คุณแม่มือใหม่ทั้งหลาย คงกำลังสับสน และปรับตัวไม่ถูกว่าจะให้ลูกกินนมเท่าไหร่ บ่อยแค่ไหนถึงจะเหมาะ แล้วหากครบกำหนดต้องกลับไปทำงานจริงๆ จะให้นมลูกต่อเนื่องอย่างไรดี ทั้งหมดนี้เรามีเคล็ดลับฉบับย่อ แม่มือใหม่ ให้นมลูก อย่างไร ถึงจะเวิร์ค มาบอกกันค่ะ
แม่มือใหม่ ให้นมลูก อย่างไร ถึงจะเวิร์ค
อะไรบ่งบอกว่า ลูกน้อย “หิว” หรือ “อิ่ม”
-
หิว
ลูกจะเริ่มดิ้น ดูดนิ้ว ทำปากจุ๊บจั๊บ ส่ายหัวไปมา วางมือและข้อมือไว้ที่ปาก จากนั้นประมาณ 30 นาที ถ้ายังไม่ได้หม่ำ จะเริ่มร้องไห้ละ เพราะหิวจัด
-
อิ่ม
ลูกจะคายปากออกจากหัวนมแม่เอง ส่วนของเต้านมแม่จะเริ่มนิ่มขึ้น หรือมีน้ำนมไหลออกจากเต้าอีกข้าง ทีนี้ลูกก็หลับสนิทแล้ว ไม่งอแง
ให้นมลูก หลังคลอด 1 ชั่วโมงแรก
หากเป็นไปได้ ลูกควรได้กินนมแม่ภายใน 1-2 ชั่วโมงแรกหลังคลอด เพราะมีงานวิจัยพบว่า การที่ลูกได้กินนมแม่หลังคลอดจะช่วยให้สุขภาพของแม่และลูกแข็งแรงในระยะยาว ที่สำคัญคือ ช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำนมและลดการตกเลือดของแม่ด้วย ทั้งนี้การกินนมครั้งแรกของลูกอาจใช้เวลา 20-30 นาที และเขาอาจดูดได้ไม่มากนัก เพราะต้องใช้เวลาฝึกนานหลายวันกว่าเขาจะเรียนรู้ได้ ในกรณีที่คุณแม่ได้รับยาระหว่างคลอด หรือ คลอดยาก เพียงให้ลูกได้อยู่ในอ้อมกอด และสัมผัสหัวนมก็เพียงพอแล้วค่ะ
ให้นมลูก 7 วันแรก
ถือเป็นช่วงที่คุณแม่ต้องปรับตัวเยอะพอควร เพราะลูกจะกินนมบ่อยทุกๆ 2 ชั่วโมง ตลอดทั้งกลางวัน และกลางคืน อาจทำให้คุณแม่รู้สึกอ่อนเพลีย และเกิดความเครียดได้ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อการผลิตน้ำนม ดังนั้นคุณแม่ควรหาเวลางีบหลับในจังหวะที่พอทำได้ และกินอาหารที่มีประโยชน์
ให้นมลูกช่วง 4-6 สัปดาห์
ช่วงนี้เหมาะอย่างมากที่จะเริ่มบีบน้ำนมเก็บไว้ ให้คุณแม่เตรียมตัวกลับไปทำงานและเพื่อช่วยกระตุ้นให้ผลิตน้ำนมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงบรรเทาเต้านมไม่ให้คัด ในช่วงนี้เองลูกยังคงกินนมบ่อย และกินเยอะขึ้น หากเขาดูดนมจนเผลอหลับไป คุณแม่ควรปลุกให้มาเปลี่ยนผ้าอ้อม หรือ อุ้มเพื่อให้เรอ จากนั้นเปลี่ยนให้มาดูดเต้านมอีกข้าง แต่หากลูกอิ่มแล้ว พรุ่งนี้ค่อยให้ลูกดูดนมอีกข้างก็ได้ อย่าลืมสลับให้ดูดนมจากทั้งสองเต้า เพื่อลดอาการเจ็บที่หัวนม
นอกจากนี้ ควรให้ลูกกินนมบ่อยตลอดทั้งวัน โดยปลุกให้เขาตื่นมากินนมทุกๆ 2 ชั่วโมง วิธีนี้จะทำให้ลูกหลับเวลากลางคืนนานขึ้น
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ติดตาม การให้นมลูก คลิกต่อหน้า 2
ให้นมลูก ช่วง 3 เดือน
ความถี่ของการกินนมลูกเริ่มห่างมากขึ้น คือทุกๆ4ชั่วโมง และเริ่มหลับยาวในเวลากลางคืน ระหว่างนี้อาจพบว่า ลูกไม่ถ่ายเลย 10-12 วัน ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ เพราะลำไส้ของลูกทำงานดีขึ้น ดูดซึม น้ำนมแม่ได้ดี ลูกจึงไม่ถ่ายบ่อยเหมือนในช่วงแรกๆ เพราะไม่เหลือกากอาหารไว้สำหรับขับถ่าย หากลูกยังอารมณ์ดี เติบโตตามวัย ถ่ายสะดวก อุจจาระนิ่ม มีสีเหลือง ก็ไม่ต้องกังวลค่ะ
ให้นมลูก ช่วง 6 เดือน
ยังคงให้ลูกกินนมแม่เป็นหลัก ประมาณ 6-8 ครั้งต่อวัน แต่เริ่มเสริมอาหารอื่นให้ลูกได้ โดยครั้งแรกควรให้ชิมปริมาณน้อยประมาณนิ้วก้อย พยายามเลือกอาหารชนิดที่แพ้น้อย และเป็นอาหารเหลว
ต้องเตรียมตัวไปทำงานแล้ว ให้นมลูกยังไงกันดี
- ให้ลูกกินนมจากเต้าก่อนไปทำงานตอนเช้า
2. ระหว่างวันปั๊มน้ำนมไว้ทุกๆ 3 ชั่วโมง เพื่อเก็บไว้เป็นสต็อก
3. หลังกลับจากที่ทำงานให้ลูกกินนมจากเต้าตามที่ลูกต้องการ
4. หากเป็นวันหยุดให้ลูกกินนมจากเต้าแทน
น้ำนมแม่เก็บได้นานแค่ไหน
- ทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้อง อยู่ได้นาน 1 ชั่วโมง
- ใส่กระติกน้ำแข็งที่มีน้ำแข็งตลอดเวลาอยู่ได้นาน 1 วัน
- แช่ในตู้เย็นช่องธรรมดา หรือ ช่องแช่แข็ง อยู่ได้ 1-3 วัน (ระยะเวลาจะสั้นลงหากเปิดตู้เย็นบ่อยๆ)
- แช่ในตู้เย็นแบบ 1 ประตูในช่องแช่แข็งอยู่ได้ 2 อาทิตย์
- แช่ในตู้เย็นแบบ 2 ประตูในช่องแช่แข็ง อยู่ได้ 3 เดือน
- แช่ในตู้เย็นจัด อุณหภูมิ -20 องศาเซียลเซียส อยู่ได้ 6-12 เดือน
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ติดตาม วิธีการใช้น้ำนมแม่ที่เก็บไว้ในตู้เย็น คลิกต่อหน้า 3
วิธีใช้น้ำนมที่เก็บไว้ในตู้เย็น
- เลือกนมเก่าก่อน โดยเรียงตามวัน และเวลาที่เก็บ
- ย้ายนมลงมาแช่ในช่องธรรมดา แช่ทิ้งไว้ 1 คืนเพื่อให้ละลาย
- นำนมออกมาพักไว้นอกตู้เย็นจนหายเย็น หากรีบสามารถนำมาแช่ไว้ในน้ำอุ่น
- เขย่าให้เป็นเนื้อเดียวกัน พร้อมให้ลูกกิน
เก็บนมเท่าไหร่ถึงจะพอ
- ปกติเด็กทารกแรกเกิด – 9 เดือน กินนมเฉลี่ยวันละ 19-30 ออนซ์ต่อวัน (ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของเด็กแต่ละคน)
- อายุ 6 สัปดาห์ เก็บน้ำนม 2-4 ออนซ์ต่อมื้อ
- อายุ 3 เดือน เก็บน้ำนม 4-6 ออนซ์ต่อมื้อ
- อายุ 6 เดือน เก็บน้ำนม 5-8 ออนซ์ต่อมื้อ
- อายุ 6-12 เดือน เด็กต้องการน้ำนมลดลง เพราะเริ่มกินอาหารเสริมบ้างแล้ว
ข้อควรระวังเกี่ยวกับนมแม่
- ควรแบ่งนมให้กินพอในแต่ละมื้อเท่านั้น หากกินไม่หมดให้ทิ้ง ห้ามเก็บไว้กินต่อ
- ห้ามแช่ในน้ำร้อน อุ่นด้วยไมโครเวฟ หรือ นำไปต้มเด็ดขาด เพราะจะสูญเสียภูมิต้านทานในน้ำนมแม่ไป
- นมแช่แข็งที่ละลายแล้ว ไม่ควรกลับไปแช่แข็งอีก เพื่อลดการปนเปื้อนของเชื้อโรค
อ่านต่อบทความที่น่าสนใจ
เทคนิค การเก็บรักษานมสต็อก ให้ลูกได้กินนมแม่นานถึง 2 ขวบ
ระวังอ่างอาบน้ำ ลูกน้อยเสี่ยงถูกดูดอาการโคม่า
รวม 12 เรื่องของ เด็กแรกเกิด ที่แม่มือใหม่ต้องรู้!
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่