ลูกไม่ยอมดูดเต้า แม่อย่าเพิ่งใจเสียกันไปซะก่อนนะจ๊ะ เพราะจริงๆ แล้วการที่ลูกปฏิเสธการดูดนมจากเต้าแม่นั้นมาได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งทีมงาน Amarin Baby & Kids มีคำตอบพร้อมเทคนิคช่วยให้ลูกรักเต้าแม่ กลับมาดูดนมจากอกแม่ได้อย่างมีความสุขทั้งแม่และลูก มาบอกต่อให้ได้ทราบกันค่ะ
ลูกไม่ยอมดูดเต้า สาเหตุจากอะไรนะ!?
ช่วงเวลาที่มีความสุขของแม่คือการให้นมลูก แต่จู่ๆ ลูกไม่ยอมดูดเต้า ซะอย่างนั้น อาการนี้เรียกว่าลูกไม่กินนมแบบกะทันหัด (Nursing strike) หรือถ้าเข้าใจให้ง่ายขึ้นก็คือการที่ลูกปฏิเสธนมจากเต้าแม่ ไม่ยอมดูดนั่นแหละค่ะ ซึ่งจริงๆ แล้วมีสาเหตุเยอะเลยที่ทำให้ลูกไม่ยอมเข้าเต้าค่ะ
ผู้เขียนมีคนรอบข้างที่เคยผ่านช่วงเวลาของการที่ลูกไม่ยอมดูดนมจากเต้ามาบ้างค่ะ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็เป็นประสบการณ์ของพี่สาว และเพื่อนๆ ซะส่วนใหญ่ จากที่ทราบมาคือให้ลูกกินนมจากออกแม่อยู่ในไม่กี่สัปดาห์ลูกก็กินนมดีนะ แต่วันนึงลูกกลับปฏิเสธเต้าแม่ซะอย่างนั้น คิดดูซิค่ะว่าหัวอกคนเป็นแม่พอเห็นลูกไม่กินนม แม่ก็กระวนกระวายใจกลัวลูกหิว ซึ่งผู้เขียนขอสรุปสาเหตุของการที่ลูกไม่ยอมเข้าเต้ามาพอคร่าวๆ ดังนี้ค่ะ…
1. การเจ็บป่วย
เด็กวัยทารก และเด็กเล็ก บางครั้งก็เกิดเจ็บป่วยขึ้นได้ค่ะ ซึ่งอาการเจ็บป่วยก็เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งในการดูดนม โดยเฉพาะ ถ้าเกิด หูอักเสบทำให้เกิดความเจ็บปวดขณะดูดนม หรือเป็นหวัดเจ็บคอน้ำมูกแน่นจมูก ก็ทำให้ลูกรู้สึกไม่สบายตัวจนไม่ อยากที่จะอ้าขยับปากดูดนมกันค่ะ ซึ่งคุณแม่สามารถสังเกตได้ถ้าตลอดที่ผ่านมาลูกทานนมจากเต้าได้ดี แล้วจู่ๆ เกิดผลักเต้า ออกไม่กิน ก็อาจมาจากที่ลูกเจ็บป่วยนั่นเองค่ะ
2. หัวนมแม่บอด
เป็นความผิดปกติของลักษณะหัวนมที่ไม่มีหัวนมขึ้นมา โดยเกิดได้จากท่อนมสั้นหรือพังผืดรัด เวลาที่ลูกดูดนมจะทำให้ดูด ลำบากออกแรงดูดน้ำนมแม่ก็ยังไม่ออกมา นี่ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ลูกปฏิเสธเต้าแม่ได้ค่ะ แต่อย่าเพิ่งยอมแพ้นะคะเพราะ หัวนมบอดก็ให้นมลูกได้ เพียงแต่ต้องแก้ไขหัวนมแม่ก่อน ด้วยการใช้อุปกรณ์ดึงหัวนมขึ้นมา ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่คิดค้นมาเพื่อ แก้ไขปัญหา หัวนมบอดโดยเฉพาะเลยทีเดียว โดยจะช่วยดึงหัวนมให้ขึ้นมาตามปกติ ซึ่งเป็นวิธีในการแก้ไขที่ดี แต่ต้องใช้ ระยะเวลา ดังนั้นใครที่จะใช้วิธีนี้จึงต้องมีความอดทนสูงมากเลยทีเดียว การใช้อุปกรณ์ช่วยดึงหัวนมคุณแม่อาจจะใช้เครื่องปั๊มนมไฟฟ้าปั๊มเพื่อดึงหัว นมออกมาก็ได้ และมีอีกชนิดหนึ่ง คือ ลูกยางแดง ดึงหัวนมทุกวัน วันละ 2 ครั้ง หลังอาบน้ำเช้า เย็น ประมาณข้างละ 10 นาที วิธีการนี้จะช่วยดึงหัวนมของคุณแม่ได้
3. ให้ลูกดูดนมจากขวด หรือใช้จุกนมหลอก
คุณแม่ลูกอ่อนบางรายที่น้ำนมน้อย เลยให้ลูกทานนมแม่สลับกับนมขวด ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ลูกเกิดการสับสนระหว่างเต้าแม่กับจุกนมได้ค่ะ หากปล่อยให้ลูกดูดปล่อยๆ เขาก็อาจปฏิเสธเต้าแม่ได้เหมือนกัน แนะนำว่าถ้าน้ำนมให้หมั่นกระตุ้นด้วยการใช้เครื่องปั๊มนม อย่างน้อยน้ำนมที่ได้ใส่ขวดก็ยังเป็นน้ำนมแม่ และการกระตุ้นปล่อยๆ ก็ช่วยให้ร่างกายผลิตน้ำนมแม่ออกมาปริมาณมากเพียงพอได้ค่ะ
บทความแนะนำ คลิก>> 5 ตัวช่วยกระตุ้นน้ำนมแม่ อย่างง่ายสำหรับแม่มือใหม่
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายสาเหตุปัจจัยที่ทำให้ลูกไม่ยอมเข้าเต้า ซึ่งคุณแม่ควรสังเกตหาสาเหตุแล้วแก้ไขให้ถูกจุด ก็จะช่วยลดปัญหาลูกไม่ยอมกินนมจากเต้าแม่ลดลงได้ค่ะ
อ่านต่อ เทคนิคแก้ไขลูกปฏิเสธเต้าแม่ หน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ลูกไม่ยอมเข้าเต้า ทำไงดี?
ไม่ว่าลูกจะห่างจากเต้าแม่ไปด้วยสาเหตุใดก็ตาม แต่การทำให้ลูกกลับมากินนมจากอกแม่ได้อีกครั้งนั่นเป็นเรื่องที่ท้าทายมากกว่าค่ะ และเพื่อให้ภารกิจนี้สำเร็จ ผู้เขียนมีคำแนะนำดีๆ จากมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ซึ่งเทคนิคเหล่านี้แหละค่ะที่ช่วยพี่สาวและเพื่อนๆ คนรอบข้างสามารถพาลูกกลับมากินนมแม่ได้อีกครั้ง
- ควรให้แม่ลูกอยู่ด้วยกันตลอดเวลา และให้โอบกอดเนื้อแนบเนื้อจนลูกสงบก่อนกาฝึกดูดนม ระหว่างการโอบกอดให้ปากลูกสัมผัสหัวนมและเต้านมบ่อยครั้งเพื่อกระตุ้นให้ลูกกลับมาคุ้นเคย และกระตุ้นฮอร์โมนออกซิโตซินซึ่งช่วยให้แม่และลูกสงบ อย่าใช้แรงบังคับลูก
- ในเวลาที่ลูกอารมณ์ดี สร้างบรรยากาศให้ลูกนอนอมหัวนมแม่เพื่อสร้างความคุ้นเคย และฝึกใช้ลิ้นไล้หัวนมแม่ ทำให้กล้ามเนื้อลิ้นคลายตัวออกมาได้ ยอมเข้าเต้าง่ายขึ้น และแม่ได้พัก
- แม่ปั๊มนมทุก 2-3 ชั่วโมง เพื่อกระตุ้นการสร้างน้ำนม การที่ลูกติดดูดน้ำนมที่ไหลเร็ว เมื่อน้ำนมแม่มาดี จะช่วยให้ลูกยอมเข้าเต้าแม่ง่ายขึ้น
- ใช้ที่หยอดยาหรือกระบอกฉีดยาหยดน้ำนมบนเต้านมใกล้ริมฝีปากลูก หากลูกไม่ยอมอาจต้องใช้อุปกรณ์ Lactation Aid หรือป้อนด้วยแก้ว ช้อน ไม่ควรดูดนมขวดเพราะจะทำให้แก้ไขได้ยากขึ้น
- ถ้าลูกโตหน่อยอาจให้ลูกดูคลิปวีดีโอหรือภาพเด็กดูดนมแม่ ฝึกป้อนด้วยหลอด[1]
Credit : นมแม่
บทความแนะนำ คลิก>> นมเกลี้ยงเต้า บันไดสู่การให้นมแม่สำเร็จ
อยากให้ลูกได้กินนมแม่อย่างราบรื่นไปนานกว่า 6 เดือน แม่ต้องอดทนไม่ท้อถอยต่ออุปสรรคใดๆ ทั้งสิ้น โดยเฉพาะถ้าลูกปฏิเสธเต้าก็ต้องหาสาเหตุให้เจอ จากนั้นก็แก้ไขให้ตรงจุดหรือไม่ก็ทำตามคำแนะนำที่ให้ไว้นี้นะคะ
อ่านต่อ การเรียกน้ำนมแม่กลับคืนเต้า หน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
การเรียกน้ำนมแม่กลับคืน แม่ควรกระตุ้นเต้านมด้วยวิธีใด
อยากให้นมแม่กลับคืนสู่เต้าอีกครั้ง สิ่งสำคัญคือแม่ต้องมีวินัยเป็นอย่างมาก ซึ่งเรามีคำแนะนำจากศูนย์นมแม่ โดยแพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ และเภสัชกรมนตรี วังพฤกษ์ ดังนี้…
- ต้องให้ลูกดูดนมจากเต้าบ่อยๆ อย่างน้อยวันละ 8-10 ครั้ง หรือมากกว่านี้
- ควรให้ลูกดูดนมทุก 2 ชั่วโมง
- ควรให้ลูกดูดนมทันทีที่ลูกต้องการ
- ควรให้ลูกดูดนมให้มากขึ้นในแต่ละครั้งที่ดูด
- ควรนอนกับลูก เพราะลูกจะได้ดูดนมตอนกลางคืนด้วย
การกระตุ้นกู้นมแม่ด้วยการใช้มือบีบมือ ดังนี้
- ล้างมือให้สะอาด
- นั่งหรือยืนในท่าสบาย มือข้างหนึ่งถือภาชนะรองรับไว้ใกล้เต้านม
- บีบน้ำนมตามภาพที่ 3
- กด บีบ และปล่อยเป็นจังหวะและเคลื่อนนิ้วไปรอบๆ ลานหัวนมให้ครบทุกทิศทาง
- อย่าถูหรือเลื่อนนิ้วมือไถลไปตามผิวหนังหรือบีบที่หัวนม เพราะจะทำให้เจ็บที่เต้านมและหัวนม
- ทำนานประมาณ 4 นาที แล้วจึงเปลี่ยนไปทำอีกข้างหนึ่ง
- ทำต่อเนื่องประมาณ 20-30 นาที
- ทำซ้ำทุก 2-3 ชม. อย่างน้อย 8 ครั้งต่อวัน ถึงแม้ผ่านไปหลายวันแล้วยังไม่มีน้ำนมไหลออกมาให้เห็นก็ตาม โดยทั่วไปจะใช้เวลานานประมาณ 1 สัปดาห์หรือนานกว่า จึงจะเริ่มมีน้ำนมไหล[2]
บทความแนะนำ คลิก>> รวม คลินิกนมแม่ ให้คำปรึกษาและแนะนำการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
อาหารที่ดีที่สุดสำหรับลูกก็คือ น้ำนมแม่ ผู้เขียนขอสนับสนุนให้แม่ที่เพิ่งคลอดลูกเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กันอย่างประสบความสำเร็จนะคะ และหากมีปัญหาเกี่ยวกับนมแม่ สามารถปรึกษาได้ที่คลิกนมแม่ใกล้บ้าน หรือจะสอบถามมาที่เพจของเราก็ได้ค่ะ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก
สูตรน้ำหัวปลี เรียกน้ำนมแม่
สารพัน คำถามเกี่ยวกับ นมแม่ ที่แม่มือใหม่ต้องรู้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
1นมแม่. ลูกไม่ยอมดูดนมแม่จากเต้า
2พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ เภสัชกรมนตรี วังพฤกษ์. การเรียกน้ำนมแม่กลับคืน. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) / ศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย
www.breastfeedingthai.com