โปรตีนในนมแพะบางตัวเหมือนกับที่อยู่ในนมวัว จึงมีโอกาสแพ้ได้ประมาณ 92% นมแพะมีรสชาติดี แต่ราคาค่อนข้างแพงเนื่องจากต้องผ่านกระบวนการเติมสารต่างๆที่จำเป็นหลายอย่าง เพราะนมแพะสด มีคุณค่าทางอาหารไม่เพียงพอกับการเจริญเติบโตของทารก ขาดวิตะมินหลายตัว เช่น บี 6 บี 12 วิตะมินซี วิตะมินดี และโฟลิค
นมผง นมกล่อง อันไหนดี
นมผง นมกล่อง อันไหนดี

ทำไมต้องนมกล่อง

การเลือกใช้นมกล่องนอกจากความสะดวกสบาย และการมีข้อจำกัดของนมกล่องเพียงว่า นมกล่องเป็นนมที่กุมารแพทย์แนะนำ ว่าเหมาะสมในเด็กอายุ 12 เดือนขึ้นไป ห้ามใช้ในเด็กที่อายุน้อยกว่านี้แล้ว นมกล่อง ยังสามารถคงคุณค่าทางสารอาหารได้มากกว่านมผง เช่น ในนมกล่อง UHT เป็นนมที่ผลิตโดยผ่านกระบวนการให้ความร้อนสูงเป็นเวลาสั้นๆ ประมาณ 1-2 วินาทีที่อุณหภูมิ 135 องศาเซลเซียส (275 องศาฟาเรนไฮต์) ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่สปอร์ในน้ำนมถูกทำลายจนหมด คุณค่าทางสารอาหารอาจลดลงแต่ยังคงอยู่มากกว่านมผง เพราะนมผงมีการแปรรูปหลายขั้นตอนเพื่อการเก็บรักษา  การแปรสภาพจากน้ำนมสด ๆ ไปเป็นนมผงนั้นต้องใช้ต้นทุนมหาศาล แต่คุณค่าทางสารอาหารกลับน้อยลงเพราะว่าขบวนการแปรรูป จะทำให้สารอาหารตามธรรมชาติหายไปจากความร้อน จึงกล่าวสรุปได้ว่า หากคุณแม่ที่ลูกมีอาการแพ้นมวัว แล้วน้ำนมแม่หดไม่เพียงพอแล้ว การหันมาหาทางเลือกจากแหล่งอื่นจึงเป็นสิ่งจำเป็น และถ้าลูกน้อยคุณแม่อายุ 12 เดือนขึ้นไปแล้ว แนะนำว่าหาทานนมจากนมกล่อง จะได้รับสารอาหารมากกว่านมผง

ประเภทของนมกล่องที่คุณแม่ควรรู้

นมกล่องสําหรับเด็กแต่ละชนิดที่คุณแม่รู้จัก รู้ไหมว่ามีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน หลัก ๆ แล้ว นมพร้อมดื่มมี 3 ประเภท ดังนี้ค่ะ

  • นมพาสเจอร์ไรซ์ (Pasteurized Milk) นมสดที่ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อด้วยความร้อนไม่ต่ำกว่า 63 องศาเซลเซียสไม่น้อยกว่า 30 นาที นมชนิดนี้อร่อย มีคุณค่าทางอาหารสูง แต่ต้องเก็บไว้ในตู้เย็นและเก็บได้นานเพียงไม่เกิน สองสัปดาห์
  • นมสเตอรีไลซ์ (Sterilization Milk) นมสดที่ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อด้วยความร้อนไม่ต่ำกว่า 100 องศาเซลเซียส นมชนิดนี้เก็บได้นานมากกว่า 1 ปีโดยไม่ต้องแช่เย็น เพราะเชื้อจุลินทรีย์ถูกทำลายหมดด้วยความร้อนของระบบสเตอริไลซ์ โดยที่ไม่ทำให้คุณภาพของน้ำนมเปลี่ยนแปลงมากนัก
  • นมยูเอชที (Ultra Heat Treatment) นมสดที่ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อด้วยความร้อนไม่ต่ำกว่า 133 องศาเซลเซียส ทำให้เป็นเนื้อเดียวกัน จากนั้นบรรจุลงภาชนะในสภาวะที่ปราศจากเชื้อ ยังคงรักษากลิ่น สี และรสไว้ได้ดี คุณค่าของอาหารก็สูญเสียน้อย สามารถเก็บไว้ในอุณหภูมิห้องได้นานกว่า 6 – 8 เดือน

เทคนิคในการเลือกนมถั่วเหลืองกล่องให้เหมาะกับเด็กแพ้นมวัว

ฉลากข้าง กล่องนม เทคนิคการเลือกที่ถูกต้อง
ฉลากข้าง กล่องนม เทคนิคการเลือกที่ถูกต้อง
  1. ไม่ผสมนมผง เป็นข้อสำคัญข้อแรกเลยที่คุณแม่ต้องสังเกตจากฉลากให้ดีว่านมถั่วเหลืองกล่องนั้นมีส่วนผสมของนมผงหรือไม่ หลาย ๆ คนอาจจะยังไม่ทราบว่านมถั่วเหลืองบางกล่องก็มีการผสมนมผง และนมผงก็ทำมาจากนมวัวเป็นส่วนประกอบ ดังนั้นจึงควรอ่านรายละเอียดของส่วนประกอบข้างกล่องให้ดีก่อน
  2. แคลเซียมสูง นมถั่วเหลืองแม้มีแคลเซียมแต่ก็มีน้อยกว่านมวัว โดยปกตินมวัวทั่วไปจะมีแคลเซียมประมาณ 30-35% ในปัจจุบันได้มีนม ถั่วเหลืองกล่องในบางยี่ห้อที่มีการเติมปริมาณของแคลเซียมเพิ่มเพื่อให้มีปริมาณเทียบเท่ากับนมวัว ดังนั้นต้องเช็คทุกครั้งว่าปริมาณแคลเซียมเพียงพอหรือไม่
  3. รสจืดหรือหวานน้อย นมกล่องแตกต่างจากนมแม่ตรงที่ผู้ขายต้องการให้เด็กทานง่าย ดึงดูดใจในการทานนม ทำให้มีการเพิ่มน้ำตาลลงไปเพื่อให้เกิดรสหวาน แต่หากมีมากเกินไปก็ส่งผลไม่ดีต่อลูกน้อยได้ เพื่อไม่ให้เด็กติดหวาน และมีปัญหาฟันผุ โรคอ้วนตามมาจึงควรพิจารณาปริมาณน้ำตาลในกล่องด้วยว่ามากเกินไปไหม
  4. lactose free หากสามารถเลือกนมกล่องสูตร lactose free เหมาะกับเด็กที่มีปัญหาย่อยน้ำตาลแล็กโทสไม่ได้ (lactose intolerance)ก็จะเป็นการช่วยเพิ่มความมั่นใจว่า จะลดการเกิดอาการข้างเคียงกับลูกมากขึ้นไปอีก เพราะบางครั้งเด็กอาจไม่เพียงแต่แพ้นมวัว แต่อาจมีภาวะบกพร่องในกายย่อยน้ำตาลแล็กโทส ทำให้เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ
  5. สารอื่น ๆ ที่จำเป็นที่เพิ่มเข้ามา ในนมกล่องบางยี่ห้อจะมีการเพิ่มสารอาหารอื่น ๆ ที่จำเป็นใกล้เคียงนมแม่ที่สุดเพิ่มเข้ามาก็เป็นการดีต่อลูกน้อยที่จะได้รับสารอาหารจากนมกล่องใกล้เคียงนมแม่ที่สุด เช่น โอเมก้า และโคลีน ซี่งเป็นสารอาหารตามธรรมชาติที่มีอยู่ในถั่วเหลื่องที่ร่างกายใช้เป็ฯสารตั้งต้นในการสร้างสารสื่อประสาท Acetylcholine ส่งผลดีต่อพัฒนาการเรียนรู้ สมาธิ และความจำ ช่วยพัฒนาระบบประสาทและสมอง หรือบางครั้งอาจมีการเสริมไฟเบอร์เพื่อช่วยในเรื่องการขับถ่ายอีกด้วย

จะเห็นแล้วว่า ถึงแม้ลูกน้อยของคุณแม่จะมีอาการแพ้นมวัว แต่ก็ไม่ต้องกังวลใจมากจนเกินไปนัก เพราะหากเราสามารถรู้ได้ก่อนว่าลูกมีภาวะแพ้นมวัวแต่เนิ่น ๆ เราก็จะสามารถปรึกษาแพทย์ เพื่อให้รู้ถึงสาเหตุและวิธีการป้องกันก็จะสามารถควบคุมอาการได้ และสามารถช่วยให้ลูกหายขาดจากอาการดังกล่าวได้เมื่อโตขึ้น และหายได้เร็วขึ้น ไม่เป็นอันตรายต่อลูกอีกด้วย

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก FB: เลี้ยงลูกโตไปด้วยกันกับหมออร/Mama expert/Pobpad.com/ foremostthailand

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

เทียบสารอาหาร “นมสำหรับเด็กแพ้นมวัว” (นมถั่วเหลือง-นมอัลมอนด์-นมข้าว-นมลูกเดือย)

อาการแพ้นมวัว เป็นอย่างไร? อันตรายถึงชีวิตหรือไม่?

หมอตอบชัด!!แม่ให้นมกินน้ำอัดลม ชา กาแฟ คาเฟอีนส่งถึงลูกไหม

ลูกน้อยผิวแห้งมาก ดูแลอย่างไรดี ?

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up