น้ำนมน้อย นมแม่ไม่พอ สาเหตุความเครียดอันดับต้น ๆ ของคุณแม่มือใหม่ เพราะความเข้าใจผิดคิดว่า ตัวเองมีน้ำนมไม่พอ เมื่อลูกดูดแล้วนมจึงไหลน้อยไม่สม่ำเสมอ ทำให้ลูกส่งเสียงร้องตลอดเวลา จนบางครั้งต้องหานมผงมาชงเสริม เพราะกลัวลูกไม่อิ่ม แท้ที่จริงแล้วความเข้าใจนี้ถูกต้องหรือไม่ เรามีข้อมูลเพื่อไขข้อข้องใจมานำเสนอค่ะ
นมแม่เกิดขึ้นได้อย่างไร
พญ.ยุพยง แห่งเชาวนิช คุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านนมแม่ แห่งมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ได้อธิบายเกี่ยวกับกระบวนการและกลไกการสร้างน้ำนมไว้ว่า เมื่อตั้งครรภ์เต้านมจะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งรูปร่าง ขนาด และระบบต่อมต่าง ๆ ภายในเต้านม เพื่อเตรียมพร้อมในการผลิตน้ำนม โดยช่วงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก จะเริ่มมีการสร้างฮอร์โมนต่าง ๆ เพื่อเตรียมผลิตน้ำนม ท่อนมจะงอกและแตกแขนงออก และกลายเป็นต่อมน้ำนมที่มารวมตัวกันอยู่บริเวณเต้านม ในช่วง 4-6 เดือนจะเริ่มมีการกระตุ้นให้เกิดการสร้างน้ำนมขึ้น จนถึงช่วงตั้งครรภ์ระยะสุดท้ายประมาณ 7-8 เดือน เต้านมจะมีขนาดใหญ่และมีน้ำหนัก 400-600 กรัม เพื่อรองรับน้ำนม แต่ด้วยกลไกตามธรรมชาติ น้ำนมที่ถูกสร้างจะถูกฮอร์โมนกดไว้ไม่ให้ไหลออกมาจนกว่าจะคลอด
หลังจากคลอด การผลิตน้ำนมจะไม่ได้เกิดจากการควบคุมจากฮอร์โมนอีกต่อไป คุณแม่ต้องหมั่นกระตุ้นให้ต่อมน้ำนมทำงานอย่างสม่ำเสมอด้วยตนเอง เพื่อให้ร่างกายผลิตน้ำนมได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการดูดของลูก การบีบ หรือการปั๊มนม โดยในช่วง 2-3 วันแรกหลังคลอด คุณแม่อาจจะรู้สึกคัดตึงเต้านมเนื่องจากต่อมน้ำนมเริ่มผลิตน้ำนม และมีเลือดไหลเวียนเข้ามาในเต้านมเพิ่มขึ้น หากไม่ได้รับการกระตุ้นก็จะทำให้กลไกการผลิตน้ำนมไม่สมบูรณ์ การผลิตน้ำนมของคุณแม่ก็จะช้าลงและผลิตน้ำนมได้น้อยลงตามลำดับ
อกเล็กนมน้อย จริงหรือไม่
ปริมาณการกักเก็บน้ำนมกับขนาดเต้านมของคุณแม่แต่ละคนแตกต่างกัน แต่ไม่ได้หมายความว่า คนที่มีขนาดเต้านมใหญ่จะมีน้ำนมมากกว่าคนเต้านมเล็กเสมอไป หากเข้าใจกลไกการผลิตน้ำนมและรู้หลักการดูแลเต้านมด้วยตนเอง เช่น หากเต้านมเต็มต้องระบายน้ำนมออก นมค้างเต้าต้องเคลียร์เต้า มีวินัยในการปั๊มนมออกอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าคนอกเล็กหรือใหญ่ก็สามารถมีน้ำนมเพียงพอในการเลี้ยงลูกได้เหมือนกัน
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ น้ำนมพอหรือไม่ ดูจากอะไร คลิกหน้า 2
น้ำนมพอหรือไม่ ดูได้จากอะไร
การที่รู้ว่าน้ำนมเพียงพอสำหรับลูกหรือไม่ มีวิธีการสังเกตง่าย ๆ ดังนี้ ก่อนคิดว่า นมแม่ไม่พอ
- สังเกตจากลักษณะการดูดของลูก โดยทั่วไปแล้วหากลูกดูดนมจนอิ่ม จะคายหัวนมออกเองและบางครั้งก็หลับไป แต่หากยังมีน้ำนมค้างเต้า คุณแม่ต้องปั๊มออกให้หมดหรือเคลียร์เต้า เพื่อกระตุ้นให้เกิดกลไกการผลิตน้ำนมต่อไป
- ลูกปัสสาวะวันละ 6-8 ครั้ง และมีสีเหลืองอ่อนใส ในกรณีที่ให้กินนมแม่เพียงอย่างเดียว
- สังเกตความถี่และปริมาณอุจจาระของลูก ในช่วงสัปดาห์แรกควรถ่าย 2-3 ครั้งต่อวัน โดยจะมีสีเหลือง ลักษณะนิ่ม หากเป็นสีน้ำตาลบ่งบอกว่ากินนมแม่ไม่เพียงพอ เมื่ออายุ 1-4 สัปดาห์ จะถ่ายมากขึ้นคือเฉลี่ย 5 ครั้งต่อวันหรือมากกว่านั้น และเริ่มเว้นระยะการถ่ายเป็นวันละ 1 ครั้งหรือหลายวันครั้ง เมื่อโตขึ้น
- อารมณ์ดี ไม่งอแง นอนหลับดี ในช่วงเดือนแรกจะตื่นมาดูดนมทุก 1-2 ชั่วโมง และขยับเวลาเป็น 2-3 ชั่วโมง
- น้ำหนักตัวและส่วนสูงของลูกเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด
บทความแนะนำ สี ปัสสาวะ บอก โรค ได้อย่างไร?
บทความแนะนำ สี อุจจาระ ทารก บอกอะไรได้บ้าง ?
วิธีกระตุ้นน้ำนมที่ถูกต้อง
การกระตุ้นน้ำนมเพื่อให้กระบวนการผลิตน้ำนมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ต้องอาศัยเทคนิคและความเข้าใจที่ถูกต้อง รวมทั้งความอดทนของคุณแม่ เพื่อผลิตอาหารที่ดีที่สุดสำหรับลูก โดยวิธีการกระตุ้นน้ำนมสามารถทำได้ ดังนี้
- หลัก 3 ดูด เป็นเทคนิคช่วยกระตุ้นน้ำนมที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ได้แก่ ดูดเร็ว คือ การให้ลูกดูดนมทันทีหลังคลอด ดูดบ่อย คือ ให้ดูดนมทุก 2-3 ชั่วโมงต่อครั้ง และดูดถูกวิธี คือ จัดท่าทางและลักษณะการดูดที่ถูกต้อง
- การเคลียร์นมเกลี้ยงเต้า เป็นการระบายน้ำนมออกจากเต้านม เพื่อให้มีพื้นที่ในการผลิตน้ำนมใหม่ตลอดเวลา โดยที่ไม่ให้มีน้ำนมคั่งค้างในเต้าหรือเกิดอาการคัดเต้า หากเต้ามีน้ำนมเต็มอยู่บ่อย ๆ อาจทำให้การผลิตน้ำนมน้อยลง และปริมาณนมในเต้าก็จะลดลงไปเรื่อย ๆ
- การดูดนม ปั๊ม หรือบีบ อย่างสม่ำเสมอ การกระตุ้นด้วยวิธีการเหล่านี้จะช่วยให้กระบวนการผลิตน้ำนมมีประสิทธิภาพ และผลิตน้ำนมได้สม่ำเสมอ โดยในปัจจุบันมีอุปกรณ์การบีบและปั๊มนม ที่จะช่วยย่นระยะเวลาในการระบายน้ำนม แถมยังเก็บน้ำนมไว้สำรองได้อีกด้วย
- การประคบน้ำอุ่น ก่อนให้นม กระตุ้นเต้านมด้วยการนวดเต้านมและประคบผ้าอุ่นที่เต้าประมาณ 3-5 นาที ก่อนให้นมจะช่วยให้น้ำนมไหลได้ดีขึ้น และลดอาการปวด ตึง คัดเต้านม ทำให้เลือดบริเวณเต้านมไหลเวียนได้ดีอีกด้วย
- การรับประทานอาหารถูกหลักโภชนาการ คุณแม่ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และนึกอยู่เสมอว่า สิ่งที่คุณรับประทานไป ลูกจะได้รับสารอาหารเหล่านั้นจากน้ำนมของคุณด้วย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ Do & Don’t ด้วยวิธีธรรมชาติเพื่อน้ำนมเพียงพอ คลิกหน้า 3
Do & Don’t ด้วยวิธีธรรมชาติเพื่อน้ำนมเพียงพอสำหรับคุณแม่ให้นมบุตร
จากการศึกษา Do & Don’t สำหรับคุณแม่ให้นมบุตร สามารถดูแลตนเองได้ด้วยวิธีธรรมชาติที่แสนง่ายดาย นำมาปรับใช้ให้เหมาะกับกิจวัตรของแต่ละคน และสนุกกับเมนูอาหารสร้างสรรค์ได้ด้วยตนเอง เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงของคุณแม่และได้น้ำนมที่มีคุณภาพสำหรับลูกน้อย
- Do : ผัก ผลไม้ และอาหารธรรมชาติ เป็นอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินและเกลือแร่ที่จำเป็นต่อลูกและตัวคุณแม่ทั้งสิ้น ควรกินสับเปลี่ยนหมุนเวียนให้หลากหลาย เช่น มะละกอ ช่วยในการระบายและกระตุ้นน้ำนม เม็ดขนุนต้มสุก ฟักทอง มีโปรตีน เกลือแร่ และวิตามิน ช่วยเพิ่มน้ำนมและขับน้ำนม ผักโขม มีโปรตีนสูงและช่วยขับน้ำนมได้ดี
- Do : ธัญพืชไม่ขัดสี และถั่วเมล็ดแห้ง เช่น ข้าวเจ้า ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ถั่วเปลือกแข็ง งาดำเมล็ดฟักทอง เมล็ดทานตะวัน เมล็ดแฟลกซ์ เพราะในอาหารจำพวกธัญพืชมีน้ำตาลที่ชื่อบีตา-กลูแคน ช่วยเพิ่มการหลั่งของน้ำนม แต่หากคุณแม่หรือคนในครอบครัวเคยมีอาการแพ้ถั่วลิสงก็ควรหลีกเลี่ยง
- Do : โปรตีนจากเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อไก่ ปลา อาหารทะเลต่าง ๆ ควรกินสลับสับเปลี่ยนกัน เพื่อความหลากหลายและลดความเสี่ยงในการแพ้อาหาร และการได้รับสารพิษตกค้าง
- Do : พืชสมุนไพรเพิ่มน้ำนม เช่น น้ำขิง ใบกะเพรา ใบแมงลัก หัวปลี มะรุม ตำลึง เป็นต้น คุณแม่หลายคนอาจจะไม่ชอบทานผักสมุนไพร ลองเปลี่ยนมาทำเมนูสร้างสรรค์ตามสไตล์คุณแม่ก็สนุกไปอีกอย่าง
- Don’t : หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูปและแต่งสีกลิ่นรสมากเกินไป เช่น อาหารสำเร็จรูป ขนมปัง เบเกอรี ที่มีปริมาณไขมันค่อนข้างสูง เพราะจะไปรบกวนการสร้างไขมันที่จำเป็นในการเจริญเติบโตของลูก
- Don’t : หลีกเลี่ยงอาหารที่ก่อให้เกิดแก๊สในท้อง ซึ่งจะทำให้ลูกปวดท้องได้ เช่น อาหารรสเผ็ด กะหล่ำปลี หอมหัวใหญ่ และถั่ว ซึ่งอาหารเหล่านี้อาจจะไม่ส่งผลต่อคุณแม่บางราย จึงควรสังเกตอาการผิดปกติของลูกหลังดูดนม
- Don’t : คาเฟอีน ใน ชา กาแฟ ช็อกโกแลต โกโก้ น้ำอัดลม ที่คุณแม่ดื่มอาจส่งผลให้ลูกนอนไม่หลับ และการทำงานของหัวใจผิดปกติได้
น้ำนมน้อย นมแม่ไม่พอ เป็นเพียงความเข้าใจผิดที่คุณแม่คิดไปเองทั้งสิ้น เพราะธรรมชาติได้สรรค์สร้างและออกแบบกลไกการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย เพื่อให้คุณแม่ทุกคนสามารถผลิตน้ำนมได้เพียงพอสำหรับเลี้ยงลูกน้อยอยู่แล้ว หากคุณแม่เข้าในกระบวนการผลิตน้ำนมจากเต้านมอย่างถูกต้อง ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างถูกวิธี ดูแลตนเองอย่างดี และเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ มั่นใจได้เลยค่ะว่า คุณแม่จะมีน้ำนมมากพอสำหรับดูแลลูกให้เติบโตอย่างฉลาดและแข็งแรงอย่างแน่นอน
อ่านต่อ บทความน่าสนใจ คลิก!
นมแม่ ช่วยสร้างสมองลูก โต 20-30%
อยาก ให้นมแม่ สำเร็จ แม่ต้องสตรอง และห้ามท้อ
ถึงเป็น เวิร์คกิ้งมัม ก็บริหารจัดการนมแม่ได้
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย.ให้ลูกดูดนมจากเต้า จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกได้รับนมเพียงพอแล้ว?
พญ.ยุพยง แห่งเชาวนิช.กายวิภาคของเต้านม และกลไกการสร้างและหลั่งน้ำนม.
http://www.breastfeedingthai.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=568080.
รวมบทความแก้ปัญหานมไม่พอ.
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่