คุณแม่ที่ให้นมลูกต่างก็ต้องการที่จะมีน้ำนมมากพอให้ลูกกินอย่างน้อย 6 เดือน หรือสามารถทำสต็อกน้ำนมแม่ เพื่อเก็บไว้ให้ลูกกินต่อไปได้นานเป็นปี คุณแม่บางคนมีน้ำนมมาก โดยไม่ต้องพยายามอะไรมากมาย ในขณะที่คุณแม่จำนวนไม่น้อยเป็นกังวลว่า จะมีน้ำนมเพียงพอให้ลูกกินหรือไม่ จึงพยายามสรรหาสารพัด เทคนิคเพิ่มน้ำนมแม่ อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำนมมาก-น้อย ไม่เกี่ยวกับขนาดของเต้านม แต่เกี่ยวกับการดูดนมของลูก และความถี่ในการให้ลูกดูดนมหรือปั๊มนมเป็นหลักค่ะ
บทความแนะนำ กลไกการหลั่งน้ำนมที่แม่มือใหม่ควรรู้!
เทคนิคเพิ่มน้ำนมแม่
ให้ลูกกินนมแม่ ยิ่งนานยิ่งดี เราจึงมี วิธีเพิ่มน้ำนมแม่ ที่จะช่วยทั้งคุณแม่และเจ้าตัวน้อยมีความสุขและมีสุขภาพดีจากการกินนมแม่มาฝาก ดังนี้
-
ลูกดูดบ่อย
ให้นมลูกบ่อยเท่าที่ลูกรู้สึกหิว โดยคุณแม่มือใหม่ต้องหัดสังเกตสัญญาณต่างๆ เมื่อลูกหิวจะกำมือและเริ่มอมกำปั้น ดูดมือตัวเอง เวลานี้เองที่คุณแม่ควรนำลูกเข้าเต้า เขาจะไซ้หาเต้า อ้าปากงับนม และดูดนมจนเกลี้ยง ไม่ควรรอจนลูกร้องไห้นะคะ เพราะการร้องไห้เป็นสัญญาณว่าลูกหิวมากแล้ว แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง และการให้ลูกดูดนมขณะร้องไห้ อาจทำให้เข้าเต้าไม่ถนัด และได้รับน้ำนมไม่เต็มที่ จำไว้เสมอว่า ยิ่งให้ลูกดูดมากเท่าไหร่ ยิ่งมีน้ำนมเพิ่มขึ้นมากเท่านั้นค่ะ
-
ลูกดูดถูกวิธี
ไม่ใช่ดูดแค่หัวนม แต่คุณแม่ต้องแน่ใจว่าลูกอ้าปากกว้างพอที่จะดูดลึกถึงลานนม จึงจะถูกวิธี หากลูกดูดแค่หัวนม เหงือกของลูกจะไปกดที่หัวนม และลิ้นของลูกก็จะถูไปมาที่บริเวณหัวนม ทำให้หัวนมแตกได้ ถ้าเมื่อไรที่คุณแม่รู้สึกเจ็บหัวนมเวลาให้ลูกดูด แสดงว่าวิธีเอาลูกเข้าเต้าไม่ถูกต้อง ทำให้น้ำนมไหลเข้าปากลูกได้น้อย แต่หากลูกดูดนมถูกวิธี นอกจากจะช่วยให้แม่ไม่เจ็บหัวนมแล้ว ยังทำให้ลูกดูดนมแม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
-
เลี่ยงการใช้ จุกหลอก ที่ครอบหัวนม และขวดนม ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ
ยิ่งลูกเข้าเต้าน้อย หัวนมก็ยิ่งถูกกระตุ้นน้อย ทำให้ผลิตน้ำนมได้น้อย คุณแม่จึงควรปรึกษาคลินิกนมแม่ก่อนตัดสินใจใช้ปทุมแก้วสำหรับครอบหัวนม เพราะการที่คุณแม่เจ็บหัวนม อาจเกิดจากการดูดผิดวิธี จึงควรแก้ไขที่ต้นเหตุก่อนค่ะ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ “เทคนิคเพิ่มน้ำนมแม่ ให้ลูกมีกินได้นานเป็นปี” คลิกหน้า 2
-
เชื่อในตัวลูก ไม่ใช่เชื่อนาฬิกา
เด็กแต่ละคนใช้เวลาในการดูดนมไม่เท่ากัน อย่าเอานาฬิกาเป็นตัวตั้งว่าลูกต้องดูดนมนานแค่ไหน เด็กทุกคนมีสัญชาตญาณในการเอาตัวรอด นั่นหมายความว่า เขาจะดูดนมจนกว่าจะอิ่ม คุณแม่ควรให้เวลา ปล่อยให้ลูกได้ดูดนานเท่าที่เขาต้องการ
-
เลี่ยงการเสริมนมผง หลังจากกินนมแม่
หลักการเดิมค่ะ ยิ่งลูกดูดนมน้อย น้ำนมก็ผลิตเพิ่มน้อย ยิ่งลูกกินนมผงมาก อิ่มนาน ก็จะกินนมแม่น้อยลง ร่างกายก็ผลิตน้ำนมแม่น้อยลง ยิ่งไปกว่านั้น การให้ลูกกินนมผงไปเรื่อยๆ เพิ่มโอกาสในการปฏิเสธเต้า ทำให้หย่านมแม่เร็วขึ้นอีกด้วย ซึ่งเป็นปัญหาที่พบบ่อย และเกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ หากลูกฉี่ 6-8 ครั้ง อึ 2 ครั้งภายใน 24 ชม. ถือว่าได้น้ำนมเพียงพอ ไม่จำเป็นต้องเสริมนมผงค่ะ
-
คุณแม่รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
คุณแม่ต้องแน่ใจว่ารับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพราะคุณแม่ที่ให้นมลูกต้องการพลังงาน 2,500 แคลอรี่ต่อวัน มากกว่าผู้หญิงทั่วไป แต่ควรเป็นแคลอรี่คุณภาพจากอาหารที่มีประโยชน์หลากหลายครบห้าหมู่ และไม่ใช่จากอาหารที่ให้พลังงานแต่ไม่มีประโยชน์ในเชิงของสารอาหาร เช่นพวกไขมัน น้ำตาล หรืออาหารแปรรูป
นอกจากนี้ คุณแม่ควรเน้นรับประทานผักใบเขียว ผักสดหลากสี โปรตีน และ ไขมันที่มีประโยชน์ เช่น อโวคาโด ไข่ ปลาแซลมอน เป็นต้น รวมถึงอาหารเพิ่มน้ำนมอย่างหัวปลี ขิง มะละกอ กุยช่าย ผักชีลาง ฟักทอง เม็ดขนุน ผักคะน้า ฯลฯ
อ่านเพิ่มเติม ผักผลไม้เพิ่มน้ำนม 20 ชนิด เพิ่มน้ำนมให้คุณแม่
-
ใช้เนื้อแนบเนื้อ
ลูกน้อยแรกเกิดต้องการคุณแม่ตลอด 24 ชั่วโมง คุณแม่จึงควรพร้อมที่จะให้นมลูก(จากอก)ได้ทุกเมื่อ การได้สัมผัสเนื้อแนบเนื้อกับลูกช่วยในการหลั่งฮอร์โมนออกซิโทซิน หรือที่เรียกว่า ฮอร์โมนแห่งความรัก กระตุ้นให้แม่หลั่งน้ำนมเพื่อเลี้ยงลูกน้อย ช่วงเวลาแห่งความผูกพันนี้ยังเป็นการกระตุ้นให้ลูกดูดนมบ่อยขึ้นอีกด้วย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ “เทคนิคเพิ่มน้ำนมแม่ ให้ลูกมีกินได้นานเป็นปี” คลิกหน้า 3
-
คุณแม่ควรดื่มน้ำเยอะๆ
เพราะนมแม่มีส่วนประกอบของน้ำถึง 90% คุณแม่จึงต้องดื่มน้ำมากๆ เพื่อให้ร่างกายผลิตน้ำนม หากคุณแม่ดื่มน้ำน้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย อาจทำเกิดอาการท้องผูก ริดสีดวงทวาร นอกจากนี้ การขาดน้ำ ยังทำให้คุณแม่ไม่มีแรง และไม่มีสมาธิ คุณแม่ควรดื่มน้ำอุ่น เพื่อกระตุ้นให้น้ำนมไหลดีมากยิ่งขึ้น สำหรับคุณแม่ที่ชอบดื่มน้ำเย็น จะดื่มน้ำเย็นสลับกับการดื่มน้ำอุ่นก็ได้
-
พักผ่อนให้เพียงพอ
สุขภาพของคุณแม่สำคัญอย่างมาก เพราะช่วงหลังคลอดใหม่ๆ คุณแม่ต้องให้นมลูกทุก 2-3 ชั่วโมง แทบจะไม่ได้นอนหลับพักผ่อน แต่อย่างไรก็ดี คุณแม่ควรหาเวลานอนหลับพักผ่อนให้มากเท่าที่จะทำได้ โดยทั่วไปแล้วมักแนะนำให้คุณแม่นอนหลับไปพร้อมกับเจ้าตัวน้อยเลย ส่วนงานอื่นๆ ในบ้านควรปล่อยเป็นหน้าที่คุณพ่อสักพัก
-
มีวินัยในการปั๊มนม
เมื่อลูกกินนมอิ่มแล้ว คุณแม่ควรปั๊มนมต่ออีก 2-5 นาที เพื่อหลอกร่างกายว่าลูกยังคงต้องการน้ำนมอยู่ ร่างกายก็จะผลิตน้ำนมมากขึ้น เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการนั่นเอง ในกรณีที่คุณแม่ต้องทำงานนอกบ้าน ควรปั๊มนมทุก 2-3 ชั่วโมง เพื่อเก็บเป็นนมสต็อก และรักษาระดับการผลิตน้ำนมไม่ให้ลดลง
นอกจากนี้ ตามทฤษฎีกล่าวว่าฮอร์โมนกระตุ้นการหลั่งน้ำนมจะหลั่งดีสุดประมาณตี 2-3 หากคุณแม่ลุกขึ้นมาปั๊มนมช่วงนี้จะปั๊มนมได้เยอะเลยค่ะ แต่ถ้าลูกหลับยาวช่วงกลางคืน แล้วคุณแม่ไม่ได้ตื่นขึ้นมาปั๊มนม หลับยาวตามลูกไปด้วย จะทำให้น้ำนมลดลงอย่างรวดเร็ว และอาจมีปัญหาเต้านมคัด เต้านมอักเสบตามมา
-
ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
หากคุณแม่ประสบปัญหาในการให้นมลูก ให้รีบขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านนมแม่โดยเร็ว อย่าปล่อยไว้นานจนน้ำนมแห้ง และต้องทำการกู้น้ำนม ซึ่งจะยากขึ้นไปอีก หรือคุณแม่บางคนอาจเกิดอาการท้อ จนลงเอยด้วยการให้นมผสมในที่สุด
น้ำนมแม่ จะมีมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูก ยิ่งให้ลูกดูดออกไปมากเท่าไหร่ ร่างกายของคุณแม่ก็จะผลิตน้ำนมขึ้นมามากเท่านั้น ดังนั้น หากคุณแม่สงสัยว่า เจ้าตัวน้อยอาจมีปัญหาในการดูดนม ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านนมแม่ หรือคลินิกนมแม่โดยเร็ว เพื่อแก้ไขปัญหาให้ลูกสามารถดูดนมแม่ได้อย่างราบรื่น ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นการผลิตน้ำนมของคุณแม่ได้ดีที่สุด
ที่มา bellybelly
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่