เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดียังไง? … เพราะ นมแม่ เป็นที่ยอมรับกันในวงการแพทย์และโภชนากรทั่วโลกแล้วว่า เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารกในระยะแรก ด้วยนมของสัตว์ชนิดใดก็เหมาะกับความเจริญเติบโตของลูกสัตว์ชนิดนั้น นมของวัวจึงเหมาะกับลูกวัว และนมคนก็เหมาะกับลูกคน ดังนั้นถ้าไม่มีความจำเป็นจริงๆ หรือแพทย์ห้ามแล้ว ควรให้ลูกดื่มนมของตนเอง
เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะ “นมแม่” สกัดกั้นเชื้อโรคได้
นมแม่ มีประโยชน์มหาศาลสำหรับลูกน้อย เพราะเป็นทั้งแหล่งอาหารและภูมิคุ้มกันสำคัญที่ทำให้ลูกแข็งแรงอีกด้วย และคุณค่าทางอาหารนั้น ยังคงค่าอยู่ไม่ลดลงตลอดไป จนสามารถใช้เลี้ยงทารกได้อย่างน้อย 1-2 ปี หรืออาจนานกว่านั้น
ปกติ นมแม่ ในระยะ 6 เดือนแรกหลังคลอดจะมีปริมาณ 850 มิลลิลิตรต่อวัน และในน้ำนมนั้นจะมีสารอาหารต่างๆ ตั้งแต่ โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรท เกลือแร่ และวิตามินครบถ้วนเพียงพอกับความต้องการของทารกในระยะ 4-6 เดือนแรก จะขาดหายไปบ้างก็อาจเป็นธาตุเหล็ก วิตามินซี และวิตามินดี น้ำนมแม่จึงมีคุณค่าทางอาหารและมีจำนวนแคลอรี่เหมาะสมกับทารกมากที่สุด ฉะนั้นการเลี้ยงทารกด้วยนมแม่ให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ จะเป็นวิธีการสำคัญในการป้องกันโรคขาดอาหารในทารกได้
แต่สำหรับคุณแม่ที่ให้นมลูกนานๆ อาจเจอคำถามนี้ก็ได้ >>
“ยังให้ลูกกินนมแม่อยู่อีกเหรอ จนลูกเดินได้แล้ว นมแม่จะยังจะมีอะไรดีอีกล่ะ?”
มีคุณแม่ให้นมหลายคน อาจเคยได้ยินคำถามนี้ ซึ่งอาจฟังดูเป็นคำถามเชิงทักทายที่คนพูดอาจจะไม่ได้คิดอะไรมาก แต่คนฟังจะมีปฏิกิริยาแตกต่างกันไป ขึ้นกับความเชื่อมั่น ความรู้ความเข้าใจเรื่องนมแม่ และ อุเบกขา (ความวางเฉยแบบวางใจเป็นกลางๆ โดยไม่เอนเอียงเข้าข้าง) ที่มีต่อคนถาม
ซึ่งสำหรับคุณแม่ที่มีความเชื่อมั่นเต็มเปี่ยม หาข้อมูลพร้อม และเลือกที่จะให้นมแม่นานๆ ด้วยความเต็มใจ ก็คงจะไม่มีความสั่นคลอนในความมุ่งมั่นนี่ เธอคงจะยืดอกขึ้นแล้วกล่าวด้วยความภาคภูมิใจว่า
“ค่ะ ยังจะให้ไปจนลูกเข้าอนุบาลเลยล่ะค่ะ อย่างน้อยก็ช่วยให้หายเจ็บป่วยเร็ว เพราะ นมแม่ มีเซลล์ช่วยจับกินเชื้อโรคแล้วก็มีภูมิต้านทานโรคด้วย”
และถ้าคนถามยังไม่เป็นลมไปเสียก่อน ก็อาจจะถามต่อว่า “เธอรู้ได้ไง ?”
“อ๋อ! ก็ดูจากลูกของฉันเองนี่ไง อาทิตย์ที่แล้วทั้งปู่ย่า พ่อแม่ เป็นหวัดกันงอมแงม แต่ลูกฉันน้ำมูกไหลนิดหน่อยวันสองวันก็หายแล้ว “
โดยทางเพจ มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องผลวิจัยของนมแม่ ซึ่งสามารถสกัดกั้นเชื้อโรค ไว้ดังนี้…
ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะ เต้านมแม่ผลิตสารภูมิต้านทานชนิด SIgA ที่เฉพาะเจาะจงต่อเชื้อที่แม่เคยได้รับ แล้วส่งออกมากับน้ำนมค่ะ ลูกที่ดูดนมแม่จึงได้ภูมิต้านทานเข้าไปทุกวัน จึงไม่ป่วย หรือป่วยก็หายเร็วกว่า ผู้คนก็คงจะงุนงงและสงสัยว่าเป็นไปได้อย่างไรกัน และอยากจะพิสูจน์ให้เห็นกันจะจะไปเลย
โดย ผู้ใช้เฟสบุ๊คท่านหนึ่งที่ชื่อ Vicky Greene ก็คงจะสงสัยเช่นเดียวกันค่ะว่า น้ำนมแม่จะสกัดกั้นเชื้อโรคได้จริงหรือไม่ และเนื่องจากเธอเป็น นักศึกษาชีววิทยาชั้นปีที่ 1 ที่ South Devon College เธอจึงตัดสินใจศึกษาคุณสมบัติของน้ำนมแม่ ที่มาจากแม่ที่มีลูกอายุต่างๆกัน ว่าจะหยุดยั้งการเติบโตของเชื้อโรคได้แตกต่างกันหรือไม่
ในการศึกษาทางจุลชีววิทยา ผู้วิจัยจะใช้จานเพาะเลี้ยงที่มีอาหารให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ ใส่เชื้อแบคทีเรีย ลงไป. (การทดลองนี้ใช้เชื้อ M. Luteus ) วางแผ่นกลมๆที่ชุบน้ำนมแม่จนชุ่ม ไว้ตรงกลางจานเพาะเชื้อนี้ จานแรก ( BmA) ใช้น้ำนมจากแม่ที่มีลูกอายุ 15 เดือน จานที่ 2 (BmB) ใช้น้ำนมจากแม่ที่มีลูกอายุ 3 ปี
เมื่อเวลาผ่านไป กลับไปดูจานเพาะเชื้อ ถ้าน้ำนมแม่สกัดกั้นเชื้อไม่ได้ เชื้อก็จะเติบโตลามเข้ามาถึงแผ่นตรงกลางจานได้ แต่ถ้าสกัดได้ก็จะเห็นวงใสๆรอบตำแหน่งที่เชื้อหยุดการเติบโต
ผลการทดลองออกมาน่ามหัศจรรย์มากเลยค่ะ จานเพาะเชื้อมี่มีแบคทีเรียขุ่นขาวทั้งจาน กลับมี วงใสๆรอบแผ่นน้ำนมแม่! นั่นแสดงว่า โปรตีนชนิดใดชนิดหนึ่งในน้ำนมแม่ เป็นตัวหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ M. Luteus และเมื่อนักวิจัย ทำกับเชื้อ E. Coli และ MRSA ( เชื้อ staphylococcus ที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะ ) ก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจเช่นเดียวกัน
การทดลองนี้ แสดงให้เห็นในเบื้องต้นว่า น้ำนมแม่ที่มาจากแม่ที่ให้นมมานาน ถึง 15 เดือน และ 3 ปี ยังมีประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียได้ในห้องทดลอง
น้ำนมแม่ที่แม่ผลิตมานานเป็นปีๆ ไม่ได้ลดทอนคุณภาพลงเลยแม้แต่น้อยค่ะ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเด็กที่กินนมแม่จึงเจ็บป่วยน้อยกว่า
อย่าไปเชื่อคำพูดลอยๆ ว่านมแม่เท่านั้นเท่านี้เดือนไม่มีประโยชน์อีกต่อไป เพราะน้ำนมแม่มี คุณสมบัติน่าอัศจรรย์ ที่นมผสมไม่อาจทำเทียมเลียนแบบได้ เช่นนี้เองค่ะ
นมแม่ไม่ใช่เป็นเพียงแค่สารอาหาร แต่ คือ ยาต้านเชื้อโรค
อนาคตช่างสดใส อนาคต คือ นมแม่!
/แอดมินหมอติ๋ม
(Cr.Facebook ของ คุณ Vicky Greene http://www.huffingtonpost.com/entry/people-are-loving-the-results-of-this-breast-milk-petri-dish-experiment_us_589de343e4b094a129ea7815?6xadzpvi และขอบคุณ พญ. กรรณิการ์ บางสายน้อย ที่นำมาเผยแพร่ค่ะ)
ขอบคุณข้อมูลจาก : เพจ มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย
อ่านต่อ >> “ประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่”
คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ประโยชน์ของการ เลี้ยงลูกด้วยนมแม่
√ เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ผลดีต่อสุขภาพของแม่
- ป้องกันภาวะตกเลือดหลังคลอด เนื่องจากทำให้เกิดการกระตุ้นการหลัง hormone oxytocin ทำให้มดลูกกลับสู่สุขภาพปกติเร็วขึ้น
- ช่วยการคุมกำเนิด เนื่องจากกดการทำงานของรังไข่ โดยแม่ที่เลี้ยงนมลูกอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอจะมีโอกาสตั้งครรภ์ในระยะ 6 เดือนแรกหลังคลอดน้อยกว่าร้อยละ 2 แต่หลังจาก 6 เดือนไปแล้วแนะนำให้คุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย
- ช่วยลดน้ำหนักแม่ในระยะหลังคลอด โดยน้ำหนักจะค่อยๆลดประมาณ 0.6-0.8 kg/เดือน เนื่องจากมีการเผาผลาญไขมันที่เก็บสะสมไว้ในระยะตั้งครรภ์ เพื่อใช้ในการสร้างน้ำนม ทำให้แม่กลับมามีรูปร่างที่สวยงามได้เร็ว มีการศึกษาว่า การให้นมแม่ถึงอายุ 1 ปี แม่จะมีน้ำหนักใกล้เคียงกับเมื่อก่อนตั้งครรภ์
- ลดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โดยเฉพาะมารดาที่เป็น GDM ซึ่งกลไกคิดว่าเกิดจากการที่มีน้ำหนักตัวลดลง การเปลี่ยนแปลงสัดส่วน การกระจายของไขมัน และความไวต่อการตอบสนองของอินซูลิน
- ลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูง หากเคยเลี้ยงบุตรด้วยนมแม่นาน 12 เดือนขึ้นไป
- ลดความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุน เนื่องจากการสร้างมวลกระดูกจะสูงมากหลังหยุดให้นมแม่ และจะยังมีผลต่อไปอีก 5-10 ปี
- ลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุผิว กรณีถ้าให้นานกว่า 18 เดือน (แต่ถ้าให้ระยะสั้นๆ จะลดโอกาสการเกิดแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ) มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกและมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะมะเร็งเต้านม ในสตรีวัยที่มีประจำเดือน ยิ่งให้นมนาน ก็ยิ่งมีผลในการป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
√ เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ผลดีต่อสุขภาพทารก
- เสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค โดยการสร้างจุลินทรีย์ประจำถิ่น (Microbial colonization) บนผิวหนังของลูกชนิดเดียวกับแม่ มีสาร prebiotics ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของ Bifidobacterium ในลำไส้ทารก นอกจากนี้ในน้ำนมแม่ยังมีสารนิวคลีโอไทด์หลายชนิด ช่วยทำให้เยื่อบุลำไส้ในลำไส้ทารกเจริญเติบโตเร็ว เพื่อรองรับการสัมผัสกับเชื้อประจำถิ่น การได้รับ sIgA บนบริเวณลานนมซึ่งจะไปดักจับเชื้อโรคบนเยื่อบุผิวลำไส้ และเยื่อบุผิวบนอวัยวะอื่นๆ เช่น ระบบทางเดินหายใจ นอกจากนี้ยังมี T-lymphocyte ทำหน้าที่จับกินเชื้อโรคที่มาเกาะเยื่อบุผิว โดยภาพรวม ทำให้ลดอัตราตายของทารกและเด็ก โดยเฉพาะจากโรคติดเชื้อทางระบบหายใจ และโรคอุจจาระร่วง
- ลดโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ เช่นโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ โรคหืด โดยมีการศึกษาว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 3 เดือน ช่วยลดโอกาสการเกิด atopic dermatitis และโรคหืดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิตินอกจากนี้ยังลดโอกาสการเกิดเป็นเบาหวาน
- เสริมสร้างสมองให้ว่องไวในการเรียนรู้ เพิ่มระดับเชาว์ปัญญา จึงทำให้ทารกเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ มีสุขภาพที่ดี เติบโตสมวัย ในนมแม่จะมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสายโมเลกุลยาว ซึ่งมีความสำคัญมากต่อการเจริญของเนื่อเยื่อประสาทและจอประสาทตาเมื่ออายุ 6 เดือน
นอกจากนี้ ยังเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกตลอดเวลาที่ให้นมบุตร ซึ่งสามารถพัฒนาพฤติกรรมทางสังคม ทารกจะเกิดการเรียนรู้เนื่องจากมีการทำงานของสมองที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าตลอดเวลา นอกจากนี้การให้ลูกได้ดูดนมแม่ จะทำให้มีการหลั่ง oxytocin ในสมองของมารดา มีผลให้มารดาคลายความกังวล ลดความก้าวร้าวและมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางสังคมที่เร็วขึ้น
ข้อเสนอแนะการเลี้ยงดูทารกและเด็ก
ตามนโยบายสาธารณะของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
- ช่วงวัยแรกเกิดถึง 6 เดือนให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว โดยให้ดูดนมแม่เร็วที่สุดหลังเกิดหรือภายใน 1 ชั่วโมงหลังคลอด หลังจากนั้นให้นมลูกบ่อยครั้งตามความต้องการของลูก
- ช่วงอายุ 6-12 เดือนให้นมแม่ร่วมกับอาหารทารกตามวัย
- ช่วงอายุ 1-2 ปี ให้อาหารตามวัย 3 มื้อร่วมกับนมแม่
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!
- เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ : 10 เรื่องอะไร ควรทำ ไม่ควรทำ ช่วงให้นมลูก
- เทคนิคเพิ่มน้ำนมแม่ ให้ลูกมีกินได้นานเป็นปี
- เคล็ดลับ! เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างไรให้สำเร็จ
- อุ่นนมแม่ อย่างไรไม่ให้เสียคุณค่าสารอาหาร?
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.medicine.cmu.ac.th