ทั้งเจ็บทั้งแสบ อยากให้นมก็อยาก แต่ หัวนมแตก ทำอย่างไรกันดีละทีนี้? … ที่นี่มีคำตอบค่ะ
ปัญหาหัวนมแตก ถือเป็นปัญหาที่คุณแม่มือใหม่ทุกคนต้องเจอ คุณแม่ส่วนใหญ่ก็จะรู้จักแต่ชื่อแต่เคยทราบกันมาก่อนไหมคะว่า อาการดังกล่าวนี้ เกิดจากอะไร? ซึ่งวันนี้ทีมงาน Amarin Baby and Kids ก็ได้รวบรวมเนื้อหาดี ๆ มีประโยชน์มาฝากคุณแม่ทุกท่านกันค่ะ … ของแบบนี้รู้ทัน แก้ไขไว มีชัยไปกว่าครึ่งแล้วละค่ะ
หัวนมแตก เกิดจากอะไร?
หัวนมแตกเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ บางสาเหตุหากแก้ไขได้ก็จะช่วยให้อาการหมดไป แต่บางกรณีอาจต้องรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์ โดยสาเหตุที่มักพบ ได้แก่
- ท่าทางในการกินนมและการดูดนมที่ไม่ถูกต้อง คุณแม่มือใหม่บางรายที่ยังไม่ชำนาญในการให้นมลูกน้อยอาจจัดท่าให้นมที่ไม่เหมาะสม และทารกอาจดูดหัวนมแม่ผิดวิธี คือปากของทารกอยู่ตื้น ขอบปากไม่ถึงลานนม ซึ่งนอกจากจะทำให้เด็กดื่มนมได้ไม่เต็มที่ ยังส่งผลให้หัวนมแตกได้
- การติดเชื้อรา หากทารกมีเชื้อราในช่องปาก การให้นมบุตรอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่หัวนม และกลายเป็นปัญหาหัวนมแตกได้ สังเกตว่าติดเชื้อหรือไม่จากอาการต่าง ๆ เช่น มีอาการคัน หรือเจ็บบริเวณหัวนม หัวนมมีลักษณะแดงและเงาผิดปกติ นอกจากนี้ อาจมีอาการเจ็บจี๊ด ๆ ขณะให้นมบุตรร่วมด้วย
- การใส่อุปกรณ์ปั้มนม การใช้อุปกรณ์เสริมเพื่อปั้มน้ำนม หากใส่ไม่ถูกวิธีจะทำให้เกิดการบาดเจ็บที่หัวนมได้ โดยสาเหตุเกิดจากการเร่งความเร็วในการปั้มนมมากเกินไป ใช้ความแรงมากเกินไป หรือใช้หัวปั้มที่มีขนาดเล็กเกินไปจนทำให้หัวนมแตก
- ภาวะผิวหนังอักเสบบริเวณหัวนม อาการอักเสบของผิวหนังบริเวณหัวนมอาจทำให้ผิวหนังตกสะเก็ด และเป็นผื่นแดง จนนำไปสู่อาการคันและเจ็บบริเวณหัวนม หากไม่ดูแลรักษาก็จะทำให้หัวนมแตกได้
- ภาวะลิ้นติดของทารก เป็นภาวะความผิดปกติภายในช่องปากของทารกที่การเคลื่อนไหวของลิ้นถูกจำกัดเนื่องจากเนื้อเยื่อที่เชื่อมระหว่างลิ้นและพื้นล่างของปากมีขนาดสั้น หรือเกิดขึ้นล้ำมาทางด้านหน้าของปากมากเกินไป ทำให้เมื่อเด็กดูดนมแม่ลิ้นของทารกจะไม่สามารถขยับให้อยู่ในลักษณะที่เหมาะสมได้ และทำให้เกิดเป็นแผลแตกที่หัวนมในที่สุด
หัวนมแตกแล้วให้นมลูกต่อได้หรือไม่ อ่านต่อ >>
แม่หัวนมแตก แล้วให้นมต่อได้หรือไม่?
แม้ว่าอาการหัวนมแตกจะไม่ส่งผลร้ายแรงแต่อาจรบกวนการให้นมบุตรได้ เพราะในบางกรณีที่หัวนมแตกจนมีเลือดไหลนั้น น้ำนมอาจมีเลือดเจือปนด้วย ทำให้ทารกกลืนนมที่มีเลือดเจือปน ส่งผลให้มีเลือดเจือปนในอุจจาระของเด็ก หรือในนมที่เด็กสำรอกออกมาได้ แต่ก็ไม่เป็นอันตรายต่อเด็ก แต่ถ้าหากคุณแม่มีอาการรุนแรงละก็ คุณแม่ก็อาจจะต้องใช้การปั้มนมเพื่อป้อนลูกน้อยแทนไปก่อนจนกว่าจะหาย และควรปรึกษาแพทย์หรือพยาบาลผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับมือกับปัญหาอื่น ๆ ที่อาจตามมาจะดีที่สุดค่ะ
แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าควรไปพบแพทย์?
หากอาการไม่รุนแรงนัก คุณแม่อาจไม่จำเป็นต้องเลิกให้นมบุตรหรือไปพบแพทย์ แต่ในทางกลับกัน หากมีอาการเจ็บที่หัวนมอย่างรุนแรงหรือพยายามบรรเทาอาการด้วยตัวเองเบื้องต้นแล้วยังไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่อาจตามมาในภายหลัง
นอกจากนี้ หากมีอาการอื่น ๆ เช่น มีไข้สูง มีอาการเจ็บบริเวณหน้าอก ผิวหนังบริเวณหน้าอกแดงผิดปกติ เมื่อสัมผัสผิวหนังบริเวณหน้าอกแล้วรู้สึกอุ่น ๆ หรือแข็งผิดปกติ รวมทั้งมีหนองไหลออกมาจากหัวนม หรือบริเวณอื่นของหน้าอก ก็ควรไปพบแพทย์ด้วยเช่นกัน แต่หากมีอาการไข้สูงอย่างต่อเนื่อง รวมกับอาการต่อมน้ำเหลืองที่คอ หรือรักแร้บวม ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณอันตรายของการติดเชื้อค่ะ
ป้องกันและรักษาอย่างไร อ่านต่อ >>
เครดิต: Pobpad
วิธีป้องกันและรักษา
สำหรับวิธีการป้องกันและรักษาอาการหัวนมแตกที่ทีมงานนำมาฝากวันนี้นั้น สามารถทำได้ด้วยวิธีพื้นฐานง่าย ๆ ชนิดที่ไม่ต้องเสียเงินแต่อย่างใดเลยนั่นก็คือ หลังจากที่คุณแม่ให้นมลูกน้อยเสร็จแล้ว ให้ใช้น้ำนมของคุณแม่เองมาทาลงไปที่หัวนม เน้นบริเวณที่แตกมากเป็นพิเศษและควรปล่อยทิ้งไว้ให้แห้งเอง การรักษาหัวนมแตกด้วยน้ำนมคุณแม่นั้นนับเป็นวิธีที่ทำง่ายและได้ผลอย่างมาก เพราะน้ำนมมีคุณสมบัติช่วยป้องกันปัญหาผิวแห้งแตกในบริเวณหัวนมได้ และหากถึงเวลาต้องให้นมลูกน้อยครั้งต่อไป ก็แค่นำผ้าหรือสำลีชุบน้ำอุ่นมาเช็ดทำความสะอาดหัวนมอีกครั้ง เพียงเท่านี้ก็สามารถให้นมลูกตามปกติต่อไปได้แล้วละค่ะ
จะให้ดีนะคะ หลังจากให้นมลูกเสร็จก็ทุกครั้ง ให้คุณแม่ทำตามวิธีที่ได้กล่าวหลังจากที่ลูกดูดนมเสร็จทุกครั้งก็จะเป็นการช่วยป้องกันและรักษาไปได้ในตัวเลยละค่ะ แต่ถ้าหากเป็นแผลมากละก็ ไปพบแพทย์จะดีที่สุด เพราะแพทย์จะให้ยาทามารักษาอาการให้ดีขึ้น ซึ่งการรักษานั้นก็จะใช้เวลาประมาณ 1-2 วัน อาการก็จะค่อย ๆ ดีขึ้นเองค่ะ
อ่านต่อเนื้อหาอื่นที่น่าสนใจ:
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่