นมแม่ …เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก องค์การอนามัยโลก องค์การยูนิเซฟ และสมาคมกุมารแพทย์ทั่วโลก แนะนำให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว เป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน หลังจากนั้นให้อาหารเสริมตามวัย ร่วมกับนมแม่ต่อไปอีกจนเด็กครบอายุ 1 ปี และต่อจากนั้นก็สามารถให้นมแม่ได้อีกตามความต้องการของแม่
ทำไมต้อง “ นมแม่ ”
คนส่วนใหญ่พอจะทราบอยู่แล้วว่านมแม่มีประโยชน์กับลูก แต่ พญ.ปวินทรา หะริณสุต สมนึก กุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จะมาบอกเล่ามากขึ้นในแง่ของทางการแพทย์ว่า นมแม่สำคัญอย่างไร ทำไมถึงต้องมีการรณรงค์ให้นมแม่กันมากมายทั่วโลกขนาดนี้
♥ ประโยชน์ของนมแม่มีมากกว่าที่คิด
น้ำนมแม่จะมีลักษณะใสกว่านมอื่นๆ คนสมัยก่อนเลยคิดว่านมแม่ไม่ค่อยมีสารอาหารมากนัก แต่ความจริงแล้ว นมแม่มีสารอาหารมากถึง 200 กว่าชนิด ในขณะที่นมประเภทอื่นมีสารอาหารไม่ถึงครึ่งของนมแม่เลย แค่สารอาหารหลักๆ ก็ยังมีได้ไม่เท่า ได้แก่
- กลุ่มคาร์โบไฮเดรต ในนมแม่จะมีน้ำตาลแลคโตส ซึ่งเป็นน้ำตาลที่ช่วยพัฒนาสมองของลูก แม้ว่าในน้ำนมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดจะมีน้ำตาลชนิดนี้ด้วยก็ตาม แต่ในน้ำนมของมนุษย์มีสูงที่สุด
- น้ำนมแม่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัว มีดีเอชเอและเอเอ ซึ่งก็คือโอเมก้า 3 และ 6 มีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตของเซลล์ประสาทของสมอง เป็นสารอาหารจากธรรมชาติที่มีในน้ำนมแม่ ไม่สามารถสกัดออกมาใส่เสริมในนมอื่นได้
- โปรตีนในนมแม่ มีส่วนประกอบของเวย์ 80 เปอร์เซ็นต์ และเคซีน 20 เปอร์เซ็นต์ เวย์ในนมแม่ยังเป็นแอลฟ่าแลคตาบูมิน ช่วยลดภาวะเสี่ยงของการเป็นภูมิแพ้ต่างๆ ในขณะที่นมอื่นนั้นเป็นเบต้าแลคตาบูมิน ตัวเบต้านี้จะกระตุ้นให้เกิดภูมิแพ้ต่างๆ ส่วนเคซีนในนมแม่เป็นเบต้าแคลซีน ซึ่งย่อยง่าย ดูดซึมง่าย ช่วยดูดซึมธาตุเหล็ก สังกะสี และแคลเซียมได้ดี ทั้งสองตัวนี้ไม่สามารถเติมหรือผลิตได้จากโรงงาน นอกจากนี้ยังมีแร่ธาตุและวิตามินต่างๆ ที่ในนมอื่นไม่มี จึงเรียกได้ว่า นมแม่มีสารอาหารที่ครบถ้วนอย่างแท้จริง
- ในน้ำนมแม่อุดมไปด้วยภูมิคุ้มกันสำคัญที่ไม่สามารถหาได้จากนมอื่นๆ เช่น secretary IgA (เป็นหน้าด่านช่วยป้องกันการติดเชื้อต่างๆ), เม็ดเลือดขาว, ไลโซไซม์ (เอนไซม์ที่ช่วยให้เชื้อแบคทีเรียตายได้), แลคโตเฟอริน (โปรตีนช่วยต่อต้านเชื้อโรค), bifidus growth factor (สารที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของแล็กโตบาซิลัส ช่วยให้แบคทีเรียไม่สามารถอาศัยอยู่ในลำไส้ได้) เป็นต้น เพราะนมแม่มีสารต่างๆ ซับซ้อนมากมายที่จะช่วยให้ลูกเรามีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์
การสร้างน้ำนมแม่
เต้านมแต่ละข้างจะมีต่อมผลิตน้ำนมประมาณ 15 – 20 หน่วย ซึ่งอยู่ด้านหลังของลานรอบหัวนม โดยมีท่อน้ำนมต่อไปเปิดที่หัวนมระหว่างตั้งครรภ์ รกและรังไข่จะทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ในระดับที่สูงมาก ซึ่งมีผลไปกระตุ้นให้ต่อมน้ำนมสร้างท่อน้ำนมที่มีคุณประโยชน์มาก เรียกว่า โคลอสตรัม อันอุดมไปด้วยโปรตีน, แร่ธาตุ, วิตามิน, น้ำ, น้ำตาล และภูมิคุ้มกันโรคต่างๆ ที่จะช่วยป้องกัน ทารกจากการติดเชื้อในช่วงแรกๆ หลังคลอด โคลอสตรัมจะมีอยู่ในช่วง 3 – 5 วันหลังคลอดเท่านั้น จากนั้นจึงจะเป็น นมแม่ตามปกติ
ทุกครั้งที่ลูกดูดนม จะไปกระตุ้นปลายประสาทที่หัวนม ส่งสัญญาณไปยังต่อมไฮโปทาลามัสที่สมองส่วนบน ซึ่งจะส่งสัญญาณต่อไปยังต่อมใต้ สมองให้สร้างฮอร์โมนโปรแลกติน และออกซีโตซิน จะกระตุ้นให้กล้ามเนื้อรอบต่อมน้ำนมหดตัวเพื่อบีบขับ น้ำนมให้ไหลออกมา เสียงร้องของลูกและการได้สัมผัส ใกล้ชิดลูกจะช่วยกระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมนออกซีโตซินได้ด้วย
อ่านต่อ >> “กลไกการหลั่งน้ำนมที่แม่ควรรู้และการเข้าเต้าให้ได้ผล” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
กลไกการหลั่งน้ำนม
กลไกการหลั่งน้ำนมหรือ Let-down Reflex เป็นกระบวนการที่ทำให้ร่างกายหลั่งน้ำนมออกมา คุณแม่อาจจะรู้สึกจี๊ดๆที่เต้านมก่อนที่น้ำนมจะพุ่งออกมา หรือการที่ลูกดูดข้างหนึ่งแล้วน้ำนมนมอีกข้างก็ไหลออกมาเอง กลไกการหลั่งน้ำนมเป็นสิ่งสำคัญในการปั๊มนม ถ้ากลไกการหลั่งน้ำนมไม่ทำงานจะทำให้ปั๊มน้ำนมไม่ออก
- การดูดที่มีประสิทธิภาพของลูกเป็นตัวกระตุ้นกลไกการหลั่งน้ำนมที่ดีที่สุด
- ช่วงหลังคลอดใหม่ๆ ฮอร์โมนโปรแล็คตินจะสูงมากทำให้กลไกการหลั่งน้ำนมทำงานได้ดี
- การกระตุ้นกลไกการหลั่งน้ำนมก่อนการปั๊มนมจะช่วยให้ปั๊มนมได้ง่ายและเร็วขึ้น คนที่อารมณ์ดี ๆ มีความสุขกับการปั๊มนมฝึกจนชำนาญแล้วแค่เอากรวยมาครอบเต้ากลไกการหลั่งน้ำนมจะทำงานได้ทันที สำหรับคนที่ยังไม่ชำนาญก็สามารถหัดกระตุ้นได้ด้วยการใช้มือนวดคลึงหัวนมเบาๆ คิดถึงลูกน้อยมากๆ เล่นอินเทอร์เน็ต เปิดเฟซบุ๊ค ดูทีวีเพลินๆในขณะที่ปั๊มนม อย่าเอาแต่นั่งจ้องว่าน้ำนมไหลหรือยัง ได้แค่ไหนแล้ว เพราะจะยิ่งเครียดน้ำนมจะยิ่งไหลน้อย
- วิธีฝึกที่ง่ายที่สุดในการกระตุ้นกลไกการหลั่งน้ำนมคือ ใช้ลูกเป็นตัวช่วยให้ลูกดูดข้างนึงแล้วปั๊มอีกข้างนึงไปพร้อมๆกัน เพราะเวลาที่ลูกดูดนั้นกลไกการหลั่งน้ำนมจะทำงานได้ดี เนื่องจากเรามีความรักต่อลูกบางคนไปทำงานแค่นึกถึงลูกน้ำนมก็พุ่งเลย บางทีเสื้อเปียกไม่ทันรู้ตัวฝึกบ่อยๆก็จะรู้จังหวะแล้วก็จะรู้ว่าจริงๆแล้วไม่ยากเลย
- ความเครียดและความกังวลทำให้กลไกการหลั่งน้ำนมไม่ทำงาน การนวดหลังไหล่และเต้านมก่อนปั๊มนมช่วยผ่อนคลายความเครียดได้ดี
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
การเข้าเต้า
การเข้าเต้ามีความสำคัญมาก ถ้าคุณแม่ใช้ท่าที่ถูกต้อง ลูกก็จะดูดนมได้อย่างมีประสิทธิภาพ น้ำนมที่ออกจากเต้าก็จะเกลี้ยงเต้าได้ไว ความเสี่ยงเรื่องการเจ็บหัวนม หัวนมแตก เต้านมคัด ก็จะลดลงไปมาก
√ วิธีเข้าเต้าแบบง่ายๆ
- อุ้มลูกตะแคง ท้องลูกแนบท้องแม่ วางลูกบนท่อนแขน พยายามให้จมูกของลูกตรงกับหัวนมแม่
- ใช้หัวนมเขี่ยริมฝีปากลูก จากริมฝีปากบนลงล่าง จะช่วยให้ปากของลูกเปิดแบะบานออก
- เมื่อลูกอ้าปากแล้ว ค่อยๆ ใช้มือหรือข้อศอกประคองส่งตัวลูก ให้เข้าอมหัวนมของคุณแม่ในจังหวะที่ยังอ้าปากกว้างอยู่ (ลูกจะอ้าประมาณ 20-30 วินาที) ข้อสำคัญที่ห้ามลืมคือ ต้องให้ลูกอมลึกที่สุดถึงลานนมของคุณแม่ สังเกตเวลาลูกดูดนม ริมฝีปากของเขาต้องบานบน บานล่าง ระหว่างนั้นจับเต้าประคองไว้จนมั่นใจว่าลูกอมได้ลึกแล้ว จึงปล่อยมือที่ประคองเต้านมออก
- อย่าลืมหาหมอนมารองแขนให้มั่นคง กระชับ เพราะหากหมอนที่มารองไม่กระชับพอ เมื่อคุณแม่เมื่อย จะเผลอผ่อนมือลง ทำให้ปากลูกรูดลงมา ลูกก็จะอมหัวนมได้ไม่ดี ทำให้เกิดอาการเจ็บหัวนมตามมา
Must read : ท่าให้นมลูกที่ถูกต้อง ช่วยให้ลูกน้อยได้รับน้ำนมอย่างเต็มที่
รู้ได้อย่างไรว่าลูกอิ่ม
เริ่มแรกให้ดูว่าเขาได้น้ำนมหรือเปล่า โดยดูว่าเขาดูดนมอย่างต่อเนื่องหรือไม่ คล้ายกับเวลาเราดื่มน้ำเอื๊อกๆ แบบนั้น พอเขาดูดสัก 20-30 นาที ก็มักจะอิ่มแล้ว ซึ่งธรรมชาติของเด็กเวลาอิ่ม เขาจะปล่อยเอง แต่บางคนจะชอบดูดแช่ไม่ยอมปล่อย วิธีคือให้ใช้นิ้วก้อยค่อยๆ แซะข้างมุมปากของลูก แต่หากลูกร้องไห้หลังเอาออกจากเต้า ให้คุณแม่อุ้มโอ๋ต่อสักครู่ เขาก็จะหลับต่อได้เอง
การเก็บน้ำนม
น้ำนมแม่ หากตั้งไว้ในอุณหภูมิห้องที่มีแอร์ (25 องศา) – 6 ถึง 8 ชม ในตู้เย็นช่องธรรมดาเก็บได้สูงสุด 5 วัน ช่องฟรีซ ตู้เย็นประตูเดียว เก็บได้ประมาณ 14-15 วัน ช่องฟรีซ ตู้เย็นสองประตู เก็บได้ประมาณ 3-6 เดือน และตู้แช่แบบแช่ไอศกรีม จะเก็บได้นาน 6 เดือน ถึง 1 ปี แต่คำแนะนำคือ ไม่ควรเก็บสต๊อกไว้นานจนเกินไป อย่างแรก เพราะนมแม่ยิ่งเก็บไว้นานยิ่งมีกลิ่นหืน เด็กบางคนไม่ชอบกลิ่นหืนก็จะไม่ยอมกินนมแม่ที่สต๊อกไว้เลย อย่างที่สอง หากไฟดับ นมแม่ที่แช่ไว้ก็จะเสีย ดังนั้นควรสต๊อกพอประมาณให้มีหมุนเวียนใช้ระยะหนึ่งก็พอ
Must read : รับมือนมแม่สต็อกในตู้เย็นละลาย ขณะฝนตกไฟดับ
รู้หรือไม่ วัคซีนแรกของลูกไม่ใช่วัคซีนจากไหน แต่เป็นน้ำนมเหลืองที่หลั่งออกมาในช่วงแรกหลังคลอด มีลักษณะสีเหลืองข้นซึ่งเด็กทุกคนควรจะได้รับน้ำนมนี้ เพราะเป็นน้ำนมที่มีภูมิต้านทานสูงมากๆ มีงานวิจัยพบว่าน้ำนมเหลืองช่วยให้เด็กคลอดก่อนกำหนดหายป่วยเร็วขึ้น แข็งแรงเร็วขึ้น อีกทั้งยังช่วงป้องกันการเกิดลำไส้เน่าในเด็กได้ดีอีกด้วย
อ่านต่อ >> “Q&A แม่ถามหมอตอบ เรื่องนมแม่ ที่คุณควรรู้” คลิกหน้า 3
Q&A แม่ถาม หมอตอบ
ใช้เครื่องปั๊มน้ำนมแบบไหนดี สำหรับคุณแม่ที่ต้องไปทำงาน?
แนะนำให้เลือกเครื่องปั๊มนมที่มีราคาปานกลาง ไม่ต้องแพงมาก และเลือกแบบปั๊มคู่จะสะดวกกว่า นอกจากนี้เครื่องปั๊มควรมีรอบของการปั๊มอยู่ที่ 40-60 ครั้งต่อนาที ความดันที่ 200 มิลลิเมตรของปรอท และอย่าซื้อเครื่องใหญ่มากเพราะพกพาลำบาก
Must read : กู้น้ำนมแม่ กู้โลก!!!
นมแม่นำมาทำอาหารได้หรือไม่?
นมแม่สามารถทำอาหารได้ แต่ไม่ควรนำไปต้มจนเดือด และห้ามใส่ไมโครเวฟ เพราะจะทำให้คุณค่าทางอาหารเสียไปหมด วิธีคือให้นำนมที่ต้องการใช้จากช่องฟรีซมาตั้งในช่องธรรมดาให้ละลาย จากนั้นนำไปแกว่งในน้ำอุ่นอุณหภูมิไม่เกิน 60 องศาเซลเซียส แล้วนำมาคลุกกับอาหาร
Must read : Milk food เมนูอาหารเสริมที่ทำจากนมแม่
นมสดจากเต้ากับนมแม่ที่สต๊อกไว้ มีคุณค่าสารอาหารเท่ากันหรือไม่?
น้ำนมสดๆ จากเต้ามีคุณค่าสารอาหารมากกว่าน้ำนมที่แช่แข็งไว้ แต่แบบแช่แข็งก็ยังมีประโยชน์มากกว่านมชนิดอื่นๆ หลายเท่า แม้น้ำนมที่แช่ฟรีซไว้จะมีปริมาณเม็ดเลือดขาวและไลโซโซม์น้อยกว่านมสดๆ จากเต้า แต่ก็ไม่ได้ลดลงมากนัก
Must read : CDC แนะนำการเก็บรักษาสต๊อกนมแม่แบบใหม่
Must read : Stock milk เคล็ดลับการจัดเก็บสต็อกนมแม่
รู้หรือไม่ องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ว่า ควรให้นมแม่อย่างน้อย 6 เดือน ในขณะที่ American Academy of Pediatrics แนะนำว่าควรให้นมแม่อย่างน้อย 1 ปี แต่โดยทั่วไปคือ ให้นมแม่จนกว่าลูกจะมีน้ำหนักตัว 4 เท่าของแรกคลอด เช่น แรกคลอดมีน้ำหนัก 3 กิโลกรัม 4 เท่าก็คือ 12 กิโลกรัม ซึ่งเฉลี่ยแล้วเท่ากับอายุ 2 ขวบ
อาการจี๊ดที่เต้านมตอนลูกดูดนมในช่วงแรกเกิดจากอะไร?
อาการจี๊ดที่เต้านมเกิดจากฮอร์โมนหลังคลอดที่ชื่อว่า โพรแลคติน ซึ่งจะผลิตออกมามากในช่วงเดือนแรกหลังคลอด เพราะร่างกายไม่รู้ว่าลูกต้องการนมในปริมาณมากน้อยแค่ไหน จึงผลิตน้ำนมออกมามาก เมื่อน้ำนมวิ่งผ่านท่อน้ำนมจึงเกิดการพุ่งออกมา ทำให้เกิดอาการเจ็บจี๊ดนั่นเอง อาการนี้จะค่อยๆ หายไปเอง ไม่ต้องกังวล
Must read : เคล็ดลับ ทำจี๊ด !!เพิ่มน้ำนมคุณแม่ให้ไหลมาเทมา (มีคลิป)
ลูกแฝด น้ำนมจะมาเพิ่มเป็นสองเท่าหรือไม่?
เป็นไปตามกลไกทางธรรมชาติ ร่างกายจะเรียนรู้เองว่ามีน้ำนมพอสำหรับลูกหนึ่งหรือสองคน แต่หากเป็นแฝดสาม สี่ หรือห้า อาจต้องปรึกษาศูนย์น้ำนมแม่ตามโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อขอคำแนะนำการให้น้ำนมให้เพียงพอต่อลูกแต่ละคน
Must read : อยากได้ลูกแฝดต้องทำอย่างไร?
ปัญหาจากการให้นมลูกมีอะไรบ้าง?
เวลาให้นมลูกอาจมีปัญหา เช่น เต้านมคัด ท่อน้ำนมอุดตัน เต้านมอักเสบ หัวนมแตก สาเหตุส่วนมากเกิดจากการให้นมไม่ถูกท่า หรือปล่อยให้น้ำนมค้างอยู่ในเต้านานเกินไป วิธีป้องกันคือควรปั๊มนมทุก 2-3 ชั่วโมง ต้องมีวินัย อย่าปล่อยทิ้งไว้เด็ดขาด หากมีอาการไม่มากแพทย์มักแนะนำให้ประคบร้อนและนวดบ่อยๆ แต่หากเป็นมากก็อาจต้องใช้คลื่นความถี่ที่ทำให้เกิดความร้อนประมาณ 42 องศาเซลเซียสจากเครื่องอัลตร้าซาวด์ช่วยรักษาร่วมกับการนวด อีกอาการที่คุณแม่เป็นกันมากคือ white dot ซึ่งก็คือการมีน้ำนมอุดคาอยู่ตรงหัวนม ทำให้น้ำนมไม่ไหลและจับตัวเป็นก้อน ต้องใช้การสะกิดออกจึงจะหาย แต่ทั้งนี้ควรมาพบแพทย์เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้องจะดีที่สุด
รู้หรอไม่
การดูดนมจากเต้าช่วยลดการเกิดภาวะฟันสบกันไม่ดีของลูก และการใส่เหล็กดัดเพื่อจัดฟันใหม่ในเด็กโต
การให้นมแม่ด้วยตัวของเราเองสำคัญมาก เพราะลูกจะได้รับสิ่งที่หาจากที่อื่นไม่ได้ สำคัญที่สุดคือความสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกที่เกิดขึ้นระหว่างให้นม การกินนมแม่อาจไม่เห็นผลวันนี้หรือพรุ่งนี้ แต่ในอนาคตเป็นเรื่องที่เราไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้ คุณแม่ต้องอดทนและผ่านความยากลำบากไปให้ได้ การให้นมแม่ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ละคนก็มีปัญหาต่างๆ มากมาย แต่ถ้าคุณแม่ทำได้ สิ่งที่ลูกของเราได้รับนั้นคุ้มค่าจริงๆ
อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก!
- ฮอร์โมนแห่งการเสียสละของแม่ พิสูจน์แล้วจากการวิจัย
- สัญชาตญาณการดูดนมแม่ของทารก
- เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ : 10 เรื่องอะไร ควรทำ ไม่ควรทำ ช่วงให้นมลูก
- ประโยชน์คับเต้านมแม่ทำอะไรได้มากกว่าที่คิด
บทความโดย : กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.nommaeshop.com