AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

8 ตัวการทำ “น้ำนมหด น้ำนมน้อย” แม่ลูกอ่อนอย่าหาทำ!!

น้ำนมหด

แม่ทุกคนทราบดีถึงคุณค่าทุกหยดของนมแม่ จึงเฝ้าทำทุกวิถีทางให้มีนมแม่เพียงพอให้ลูกได้กินไปนาน ๆ แต่หากคุณแม่เผลอไปทำ 8 สิ่งนี้ คุณแม่อาจต้องเจอปัญหา น้ำนมหด น้ำนมน้อย แน่นอน!

8 ตัวการทำ “น้ำนมหด น้ำนมน้อย” แม่ลูกอ่อนอย่าหาทำ!!

ปัญหาที่แม่ให้นมบุตร แม่นักปั๊มไม่อยากเจอคือ น้ำนมหด น้ำนมน้อยลง เพราะแม่ทุกคนทราบดีว่าการกู้น้ำนมให้กลับมามีปริมาณเท่าเดิมเป็นเรื่องที่ยากกว่าตอนกระตุ้นให้มีน้ำนมหลังคลอดมาก และปัญหา น้ำนมหด น้ำนมน้อยลงนั้น มีสาเหตุมาจากการกระทำของคุณแม่ทั้งสิ้น ดังนั้น มาดูตัวการทำ น้ำนมหด น้ำนมน้อยลง ว่ามีกี่สาเหตุกันบ้าง?

  1. ลูกเข้าเต้า / ปั๊มนมไม่ตามรอบ

ปกติแม่ฟูลไทม์ที่เน้นเอาลูกเข้าเต้า เด็กแรกเกิดมักจะตื่นขึ้นมาดูดนมบ่อย ๆ อยู่แล้ว โดยส่วนมากจะตื่นมาทานนมทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง ซึ่งทุก 3 ชั่วโมง เป็นรอบที่คุณแม่ต้องเคลียร์เต้าเพื่อให้มีน้ำนมเพียงพออยู่แล้ว ดังนั้นหากลูกตื่นมาทานทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง ก็จะทำให้คุณแม่มีน้ำนมเพียงพอให้ลูกทาน แต่หากช่วงกลางคืน ลูกนอนยาว คุณแม่ก็ควรจะต้องตื่นมาปั๊มนมทุก ๆ 3 ชั่วโมง อย่าให้ขาด เพราะการนอนยาวไปพร้อมกับลูก ก็อาจเป็นตัวการทำให้น้ำนมน้อยลงได้เช่นกัน

สำหรับแม่นักปั๊ม ก็ควรจะปั๊มนมทุก ๆ 3 ชั่วโมง โดยให้นับรอบปั๊มตั้งแต่เวลาที่เริ่มปั๊ม เช่น เริ่มปั๊มตอน 12.00 น. รอบถัดไปที่ควรเริ่มปั๊มคือ 15.00 น. และ 18.00 น. เช่นกัน หากคุณแม่นอนยาวจนเลยเวลารอบปั๊ม ก็อาจทำให้น้ำนมหดลงได้

ปั๊มนม

2. แม่ปั๊มนม / ลูกดูดนม ไม่เกลี้ยงเต้า

ร่างกายของเรามีการเรียนรู้และจดจำทุกการกระทำของตัวเราเอง ดังนั้น หากคุณแม่ปั๊มนมหรือให้ลูกดูดนมไม่เกลี้ยงเต้า น้ำนมเก่าที่ค้างอยู่ในเต้าไม่ได้รับการระบายออก และไม่มีน้ำนมใหม่เข้ามาแทนที่ ร่างกายก็จะรับรู้ว่าลูกต้องการน้ำนมเพียงเท่านี้ ก็จะผลิตน้ำนมให้น้อยลง นอกการปั๊มหรือดูดนมไม่เกลี้ยงเต้านั้น ยังสร้างปัญหาให้คุณแม่นอกเหนือจากน้ำนมที่น้อยลงอีก คืออาจเป็นตัวการทำให้ท่อน้ำนมอุดตันได้ วิธีสังเกตว่าลูกดูดนม / ปั๊มนมได้เกลี้ยงเต้าหรือยัง คือให้สังเกตว่าเต้ามีลักษณะอ่อนนิ่ม ยวบลง เมื่อบีบดูจะไม่มีก้อนแข็ง ๆ หรือรู้สึกคัด และให้ดูที่น้ำนม หากน้ำนมที่ปั๊มออกมามีลักษณะใส นั่นคือน้ำนมส่วนหน้า ให้ปั๊มจนกว่าน้ำนมจะมีสีขาวขุ่นขึ้น เพราะนั่นคือน้ำนมส่วนหลัง

อ่านต่อ เทคนิค ปั๊มนมเกลี้ยงเต้า เพื่อลูกได้สารอาหารครบ!

นมแม่

3. ปล่อยให้คัดเต้าบ่อย ๆ

วิธีการหลัก ๆ ที่จะทำให้คุณแม่มีน้ำนมเพียงพอต่อความต้องการของลูกคือ ดูดเร็ว ดูดบ่อย ดูดถูกวิธี ดูดเกลี้ยงเต้า การที่คุณแม่ปล่อยให้นมคัดเต้าแล้วไม่ปั๊มหรือไม่ให้ลูกดูดออก ปล่อยทิ้งไว้จนกว่าจะว่างปั๊มนั้น ผิดต่อหลักการที่จะทำให้มีน้ำนมเพียงพอได้ เพราะร่างกายจะเรียนรู้ว่าคุณแม่ต้องการให้มีนมในปริมาณที่น้อย จึงไม่จำเป็นต้องผลิตออกมามาก

4. ป่วย

ไม่ว่าจะเป็นแม่ป่วย หรือลูกป่วย ก็อาจเป็นสาเหตุที่น้ำนมหดลงได้ เพราะเมื่อแม่ป่วย ร่างกายจะต้องการการพักผ่อนเพิ่มขึ้น แต่แม่ต้องเลี้ยงลูก จึงอาจทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอได้ และการพักผ่อนไม่เพียงพอนั้น เป็นสาเหตุที่ทำให้น้ำนมลดลงได้ นอกจากนี้ยาบางชนิด เมื่อทานแล้ว ตัวยาจะสามารถออกมาทางน้ำนมได้ แพทย์จึงแนะนำให้ลูกงดทานนมในช่วงที่แม่ทานยานั้น ๆ หากคุณแม่ไม่ได้ปั๊มหรือบีบทิ้ง ร่างกายก็จะเรียนรู้ว่าเราไม่ต้องการให้มีน้ำนมแล้ว ก็จะผลิตน้ำนมน้อยลง แต่การป่วยไข้หวัดทั่วไป คุณแม่สามารถทานยา พร้อมกับให้นม / ปั๊มนมให้ลูกได้ เพราะยาส่วนใหญ่ออกทางน้ำนมน้อยมาก เพียงไม่ถึง 1 % ของปริมาณยาที่แม่ได้รับ ส่วนยาแก้คัดจมูก อาจมีบางคนที่ไวต่อยานี้ และทำให้น้ำนมลดลงได้ แต่พบเป็นส่วนน้อย และเป็นชั่วคราว

ยาสำหรับรักษาอาการไข้หวัดที่คุณแม่มักจะใช้กันบ่อย ๆ มาดูกันว่ายาตัวไหนมีผลต่อน้ำนมบ้าง

อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ ยาแก้หวัด แก้ไข้ ที่แม่ให้นมกินแล้ว นมไม่หด ไม่ส่งถึงลูก

ในกรณีที่ลูกป่วย ที่อาจกระทบต่อปริมาณน้ำนม เป็นเพราะเมื่อลูกรู้สึกไม่สบายตัว ลูกจะทานได้น้อยลง จึงเป็นสาเหตุให้น้ำนมลดลงได้

ยา น้ำนม

5. กินของหวาน ของมัน ของทอด

การทานของหวาน ๆ ของมัน ๆ ของทอดตัวอย่างเช่น ข้าวเหนียวมะม่วงราดน้ำกะทิ เค้ก คุ๊กกี้ นมบราวน์ชูก้าไข่มุก ซีเรียลใส่นม ปาท่องโก๋ เวเฟอร์ กล้วยทอด ฯลฯ เป็นการเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการทำให้น้ำนมอุดตันได้ เพราะอาหารเหล่านี้ทำให้นมเป็นก้อนและปั๊มออกยาก การที่ท่อน้ำนมอุดตัน ทำให้นมที่คั่งอยู่ไม่มีการระบายออก ไม่มีการสร้างใหม่ทำให้ร่างกายผลิตน้ำนมได้น้อยลง เป็นสาเหตุที่ทำให้น้ำนมหดได้ค่ะ แต่ถ้าใครกินแล้วน้ำนมพอ ก็ไม่ต้องงดนะคะ สามารถทานได้ปกติ เพียงแต่อาจจะต้องคอยระวังน้ำหนักที่อาจเพิ่มขึ้นได้ค่ะ

อ่านต่อ ท่อน้ำนมอุดตัน เพราะกินของทอด ของมัน

6. เครียด

ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการให้นม มี 2 ชนิด คือ โพรแลคตินและออกซีโทซิน เป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการสร้างการผลิตและการให้นมแม่ โดยฮอร์โมนออกซีโทซินจะไวต่ออารมณ์และความรู้สึกของคุณแม่มาก หากคุณแม่รู้สึกเครียด กังวล  เกิดความกลัว  หรือเหนื่อยอ่อนจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ ก็จะทำให้สมองผลิตฮอร์โมนชนิดนี้น้อยลง ทำให้ปริมาณน้ำนมน้อยลงไปด้วยเช่นกัน ในทางตรงข้าม สิ่งที่ทำให้ฮอร์โมนนี้หลั่งได้ดีขึ้น ก็คือจิตใจที่มีความสุขของแม่เอง ลองสังเกตดูสิคะว่ารอบปั๊มที่คุณแม่ปั๊มในตอนกลางดึก หลังจากได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ ปริมาณน้ำนมจะมีมากกว่ารอบอื่น ๆ ดังนั้น หากต้องการให้ฮอร์โมนหลั่งดี น้ำนมมาในปริมาณมาก คุณแม่ก็ต้องทำใจให้สบาย ไม่เครียด  เพราะถ้าเครียดน้ำนมก็จะยิ่งน้อย

น้ำนมน้อย

7. ดื่มน้ำน้อย

การดื่มน้ำร้อน ไม่เพิ่มน้ำนม อาจทำให้เราเสียเวลาและพลังงานมากมาย เพราะในความเป็นจริงคือ แม่ให้นมดื่มน้ำเย็นได้ ไม่ลดน้ำนมสักนิด และการดื่มน้ำมาก ๆ ก็ไม่ช่วยเพิ่มน้ำนม แต่ในทางกลับกัน การดื่มน้ำน้อย จนทำให้ร่างกายขาดน้ำ น้ำนมจะลดลงได้ค่ะ ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าหากต้องการเพิ่มปริมาณน้ำนม ไม่ต้องดื่มน้ำมาก ๆ แต่ควรดื่มน้ำให้พอดี ไม่ทำให้ร่างกายขาดน้ำ จะดื่มน้ำอุ่นหรือน้ำเย็น ก็ตามแต่ที่คุณแม่ชอบ และควรทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ และสำคัญที่สุดคือการให้ลูกดูดนม / ปั๊มนม เพื่อกระตุ้นบ่อย ๆ เท่านี้ก็เพียงพอแล้วค่ะ

อ่านต่อ สีปัสสาวะ สามารถบอกภาวะขาดน้ำได้

8. เสริมนมผง เสริมอาหาร ก่อน 6 เดือน

หากนมแม่มีเพียงพอให้ลูกทาน ก็ไม่จำเป็นต้องเสริมนมผง และนมแม่ยังมีประโยชน์ทุกหยด ไม่ได้เสื่อมคุณภาพลงหลังลูกอายุ 6 เดือน ลูกยังสามารถทานนมแม่ไปเรื่อย ๆ โดยไม่จำเป็นต้องเสริมนมผง วิธีดูว่านมแม่มีเพียงพอหรือไม่นั้น ทีมแม่ ABK ขอนำบทความจาก ป้าหมอ สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ ที่ได้อธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้มาฝากค่ะ

#อย่างไรเรียกว่ามีน้ำนมเพียงพอ

แม่บางคนเลือกวิธีปั๊มนมใส่ขวด เพื่อที่จะได้รู้ปริมาณน้ำนมที่ลูกกิน แต่…การทำเช่นนี้จะทำให้เด็กไม่มีโอกาสดูดกระตุ้นที่เต้านม การสร้างน้ำนมของแม่จะลดลงเรื่อย ๆ เพราะเครื่องปั๊มกระตุ้นได้ไม่ดีเท่าการดูดของเด็ก การประเมินว่าเด็กได้นมเพียงพอหรือไม่ สามารถทำได้คือ

  • สังเกตว่าขณะดูดได้ยินเสียงกลืนน้ำนมลงคอ
  • มีอาการเรอ อาการสะอึกหลังกินนมเสร็จ
  • มีอาการพุงกางออกหลังกินนม
  • อุจจาระมากกว่า 2 ครั้ง ปัสสาวะมากกว่า 6 ครั้งต่อวัน

การตื่นบ่อยหรือร้องไห้มาก หรือทำปากอยากดูดตลอดเวลา ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดที่เชื่อถือได้ ว่าเป็นเพราะยังหิวอยู่ เพราะทารกบางคนได้กินนมมากจนมีอาการปวดแน่นท้อง อึดอัดมาก ก็แสดงอาการดังกล่าวได้ ควรใช้วิธีสังเกตปริมาณอุจจาระปัสสาวะจะดีกว่า

สำหรับการเสริมอาหาร ควรทำเมื่อลูกอายุ 6 เดือนขึ้นไป การให้เสริมอาหารให้ลูกทานก่อน 6 เดือน จะทำให้ลูกอิ่มจากอาหารเสริม หรือนมผง จนทานนมได้น้อยลง จึงทำให้ น้ำนมหด ได้นั่นเอง

หากคุณแม่ได้เผลอทำ 8 ข้อนี้ไปแล้ว และอาจทำให้ น้ำนมหด น้ำนมน้อยลง ก็อย่าเพิ่งท้อใจไปนะคะ ทีมแม่ ABK มีขั้นตอนการ กู้น้ำนม แบบเร่งด่วน ที่ทั้งง่ายและได้ผลเร็วมาฝากค่ะ

5 ขั้นตอนในการ กู้น้ำนม แบบเร่งด่วน ง่าย และได้ผลเร็ว

  1. ปรึกษาและศึกษา

ปรึกษาแพทย์ พยาบาล หรือผู้เชี่ยวชาญด้านนมแม่ หาสาเหตุที่ทำให้น้ำนมแม่น้อย เช่น การใช้ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน แม่ได้รับยาขับปัสสาวะ แม่สูบบุหรี่ หรือลูกติดจุกหลอกหรือขวดนม หรือแม่แยกจากลูกไปเป็นเวลานาน และศึกษาวิธีการที่จะทำการกู้น้ำนมกลับคืนมา

2. เตรียมตัวให้พร้อม

เตรียมร่างกายและจิตใจให้พร้อม เพราะการกู้น้ำนม อาจต้องใช้เวลาและความอดทนพอสมควร โดยคุณแม่ควรเตรียมร่างกายและจิตใจ ดังนี้

3. เริ่ม “กู้น้ำนม” ด้วยหลัก 4 ด. (ดูดเร็ว ดูดบ่อย ดูดถูกวิธี ดูดเกลี้ยงเต้า)

ในกรณีที่ลูกยังคงดูดนมจากเต้า ให้เริ่มกลับมาทำเหมือนลูกอยู่ในวัยแรกเกิด คือ ให้ลูกดูดทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง วันละ 8 รอบ และต้องดูดอย่างถูกวิธีและดูดเกลี้ยงเต้าทุกครั้ง ในกรณีที่ลูกไม่ได้ตื่นมาทานนมครบทุกรอบ ให้คุณแม่ปั๊มนมในรอบนั้น ๆ แทน

ในกรณีที่คุณแม่เลือกวิธีปั๊มนม ก็ใช้วิธีเดียวกัน คือ ปั๊มเร็ว ปั๊มบ่อย ปั๊มถูกวิธี ปั๊มให้เกลี้ยงเต้า ปั๊มทุก 3 ชม.ทั้งกลางวันกลางคืน

การเรียกน้ำนมแม่กลับคืนใช้เวลานานหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแม่และสภาพแวดล้อมต่าง ๆ อาจใช้เวลาเพียง 2-3 วัน หรือ 2-3 สัปดาห์ก็ได้ การเรียกน้ำนมแม่กลับคืนจะกลับมาได้เร็วในแม่ที่เพิ่งหยุดให้นมลูกไปได้ไม่นาน หรือยังให้ลูกดูดนมบ้างบางครั้งคราว

4. ใช้ยาช่วย

หากเรียกน้ำนมแม่กลับคืนด้วยวิธีธรรมชาติไม่สำเร็จ สามารถพิจารณาใช้ยาช่วยร่วมกับการกระตุ้นเต้านมได้ ในการเพิ่มปริมาณน้ำนมแม่ ยาที่ช่วยในการเพิ่มน้ำนมนี้เรียกว่าแลคโตกัส หรือ กาแลคโตกัส (lactogogues
หรือ galactogogues) ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

ทั้งนี้ คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทานยา เพราะยาบางชนิดอาจมีผลข้างเคียง หรือถูกขับออกมาทางน้ำนมได้

5. รักษาปริมาณน้ำนม

เมื่อสามารถ กู้น้ำนม กลับมาสำเร็จแล้ว ก็อย่าลืมที่จะรักษาปริมาณน้ำนมให้มีปริมาณเท่าเดิม อย่าเผลอทำสิ่งที่อาจทำให้น้ำนมหด น้ำนมน้อยลงอีกนะคะ

การหลีกเลี่ยง 8 ตัวการทำ น้ำนมหด น้ำนมน้อยลงนั้นทำได้ไม่ยากเลยใช่ไหมล่ะคะ เพียงคุณแม่ทำร่างกายให้แข็งแรง ทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ให้ลูกดูดเร็ว ดูดบ่อย ดูดถูกวิธี และดูดเกลี้ยงเต้า โอกาสที่จะทำให้คุณแม่มีน้ำนมที่น้อยลงก็แทบจะไม่มีเลยค่ะ เป็นกำลังใจให้คุณแม่ให้นมทุกท่านนะคะ

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

กู้น้ำนมแม่ ในวันที่น้ำนมหดหาย ทำได้จริงถ้าใจแม่สู้!!

นมแม่ป้องกันโรค ช่วยลูกสุขภาพดีตั้งแต่แรกเกิด

อยาก ให้นมแม่ สำเร็จ แม่ต้องสตรอง และห้ามท้อ

4 วิธีกระตุ้นนมแม่ อย่างได้ผลดี ไม่เหนื่อย ไม่เจ็บ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : เพจนมแม่แฮปปี้, เพจนมแม่, พญ. ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล, ป้าหมอ สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids