AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ตารางความถี่ในการให้นมลูก คัมภีร์ป้อนนม เพื่อแม่มือใหม่โดยเฉพาะ!

การ ให้นมลูก สำหรับคุณแม่มือใหม่ อาจคงสับสน และปรับตัวไม่ถูกว่าจะให้ลูกกินนมเท่าไหร่ บ่อยแค่ไหนถึงจะเหมาะ แล้วหากลูกเริ่มอาหารเสริมได้แล้วจะต้องให้นมลูกอย่างไรดี ทั้งหมดนี้เรามีเคล็ดลับเพื่อคุณแม่มือใหม่กับตารางการให้นมลูก มาฝากค่ะ

การ ให้นมลูก ต้องการน้ำนมปริมาณมากน้อยเพียงใด

มีคุณแม่ ๆ หลายคนสงสัยว่าจะต้องเตรียมน้ำนมแม่ไว้ปริมาณเท่าไร เวลาที่ไม่สามารถอยู่ให้นมลูกได้ด้วยตนเอง ซึ่งในเด็กทารกที่เลี้ยงด้วยนมแม่ล้วนๆปริมาณน้ำนมที่เด็กได้รับจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกหลังคลอด จากนั้นจะค่อนข้างคงที่ในช่วงอายุระหว่าง 1-6 เดือน (แต่ก็อาจจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นในช่วงสั้นๆของการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วหรือที่เรียกว่า Growth Spurt)

การวิจัยเกี่ยวกับนมแม่ในปัจจุบันไม่พบว่าในช่วงอายุระหว่าง 1-6 เดือนปริมาณน้ำนมแม่ที่ทารกได้รับมีการเปลี่ยนแปลงตามอายุหรือน้ำหนักของทารก หลังจาก 6 เดือน ปริมาณน้ำนมแม่ที่ทารกต้องการจะคงที่และค่อย ๆ ลดลงหลังจากผ่านไปช่วงระยะเวลาหนึ่งซึ่งจะนานแค่ไหนขึ้นอยู่กับปริมาณอาหารเสริมที่เด็กได้รับ

ผลการวิจัยบอกเราว่าทารกที่เลี้ยงด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวจะต้องการน้ำนมเฉลี่ยวันละ 25 ออนซ์ (750 มล.) ในช่วงอายุ 1-6เดือน ทารกแต่ละคนต้องการน้ำนมปริมาณไม่เท่ากันแต่โดยทั่วไปแล้วจะอยู่ในช่วงระหว่าง 19-30 ออนซ์ต่อวัน (570 – 900 มล.ต่อวัน)

คุณแม่สามารถใช้วิธีต่อไปนี้ในการประมาณการปริมาณน้ำนมที่ทารกต้องการในแต่ละมื้อได้

ตัวอย่าง : ถ้าทารกดูดนมเฉลี่ยประมาณวันละ 8 ครั้ง คุณอาจเดาว่าทารกน่าจะต้องการน้ำนมประมาณมื้อละ
3 ออนซ์ ช่วงที่แม่ไม่อยู่ (25/8 = 3.1)

หมายเหตุ: ทารกที่อายุน้อยกว่า 1 เดือน หรือทารกที่ได้รับอาหารเสริมแล้วจะต้องการน้ำนมปริมาณน้อยกว่านี้

อ่านต่อ >> ตารางความถี่ในการให้นมลูก” คลิกหน้า 2


ขอบคุณข้อมูลจาก : www.ardothai.com

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

อะไรบ่งบอกว่า ลูกน้อย “หิว” หรือ “อิ่ม”

หิว = ลูกจะเริ่มดิ้น ดูดนิ้ว ทำปากจุ๊บจั๊บ ส่ายหัวไปมา วางมือและข้อมือไว้ที่ปาก จากนั้นประมาณ 30 นาที ถ้ายังไม่ได้หม่ำ จะเริ่มร้องไห้ละ เพราะหิวจัด

อิ่ม = ลูกจะคายปากออกจากหัวนมแม่เอง ส่วนของเต้านมแม่จะเริ่มนิ่มขึ้น หรือมีน้ำนมไหลออกจากเต้าอีกข้าง ทีนี้ลูกก็หลับสนิทแล้ว ไม่งอแง

♦ ให้นมลูก หลังคลอด 1 ชั่วโมงแรก

หากเป็นไปได้ ลูกควรได้กินนมแม่ภายใน 1-2 ชั่วโมงแรกหลังคลอด เพราะมีงานวิจัยพบว่า การที่ลูกได้กินนมแม่หลังคลอดจะช่วยให้สุขภาพของแม่และลูกแข็งแรงในระยะยาว ที่สำคัญคือ ช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำนมและลดการตกเลือดของแม่ด้วย ทั้งนี้การกินนมครั้งแรกของลูกอาจใช้เวลา 20-30 นาที และเขาอาจดูดได้ไม่มากนัก เพราะต้องใช้เวลาฝึกนานหลายวันกว่าเขาจะเรียนรู้ได้ ในกรณีที่คุณแม่ได้รับยาระหว่างคลอด หรือ คลอดยาก เพียงให้ลูกได้อยู่ในอ้อมกอด และสัมผัสหัวนมก็เพียงพอแล้วค่ะ

♦ ให้นมลูก 7 วันแรก

ถือเป็นช่วงที่คุณแม่ต้องปรับตัวเยอะพอควร เพราะลูกจะกินนมบ่อยทุกๆ 2 ชั่วโมง ตลอดทั้งกลางวัน และกลางคืน อาจทำให้คุณแม่รู้สึกอ่อนเพลีย และเกิดความเครียดได้ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อการผลิตน้ำนม ดังนั้นคุณแม่ควรหาเวลางีบหลับในจังหวะที่พอทำได้ และกินอาหารที่มีประโยชน์

♦ ให้นมลูกช่วง 4-6 สัปดาห์

ช่วงนี้เหมาะอย่างมากที่จะเริ่มบีบน้ำนมเก็บไว้ ให้คุณแม่เตรียมตัวกลับไปทำงานและเพื่อช่วยกระตุ้นให้ผลิตน้ำนมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงบรรเทาเต้านมไม่ให้คัด ในช่วงนี้เองลูกยังคงกินนมบ่อย และกินเยอะขึ้น หากเขาดูดนมจนเผลอหลับไป คุณแม่ควรปลุกให้มาเปลี่ยนผ้าอ้อม หรือ อุ้มเพื่อให้เรอ จากนั้นเปลี่ยนให้มาดูดเต้านมอีกข้าง แต่หากลูกอิ่มแล้ว พรุ่งนี้ค่อยให้ลูกดูดนมอีกข้างก็ได้ อย่าลืมสลับให้ดูดนมจากทั้งสองเต้า เพื่อลดอาการเจ็บที่หัวนม

นอกจากนี้ ควรให้ลูกกินนมบ่อยตลอดทั้งวัน โดยปลุกให้เขาตื่นมากินนมทุกๆ 2 ชั่วโมง วิธีนี้จะทำให้ลูกหลับเวลากลางคืนนานขึ้น

ตารางความถี่ในการ ให้นมลูก

ทั้งนี้ยังมีเคล็ดลับจากคุณหมอซึ่งได้แนะนำว่าเด็กทารกทุกคนเหมือนนาฬิกาคอมพิวเตอร์ ตั้งอย่างไร ปลุกอย่างนั้น ดังนั้นตารางการให้นมลูกต่อไปนี้ จึงเปรียบเสมือนตารางชีวิตที่อยากแนะนำให้คุณแม่มือใหม่ลองใช้ดู ทั้งนี้คุณแม่อาจต้องปล่อยให้ลูกร้องบ้างเวลาหิวนม ซึ่งฟังแล้วอาจจะดูใจร้าย แต่ถ้าค่อยๆ ปรับไป เด็กจะรู้ตัวและปรับตามเวลานมที่คุณแม่จะป้อนให้ ซึ่งถ้าปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ก็จะแฮปปี้ทั้งคุณแม่และคุณลูกได้อย่างแน่นอน

แรกเกิด
– นม 60ml. ———— ป้อนนม 6-7 ครั้ง/วัน
(6 ครั้ง – — เวลา 6.00 / 10.00 / 14.00 / 18.00 / 22.00 / 02.00น.)
(7 ครั้ง – — เวลา 6.00 / 7.00 / 12.00 / 15.00 / 18.00 / 21.00 / 24.00 น.)

3 เดือน
– นม 90ml. ———— ป้อนนม 6 ครั้ง/วัน
(6 ครั้ง – — เวลา 06.00 / 10.00 / 14.00 / 18.00 / 22.00 / 02.00น.)

4 เดือน
– นม 120ml. ———— ป้อนนม 6 ครั้ง/วัน
(6 ครั้ง – — เวลา 6.00 / 10.00 / 14.00 / 18.00 / 22.00 / 02.00น.)

ถ้าถึงเวลากินนมแต่ลูกนอนหลับ ต้องปลุกลูกมากินนมไหม

เด็กทารกบางคนก็มีนิสัยเงียบๆ ชอบนอนมากๆ จนบางครั้งนอนแต่ละครั้งนานเกินกว่า 4 ชั่วโมง ซึ่งหากลูกเอาแต่นอนหลับนานจนเลยเวลาที่จะให้นมไปมากก็ควรจะปลุกลูกขึ้นมาให้ลูกกินนมบ้าง ยิ่งถ้าต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วยแล้ว หากลูกนอนหลับในแต่ละครั้งมากกว่า 4 ชั่วโมงก็ควรจะปลุกลูกขึ้นมาให้เขาได้ดูดกระตุ้นน้ำนมด้วย เพราะปริมาณน้ำนมจะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการดูดนมของลูกเท่านั้น แต่โดยมากพฤติกรรมเอาแต่นอนนั้นมักจะเป็นในช่วงวันแรกๆ หลังคลอดเขาเท่านั้นและอาการเหล่านี้จะหายไปเองเมื่อเวลาผ่านไปไม่นาน และลูกก็จะกลับมาเป็นปกติค่ะ

อ่านต่อ >> ตารางความถี่ในการให้นมลูก เดือนที่ 4 เป็นต้นไป” คลิกหน้า 3

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

4.5 เดือน
– นม 135ml. ———— ป้อนนม 6 ครั้ง/วัน
(6 ครั้ง – — เวลา 6.00 / 10.00 / 14.00 -/ 18.00 / 22.00 / 02.00น.)

5 เดือน
– นม 150ml. ———— ป้อนนม 5 ครั้ง/วัน
(5 ครั้ง – — เวลา 5.00 / 10.00 / 14.00 / 19.00 / 24.00น.)
** ช่วง 20.00 – 21.00 ให้พาน้องอาบน้ำก่อนนอน เสร็จแล้วก็กินนม จะได้หลับสบายถึงเช้าเลย **

5.5 เดือน
– นม 165ml. ———— ป้อนนม 5 ครั้ง/วัน
(5 ครั้ง – — เวลา 5.00 / 10.00 / 14.00 / 19.00 / 24.00น.)

**** ช่วงอายุนี้สามารถเริ่มให้น้องลองมันฝรั่งบด + ผักชนิดต่างๆ แล้วจดบันทึกว่าน้องพอใจชอบหรือไม่ และแพ้หรือเปล่า เช่น มันฝรั่งบด + แครอทบด + น้ำซุป, มันฝรั่งบด + ดอกกะหล่ำบด + น้ำซุป หรือ มันฝรั่งบด + แตงกวาญี่ปุ่นบด + น้ำซุป

6 เดือน
– นม 180ml. ———— ป้อนนม 4 ครั้ง/วัน
(4 ครั้ง – — เวลา 7 – 8.00 / 11.30 – 12.00 / 15.30 – 16.00 / 20.00 น.)

◊◊◊◊◊◊◊◊◊◊◊◊◊◊◊◊◊◊

ถ้าลูกได้รับอาหารเสริมแล้วล่ะ ?

ช่วงอายุ 6เดือนถึง 1 ปี (ระหว่างที่ปริมาณอาหารเสริมที่ทารกได้รับค่อยๆเพิ่มมากขึ้น)ปริมาณน้ำนมที่ทารกได้รับอาจจะเริ่มลดน้อยลงแต่น้ำนมแม่ควรจะยังคงเป็นแหล่งอาหารหลักของทารกตลอดช่วงขวบปีแรกเนื่องจากปริมาณอาหารเสริมที่ทารกได้รับแตกต่างกันมากในช่วง 6เดือนนี้ทำให้ปริมาณน้ำนมที่ทารกต้องการแตกต่างกันด้วยเช่นกัน ในงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่าทารกต้องการนมวันละ 30ออนซ์ (875มล.ต่อวันคิดเป็นสัดส่วน 93%ของอาหารที่ทารกได้รับทั้งหมด)เมื่ออายุได้ 7เดือน และลดลงเหลือ 19ออนซ์ (550 มล.ต่อวัน คิดเป็นสัดส่วน 50% ของพลังงานที่ได้รับทั้งหมด) ในช่วงอายุ 11-16 เดือน

ในงานวิจัยซึ่งมีการวัดปริมาณน้ำนมแม่ที่ทารกอายุระหว่าง 12-24 เดือนต้องการพบว่า ทารกต้องการน้ำนมเฉลี่ยประมาณ 14-19 ออนซ์ต่อวัน (400-550 มล.ต่อวัน) และในช่วงอายุ 24-36 เดือน ปริมาณน้ำนมเฉลี่ยลดลงเหลือ 10-12 ออนซ์ต่อวัน (300-360 มล.ต่อวัน)

ถ้าต้องเตรียมตัวไปทำงานแล้ว ให้นมลูกอย่างไรดี

ทั้งนี้สำหรับคุณแม่ที่ต้องไปทำงานและอยากให้ลูกกินนมแม่ แนะนำให้ลูกกินนมจากเต้าก่อนไปทำงานตอนเช้า และระหว่างวันปั๊มน้ำนมไว้ทุกๆ 3 ชั่วโมง เพื่อเก็บไว้เป็นสต็อก หลังกลับจากที่ทำงานให้ลูกกินนมจากเต้าตามที่ลูกต้องการ และหากเป็นวันหยุดให้ลูกกินนมจากเต้าแทน

วิธีอื่นๆ ในการประมาณการปริมาณน้ำนมที่ทารกต้องการ

มีวิธีประมาณการปริมาณน้ำนมที่ทารกต้องการโดยคำนวณจากน้ำหนักและอายุของทารกอีกหลายวิธีแต่จากผลการวิจัยพบว่าหลังจากผ่านช่วงสัปดาห์แรกๆ ไปวิธีเหล่านี้มักให้ค่าที่สูงเกินกว่าปริมาณที่ทารกต้องการจริงทารกที่เลี้ยงด้วยน้ำนมแม่มักจะต้องการน้ำนมน้อยกว่าค่าที่ประมาณด้วยวิธีเหล่านี้ผลการวิจัยล่าสุดบอกเราว่าปริมาณน้ำนมที่ทารกต้องการค่อนข้างคงที่หลังจากเดือนแรกและไม่เพิ่มขึ้นตามอายุหรือน้ำหนักมากนักซึ่งเป็นการยืนยันข้อสังเกตที่แม่ๆและผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทั้งหลายค้นพบจากประสบการณ์ตรงมาก่อนหน้านี้แล้ว

สำหรับตารางการ ให้นมลูก ในปริมาณนมผสมที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามน้ำหนักหรืออายุของทารกนั้นใช้ไม่ได้กับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะสารอาหารในน้ำนมแม่ลูกสามารถดูดซึมไปใช้ได้อย่างเต็มที่เด็กที่กินนมแม่จึงไม่จำเป็นต้องกินน้ำนมปริมาณมาก ๆ เหมือนนมผสม

อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ” คลิก!


ขอบคุณข้อมูลจาก : ป้าเเนทเอามาฝาก (อีกเเล้ว) – ตารางป้อนนมเด็กเล็ก เว็บไซต์ : go2pasa.ning.com