สำหรับคุณแม่มือใหม่ทั้งหลายที่ตั้งใจเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แต่ก็ไม่แน่ใจว่า อุ้มลูกดูดนม ถูกวิธีหรือไม่ เพราะนอกจากการอุ้มลูกที่ถูกวิธีจะช่วยให้ลูกน้อยได้รับน้ำนมแม่อย่างเต็มที่แล้ว ยังเป็นการกระตุ้นวงจรการสร้างน้ำนมให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคุณแม่ไม่ต้องทรมานกับอาการหัวนมแตกอีกด้วยค่ะ
ก่อนอื่น อยากให้คุณแม่ทำความเข้าใจกระบวนการสร้างน้ำนมกันสักเล็กน้อย แพทย์หญิงรัชดา เกษมทรัพย์ กุมารแพทย์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี อธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า…
กระบวนการสร้างน้ำนมของคุณแม่จะเริ่มตั้งแต่ 3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์แล้วค่ะ ดังนั้นคุณแม่ทุกคนจึงมีน้ำนมเตรียมพร้อมอยู่ในเต้าอย่างเท่าเทียมกัน เพียงแต่ว่าน้ำนมยังไม่หลั่งออกมาเท่านั้น กระทั่งเมื่อคุณแม่คลอดลูกน้อยออกมา กระบวนการผลิตน้ำนมยังคงดำเนินต่อไปแต่ต้องอาศัยการดูดกระตุ้นของลูกน้อยเข้ามาช่วย เพื่อให้น้ำนมที่มีอยู่เต็มเต้าได้ระบายออกมาและร่างกายก็จะสร้างน้ำนมขึ้นมาแทนที่อย่างต่อเนื่องค่ะ อ้อ..แต่ก็ต้องเป็นการดูดกระตุ้นอย่างถูกวิธีด้วยนะคะ
วิธีดูดกระตุ้นที่ดีที่สุด คือดูดให้เร็วที่สุด ภายใน 1 ชั่วโมงหลังคลอด หรืออย่างน้อยๆก็ควรให้ลูกได้ดูดกระตุ้นภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอดก็ยังดีค่ะ เพราะเป็นช่วงที่ลูกจะได้รับ หัวน้ำนม ซึ่งไม่ใช่แค่สารอาหารที่ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานให้ลูกน้อยเท่านั้น แต่ยังมีสเต็มเซลล์ที่จะช่วยเสริมสร้างเซลล์ต่างๆ ในร่างกายของลูกด้วย
วิธี อุ้มลูกดูดนม ช่วยกระตุ้นน้ำนมแม่
โดยทั่วไปท่าให้นมแม่จะมีอยู่ 4 ท่าหลักๆ คือ ท่านั่งอุ้มลูกแนบอก ท่านั่งและอุ้มลูกแนบอกแบบสลับแขน ท่านั่งแบบอุ้มด้านข้างแนบอก และท่านอนตะแคง ซึ่งแต่ละท่านี้มีจุดร่วมเดียวกัน คือ
- ศีรษะกับลำตัวลูกต้องเป็นแนวเดียวกัน
- ลำตัวลูกอยู่ในลักษณะตะแคงเข้าหาแม่ (หรือแม่ตะแคงหาลูกในท่านอน) โดยพุงของลูกชิดติดกับพุ่งของแม่
- ลูกอ้าปากกว้าง งับมิดลานนม โดยคุณแม่อาจใช้นิ้วเขี่ยที่ข้างแก้มให้ลูกอ้าปากแล้วค่อยๆ สอดหัวนมเข้าไป
- ให้ลูกงับหัวนมจนมิดถึงลานนม สังเกตว่าเวลาลูกดูดนมคางลูกต้องอยู่ชิดเต้านมแม่ จมูกเชิดขึ้น
- ลูกดูดนมได้แรง กลืนเป็นจังหวะ และมีการสลับหยุดเป็นพักๆ
- คุณแม่ไม่รู้สึกเจ็บหัวนมเวลาที่ลูกดูด
ในช่วง 3-5 วันหลังคลอดเป็นช่วงที่คุณแม่ต้องใจแข็งอดทนนิดหนึ่งนะคะ เพราะแต่ละคนน้ำนมจะระบายออกมาเร็วช้าต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของคุณแม่ที่อาจจะยังอ่อนเพลียจากการคลอด การดูดกระตุ้นที่ถูกวิธี รวมทั้งโอกาสที่จะได้ให้ลูกดูดกระตุ้นน้ำนมบ่อยๆ ซึ่งในช่วงที่ให้นมลูกนี้ คุณแม่ควรทำจิตใจให้สบาย และดื่มน้ำอุ่นมากๆ ยามลูกหลับก็ต้องรีบพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อร่างกายจะได้ฟื้นตัวเร็ว
อ่านต่อ >> “กระบวนการผลิตน้ำนมที่คุณแม่ควรรู้
พร้อม เช็กกันว่า…ลูกดูดนมแม่ถูกวิธีหรือยัง?” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
“นมแม่” ถ้าเข้าใจ ยังไงก็พอ เริ่มจากเราต้องเข้าใจกระบวนการผลิตน้ำนมกันก่อนว่ามันทำงานอย่างไร
-
Lactogenesis I & II น้ำนมแม่ ที่ผลิตจากการทำงานของฮอร์โมน
กระบวนการผลิตน้ำนมของร่างกายนั้น จะแบ่งเป็นสามช่วง เริ่ม ตั้งแต่ตอนตั้งครรภ์ได้สัก 16-22 สัปดาห์ ร่างกายจะเริ่มผลิตColostrum หรือหัวน้ำนม ในปริมาณน้อยนิด ช่วงนี้เรียกว่า Lactogenesis I ต่อจากนั้นเมื่อคลอดได้ 30-40 ชม. ฮอร์โมนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก็จะเริ่มทำงานกระตุ้นให้มีการสร้างน้ำนมในปริมาณที่เพิ่มขึ้น แต่ส่วนใหญ่แล้วคุณแม่ทั้งหลายจะเริ่มรู้สึกว่านม มาแล้วหลังจากที่คลอดได้ประมาณ 50-73 ชม. (2-3 วันหลังคลอด) ช่วงที่สองนี้เรียกว่า Lactogenesis II ค่ะ
ทั้งสองช่วงแรกนี้ กระบวนการผลิตน้ำนมเกิดจากการทำงานของฮอร์โมน ไม่ว่าแม่จะให้ลูกดูดนมหรือไม่ก็ตาม ร่างกายก็จะทำการผลิตน้ำนมโดยธรรมชาติ
-
Lactogenesis III ถ้าไม่ให้ลูกดูด น้ำนมก็ไม่มี
ช่วงที่สามนี้เป็นช่วงที่สำคัญมาก เพราะการผลิตน้ำนมของคุณแม่จะไม่ได้ถูกควบคุมด้วยฮอร์โมนล้วนๆ อีกต่อไป น้ำนมแม่จะผลิตอย่างต่อเนื่องก็ต่อเมื่อมีการนำน้ำนมออกจากร่างกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะด้วยการดูดของลูก การบีบด้วยมือ หรือการปั๊มด้วยเครื่อง
ดังนั้นภายในสัปดาห์แรกหลังคลอด จึงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ประสบความสำเร็จอย่างง่ายดาย หรือยากลำบาก ถ้าคุณแม่สามารถนำน้ำนมออกจากร่างกายได้มากเท่าใดในช่วงนี้ ก็จะยิ่งช่วยให้การผลิตน้ำนมมากขึ้นเท่านั้น ในทางกลับกันการให้นมผสมในช่วงสัปดาห์แรกนี้ เป็นการแทรกแซงกลไกของธรรมชาติ ที่เป็นการซ้ำเติมให้การผลิตน้ำนมของแม่ช้าลง
คุณแม่จำนวนมากได้รับความรู้ผิดๆ จากบุคลากรในโรงพยาบาลว่า น้ำนมน้อย ต้องเสริมนมผสมให้ลูกก่อน รอให้น้ำนมมาก่อน แล้วค่อยให้นมแม่ ซึ่งการทำเช่นนั้นยิ่งทำให้น้ำนมแม่มาช้ากว่าเดิม วิธีที่จะเร่งให้น้ำนมมาเร็วๆ คือ ต้องพยายามนำน้ำนมออกจากร่างกายให้มากที่สุด ด้วยการให้ลูกดูดอย่างถูกวิธีบ่อยๆ ซึ่งในช่วงสองสามวันแรกนั้น ลูกจะหลับเป็นส่วนใหญ่ และดูดยังไม่ค่อยเก่ง แม่ก็อ่อนเพลียจากการคลอด การใช้มือบีบหรือเครื่องปั๊มคุณภาพดีจะช่วยให้สามารถนำน้ำนมออกมาจากร่างกายได้มากขึ้นกว่าการรอให้ลูกดูดอย่างเดียว และจะช่วยให้การผลิตน้ำนมเร็วและมากขึ้น
แต่การบีบหรือปั๊มในช่วงหลังคลอดใหม่ๆ นี้ก็มีข้อควรระวังคือ ร่างกายที่ผ่านการคลอดมาใหม่ๆ นั้น มักจะอ่อนเพลียและsensitive การบีบหรือปั๊ม หรือแม้แต่ลูกดูด ก็จะทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บมากๆ ได้ จนทำให้แม่หลายๆ ท่าน รู้สึกว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นี้ช่างเจ็บปวด และทรมานเสียจริง ขอให้เข้าใจว่าความรู้สึกเจ็บปวดทรมานแบบนั้นจะคงอยู่ไม่นาน จะดีขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป หลังจากนั้น ไม่ว่าลูกจะดูด ใช้มือบีบ หรือใช้เครื่องปั๊ม ก็จะไม่เจ็บอีกต่อไป ทั้งนี้ต้องอยู่บนเงื่อนไขที่ว่า ลูกดูดถูกวิธี บีบด้วยมืออย่างถูกวิธี หรือใช้เครื่องปั๊มนมคุณภาพดี
อ่านต่อ >> “เพิ่มปริมาณน้ำนมให้เพียงพอกับลูกน้อย” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
หากต้องการเพิ่มปริมาณน้ำนม ต้องทำอย่างไร
น้ำนมจะถูกผลิตอยู่ตลอดเวลา ด้วยความเร็วที่ขึ้นอยู่กับว่าเต้านมนั้นว่างหรือเต็ม น้ำนมที่ถูกผลิตจะสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงเวลาระหว่างมื้อนมที่ให้ลูกดูดแต่ละครั้ง เมื่อน้ำนมสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามระยะเวลาที่เพิ่มขึ้นหลังจากที่ลูกดูดครั้งสุดท้าย เมื่อน้ำนมเริ่มเต็ม การผลิตน้ำนมก็จะช้าลง
ถ้าต้องการที่จะกระตุ้นให้ร่างกายผลิตน้ำนมเพิ่มขึ้นในแต่ละวัน สิ่งที่ต้องทำคือ พยายามนำน้ำนมออกจากร่างกายให้เร็วขึ้นและบ่อยขึ้น เพื่อให้มีน้ำนมสะสมในเต้าในระหว่างมื้อน้อยลง
นั่นก็หมายความว่า หากต้องการเพิ่มน้ำนม จะต้องทำให้เต้านมเกลี้ยงที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตลอดทั้งวัน ด้วยวิธีต่อไปนี้
- นำน้ำนมออกจากร่างกายให้บ่อยมากขึ้น (ด้วยการให้ลูกดูดบ่อยกว่าเดิม และ/หรือ เพิ่มการบีบหรือปั๊มในระหว่างมื้อที่ลูกดูด)
- พยายามทำให้น้ำนมเกลี้ยงเต้ามากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในการดูดหรือปั๊มแต่ละครั้ง
ที่สำคัญ เมื่อร่างกายแข็งแรงและจิตใจปลอดโปร่งโล่งสบาย ไม่ช้าไม่นานน้ำนมก็จะไหลมาเทมาให้ลูกน้อยได้แน่ๆ ค่ะ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
มาเช็กกันหน่อย…ลูกดูดนมแม่ถูกวิธีหรือยัง?
o ศีรษะกับลำตัวลูกเป็นแนวเดียวกัน
o ลำตัวลูกอยู่ในลักษณะตะแคงเข้าหาแม่ พุงชิดติดกัน
o ลูกอ้าปากกว้าง งับมิดลานนม
o คางลูกอยู่ชิดเต้านมแม่ จมูกเชิดขึ้น
o ลูกดูดนมได้แรง กลืนเป็นจังหวะ สลับหยุดเป็นพักๆ
o แม่ไม่เจ็บหัวนมเวลาที่ลูกดูด
อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก!
- กู้น้ำนมแม่ กู้โลก!!!
- เต้านมคัด ปวดมาก แก้ไขอย่างไรดี ?
- ความจุในการเก็บน้ำนม ของเต้านมแม่มีเท่าไหร่?
เรื่อง : มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย จากคอลัมน์ : เพราะทรงนำ ฉบับมกราคม 2015