AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

เคล็ดไม่ลับ การปั๊มนม วิธีเพิ่มน้ำนม ฉบับคุณแม่มืออาชีพ

การปั๊มนม

การปั๊มนม เป็นอีกวิธีที่ช่วยกระตุ้นน้ำนมออกจากเต้าได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะคุณแม่แรกคลอดที่ประสบปัญหาน้ำนมน้อยหรือน้ำนมไม่มา นอกจากให้ลูกเข้าเต้าบ่อย ๆ แล้ว การปั๊มนมเป็นวิธีเพิ่มน้ำนมได้อีกทางหนึ่ง แต่การปั๊มนมให้มีประสิทธิภาพก็ต้องอาศัยเทคนิคด้วยเช่นกัน มาดูเคล็ด (ไม่) ลับที่จะช่วยให้คุณแม่เพิ่มน้ำนมด้วยการปั๊มนมกันค่ะ

นมแม่ สุดยอดอาหารมหัศจรรย์สำหรับลูก

นมแม่ เป็นอาหารทารกที่วิเศษสุดสำหรับทารกวัยแรกเกิด ดังที่มีงานวิจัยออกมาหลายชิ้นว่า เด็กทารกที่ได้รับนมแม่จะเป็นเด็กที่มีสุขภาพกายและใจสมบูรณ์แข็งแรง มีภูมิคุ้มกันโรคสูง พัฒนาการทางสมองดี และผลวิจัยล่าสุดยังระบุเพิ่มเติมอีกว่า นมแม่ยังช่วยสร้างพัฒนาการทางด้านภาษาให้เด็กเรียนรู้การใช้ภาษาพูดได้เร็วยิ่งขึ้นอีกด้วย

ยิ่งนานวันเราก็ยิ่งเห็นประโยชน์จากนมแม่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็ยังมีปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้คุณแม่ไม่สามารถให้นมลูกได้เต็มที่ เช่น คุณแม่ต้องทำงาน ไม่สามารถเลี้ยงลูกได้ตลอดวัน จึงไม่สามารถให้นมได้ตลอดเวลาที่ลูกต้องการ หรือในบางครั้งเกิดจากตัวคุณแม่ยังไม่มีความรู้เพียงพอเกี่ยวกับการให้นมลูกหรือการปั๊มนมอย่างถูกวิธี จึงหันมาให้นมผงแทน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การให้นมหรือการปั๊มนมไม่ใช่เรื่องยาก เป็นวิธีการเรียนรู้ตามธรรมชาติที่คุณแม่ทุกคนสามารถทำได้ ในช่วงแรกอาจรู้สึกติดขัดและน้ำนมยังไม่เพียงพอสำหรับลูก แต่ขอให้ใจเย็น ๆ ค่อย ๆ เรียนรู้กระบวนการและเทคนิคต่าง ๆ ต่อไป

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

รู้เรื่องน้ำนม ก่อนปั๊มนม

เครดิตภาพ : momjunction.com

ก่อนอื่นต้องมารู้จักกระบวนการผลิต “น้ำนม” จากเต้ากันก่อน ร่างกายจะเริ่มผลิตน้ำนมใน 3 ช่วง คือ ช่วงตั้งครรภ์ ช่วงคลอดใหม่ และช่วงให้นม ในช่วงตั้งครรภ์และช่วงคลอดใหม่ น้ำนมที่ถูกผลิตจะเป็น “หัวน้ำนม” ซึ่งเกิดจากฮอร์โมนตามธรรมชาติ แต่หลังจากเกิดการกระตุ้นจากการดูด บีบ หรือปั๊มนมอย่างสม่ำเสมอ น้ำนมก็จะถูกผลิตได้เองอย่างต่อเนื่อง ช่วงเวลาที่มีปริมาณน้ำนมมากที่สุด คือ ประมาณตี 5-7 โมงเช้า ซึ่งเป็นช่วงที่ดีในการให้นมและปั๊มนมเก็บไว้สำหรับคุณแม่ที่เป็น Working Mom

บทความแนะนำ กลไกการหลั่งน้ำนมที่แม่มือใหม่ควรรู้!

วิธีเพิ่มน้ำนมด้วย การปั๊มนม

  1. ปั๊มนมหลังคลอดได้เลย

คุณแม่ส่วนใหญ่จะประสบปัญหาน้ำนมไม่มาหลังคลอด คุณหมอแนะนำให้เด็กดูดนมทันทีในช่วงเวลาครึ่ง ถึง 1 ชั่วโมงหลังจากคลอด เพื่อเป็นการกระตุ้นเด็กและกระตุ้นการเกิดน้ำนมด้วย ในช่วงแรกคุณแม่อย่าเพิ่งตกใจที่ยังไม่เห็นน้ำนม แต่หลังจากนั้นสัก 2-3 ชั่วโมงจะมีหัวน้ำนมไหลออกมา และหากมีเวลาว่าง คุณแม่ควรปั๊มนมเพื่อกระตุ้นกระบวนการผลิตไปด้วย โดยยังไม่ต้องพะวงว่าจะมีน้ำนมไหลออกมาหรือไม่ก็ตาม และในระหว่างการปั๊มนมควรผ่อนคลาย ไม่เครียด หรือเพ่งกับเครื่องปั๊มจนมากเกินไป เพราะอาจทำให้น้ำนมอายจนไม่ไหลออกมา

เครดิตภาพ : http://mommystap.com
  1. ใช้เครื่องปั๊มนมแบบ 2 ข้าง

เมื่อน้ำนมข้างหนึ่งถูกกระตุ้นและไหลออกมา น้ำนมอีกข้างก็จะไหลตามมาด้วย การใช้เครื่องปั๊มนมแบบ 2 ข้าง จะช่วยให้คุณแม่ประหยัดเวลาในการปั๊ม ไม่รบกวนเวลาทำงาน และได้น้ำนมเก็บเป็นสต๊อกอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ จากประสบการณ์การดูแลคนไข้ของ พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ ยังพบว่า คุณแม่ที่ใช้เครื่องปั๊มนมแบบ 2 ข้าง มักจะเลี้ยงลูกได้นานมากกว่าคุณแม่ที่ใช้เครื่องปั๊มนมแบบมืออีกด้วย เพราะเหนื่อยน้อยกว่า และได้ทำงานหรือทำกิจกรรมอย่างอื่นไปพร้อม ๆ กัน จึงรู้สึกเพลินขณะปั๊มนม

  1. ขโมยปั๊มทุกชั่วโมง

ใน 1 วันเด็กจะดูดนม 8-10 ครั้ง ครั้งละ 10-15 นาทีต่อ 1 ข้าง ซึ่งถ้าเทียบกับการปั๊มนม คุณแม่ควรปั๊มนมให้ได้ 8-10 ครั้ง เท่ากับลูกดูด ถึงจะเพียงพอกับการให้นม 4-5 มื้อ ดังนั้น การขโมยปั๊มนมหลังจากลูกดูดไป 1 ชั่วโมง โดยใช้เวลาปั๊มแค่ครั้งละประมาณ 10 นาที จะเป็นการเพิ่มน้ำนมให้คุณแม่อย่างดีเยี่ยม สำหรับกรณีที่ลูกขอดูดนมตลอดเวลาแทบทุกชั่วโมง จนไม่มีโอกาสขโมยปั๊มนมได้เลย ให้คุณแม่ใช้วิธีปั๊มพร้อมกับที่ลูกดูดอีกข้าง โดยถือที่ปั๊มนมนาน 10 นาที แล้วเก็บน้ำนมนั้นเป็นสต๊อกต่อไป

เครดิตภาพ : Jerry Bunkers on flickr
  1. Working Mom ควรปั๊มนมทุก 2-3 ชั่วโมง

เพื่อเป็นการรักษาระดับการสร้างน้ำนมให้คงที่ ไม่ให้ลดลง Working Mom หรือคุณแม่ทำงานควรปั๊มนมทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง โดยปั๊มที่โต๊ะทำงาน แล้วใช้ผ้าคลุมสวมทับ เพื่อให้สามารถทำงานได้ขณะปั๊มนม เรียกว่า ได้ทั้งน้ำนม ได้ทั้งงานไปพร้อม ๆ กันเลยทีเดียว

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

อ่านต่อ แม่ควรรู้ วิธีปั๊มนม มีกี่แบบ คลิกหน้า 2

วิธีปั๊มนม แบบต่างๆ

นอกจากการเข้าเต้าแล้ว การปั๊มนมก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้ผลิตน้ำนมได้ดียิ่งขึ้น วิธีปั๊มนมมีด้วยกันหลายแบบ แต่จะขอนำเสนอวิธีที่เป็นที่นิยม 3 แบบ ได้แก่ การปั๊มนมด้วยมือหรือบีบจากเต้า การปั๊มนมด้วยเครื่องปั๊มมือ และการปั๊มนมด้วยเครื่องอัตโนมัติ ซึ่งแต่ละวิธีก็จะมีวิธีการและข้อดีแตกต่างกันไป

  1. การปั๊มนมด้วยมือหรือบีบจากเต้า

เป็นวิธีที่สะดวก ปลอดภัย และไม่ต้องมีอุปกรณ์ แต่ต้องเรียนรู้วิธีที่ถูกต้องเพื่อความสะอาดและได้ปริมาณน้ำนมที่เพียงพอ ซึ่งถ้าทำอย่างถูกต้องและฝึกฝนจนคล่อง เต้านมจะไม่เจ็บ แถมยังช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์อย่างมากทีเดียว วิธีนี้เหมาะกับคุณแม่ที่มีเวลาเลี้ยงลูกเอง

  1. การปั๊มนมด้วยเครื่องปั๊มมือ

เครื่องปั๊มนมแบบคันโยก

เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้การปั๊มนมรวดเร็วกว่าการบีบด้วยมือ เครื่องปั๊มนมชนิดนี้มีทั้งแบบลูกยางสำหรับบีบ และแบบคันโยก แต่ส่วนใหญ่จะเป็นปั๊มข้างเดียว ต้องปั๊มครั้งละข้าง เหมาะสำหรับคุณแม่ที่ต้องออกไปทำธุระหรือทำงานในสถานที่ต่าง ๆ ข้อดีคือ ขนาดกะทัดรัด สะดวกในการพกพา และไม่ต้องชาร์ตไฟ เป็นวิธีที่นิยมใช้เป็นแผนสำรองในกรณีต้องเดินทางไปนอกบ้าน

เครื่องปั๊มนมแบบลูกยาง เครดิตภาพ : grace kids
  1. การปั๊มนมด้วยเครื่องอัตโนมัติ

เครดิตภาพ : http://rockstarresearch.com

ปัจจุบัน คุณแม่ส่วนใหญ่จะนิยมใช้เครื่องปั๊มประเภทนี้ ซึ่งมีให้เลือกทั้งแบบไฟฟ้า และแบบแบตเตอรี่ นอกจากนี้ยังมีแบบปั๊มนมได้ข้างเดียว หรือแบบปั๊มนม 2 ข้างพร้อมกัน เครื่องปั๊มนมประเภทนี้จะปั๊มได้น้ำนมดี ให้ความสะดวกสบาย และประหยัดเวลา เพราะคุณแม่สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ไปพร้อม ๆ กับการปั๊มนมได้ แต่ราคาค่อนข้างสูง

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

การปั๊มนม ดีอย่างไร

การให้นมลูกด้วยนมแม่เป็นสิ่งที่ดี เพราะลูกจะเติบโตมาอย่างสมบูรณ์และแข็งแรง ทั้งนี้ เทคโนโลยีสมัยใหม่และงานวิจัยต่าง ๆ ได้เข้ามาช่วยให้คุณแม่มือใหม่กลายเป็นคุณแม่มืออาชีพได้ในพริบตา อย่างเช่น การปั๊มนม สุดท้ายอยู่ที่คุณแม่จะเลือกใช้วิธีใดที่เหมาะสมกับตัวเองและลูกน้อยมากที่สุดค่ะ

…เพราะนมแม่ คือ สิ่งมหัศจรรย์สำหรับลูก
ที่ไม่มีอาหารชนิดใดเสมอเหมือนได้จริง ๆ…

 

อ่านต่อบทความน่าสนใจคลิก!

ไม่จริงใช่ไหม! กินนมแม่ แล้วลูกตัวเล็ก น้ำหนักน้อย

ฝีเต้านม หลังคลอดลูก อาการ และการรักษา


แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. รศ.เบญจมาศ พระธานี คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณะ.งานวิจัยเรื่อง การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดความเสี่ยงต่อการพัฒนาภาษาช้าในเด็กในเด็กอายุ 2 ปีหรือไม่.
  2. มูลนิธินมแม่แห่งประเทศไทย.ปั๊มนม ใช้แบบไหนดี.
  3. พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ.แม่ทำงาน & นมแม่.