เต้านมเป็นแหล่งแรกและแหล่งเดียวที่ผลิตอาหารที่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อย โดยธรรมชาติของร่างกายคุณแม่จะสร้างระบบการทำงานของเต้านมให้มีพัฒนาการเตรียมความพร้อมในการผลิตน้ำนมเป็นระยะ ตั้งแต่ตั้งครรภ์ ก่อนคลอด จนกระทั่งหลังคลอด โดยช่วงแรกของการตั้งครรภ์ เต้านมจะเริ่มขยาย และลานนมเริ่มมีสีเข้มขึ้น จากนั้นต่อมน้ำนมจะสร้างสารคัดหลั่ง และเมื่อหลังคลอดที่คุณแม่เริ่มให้ลูกดูดนมได้สัก 2-3 วัน เต้านมก็จะเริ่มผลิตน้ำนมออกมาสมบูรณ์แบบ ซึ่งในแต่ละระยะก็จะมีปัญหาที่แตกต่างกันออกไป อย่างเช่นปัญหา เต้านมอักเสบ ในช่วงหลังคลอด ที่นำมาเสนอในวันนี้
ก้าวเข้าสู่ภาวะ เต้านมอักเสบ ได้อย่างไร
ช่วงหลังคลอด ต่อมน้ำนมจะผลิต “หัวน้ำนมหรือน้ำนมเหลือง” ที่อุดมไปด้วยประโยชน์สำหรับลูก และหลังจากคลอด 2-3 วัน จึงจะเริ่มผลิตน้ำนมออกมาอย่างเต็มที่ และช่วงนี้แหละที่คุณแม่อาจเกิดภาวะคัดเต้าจากน้ำนมค้างเต้านานเกินไป หรือบางครั้งผลิตออกมาแต่ถูกระบายออกไม่หมด จึงทำให้เกิดท่อน้ำนมอุดตัน และเป็นสาเหตุของเต้านมอักเสบตามมา
เต้านมอักเสบติดเชื้อได้อย่างไร
เต้านมอักเสบ เกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ แต่สาเหตุหลัก ๆ ที่มักจะเกิดกับคุณแม่หลังคลอดก็คือ การอุดตันของท่อน้ำนมจนบวม แดง และอักเสบ เนื่องจากต่อมน้ำนมสร้างน้ำนมออกมาเต็มที่ แต่ไม่ได้ถูกระบายออก ทั้งจากที่ลูกไม่ยอมดูด น้ำนมมากแล้วแต่ไม่ได้ปั๊มนมออก หรือการเคลียร์เต้าไม่หมด ทำให้มีน้ำนมค้างเต้าเป็นเวลานานเกินสัปดาห์ จับตัวเป็นก้อนไขมัน จนเต้านมตึงแน่น ส่งผลให้การทำงานภายในท่อน้ำนมเกิดความผิดปกติ เนื้อเยื่อรอบ ๆ เกิดการอักเสบ และหยุดผลิตน้ำนมในที่สุด
ส่วนอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เต้านมอักเสบก็คือ การติดเชื้อจากผิวหนังบริเวณเต้านม เช่น เป็นแผลที่หัวนมจากการดูดหรือกัด หัวนมแตก แผลจากการกดทับ รอยถลอก เนื่องจากในน้ำนมเป็นแหล่งอาหารที่ดีของเชื้อโรคด้วยเช่นกัน สังเกตได้จากนมแม่เมื่อออกมาเจออากาศภายนอกจะเสีย ดังนั้น หากดูแลทำความสะอาดบริเวณเต้านมไม่ดี เชื้อโรคหรือเชื้อแบคทีเรียก็จะเข้ามาตามหัวนม ท่อน้ำนม และบาดแผลต่าง ๆ ทำให้เกิดการอักเสบได้ง่าย
เมื่อเป็นเต้านมอักเสบแล้ว หากไม่รีบรักษาอาจลุกลามกลายเป็นฝี ซึ่งอันตรายและรักษายากยิ่งขึ้น โดยอาการฝีที่เต้านมพัฒนามาจากการติดเชื้อเพียงเล็กน้อย แต่ถูกมองข้ามและไม่ได้รักษาอย่างถูกวิธี ทำให้เกิดหนองใต้ผิวหนัง และมีสีคล้ำช้ำเลือดช้ำหนองที่เต้านม หากฝีแตกก็จะมีน้ำเหลืองไหลออกมาจากเต้านมได้ด้วย ดังนั้น หากเริ่มมีอาการเจ็บ ตึง หรือคัดเต้า ควรรีบหาสาเหตุและแก้ไขอย่างเร่งด่วน ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ สัญญาณบอกว่าเต้านมของคุณกำลังอักเสบ คลิกหน้า 2
สัญญาณบอกว่าคุณกำลังเป็น เต้านมอักเสบ
อาการที่ส่งสัญญาณให้คุณแม่รู้ว่าตัวเองกำลังเข้าสู่ภาวะเสี่ยงต่อการเป็นเต้านมอักเสบ แบ่งได้เป็นระยะ ดังนี้
- ระยะเริ่มต้น เกิดอาการคัด หรือมีรอยแผลเล็กน้อยที่เต้านม เช่น หัวนมแตก แผลจากการกดทับ แผลถลอกที่เต้านม ซึ่งคุณแม่อาจจะรู้สึกเจ็บแต่ยังไม่รู้สึกกังวลอะไร
- ระยะที่สอง เริ่มมีการติดเชื้อภายใน ซึ่งอาการที่สังเกตได้ชัดเจน เช่น เต้านมบวม แดง ร้อน คลำพบก้อนเป็นไตแข็ง ๆ จับแล้วรู้สึกเจ็บ และอาจมีไข้จากอาการอักเสบร่วมด้วย
- ระยะสุดท้าย เกิดการอักเสบมากจนกระทั่งหนองแตก หรือเกิดแผลติดเชื้ออักเสบรุนแรง จนเต้านมเปลี่ยนสีและเปลี่ยนรูป ซึ่งในการรักษาอาจต้องใช้การผ่าตัดกรีดหนอง หรือใช้เข็มเจาะดูดหนองร่วมด้วย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ เรื่องควรรู้ ถ้าไม่อยากเป็นเต้านมอักเสบ คลิกหน้า 3
เรื่องควรรู้ ถ้าไม่อยากเป็นเต้านมอักเสบ
พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ด้านทารกแรกเกิดและคณะกรรมการสมาพันธ์เครือข่ายนมแม่แห่งประเทศไทย ได้ให้คำแนะนำในการป้องกันการอุดตันของท่อน้ำนม จนเกิดภาวะเต้านมอักเสบ ดังนี้
- พยายามศึกษาวิธีการให้นมลูกอย่างถูกต้อง ทั้งท่านั่ง ท่านอน การดูดที่ถูกวิธี และควรให้นมแบบสลับข้างไปมา อย่าให้ดูดข้างใดข้างหนึ่งเพียงข้างเดียว เพราะจะทำให้น้ำนมระบายได้ไม่ดี
- ฝึกปั๊มนม เพื่อช่วยระบายน้ำนมไม่ให้นมคัดและค้างเต้า หรือหากลูกยังดูดไม่เก่งทำให้มีนมค้างเต้า ก็ควรบีบหรือปั๊มออก เพื่อลดอาการน้ำนมจับตัวเป็นก้อนในเต้า
- ฝึกบีบเต้าให้เกลี้ยงด้วยมือ เพราะการใช้เครื่องปั๊มนมเพียงอย่างเดียว อาจเอาน้ำนมออกได้ไม่เกลี้ยงเต้า
- ทำความสะอาดเต้านมทุกครั้งทั้งก่อนและหลังให้นม โดยใช้สำลีเช็ดที่หัวนมและรอบเต้าให้สะอาด และหากเกิดอาการปวดตึงอาจใช้น้ำอุ่นประคบเต้านมเพื่อบรรเทาอาการได้
- เสื้อชั้นในมีผลต่อการกดทับของเต้านม ควรเลือกเสื้อชั้นในที่ไม่คับจนเกินไป
- อย่ากินอาหารหวาน มัน หรือจำพวกแป้ง น้ำตาลมากเกินไป เพราะเป็นตัวการสำคัญทำให้ท่อน้ำนมอุดตันได้ง่าย ควรกินอาหารที่มีสารเลซิทินเป็นส่วนประกอบ เช่น ไข่แดง ถั่วเปลือกแข็ง ตับ ปลา และธัญพืช หากเต้านมเริ่มมีเม็ดไตแข็ง ๆ ให้กินเลซิทินขนาด 1,200 มก. ทั้งเช้าและเย็น ครั้งละ 1 เม็ด เพราะสารเลซิทินจะไปช่วยละลายก้อนไขมันที่เกาะบริเวณใต้ผิวภายในเต้านม แต่ถ้าลูกแพ้ถั่วเหลือง แต่ไม่แพ้เมล็ดดอกทานตะวัน ให้คุณแม่เลือกกินเลซิทินที่ทำจากเมล็ดดอกทานตะวันทดแทน
เต้านมอักเสบอีกหนึ่งอาการที่มักเกิดกับคุณแม่หลังคลอด แม้ว่าจะไม่ร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต แต่ก็ทำให้เจ็บปวดทรมานได้ไม่แพ้โรคอื่น ๆ เพียงคุณแม่หมั่นระบายน้ำนมออกจากเต้าอย่างสม่ำเสมอ และเลือกกินอาหารที่ไม่ทำให้เกิดท่อน้ำนมอุดตันได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นคุณแม่มือใหม่หรือมือเก๋า ก็ห่างไกลจากภาวะเต้านมอักเสบได้อย่างแน่นอน
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
ศ.ฉี ฮุ่ยหลาน คลินิกหัวเฉียวไทย-จีน แพทย์แผนไทย.โรคทางเต้านม.
รศ.นพ.ศุภกร โรจนนินทร์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล.เต้านมในระหว่างตั้งครรภ์.
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์.ฝีที่เต้านม จิ้มเข็มดูด จิ้มเข็มดูดลูกเดียว อย่ารีบผ่า.
พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ.วิธีแก้ไขเมื่อมีอาการเต้านมอักเสบเป็นไต.
อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก!
5 STEPS! เรียกน้ำนมเพื่อลูกน้อย
ลูกติดเชื้อ เพราะดูดนมผิดวิธีจริงหรือไม่?
เทคนิค การเก็บรักษานมสต็อก ให้ลูกได้กินนมแม่นานถึง 2 ขวบ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่