ปัญหาใหญ่ที่สุดของคุณแม่เวิร์คกิ้งมัม ที่ทำงานนอกบ้านต้องพบเจอ คือ ความยากลำบากในการให้นมลูก เพราะถึงแม้ว่าจะมีการรณรงค์ให้ลูกทุกคนควรได้กินนมแม่ ในช่วง 6 เดือนแรก แต่ด้วยปัจจัยอะไรหลายๆ อย่างทำให้คุณแม่หลายคนต้องล้มพับโครงการนี้ไป และได้แต่โทษตัวเองว่าฉันเป็นแม่ที่ไม่ได้เรื่องเอาเสียเลย เพียงเพราะไม่มี มุมนมแม่ ในที่ทำงาน
มุมนมแม่ ในที่ทำงาน สำคัญอย่างไร
Happy Workplace = Happy Together
หลายคนอาจไม่เข้าใจว่า ทําไมการให้นมลูกถึง 6 เดือน จึงสําคัญและส่งผลดีต่อการทํางาน เรามีแผนผังอธิบายง่าย ๆ ดังนี้ค่ะ
ลูกกินนมแม่นาน 6 เดือนขึ้นไป ลูกแข็งแรง➜พร้อมเรียนรู้ สมองดี อารมณ์ดี➜เด็กมีคุณภาพ = ครอบครัว Happy
แม่แข็งแรง (นมไม่คัด)➜แม่ไม่เครียด เพราะลูกไม่ป่วย ไม่มีหนี้➜แม่มีสมาธิทํางาน งานมีประสิทธิภาพ= แม่ Happy
ลูกจ้างไม่หยุดบ่อย ไม่ลาออก➜ลูกจ้างซื่อสัตย์ต่อองค์กร➜ลูกจ้างทํางานดี ได้ตามเป้า รายได้เพิ่ม = องค์กร Happy
ซึ่งทั้งหมด ทั้งมวลนี้ทำให้ สังคม Happy
ทั้งนี้ จากรายงาน การสํารวจสุขภาพประชาชนไทยครั้งที่ 4 พ.ศ. 2551-2552 พบว่า อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เมื่อแรกเกิดสูงถึง 91.2เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อต้องเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นเวลา 3 เดือน จำนวนกลับลดลงไปกว่าครึ่ง
ยิ่ง 6 เดือนด้วยแล้ว ยิ่งน้อยลง โดยเหลือเพียงแค่ 7.1 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น นั่นหมายความว่า มีคุณแม่คนไทยที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นเวลา 6 เดือนอย่างที่รณรงค์กันนั้นจํานวนน้อยมาก จนน่าใจหาย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
คําถาม คือ ปัญหาเกิดจากอะไร
คงต้องยอมรับว่าประเทศไทยยังไม่มีมาตรการอะไรที่แข็งแรงพอสำหรับการรองรับเรื่องสิทธิของแม่ในการให้นมลูก ถึงแม้ว่าเราจะมีกฎหมายคุ้มครองให้สิทธิลาคลอดได้ไม่เกิน 90 วันก็ตาม แต่ด้วยความจำเป็นคุณแม่หลายคนต้องหยุดการให้นมลูกไปโดยปริยาย ไม่ว่าจะเป็น
- รายได้ครอบครัวหายไป จึงต้องรีบกลับมาทำงาน
- วัฒนธรรมองค์กรบางที่ไม่ยอมรับกับการลาหยุดนานๆ
- ทํางานไกลบ้าน เช่นแม่กับลูก อยู่กันคนละจังหวัด
- ไม่มีสถานที่สําหรับปั๊มนมให้ลูกในที่ทํางาน
ติดตาม แม่ลำบากแค่ไหน เวลาปั๊มนมในที่ทำงาน คลิกต่อหน้า 2
ดังนั้น การที่แม่ได้ให้นมลูกนานเกิน 6 เดือนนั้น ทุกฝ่ายล้วนแต่ได้ประโยชน์ แต่เราจะทําได้อย่างไรในเมื่อมีข้อจํากัดมากมายอย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ทางออกง่ายๆ คือการมี มุมนมแม่ ในที่ทํางาน นั่นเอง
พญ.ยุพยง แห่งเชาวนิช เลขาธิการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย พูดถึงความยากลำบากของคุณแม่ที่ไม่มีมุมนมแม่ในที่ทำงานว่า
“การเข้าไปปั๊มนมในห้องน้ำ คือความยากลำบาก ทั้งกลิ่นเหม็น ไม่สะอาด ไม่เป็นส่วนตัว ไม่มีที่ให้วางอุปกรณ์สําหรับบีบ เพราะฉะนั้นจึงเป็นอุปสรรคอย่างมากสำหรับแม่ ซึ่งมีหลายแห่งที่ผู้บริหารเองก็ไม่เคยรู้เลยว่าพนักงานไปปั๊มนมในห้องน้ำ เพราะไม่เคยมีใครคิดถึงเรื่องนี้ เราจึงได้จัดทำโครงการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตสตรีวัยทำงานและครอบครัวขึ้นมา เพื่อให้องค์กรเห็นความสำคัญของการมีมุมนมแม่ในที่ทำงาน” โครงการนี้ดำเนินการมากว่า 7 ปีแล้ว มีสถานประกอบการเข้าร่วมกว่า 1,018 แห่ง แต่มี 30 แห่งที่กำลังทำให้เป็นต้นแบบเพื่อเป็นตัวอย่างแก่สถานประกอบการอื่นๆ ต่อไป
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ตัวอย่าง มุมนมแม่ ในที่ทำงาน
คุณภัสธารีย์ จิตรธนสิทธิ์ ประธานแกนนำแม่อาสา จากบจก.สยามเด็นโซ่แมนูแฟคเจอริ่ง หนึ่งในบริษัทต้นแบบที่ประสบผลสำเร็จในการทำ มุมนมแม่ ในที่ทำงาน เล่าให้ฟังว่า
“บริษัทมีพื้นที่ที่สามารถให้ปั๊มนมได้ ถึงแม้ระบบการทำงานของเราต้องเดินเครื่องตลอดเวลา ทุกคนจึงไม่สามารถลุกไปไหนได้นานๆ ดังนั้นพนักงานที่นี่จะมาปั๊มนมในตอนเช้า เที่ยงเวลาพักเบรก และตอนเย็น แต่สำคัญกว่านั้น คือ เรื่องของสังคม เวลาที่แม่ๆ มาปั๊มนม เขาก็จะมาคุยกัน ให้กำลังใจกัน เพิ่มความเชื่อมั่นและคลายความเครียดได้ดี นอกจากนี้ยังมีการจัดอบรมพนักงานตั้งแต่ตั้งครรภ์มีพยาบาลช่วยกระตุ้นให้เห็นความสำคัญของการให้นมแม่ด้วย”
ส่วนของคุณนันท์นภัส เสรีฐิติวรโชติ ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลจาก บมจ.เดลต้าอีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย)อีกหนึ่งบริษัทต้นแบบที่ทํามุมนมแม่มาอย่างยาวนานเสริมว่า
“การมีมุมนมแม่นี้สามารถช่วยลดการลางานของพนักงานได้มากจากที่ต้องหยุด 3 เดือนก็อาจหยุดน้อยลง เพราะบริษัทมีสถานที่รองรับเรื่องการให้นมลูก อีกทั้งยังช่วยลดการลาออกซึ่งทำให้ไม่ต้องสูญเสียบุคลากรที่มีความสามารถมีทักษะ การหาคนใหม่มาแทนกว่าจะฝึกทักษะให้ได้เท่าคนเก่าบริษัทอาจต้องสูญเสียรายได้มากกว่า”
ติดตาม องค์กรจะได้อะไรจากการมี มุมนมแม่ในที่ทำงาน คลิกต่อหน้า 3
การมี มุมนมแม่ ในที่ทำงาน จึงช่วยแก้ปัญหาแม่ไม่มีนมให้ลูกกิน เพราะบรรดาแม่ๆ สามารถบีบเก็บน้ำนมแล้วแช่แข็งเก็บไว้ได้ โดยเฉพาะแม่ที่ต้องมาทำงานไกลคนละจังหวัด แต่ลูกๆ ก็ยังสามารถกินนมแม่ได้“ บางคนอยู่ใกล้เย็นวันศุกร์ก็เอานมไปส่ง บางคนอยู่ไกลก็ส่งเดือนละครั้งโดยแช่แข็งไว้ พอจะกลับบ้านเขาก็เอาใส่ถังโฟมถังน้ำแข็งส่งไปพยายามทํากันทุกวิถีทาง บางคนให้ได้ถึงปีสองปีก็น่าภูมิใจแทน” คุณนันท์นภัส กล่าวเพิ่มเติม
องค์กรจะได้อะไรจากการมี มุมนมแม่ ในที่ทำงาน
องค์กรต่างๆ จะสามารถรักษาบุคลากรที่มีความสามารถไว้ได้รวมทั้งพนักงานเกิดความซื่อสัตย์ต่อองค์กร ส่วนในเรื่องของการได้กําไรหรือการขาดทุนนั้น ผศ.ดร.จิราพร ระโหฐาน รองคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี ได้พัฒนาโปรแกรมวัดผลชื่อว่า ROI (ReturnofInvestment) ขึ้น ภายใต้การสนับสนุนของ สสส.ซึ่งโปรแกรมนี้จะทําให้องค์กร หรือบริษัทมองเห็นภาพว่าการทำมุมนมแม่นั้นได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าจริงๆ “อย่างที่บริษัทเดลต้าใช้โปรแกรมนี้มาคํานวณพบว่าต้นทุนในการจัดตั้งมุมนมแม่ใช้เงินจำนวน 174,300 บาท แต่กลับได้ผลตอบแทนกลับมาถึงกว่า 3,925,800 บาท โดยประหยัดค่าใช้จ่ายจากการที่ไม่ต้องหาพนักงานใหม่ การฝึกอบรมพนักงาน ผลกําไรจากพนักงานที่ไม่ได้ลาป่วย และลากิจ”
“ คือตอบโจทย์ผู้บริหารหลายๆบริษัท ทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าบริษัทได้อะไรบ้าง เช่น ช่วยลดการลาออก ลดขาดลามาสาย นอกจากนี้งานบางอย่างก็ต้องอาศัยทักษะ ถ้าสมมุติ ทํางาน มา 10 ปี แต่งงาน มีลูกแต่ต้องลาออกแล้วไปรับเด็กใหม่มา เมื่อไรทักษะคนใหม่จะเท่ากับคนที่ลาออกไป ซึ่งการทำมุมนมแม่จริงๆ ก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไรเลย แค่ทำให้เป็นระบบเท่านั้นเอง ”คุณนันท์นภัสกล่าว
ก็ได้แต่หวังว่าในอนาคตข้างหน้า บ้านเราจะเห็นความสำคัญของกลุ่มคุณแม่ลูกอ่อน ที่ต้องทำงานจนผลักดันให้เกิดเป็นกฎหมายบังคับให้สถานประกอบการมีมุมนมแม่ ไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อขับเคลื่อนคนในชาติของเราให้มีคุณภาพและมีความสุข วันแม่ปีนี้ถ้ามีบริษัทไหนทํามุมนมแม่เพิ่มขึ้นคงเป็นของขวัญวันแม่ที่วิเศษสุดเลยทีเดียว
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อยากมีมุมนมแม่ต้องทำอย่างไร
สามารถขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย www.thaibreastfeeding.org โทรศัพท์ 0-2354-8404 โดยจะมีการจัดอบรมและเวิร์คชอปให้บริษัทต่างๆ ที่อยากมีมุมนมแม่ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและกลายเป็นต้นแบบให้บริษัทอื่นๆ ต่อไปในอนาคต
อ่านต่อบทความที่น่าสนใจ
แม่ท้องต้อง กินอะไรลูกออกมาขาว ผิวสวย ดูดี มีออร่า
เลี้ยงลูกให้เป็น “คนปกติ” ตามวัย
งานยุ่ง จนไม่มีเวลาเล่นกับลูก จะพูดกับลูกอย่างไรไม่ให้ลูกเสียใจ