AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ช่วงให้นม ใช้ยาอย่างไร แม่และลูกปลอดภัย ไร้กังวล

ช่วงให้นม ใช้ยาอย่างไร แม่และลูกปลอดภัย ไร้กังวล เรามีวิธีรับมือ กับนานาปัญหาสุขภาพของคุณแม่ลูกอ่อน ทั้งแบบพึ่ง และไม่พึ่งการใช้ยามาบอกเล่าให้ได้อ่านกัน เพื่อให้มั่นใจว่าถึงอยู่ในช่วงให้นม ก็ไม่เป็นอันตรายต่อลูกน้อยๆหรอกนะ

ช่วงให้นม ใช้ยาอย่างไร แม่และลูกปลอดภัย ไร้กังวล

  1. เต้านมอักเสบ

ยาที่ปลอดภัย : สำหรับแม่ที่เต้านมอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อ คุณหมอมักแนะนำให้กินยาปฏิชีวนะอย่าง ไดคลอกซาซิลลิน, คลอกซาซิลลิน, เซฟาเลกซิน หรือ อะมอกซีซิลลิน+คลาวูลาเนต เป็นระยะเวลา 7-14 วัน ทั้งนี้ยาปฏิชีวนะมักจะออกฤทธิ์เร็ว หลังเริ่มใช้ได้ 24-48 ชั่วโมง แม่จะรู้สึกว่าอาการดีขึ้น แต่ก็ต้องกินยาให้ครบตามจำนวนที่แพทย์สั่ง เพื่อจะได้ไม่กลับมาเป็นอีก

ทางเลือกอื่นๆ : ในช่วงที่ต้องรับมือกับความเจ็บปวดเพราะมีการติดเชื้อที่เต้านม แม่อาจจะคิดเลิกให้นมไปเลย แต่ช้าก่อน ถ้าระบายน้ำนมในเต้านมข้างที่มีการติดเชื้อได้มากพอ โดยผ่านการปั๊มนม หรือให้นมลูก ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้มีแบคทีเรียสะสมในเต้านมมากขึ้นอีก และอาจช่วยร่นระยะเวลาในการติดเชื้อได้ด้วยซ้ำ

ไม่ต้องกลัวว่าจะทำให้ลูกพลอยติดเชื้อตามไปด้วย เพราะคุณสมบัติด้านการต้านแบคทีเรียของนมแม่จะช่วยป้องกันไม่ให้มีการส่งต่อเชื้อโรคไปยังลูก

  1. หัวนมแตกและเจ็บ

ยาที่ปลอดภัย : ขี้ผึ้ง หรือ ครีมลาโนลิน ซึ่งใช้ทาที่หัวนมหลังการให้นม จะช่วยรักษาความชุ่มชื้นของผิวหนัง จึงช่วยให้หายเร็วขึ้น โดยเลือกขี้ผึ้ง หรือ ครีมที่มีส่วนผสมของลาโนลิน 100% อย่าง Purlan กับ Lansinoh จะไม่เป็นอันตรายต่อทารก จึงไม่จำเป็นต้องล้างออกก่อนที่จะให้นม

หลีกเลี่ยงขี้ผึ้ง หรือ ครีมทาหัวนมที่มีส่วนผสมอื่นๆ และ/หรือ ไม่ได้ใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติ เพราะจะทำให้ผิวหนังยิ่งระคายเคือง และอาการเลวร้ายลง เพราะขี้ผึ้ง หรือ ครีมที่มีส่วนผสมหลายอย่างบางยี่ห้ออาจจะเป็นพิษต่อได้ โดยองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ ได้ออกประกาศเตือนเรื่องครีมทาหัวนมที่มีส่วนผสมซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบประสาทที่กำลังพัฒนาของทารก

ทางเลือกอื่นๆ : อาการหัวนมแตก และเจ็บมักเกิดจากวิธีอุ้มลูกเข้าเต้า หรือท่าให้นมที่ไม่ถูกต้อง แม่จึงควรขอคำแนะนำเรื่องเทคนิคในการให้นมลูกจากผู้เชี่ยวชาญ เพราะแค่ปรับเปลี่ยนท่าเล็กน้อย แม่ก็สามารถให้นมได้โดยไม่ทำให้หัวนมแตกและเจ็บอีก

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

ติดตาม การใช้ยาช่วงให้นมลูก อย่างปลอดภัยไร้กังวล คลิกหน้า 2

  1. ไข้หวัด และ ไข้หวัดใหญ่

ยาที่ปลอดภัย : แม่สามารถซื้อยาบรรเทาอาการไข้หวัด หรือ ไข้หวัดใหญ่กินเองได้ แต่ต้องดูเรื่องขนาดการใช้ยา สำหรับยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟน และ ไกวเฟเนซิน จัดเป็นยาแก้ไอที่ปลอดภัย แต่ไม่ควรใช้ยาอมแก้ไขที่มีส่วนผสมของเมนทอลมากจนเกินไป เพราะเมนทอลอาจทำให้ผลิตน้ำนมได้น้อยลง

หากต้องการบรรเทาอาการคัดจมูก ให้ใช้ฟลูติคาโซน โครโมลินโซเดียม หรือ น้ำเกลือล้างจมูก ส่วนซูโดอีเฟดรีน ไม่แนะนำ อาจทำให้ผลิตน้ำนมได้น้อยลง ขณะที่อะเซตามิโนเฟน คือ ยาที่ใช้ลดไข้ได้อย่างปลอดภัยเช่นเดียวกัน

ทางเลือกอื่นๆ : ดื่มน้ำผึ้งผสมมะนาว และน้ำร้อน เพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ ดื่มน้ำเยอะๆ และพักผ่อนมากๆเป็นวิธีเยียวยาที่ดีที่สุด

  1. ภูมิแพ้ และหอบหืด

ยาที่ปลอดภัย : อาการภูมิแพ้ที่เกิดตามฤดูกาล อาจใช้ยาแก้แพ้ที่ซื้อกินเองได้ แต่ต้องหลีกเลี่ยงยาแก้แพ้ประเภท ไดเฟนไฮดรามีน คลอร์เฟนิรามีน และบรอมเฟนิรามีน อาจมีฤทธิ์กดประสาทสำหรับทารก และมีโอกาสเกิดอาการหายใจลำบาก

ควรเปลี่ยนมากิน ยาแก้แพ้ที่ไม่มีฤทธิ์กดประสาท อย่าง เซติริซีน และลอราทาดีน ส่วนโรคหอบหืดยาที่ใช้ได้ปลอดภัย คือ ยาสเตียรอยด์ สำหรับพ่นจมูก และยาขยายหลอดลม

ทางเลือกอื่นๆ : เลือกใช้ยาแก้แพ้ชนิดสเปรย์พ่นจมูก ซึ่งเป็นยาใช้เฉพาะที่ ปริมาณยาที่ตกค้างในนมแม่มักจะต่ำกว่า พวกยาเม็ดหรือ ยาน้ำ

  1. ปวดกล้ามเนื้อ

ยาที่ปลอดภัย : คุณแม่หลายคนมักมีอาการปวดกล้ามเนื้อ เพราะต้องอุ้มลูกทั้งวัน ครีมที่ใช้ทาผิวเพื่อระงับอาการปวดถือเป็นยาที่ปลอดภัยสำหรับช่วงให้นมแบบนี้ เพราะเป็นยาใช้เฉพาะที่ แทบไม่มีการซึมผ่านผิวหนังเข้าไปในในกระแสเลือดได้เลย

แต่ถึงจะไม่มียาตกค้างในน้ำนม แม่ก็ไม่ควรทาครีมบริเวณหัวนม ยาจะได้ไม่หลงเข้าปากลูกโดยบังเอิญ และหลังใช้แม่ก็ควรล้างมือให้สะอาด จะได้ไม่มีเนื้อครีมไปติดที่ตัวลูกได้

ทางเลือกอื่นๆ : ถ้าปวดหลังตอนให้นม แม่ควรหาที่นั่งสบายกว่าเดิม ใช้หมอนให้นม หรือหาเก้าอี้มารองเท้า แต่ถ้ายังไม่หายปวดลองเปลี่ยนท่าให้นมตามที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ เช่นเป็นท่านอนตะแคงให้นม

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

ติดตาม การใช้ยาช่วงให้นมลูก อย่างปลอดภัยไร้กังวล คลิกต่อหน้า 3

  1. การคุมกำเนิด

ยาที่ปลอดภัย : การให้นม ไม่ใช่วิธีคุมกำเนิดดีอย่างที่คิด เพราะถึงแม้แม่ยังไม่ได้กลับมามีรอบเดือนตามปกติ แต่การตกไข่ก็อาจเกิดขึ้นได้ ฉะนั้นถ้าเคยกินยาคุมกำเนิดมา ก็อาจใช้วิธีนี้ต่อ โดยเลือกยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนโพรเจสทินอย่างเดียว ซึ่งสามารถใช้ในช่วงให้นมได้อย่างปลอดภัย หรือจะเปลี่ยนไปใช้วิธีฉีดยาคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสเทอโรนทุกๆ 3 เดือนแทนก็ได้ ทั้งนี้ในช่วงที่เพิ่งคลอดแพทย์จะยังไม่ฉีดให้ เพราะยาฉีดคุมกำเนิดอาจมีผลต่อการผลิตน้ำนม ถ้าจะฉีด ควรฉีดในช่วง 6-8 สัปดาห์หลังคลอด จะได้ไม่มีปัญหาเรื่องปริมาณการผลิตน้ำนมมากนัก

หลีกเลี่ยงยาคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมนเอสโทรเจน เพราะสำหรับแม่บางคนฮอร์โมนนี้มีผลต่อปริมาณการผลิตน้ำนม

ทางเลือกอื่นๆ: ใช้แผ่นครอบปากมดลูก หรือวิธีคุมกำเนิดที่ไม่มีผลต่อการผลิตน้ำนม จึงเหมาะจะใช้ในช่วงให้นมเช่นกัน และถ้านี่คือวิธีคุมกำเนิดที่แม่ใช้ก่อนคิดจะมีลูก แพทย์อาจต้องสั่งแผ่นใหม่ให้ในวันที่ตรวจสุขภาพหลังคลอด 6 สัปดาห์ เพราะการตั้งครรภ์และการคลอดทำให้รูปร่างของช่องคลอดเปลี่ยนไปและแผ่นเดิมอาจจะช่วยคุมกำเนิดไม่ได้เพราะใส่ไม่พอดี

  1. อาหารไม่ย่อย และท้องเสีย

ยาที่ปลอดภัย : ยาลดกรด หรือ ยาแก้ท้องอืดในกลุ่มแคลเซียมคาร์บอเนต อลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ และแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ หรือไซเมธิโคน สามารถใช้ในช่วงให้นมได้

หลีกเลี่ยงการใช้ยารวมหลายชนิด เพราะอาจมีส่วนผสมของแอสไพริน หรือ ซาลิไซเลต และอาจเพิ่มโอกาสที่จะเกิดอาการเลือดตกใน และกลุ่มอาการไรย์ (Reye’s Syndrome ความผิดปกติของสมองและตับ) ในทารก

ทางเลือกอื่นๆ : วิธีง่ายๆที่จะช่วยลดโอกาสในการกลับมามีอาการแสบร้อนกลางอก เพราะอาหารไม่ย่อยอีกคือ ต้องกินอาหารในแต่ละมื้อให้น้อยลง ไม่กินอาหารก่อนเข้านอนอย่างน้อย 2 ชั่วโมง หลีกเลี่ยงอาหารมันๆ อาหารรสจัด ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการดังกล่าว

ในกรณีที่แม่ท้องเสีย ให้เพิ่มปริมาณการกินโยเกิร์ต (และอาหารที่มีโพรไบโอติกอื่นๆ) ในแต่ละวัน เพราะโพรไบโอติก คือ แบคทีเรียชนิดดีที่จะช่วยรักษาสมดุลของลำไส้

อ่านต่อบทความที่น่าสนใจ

เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ : 10 เรื่องอะไร ควรทำ ไม่ควรทำ ช่วงให้นมลูก

เคล็ดลับ ท้อง สุขภาพดี ลูกน้อยแข็งแรง

เลี้ยงลูกอย่างไร? ให้น่ารักสำหรับทุกคน

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids