นอกจากวันที่ 12 สิงหาคมจะเป็นวันแม่แห่งชาติแล้ว วันที่ 1-7 สิงหาคมยังเป็นสัปดาห์การให้นมแม่แห่งโลก (World Breastfeeding Week) อีกด้วย เราจึงรวมคำถาม-คำตอบยอดนิยมเกี่ยวกับ “การให้นมแม่” โดย พญ. ปวินทรา หะริณสุต สมนึกพร้อมเทคนิคในการให้นมแม่ของ คุณเปิ้ล-ธันยาธนัส วงษ์สวัสดิ์ปภา(ภารดี วงศ์สวัสดิ์) คุณแม่ยังสวยของน้องกาย่า-ลูกสาววัย 9 เดือน มาฝากด้วยค่ะ
1.ก่อนคลอด คุณแม่ควรเตรียมตัวให้นมลูกอย่างไร?
* พญ. ปวินทราสิ่งแรกที่ต้องมีคือ ความตั้งใจว่าจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือนมของเราเองก่อน หลังจากนั้นคุณแม่สามารถตรวจลักษณะของเต้านม หัวนมของตนเอง โดยสามารถปรึกษาพยาบาลในโรงพยาบาลที่คุณแม่ฝากครรภ์ นอกจากนี้ยังสามารถหาความรู้จากแหล่งข้อมูลต่างๆ ไว้ก่อน เพื่อช่วยให้มีข้อมูลพื้นฐานในช่วงระหว่างตั้งครรภ์
* คุณเปิ้ลเมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ก็ตั้งใจไว้ว่าจะให้นมลูกเอง ทั้งที่ไม่รู้ว่าเราจะมีน้ำนมมากหรือน้อย เมื่อมีเวลาว่างจะหาข้อมูลหรือถามผู้ที่มีความรู้ตลอดค่ะ
2.ทำอย่างไร?ให้มีน้ำนมให้ลูกเพียงพอ
* พญ. ปวินทรา อันดับแรกต้องมั่นใจในตัวเองว่าเราจะมีน้ำนมเพียงพอสำหรับลูก อันดับสอง การกระตุ้นให้มีน้ำนมคือให้ลูกดูดบ่อยและดูดเร็ว ดูดเร็วคือหลังคลอดให้นำลูกมาดูดนมให้เร็วที่สุด โรงพยาบาลที่ส่งเสริมนมแม่จะทำแบบนี้อยู่แล้ว หากคลอดเองคือ 1-2 ชั่วโมงหลังคลอด หากผ่าคลอดก็ 2-3 ชั่วโมง เน้นให้ลูกดูดบ่อยๆ และดูดถูกวิธี
*คุณเปิ้ลคิดว่ามีพอสำหรับน้องแต่ไม่มากพอสำหรับเก็บสต็อก ช่วงหลังคลอดใหม่ๆ คุณแม่จะบำรุงให้เราเยอะมาก เปิ้ลมีน้ำนมมากพอควรแต่ไม่ได้ปั๊มเก็บไว้ เพราะคุณแม่จะให้เข้าเต้าตลอดเวลาคนโบราณเชื่อว่าให้เข้าเต้าดีที่สุด2 เดือนแรกจึงให้น้องเข้าเต้าตลอดจนอายุ 5-6 เดือนเขาก็ไม่เอาเต้าเอง คงเพราะน้ำนมไหลไม่ทันใจ ดูดขวดเร็วกว่า ตอนนี้น้อง 9 เดือนแล้วยังให้นมแม่ล้วนค่ะ คุณตาคุณยายบอกว่าเสริมนมผงได้แล้ว แต่เราก็หาข้อมูลและปรึกษาคุณหมอหลายท่านเพราะกลัวว่าจะไม่พอ แต่คุณหมอบอกว่าถ้าทำได้ควรให้เขากินนมแม่ต่อไป
*พญ. ปวินทรา ความจริงเราแนะนำนมแม่ล้วนถึงอายุ 6 เดือน แต่ช่วงหลัง 6 เดือนที่ทานอาหารเสริมแล้ว ซึ่งหมายถึง ข้าวบด ข้าวตุ๋น เป็นต้น ถ้าคุณแม่มีเวลาและยังมีน้ำนมอยู่ก็ยังแนะนำให้กินนมแม่ต่อไปจนลูกอายุ 1-2 ปีหรือนานกว่านั้น ไม่อยากให้เสริมนมผสมค่ะ
3.ทำอย่างไร?จึงจะรู้ว่าลูกได้กินนมแม่เพียงพอแล้ว
*พญ. ปวินทรา วิธีการดูว่าลูกได้กินนมแม่พอไหม หนึ่งคือสังเกตการกลืนของลูก จะเห็นการกลืนชัดเจน สองคือดูว่าลูกปัสสาวะและอุจจาระตามเกณฑ์ปกติไหม คือ ปัสสาวะมากกว่า 6 ครั้งต่อวัน และอุจจาระมากกว่า 3-4 ครั้งต่อวัน ในเดือนแรกลูกจะอุจจาระบ่อย ดังนั้นช่วง 4-6 สัปดาห์แรกลูกอาจถ่าย 6-8 ครั้งต่อวันหรือมากกว่านั้นหลัง 1 เดือนจะลดลงเหลือ 2-4 ครั้งต่อวัน
ไม่ต้องกำหนดเวลาว่าต้องให้นมลูกบ่อยแค่ไหน ลูกหิวเมื่อไรก็เมื่อนั้น หลังคลอดใหม่ๆ อาจให้ลูกดูดนมข้างละ 15 นาที เพื่อกระตุ้นเต้านมทั้งสองข้างให้มีน้ำนมเมื่อน้ำนมมาแล้วจึงให้ลูกดูดต่อข้างนานขึ้น เมื่อเขาอิ่มก็จะผละจากเต้าไปเองและหลับได้เองหากลูกอิ่ม หลับสบาย ไม่ร้องกวน งอแง ก็บ่งบอกว่าลูกได้รับน้ำนมเพียงพอเช่นกัน
*คุณเปิ้ลต้องสังเกตนิสัยลูกเราด้วย ตอนแรกเปิ้ลให้ลูกดูดข้างหนึ่ง 15-20 นาทีแล้วก็เปลี่ยน แต่พอให้นอนเขาก็ตื่นมาร้อง ลองทำทุกวิธีก็ไม่หยุดร้องจึงลองเอาเขาเข้าเต้าเขาก็ดูดนมต่อ เลยสงสัยว่าเขาอาจจะยังไม่อิ่ม หลังจากนั้นจึงปล่อยให้เขาผละจากเต้าเอง เขาเหมือนรู้ว่าตัวเองอิ่มแล้ว ก็หลับสบายแล้วไม่ร้องอีกเลยค่ะ
4.กินนมแม่แล้วต้องให้ลูกดื่มน้ำอีกหรือไม่ ?
*พญ. ปวินทรา ไม่แนะนำให้ดื่มน้ำเพราะนมแม่มีน้ำเยอะอยู่แล้ว ไม่เหมือนนมผสมที่เราสังเกตได้ว่าเนื้อข้นกว่า จะให้ลูกดื่มน้ำตอนที่เริ่มกินอาหารเสริมเมื่ออายุ 6 เดือนขึ้นไป เราอยากให้ได้นมแม่มากที่สุดโดยไม่มีสารอื่นไปเจือปนกับนมแม่เข้าไปในตัวลูกเลยค่ะ เพราะนมแม่ล้วนๆ นั้นจะเคลือบลำไส้ ช่วยลดการเกิดภูมิแพ้ ทำให้ลำไส้แข็งแรง ลดการติดเชื้อในทางเดินอาหาร งานวิจัยใหม่ๆ ยังบอกว่าการให้นมแม่ล้วนสามารถลดภาวะโรคอ้วนได้ในอนาคตซึ่งปัจจุบันเป็นปัญหาที่เราเจอบ่อยมากขึ้นทุกวัน
เด็กที่กินนมแม่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยอ้วนมากตอนเล็กๆ ทำให้ผู้ใหญ่กังวลว่าทำไมตัวเล็ก แต่จริงๆ แล้วเขาได้อาหารเพียงพอ หากเทียบกับกราฟปกติเขาอาจตัวเล็กแต่เขาแข็งแรง เมื่อเริ่มกินอาหารเสริมเขาจะโตทันคนอื่นเอง
5.ให้นมลูกแล้วเต้านมจะเสียทรงไหม?
*คุณเปิ้ล ในความรู้สึกของเปิ้ล การเป็นแม่คนคือการเสียสละอยู่แล้ว ดังนั้นตรงนี้จึงปล่อยให้เป็นเรื่องธรรมชาติไปค่ะ
*พญ. ปวินทรา ความจริงแล้วไม่เสียทรงนะคะ หัวนมอาจยืดกว่าปกติเล็กน้อย แต่หลังจากหยุดให้นมก็จะกลับมาเป็นปกติ
6.ถ้าตั้งครรภ์ลูกคนถัดไป จะให้นมลูกคนโตต่อไปได้ไหม?
*พญ. ปวินทรา ที่เรากังวลคือหากให้ลูกดูดนมหรือปั๊มนมถี่ๆ อาจทำให้มีความเสี่ยงต่อการแท้งมากกว่าปกติ แต่อย่างไรก็ตามก็ยังแนะนำให้คุณแม่ให้นมลูกต่อไป แต่อาจลดความถี่ในการปั๊มลงและควรปรึกษาสูติแพทย์ร่วมด้วยค่ะ
อ่านเรื่อง “13 คำถามยอดฮิต “การให้นมแม่” สำหรับคุณแม่มือใหม่” คลิกหน้า 2
7.เข้าเต้า VS ปั๊มเก็บ แบบไหนดีกว่ากัน?
*พญ. ปวินทรา ช่วง 3 เดือนแรกที่ลาคลอดแนะนำให้ลูกดูดจากเต้าให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เมื่อกลับไปทำงานจึงให้ใช้การปั๊มนมระหว่างวันเมื่อปั๊มนมเสร็จให้เก็บใส่ตู้เย็น ตอนนำกลับบ้านก็แช่ใส่กระติกน้ำแข็งไว้ วิธีนี้ใช้เก็บน้ำนมได้ 24 ชั่วโมง เวลาอุ่นนมไม่ควรใช้ไมโครเวฟหรือนำนมตั้งไฟ ให้แกว่งในน้ำอุ่นธรรมดา ห้ามใช้น้ำเดือดจัด
การเข้าเต้าเป็นวิธีธรรมชาติที่ช่วยกระตุ้นให้มีน้ำนมได้ดีและมากกว่าการปั๊ม เพราะการให้ลูกดูดน้ำนมจะไหลออกมาจนเกลี้ยงเต้า ช่วยไม่ให้ท่อน้ำนมอุดตันและทำให้ประสาทสัมผัสของลูกพัฒนาได้ดี กระตุ้นให้เส้นใยประสาทเจริญเติบโตได้ดี และกระตุ้นสายสัมพันธ์แม่ลูกได้ดีด้วย มีรายงานชัดเจนว่าการให้นมแม่โดยการดูดจากเต้าสามารถกระตุ้นเส้นใยประสาทในสมอง และกระตุ้นให้ไอคิวตามพันธุกรรมของแต่ละครอบครัวเพิ่มขึ้น 5-7 จุดนมแม่จากเต้ายังมีคุณค่าทางอาหารและสารต้านอนุมูลอิสระ (Anti-oxidant)มากกว่านมแม่ที่ปั๊มเก็บไว้ด้วยแต่อย่างไรก็ตาม นมแม่ที่ปั๊มเก็บไว้ก็ยังมีสารอาหารต่างๆ ที่มีประโยชน์มากกว่านมผสม
ถ้าคุณแม่มีปัญหาโรคประจำตัว หรือหัวนมมีปัญหา การปั๊มนมให้ลูกกินก็ยังดีกว่านมผสม แต่แม้ลูกดูดจากเต้าอยู่แล้ว หมอก็ยังอยากให้ปั๊มนมด้วยถ้ามีน้ำนมเยอะมากและยังไหลอยู่หลังจากลูกอิ่มแล้ว เพราะจะช่วยให้มีน้ำนมมากขึ้นและลดปัญหาท่อน้ำนมอุดตันสำหรับนมแม่ในสต็อก ถ้าอุ่นแล้วมีกลิ่นให้ลองชิม ถ้ารสชาติปกติให้ลูกกินได้ แต่ถ้าเปรี้ยวแนะนำให้ทิ้งไป
8.นมแม่ที่ปั๊มออกมาจะเก็บได้นานขนาดไหน? หากไม่ได้แช่ช่องฟรีซ
*พญ. ปวินทรา 3-4 ชั่วโมงที่อุณหภูมิห้องค่ะ (หากแช่อยู่ในตู้เย็นช่องธรรมดา (ไม่ฟรีซ) จะอยู่ได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง)
9.เลือกเครื่องปั๊มนมอย่างไรดี?
*พญ. ปวินทรา แนะนำให้เลือกแบบไฟฟ้า ซึ่งจะปั๊มได้ดีกว่าแบบมือและใช้ง่าย แบบมือไว้สำหรับพกพา แบบไฟฟ้าให้เลือกแบบปั๊มคู่ ความแรง 200 มม.ปรอท อัตราปั๊ม 40-60 ครั้งต่อนาทีซึ่งเท่าๆ กับการให้ลูกดูด เลือกราคากลางๆ ที่เราซื้อไหว เครื่องปั๊มที่ถือว่าดี 15-20 นาที ก็ปั๊มน้ำนมได้ปริมาณเพียงพอแล้ว
10.หากหัวนมแตกหรือบอด จะแก้ไขอย่างไร?
*พญ. ปวินทรา หัวนมแตกเกิดจากการให้นมลูกในท่าที่ไม่ถูกต้อง ต้องปรับท่าให้นมและใช้ครีมทาหัวนมทั่วไป หรือวาสลีนและให้ลูกดูดนมโดยให้อ้าปากให้กว้างให้เลยบริเวณที่หัวนมแตก คุณแม่จะเจ็บช่วงแรกแล้วจึงดีขึ้น ส่วนหัวนมบอด ถ้าไม่ได้บุ๋มลงไปลึกมาก พยาบาลคลินิกนมแม่จะช่วยแนะนำการใช้ตัวครอบดึงหัวนมออกมาได้
11.แม่ให้นม ต้องกินอาหารอย่างไร?
*พญ. ปวินทรา ต้องกินอาหารให้เพียงพอและครบ 5 หมู่ ตอนตั้งครรภ์กินอย่างไรตอนให้นมก็เหมือนกัน คุณแม่ให้นมต้องการอาหารเพิ่มอีกวันละ 500 กิโลแคลอรี่ต่อวัน เพราะการให้นมลูกใช้พลังงานมาก เหนื่อยเพราะต้องตื่นบ่อย อีกทั้งการผลิตน้ำนมก็ใช้พลังงานค่อนข้างมาก ส่วนสิ่งที่ควรเลี่ยงคือ อาหารเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด แอลกอฮอล์ ของหมักดอง ชา กาแฟ ให้เลี่ยงให้มากที่สุด (ดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนได้วันละ1 แก้ว)
12.อาหารหรือสมุนไพรกระตุ้นนมแม่ ดีหรือเปล่า?
*พญ. ปวินทรา สามารถกินได้ ของไทยจะมีประสะน้ำนม หัวปลี น้ำขิง ขิง ใบกะเพรา ใบกุยช่าย ผักชีลาว มะละกอ
13.ถ้าลูกชอบกัดหัวนมแม่ ควรทำอย่างไร?
*พญ. ปวินทรา ให้เอานิ้วก้อยใส่ปากลูก คุยกับเขา บอกว่าแม่เจ็บนะ คราวหลังไม่ทำแบบนี้นะ แล้วก็หยุดให้นม เหมือนเป็นการทำโทษระดับหนึ่ง อาจต้องพูดหลายครั้งจนกว่าเขาจะเลิกทำ
คุณเปิ้ลน้องกาย่ากัดตั้งแต่ฟันยังไม่ขึ้น เขากัดแล้วหัวเราะด้วย ต้องบอกว่าไม่เอา ไม่ให้ทำนะคะ อย่างที่คุณหมอบอกว่าเราพูดแล้วเขารู้เรื่อง เราก็พูดกับเขาตลอดค่ะ
สุดท้ายนี้ คุณหมอปวินทราฝากบอกว่า ขอให้คุณแม่ทุกๆ คนให้นมลูกด้วยตนเองนะคะ เพราะนมแม่นั้นคือทุนสมองให้กับลูกน้อย และยังเป็นวิธีสร้างสายใยรักที่อบอุ่นระหว่างคุณแม่และลูกน้อยอีกด้วย
ส่วนใครอยากเพิ่มเติมน้ำนมแม่ อ่านต่อได้ที่
รวมสุดยอดสมุนไพรจีน-ไทย-ยุโรปเพิ่มน้ำนมลูกน้อย
เรื่องโดย : พญ. ปวินทรา หะริณสุต สมนึก กุมารแพทย์ประจำคลินิกนมแม่ และผู้เชี่ยวชาญโรคระบบต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
ภาพ : Shutterstock