เป็นที่ทราบกันดีว่า องค์การอนามัยโลก หรือ WHO รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านนมแม่ทั่วโลกต่างสนับสนุนการกินนมแม่นานถึง 2 ขวบหรือมากกว่า เพราะนมแม่เป็นทั้งอาหารกายและอาหารสมองสุดวิเศษที่ช่วยให้ลูกมีภูมิต้านทานโรค ไม่เจ็บป่วยง่าย และมีพัฒนาการทางสมองที่ดี ซึ่งนอกจากการเข้าเต้าอย่างสม่ำเสมอแล้ว การทำสต็อกนมแม่จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยให้คุณแม่ประสบความสำเร็จในการให้นมลูกได้นานตามที่ตั้งใจ ดังนั้น การเรียนรู้วิธีเก็บรักษานมสต็อกให้คงคุณค่า ไม่เสียง่าย จึงมีความสำคัญอย่างมาก เราจึงขออาสาพาคุณแม่มารู้จัก เทคนิค การเก็บรักษานมสต็อก ที่ถูกวิธีกันค่ะ
สต็อกนมแม่…คุณเองก็ทำได้
ไม่ว่าจะเป็นคุณแม่ที่มีน้ำนมน้อยหรือ working mom ที่งานรัดตัว ก็สามารถทำสต็อกนมแม่ได้ไม่ยาก ขอเพียงมีความตั้งใจ และวินัยอย่างจริงจัง โดยเริ่มเก็บน้ำนมตั้งแต่สัปดาห์แรกหลังคลอด หมั่นกระตุ้นด้วยการให้ลูกเข้าเต้าทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง พร้อมกับปั๊มเก็บทุกครั้งหลังลูกดูดเสร็จ ในช่วงแรกคุณแม่ยังไม่ต้องกังวลนะคะ เพราะน้ำนมอาจยังไม่มา หรือได้เพียงติดก้นขวด ให้นำน้ำนมนั้นหยดใส่ปลายช้อนป้อนให้ลูก และพยายามปั๊มต่อไปเรื่อย ๆ ครั้งละ 15 นาที อีกไม่ถึง 2 สัปดาห์ คุณแม่ก็จะได้เห็นปริมาณน้ำนมที่เพิ่มมากขึ้น ๆ จนพร้อมสำหรับทำสต็อกอย่างแน่นอนค่ะ
สำหรับ working mom ที่ต้องกลับไปทำงานหลังคลอด 3 เดือน ควรกำหนดเวลาปั๊มนมในที่ทำงานให้ตรงกันทุกวัน โดยแบ่งเวลาปั๊มทุก 3 ชั่วโมง แล้วแช่ในตู้เย็นหรือในกระเป๋าเก็บความเย็นที่มีคูลแพ็คเพียงพอที่จะรักษาคุณภาพน้ำนม เพื่อนำกลับมาบ้านให้ลูกกินหรือเติมสต็อกที่ขาดไป ส่วนในวันหยุดคุณแม่ควรรักษาปริมาณน้ำนมด้วยการให้ลูกเข้าเต้าทุกมื้อ และปั๊มเก็บเป็นสต็อกนมแม่อย่างสม่ำเสมอ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ การเก็บรักษานมสต็อกที่อุณหภูมิต่างกัน จะเก็บได้นานแค่ไหน คลิกหน้า 2
การเก็บรักษานมสต็อก ที่อุณหภูมิต่างกัน จะเก็บได้นานแค่ไหน
อุณหภูมิมีผลต่อระยะเวลาเก็บรักษาน้ำนม ในสถานที่ที่อุณหภูมิต่างกัน จะเก็บน้ำนมได้นานไม่เท่ากัน สำหรับคุณแม่ที่ตั้งใจจะทำสต็อกนมแม่ จึงควรรู้ข้อมูลเหล่านี้ เพื่อให้ลูกมีนมแม่ไว้กินได้นาน ๆ
- วางไว้ที่อุณหภูมิ 27-32๐C จะเก็บได้นาน 3-4 ชั่วโมง
- วางไว้ที่อุณหภูมิ 16-26๐C จะเก็บได้นาน 4-8 ชั่วโมง
- กระติกใส่น้ำแข็งที่มีอุณหภูมิ 15๐C จะเก็บได้นาน 24 ชั่วโมง
- ตู้เย็นช่องธรรมดาที่มีอุณหภูมิ 0-4๐C จะเก็บได้นาน 3-8 วัน
- ช่องแช่แข็งตู้เย็นประตูเดียว จะเก็บได้นาน 2 สัปดาห์
- ช่องแช่แข็งตู้เย็น 2 ประตูที่อุณหภูมิ -4๐C จะเก็บได้นาน 4-6 เดือน
- ตู้แช่แข็งชนิดเย็นจัดหรือตู้ไอศครีมที่อุณหภูมิ -19๐C จะเก็บได้นานถึง 6-12 เดือน
จะเห็นว่า อุณหภูมิมีผลต่อระยะเวลาในการเก็บรักษานมสต็อกอย่างมาก คุณแม่จึงควรวางแผนการใช้น้ำนมในแต่ละครั้งให้ดีว่าต้องใช้เมื่อใด หากต้องการใช้วันต่อวัน หรือภายใน 2-3 วันข้างหน้า การเก็บน้ำนมที่ตู้เย็นช่องธรรมดาจะเหมาะสมกว่าการแช่แข็ง เพราะจะไม่เสียเวลาในการละลาย และน้ำนมยังคงคุณภาพได้ดีกว่า แต่ถ้าต้องการแช่แข็ง ให้แช่ภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังปั๊ม เพราะยิ่งแช่แข็งเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งส่งผลดีต่อคุณภาพนมแม่เท่านั้น ส่วนคุณแม่ที่ปั๊มนมได้เยอะ และมีความตั้งใจจะทำสต็อกนมให้ลูกกินไปเรื่อย ๆ จนโต อาจต้องเก็บไว้ในตู้แช่แข็งชนิดเย็นจัด โดยเขียนวันที่ที่บรรจุ และควรเริ่มใช้ตามลำดับวันที่ปั๊มก่อนแบบ “เข้าก่อนออกก่อน” หรือ First in, First out ด้วยค่ะ
บทความแนะนำ อุ่นนมแม่ อย่างไรไม่ให้เสียคุณค่าสารอาหาร?
อ่านต่อ เทคนิคการเก็บรักษานมสต็อกในตู้เย็นหรือตู้แช่แข็ง คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
เทคนิคการเก็บรักษานมสต็อกในตู้เย็นหรือตู้แช่แข็ง
- ก่อนปั๊มนมทุกครั้ง คุณแม่ควรล้างมือ และตรวจสอบความสะอาดของอุปกรณ์ปั๊มนม เพื่อป้องกันไม่ให้แบคทีเรียหรือเชื้อโรคต่าง ๆ ปะปนลงไปในน้ำนมแม่
- หลังจากปั๊มนมเสร็จแล้ว ให้บรรจุลงในถุงเก็บน้ำนม ขวดนม หรือภาชนะพลาสติกที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว ไม่ควรใส่ในภาชนะที่เป็นแก้ว เพราะจะทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวซึ่งมีคุณสมบัติช่วยป้องกันการติดเชื้อให้แก่ลูกติดอยู่ตามภาชนะได้
- กรณีที่ต้องการเก็บรักษานมสต็อกในตู้แช่แข็ง คุณแม่ควรตรวจสอบสภาพรอบถุงเก็บน้ำนมให้ดีก่อนว่ามีรอยฉีกขาด หรือรูรั่วหรือไม่ และไม่ควรบรรจุน้ำนมจนเต็มถุง เพราะเมื่อแช่แข็งแล้วน้ำนมจะขยายตัวเพิ่มอีก อาจทำให้ถุงแตกได้
- เขียนวันที่ เวลา และปริมาณที่เก็บไว้อย่างละเอียดบนขวดหรือถุงเก็บน้ำนมทุกครั้ง สำหรับคุณแม่ที่เก็บในถุงเก็บน้ำนม หากได้จำนวนหนึ่งแล้ว ควรนำมาจัดเรียงตามวันที่ในถุงซิปหรือถุงพลาสติกขนาดใหญ่อีกครั้ง เพื่อความสะดวกในการนำออกมาใช้ตามลำดับก่อนหลัง
- ควรทำความสะอาดอุปกรณ์ปั๊มนมด้วยผลิตภัณฑ์ล้างขวดนมโดยเฉพาะ และอบหรือต้มในน้ำร้อนทุกครั้ง เพื่อฆ่าเชื้อ
Tips to Know…แม้การแช่แข็งจะเป็นการเก็บน้ำนมได้ยาวนานที่สุด แต่สารอาหารหรือคุณค่าบางอย่างในน้ำนมอาจลดลงได้ตามระยะเวลาที่เก็บ คุณแม่จึงควรหมุนเวียนนมสต็อกมาใช้ในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน และก่อนให้ลูกกินทุกครั้ง คุณแม่ควรชิมเพื่อทดสอบว่า น้ำนมนั้นบูด เสีย หรือมีรสเปรี้ยวหรือไม่ด้วย
การเก็บรักษานมสต็อก ไม่ใช่เรื่องยาก ในระยะแรกคุณแม่ควรต้องศึกษาข้อมูล และทำความเข้าใจเทคนิคต่าง ๆ ให้กระจ่างและชัดเจน แล้วปฏิบัติตามอย่างมีวินัย โดยเลือกวิธีการเก็บรักษาที่เหมาะสมกับการใช้ แม้จะมีสต็อกนมแม่ไม่มากมาย แต่ขอให้มั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นานจนถึง 2 ขวบหรือมากกว่าตามที่ตั้งใจไว้อย่างแน่นอนค่ะ
อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก!
Stock milk เคล็ดลับการจัดเก็บสต็อกนมแม่
รับมือนมแม่สต็อกในตู้เย็นละลาย ขณะฝนตกไฟดับ
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
www.breastfeedingthai.com .วิธีเก็บรักษานมแม่.
Facebook : พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่