วิธีล้างอุปกรณ์ปั๊มนมนอกบ้าน สะอาดปราศจากเชื้อโรค - Amarin Baby & Kids
วิธีล้างอุปกรณ์ปั๊มนมนอกบ้าน

วิธีล้างอุปกรณ์ปั๊มนมนอกบ้าน ทำความสะอาดให้ปราศจากเชื้อโรค

account_circle
event
วิธีล้างอุปกรณ์ปั๊มนมนอกบ้าน
วิธีล้างอุปกรณ์ปั๊มนมนอกบ้าน

ใกล้ครบกำหนดลาคลอดแล้ว คุณแม่หลาย ๆ ท่านจำเป็นต้องกลับไปทำงานประจำ ทำให้ระหว่างวันต้องคอยปั๊มนม โดยมีอุปกรณ์คู่ใจที่ต้องพกติดตัวไปทำงานด้วยเสมอสำหรับคุณแม่นักปั๊มก็คือ เครื่องปั๊มนม แต่การจะทำความสะอาดอย่างไรให้ปราศจากเชื้อโรค  มาดู วิธีล้างอุปกรณ์ปั๊มนมนอกบ้าน ที่ถึงแม้จะอยู่นอกบ้านก็ทำความสะอาดอุปกรณ์ปั๊มนมได้ง่าย ๆ

วิธีล้างอุปกรณ์ปั๊มนมนอกบ้าน

ขณะที่ทำงานอยู่คุณแม่จะมีอาการเต้านมคัดตึง จำเป็นต้องปั๊มนมนอกสถานที่หรือปั๊มนมในที่ทำงาน ซึ่งการปั๊มนมระหว่างวันเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยรักษาระดับน้ำนม สังเกตได้ว่าช่วงวันแรก ๆ น้ำนมแม่ที่ปั๊มออกมาจะปั๊มได้เยอะ แต่ถ้าระหว่างที่ทำงานอยู่แม่ไม่ปั๊มนมเลย น้ำนมที่เคยมีก็จะหดหายไปได้ง่าย ๆ

สำหรับคุณแม่ที่ต้องทำงานประจำ เป็นพนักงานออฟฟิศ จำเป็นต้องปั๊มนมนอกสถานที่หรือปั๊มนมในที่ทำงาน อาจมีข้อสงสัยว่า ต้องทำความสะอาดเครื่องปั๊มนมหรือไม่ หรือเก็บกลับมาทำความสะอาดที่บ้านได้ แล้ววิธีทำความสะอาดเครื่องปั๊มนมต้องทำบ่อยแค่ไหน อุปกรณ์ปั๊มนมต้องล้างทุกครั้งหรือเปล่า มาไขคำตอบกันค่ะ

วิธีล้างอุปกรณ์ปั๊มนมนอกบ้าน
วิธีล้างอุปกรณ์ปั๊มนมนอกบ้าน

ปั๊มนมแล้วต้องล้างทำความสะอาดทุกครั้งหรือไม่

หลังจากปั๊มนมเสร็จแล้ว ไม่ควรวางชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์เครื่องปั๊มนมที่สัมผัสกับน้ำนมทิ้งไว้ ควรทำความสะอาด ล้างชิ้นส่วนทั้งหมด เช่น ขวดนม วาล์ว และกรวยปั๊มนม โดยล้างทุกครั้งหลังการใช้งานแต่ละครั้ง เพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อโรค การเก็บรักษานมแม่เพื่อลูกน้อยจะได้สะอาดปราศจากเชื้อโรคให้มากที่สุด

นอกจากการทำความสะอาดให้ปราศจากเชื้อโรคแล้ว ยังต้องใส่ใจเรื่องการเลือกผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทำความสะอาดให้เหมาะสม เตรียมอุปกรณ์ทำความสะอาดให้พร้อม และต้องพิจารณาด้วยว่า ชิ้นส่วนชิ้นไหนที่ควรนึ่งไม่ควรนึ่ง เพราะชิ้นส่วนบางชนิดหากนึ่งบ่อย ๆ อาจทำให้เสื่อมสภาพได้เร็วขึ้น

เตรียมอุปกรณ์ทำความสะอาด

  1. น้ำยาทําความสะอาดขวดนมออร์แกนิก ปราศจากน้ำหอม ปราศจากสารที่ทำให้เกิดการระคายเคืองหรือการแพ้ ทั้งยังต้องเลือกน้ำยาทําความสะอาดแบบ Food Grade เพื่อความปลอดภัยของวัสดุและอุปกรณ์เครื่องปั๊มนม น้ำยาที่ดีต้องขจัดคราบ ไขมันนม ไม่ทำให้ขวดนมมันวาว สามารถล้างกลิ่นคาวนมได้อย่างหมดจด
  2. แปรงล้างขวดนม ต้องใช้ทั้งแปรงเล็กและแปรงใหญ่ เพื่อขจัดคราบทุกซอกทุกมุม
  3. ฟองน้ำล้างจาน
  4. กระบอกฉีดยาหรือไซริงค์
  5. คัตตอนบัด
  6. เตรียมน้ำใส่กาละมังแล้วกดน้ำยาล้างขวดนมประมาณ 3 ปั๊ม หรือตามคำแนะนำของน้ำยาล้างขวดนม
  7. จากนั้นถอดอุปกรณ์เครื่องปั๊มนม สาย กรวยปั๊มสองข้าง เมื่อถอดกรวยปั๊มออก เอาซิลิโคนออก เอาขวดรองน้ำนมและวาลว์ออกมา

วิธีทำความสะอาดอุปกรณ์ปั้มนมอย่างถูกวิธี

  • ก่อนจะเริ่มทำความสะอาดอุปกรณ์ปั้มนม ให้ล้างมือด้วยสบู่และฟอกมือให้ทั่ว เพื่อให้มือสะอาดมากที่สุด
  • สำหรับอุปกรณ์ปั๊มนมที่สัมผัสกับน้ำนม ต้องถอดทุกชิ้นส่วนแล้วล้างผ่านน้ำเพื่อชำระล้างคราบน้ำนมออกทันทีหลังปั๊มนมเสร็จ เนื่องจากโปรตีนในน้ำนมแม่ที่เกาะอยู่บนพื้นผิวของอุปกรณ์ปั๊มนมเป็นแหล่งเจริญเติบโตของแบคทีเรีย โดยล้างน้ำสะอาดเพื่อเอาคราบไขมันนมออกก่อนที่จะล้างน้ำยา
  • นำอุปกรณ์ไปแช่ไว้ในกาละมังที่ผสมน้ำยาล้างขวดนม โดยขวดนมให้ใช้แปรงใหญ่ถูกเข้าไปด้านใน ส่วนด้านนอกให้ใช้ฟองน้ำถูขวดนมให้สะอาด โดยเฉพาะบริเวณปากขวด
  • กรวยปั๊มใช้แปรงใหญ่และแปรงเล็กล้างให้ทั่ว ส่วนรูเล็ก ๆ ให้ใช้คัตตอนบัดชุบน้ำยาล้างขวดนมแล้วถูเข้าไปข้างในจนทั่ว
  • ส่วนวาลว์ที่เรียกกันว่า ลิ้นหรือปากเป็ด ตอนล้างต้องระมัดระวัง เพราะวาล์วขาดได้ง่าย ถ้าขาดแล้วจะทำให้เครื่องปั๊มนมทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพ จึงต้องใช้แปรงเล็กล้างด้านนอกอย่างเบามือ แล้วใช้คัตตอนบัดถูเข้าไปด้านในตามซอกให้หมดจด
  • สายจะล้างเฉพาะตอนน้ำนมเข้า ให้ใช้กระบอกฉีดยา ดูดน้ำยาแล้วใส่ตามรูของสาย ดันน้ำยาเข้าไปหลาย ๆ รอบ อย่าลืมสลับด้านฉีดน้ำยาเข้าไปทั้งสองด้าน
  • ล้างอุปกรณ์ปั๊มนมด้วยน้ำให้สะอาด ควรล้างอย่างน้อย 2 น้ำ
  • การล้างอุปกรณ์ต้องทำความสะอาดให้ครบทุกจุด ไม่มีคราบมันวาว มีกลิ่นหอมสะอาด ปราศจากกลิ่นคาวนม

ฆ่าเชื้ออุปกรณ์ปั๊มนม

หลังทำความสะอาดเรียบร้อย ไม่ใช่ว่าจบแล้วนะคะ ต้องฆ่าเชื้ออุปกรณ์ปั๊มนมให้สะอาดมากที่สุด โดยมีวิธีที่คุณแม่เลือกใช้ได้ดังนี้

  • นำอุปกรณ์ปั๊มนมไปนึ่งฆ่าเชื้อโรคด้วยเครื่องนึ่งขวดนม หรือหม้อนึ่งอัตโนมัติ ซึ่งจะฆ่าเชื้อด้วยความร้อนสูงมากนึ่งเป็นเวลานานจนน้ำระเหยออกหมด เชื้อร้ายก็จะถูกกำจัด
  • นึ่งด้วยเตาแก๊ส ซึ่งต้องรอน้ำให้เดือดแล้วจึงนึ่ง 15 นาทีหลังจากน้ำเดือด นึ่งเสร็จแล้วผึ่งให้แห้ง
  • ใช้น้ำเดือด โดยนำอุปกรณ์ที่แข็งแรงทนทานไปต้มในน้ำเดือด แต่ต้องดูวัสดุที่ใช้ในอุปกรณ์นั้นด้วย
  • หากต้องการความมั่นใจให้เลือกซื้อเครื่องอบฆ่าเชื้อยูวีมาใช้ เพราะการใช้รังสี UV สามารถกำจัดเชื้อโรคได้หลากหลาย

หลังจากที่นึ่งฆ่าเชื้อเสร็จแล้วให้ล้างมือจนสะอาด ก่อนจะประกอบอุปกรณ์ทุกชิ้นเข้าด้วยกันให้พร้อมใช้งานในรอบปั๊มนมครั้งต่อไป จากนั้นใส่ลงในกล่องบรรจุที่สะอาดปิดฝาอย่างมิดชิด อย่าสัมผัสบริเวณด้านในของอุปกรณ์ปั๊มนมในส่วนที่จะสัมผัสกับน้ำนม เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรค

วิธีล้างอุปกรณ์ปั๊มนมนอกบ้าน
วิธีล้างอุปกรณ์ปั๊มนมนอกบ้าน

ข้อควรระวังในการทำความสะอาดเครื่องปั๊มนม

ควรสอบถามบริษัทเครื่องปั๊มนมเกี่ยวกับข้อมูลเฉพาะ เรื่องวิธีการถอดชิ้นส่วนอุปกรณ์ปั๊มนมมาทำความสะอาด และต้องตรวจสอบด้วยว่าชิ้นส่วนชนิดไหนที่ใช้นึ่งได้และนึ่งไม่ได้ โดยปกติแล้วชิ้นส่วนที่ทำจากซิลิโคนนิ่ม ๆ อย่างฝาครอบ หรือกันย้อนไม่ควรนึ่งบ่อยเพราะจะทำให้เสื่อมสภาพได้เร็ว ตัวสายกับตัวครอบจะล้างทำความสะอาดได้ แต่ไม่ต้องนึ่ง

ตัวเครื่องปั๊มนมก็ต้องทำความสะอาด เพราะบางครั้งมีคราบน้ำนมเกาะทำให้ปนเปื้อนเชื้อโรคได้ โดยใช้ผ้าผืนเล็ก ๆ ชุบน้ำยาล้างขวดนม บีบให้หมาด เช็ดที่ตัวเครื่อง ใช้ชุบน้ำสะอาดเช็ดตัวเครื่องซ้ำอีกหนึ่งที ตามด้วยผ้าแห้งเพื่อเช็ดให้แห้ง ส่วนสายหากน้ำนมไม่ได้เข้าไปในสาย ให้เช็ดทำความสะอาดวันละครั้งก็พอ

ทำความสะอาดอุปกรณ์ปั๊มนมนอกบ้านอย่างไรดี

อุปกรณ์ปั๊มนมหรือเครื่องปั๊มนม ควรทำความสะอาดหลังจากปั๊มนมทันที ไม่ควรเก็บไว้เพราะจะเสี่ยงต่อเชื้อโรคร้ายทำให้ปนเปื้อนในน้ำนมแม่ได้ คุณแม่จึงจำเป็นต้องรู้วิธีทำความสะอาดอุปกรณ์ปั๊มนมนอกบ้าน

  1. การล้างและนึ่งได้ทุกครั้งหลังใช้งานจะดีที่สุด หรือเลือกใช้สเปรย์และผ้าเปียกน้ำยาทำความสะอาดขวดนมและจุกนมชนิดพกพา ชนิดที่เป็นออร์แกนิกเพื่อความปลอดภัย ให้ใช้ทำความสะอาดทุกครั้งแทนการล้างและการนึ่งได้
  2. ถ้าได้ล้างทำความสะอาดด้วยน้ำยาล้างขวดนมที่ปลอดภัยสำหรับทารกแล้ว แต่อยากฆ่าเชื้อโรคด้วย สามารถนำอุปกรณ์ปั๊มนมล้างแล้วใส่กล่องถนอมอาหารกันความร้อน ที่ทนต่อความร้อนได้ดี แล้วเทน้ำร้อนใส่จนท่วมกล่องทิ้งไว้ 2-5 นาที ล็อกกล่องให้แน่นแล้วเขย่าให้ทั่ว แต่ต้องระวังไม่ให้น้ำร้อนกระฉอกออกมา แม้การฆ่าเชื้อด้วยน้ำร้อนจะไม่ดีเท่าการนึ่ง แต่สามารถทำลายเชื้อแบคทีเรียหรือจุลินทรีย์บางชนิดได้ โดยใช้น้ำร้อน 90 องศาเซลเซียสขึ้นไป หลังจากลวกแล้วต้องรินน้ำออกให้หมดแล้วเช็ดให้แห้ง
  3. อีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยฆ่าเชื้อโรคได้คือ ถุงควิกคลีน เพียงใส่น้ำในถุง แล้วใส่อุปกรณ์ปั๊มนมลงไปปิดซิป นำเข้าไมโครเวฟตามคำแนะนำ เมื่อเปิดฝาไมโครเวฟหยิบถุงออกมา จะมีมุมของถุงที่สามารถหยิบได้โดยไม่ร้อนมือ แล้วเทน้ำร้อนออกจากถุงทิ้งไป จึงหยิบอุปกรณ์ในถุงออกมา ปัจจุบันมีถุงนึ่งฆ่าเชื้อขวดนมและอุปกรณ์ปั๊มนมอยู่หลายยี่ห้อ ใช้งานง่าย สะดวก กำจัดเชื้อโรค เชื้อแบคทีเรียและจุลินทรีย์ ซื้อมาหนึ่งถุงใช้ได้ประมาณ 20 ครั้ง ทั้งยังมีขนาดใหญ่ใส่อุปกรณ์ปั๊มนมได้

การเลือกใช้ขวดนมและอุปกรณ์ปั๊มนมที่ได้มาตรฐานก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เพราะอุปกรณ์บางชนิดไม่ทนความร้อน และควรมีอุปกรณ์ปั๊มนมสำรอง และขวดนมสำรองในกรณีฉุกเฉิน

 อ้างอิงข้อมูล : พี่กัลนมแม่ สอนแม่และเด็ก, siwika-maternity, mamadshop และ มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม

ทำไมต้องปั๊มนมรอบละ 30 นาที เคล็ดลับคุณแม่นักปั๊ม

อย่าให้ลูกดูดขวด! ถ้ายังไม่รู้ ภาวะสับสนหัวนม

เลิกเต้าไม่เศร้าใจ เผยเทคนิค หย่านม ทำได้ใน 10 วัน

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up