คุณแม่ให้นมหลายคนอาจกำลังเครียดหนัก เนื่องจากคนรอบข้างต่างกดดันให้เลิกเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะเข้าใจว่าเป็นสาเหตุทำให้ลูกตัวเล็ก และน้ำหนักน้อย อยากให้เปลี่ยนไปกินนมผสม หรือเพิ่มวิตามินอาหารเสริมแทน เพื่อให้ลูกตัวอ้วนใหญ่เหมือนเด็กคนอื่น ๆ ข้อเท็จจริงนี้จะเป็นอย่างไร วันนี้เราจะพาคุณแม่ไปทำความเข้าใจกันค่ะว่า กินนมแม่ แล้วลูกตัวเล็ก น้ำหนักน้อย จริงหรือ?
กินนมแม่ แล้วลูกตัวเล็ก จริงหรือ?
ทำไมเด็กกินนมแม่บางคนดูตัวเล็กจัง
คุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อาจแอบสงสัยว่า ทำไมน้ำหนักตัวของลูกถึงได้ขยับขึ้นช้ากว่าเด็กที่กินนมผสม ซึ่งพลอยทำให้กังวลว่าควรจะให้เลิกกินนมแม่ไปเลยดีไหม ประเด็นนี้กุมารแพทย์ได้อธิบายไว้ว่า น้ำหนักของเด็กที่กินนมแม่จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปแต่สม่ำเสมอ เพราะเด็กจะกินนมแม่ตามความต้องการของร่างกายและปริมาณน้ำนมที่แม่ผลิตต่อวัน และจะหยุดดูดนมเมื่ออิ่ม ในขณะที่เด็กกินนมผสมจะกินตามปริมาณที่ชงให้ ซึ่งอาจได้รับมากไปในแต่ละมื้อ ทำให้น้ำหนักเพิ่มเกินความจำเป็น ซึ่งเป็นบ่อเกิดของโรคเบาหวาน และโรคอ้วนในอนาคตได้อีกด้วย
ปัจจัยอะไรที่ทำให้ ลูกตัวเล็ก น้ำหนักน้อย
นอกจากนี้ เด็กนมแม่ที่ดูตัวเล็ก และน้ำหนักน้อย คุณพ่อคุณแม่ต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วย ได้แก่
-
พันธุกรรม
เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อขนาดตัวของลูก หากคุณพ่อหรือคุณแม่มีขนาดตัวเล็ก ผอมบาง ก็ย่อมเป็นไปได้ว่าลูกจะตัวเล็ก และน้ำหนักน้อย ซึ่งพญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ ได้ยกตัวอย่างครอบครัวของคุณหมอเป็นกรณีศึกษาไว้อย่างชัดเจนว่า คุณหมอเลี้ยงลูกทั้งสองคนด้วยนมแม่มาตลอด แต่พบว่า ลูกสาวคนแรกมีน้ำหนักตัวน้อยอยู่ที่เส้นกราฟล่างสุด คือ ที่เส้น 3 เปอร์เซ็นต์ไทล์ ซึ่งในระยะแรกคุณหมอก็กังวลใจว่า คงเป็นเพราะนมแม่ไม่พอหรือเปล่า หรือควรต้องเสริมนมผง หรือให้อาหารเสริมเข้าไปช่วยให้น้ำหนักเพิ่มดี แต่หลังจากที่ลูกได้รับอาหารเสริมแล้ว น้ำหนักก็ยังคงอยู่ที่เส้น 3 เปอร์เซ็นต์ไทล์เหมือนเดิม ซึ่งต่างกับลูกคนที่สองซึ่งมีน้ำหนักที่ 50 เปอร์เซ็นต์ไทล์ คุณหมอจึงมีข้อสรุปว่า สาเหตุที่แท้จริงเกิดจากพันธุกรรมที่ลูกคนแรกมีรูปร่างผอมบางเหมือนคุณพ่อ และลูกคนที่สองมีรูปร่างสมส่วนเหมือนคุณหมอนั่นเอง ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ที่ตัวเล็กจึงไม่ต้องหวั่นใจ หากลูกเป็นเด็กตัวเล็ก ไม่อวบอ้วน จ้ำม่ำเหมือนเด็กคนอื่น ๆ แต่ขอให้ภูมิใจว่า สิ่งที่ลูกได้รับจากการกินนมแม่นั้น คือ อารมณ์แจ่มใส พัฒนาการดี และร่างกายที่แข็งแรง ซึ่งมีคุณค่าอเนกอนันต์ที่หาไม่ได้จากอาหารชนิดใดในโลก
-
การเลี้ยงลูกหลัง 6 เดือน
เมื่อลูกเข้าสู่เดือนที่ 6 คุณแม่จะต้องให้อาหารเสริมควบคู่ไปกับการกินนมแม่ เนื่องจากร่างกายลูกจะมีขนาดใหญ่ขึ้น เริ่มต้องการสารอาหารเพื่อการเจริญเติบโต ใช้พลังงานทำกิจกรรม และพัฒนาระบบสมอง การได้รับนมแม่เพียงอย่างเดียวจะไม่เพียงพอต่อกระบวนการดังกล่าวแล้ว จึงควรเสริมอาหารจำพวกธาตุเหล็ก โปรตีน และวิตามินต่าง ๆ ให้ครบถ้วน โดยเริ่มอาหารเสริม 1 มื้อ ตอนอายุ 6 เดือน 2 มื้อ ตอนอายุ 9 เดือน และ 3 มื้อ ตอนอายุ 12 เดือน พร้อมกับกินนมแม่เป็นอาหารเสริมระหว่างวัน 2-3 ครั้ง ไม่เน้นทานขนมหวาน ของจุกจิกมากจนทำให้ลูกไม่ยอมทานอาหารมื้อหลัก หากคุณแม่ดูแลได้เช่นนี้ จะทำให้ลูกเติบโต แข็งแรง มีน้ำหนักตัว และส่วนสูงตามเกณฑ์ที่กำหนดอย่างแน่นอน
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
-
สุขภาพและการเจ็บป่วยของลูก
เด็กที่คลอดก่อนกำหนด หรือมีปัญหาสุขภาพ เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ตัวเล็ก และมีน้ำหนักน้อยได้เช่นกัน โดยเฉพาะเด็กที่เป็นภูมิแพ้จนต้องเข้านอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลบ่อย ๆ เด็กที่มีภาวะติดเชื้อรุนแรง เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ซึ่งจะมีรูรั่วที่ผนังหัวใจ และหลอดเลือดเกินออกนอกหัวใจ ทำให้มีอาการเหนื่อยง่ายเวลาดูดนมแม่ จึงต้องหยุดดูดเป็นระยะเพื่อพักให้หายเหนื่อย ดูดนมได้น้อย และเพลียหลับไป ส่งผลให้ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ จึงตัวเล็ก และน้ำหนักน้อย
บทความแนะนำ แม่ให้นม “กินอาหารไม่ครบหมู่” มีผลให้ลูกน้ำหนักน้อยหรือไม่?
เช็คหน่อยว่า ลูกเราตัวเล็กไปหรือเปล่า คลิกหน้า 2
เช็คหน่อย ว่าลูกเราตัวเล็กไปหรือเปล่า
“ กินนมแม่ แล้วลูกตัวเล็ก น้ำหนักน้อย ” เสียงคนรอบข้างที่สร้างความหนักใจให้คุณแม่ จะไม่เป็นผลแต่อย่างใด เพราะกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนมแม่ได้อธิบายไว้ว่า ลักษณะภายนอกไม่ได้เป็นเครื่องชี้วัดชัดเจนว่า เด็กที่กินนมแม่ จะต้องตัวเล็กเสมอไป ขอให้ทุกครอบครัวยึดเกณฑ์การเจริญเติบโตตามทางการแพทย์ในสมุดวัคซีนเป็นหลัก เพื่อประเมินว่า ลูกน้อยเติบโตตามเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่
บทความแนะนำ สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก มีความสำคัญอย่างไร?
ในเรื่องน้ำหนัก โดยปกติแล้วทารกแรกเกิดส่วนใหญ่จะมีค่าเฉลี่ยน้ำหนักตัวอยู่ที่ 2.8-3.2 กิโลกรัม แต่หากทารกคนใดมีน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อยกว่า 2.5 กิโลกรัม ให้ถือว่าต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (low birth weight) แต่คุณแม่ไม่ต้องกังวลใจ เพราะยิ่งให้นมแม่มากเท่าไหร่ ร่างกายลูกก็จะยิ่งฟื้นฟูแข็งแรงมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งในช่วงขวบปีแรก หากลูกมีน้ำหนักตัวตามเกณฑ์ดังต่อไปนี้ ขอให้สบายใจว่า ลูกมีน้ำหนักตัวตามปกติ ไม่ขาดสารอาหารแต่อย่างใด
- อายุ 4 เดือน ต้องมีน้ำหนักตัวเป็น 2 เท่าของน้ำหนักแรกเกิด
- อายุ 1 ปี ต้องมีน้ำหนักตัว 3 เท่าของน้ำหนักแรกเกิด
- อายุ 2 ปี ต้องมีน้ำหนักตัวเป็น 4 เท่าของน้ำหนักแรกเกิด
ส่วนเรื่องความสูงนั้น พญ.ปวินทรา หะริณสุต สมนึก กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบต่อมไร้ท่อในเด็ก ศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้ให้หลักเกณฑ์พิจารณาตามอัตราการเจริญเติบโตปกติของเด็กวัยต่าง ๆ ไว้ ดังนี้
- เด็กแรกเกิด-1 ปี ควรมีอัตราความสูงเพิ่ม 25 ซม./ปี
- เด็กอายุ 1-2 ปี ควรมีอัตราความสูงเพิ่ม 12 ซม./ปี
- เด็กอายุ 2-4 ปี ควรมีอัตราความสูงเพิ่ม 7 ซม./ปี
คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรนำความสูงและน้ำหนักของลูกไปเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่น เพียงหมั่นพาลูกไปพบคุณหมอเพื่อตรวจการเจริญเติบโต และรับวัคซีนทุกครั้งตามนัดหมาย ก็จะทำให้ทราบถึงพัฒนาการการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและแก้ไขการเจริญเติบโตได้ทันหากพบปัญหาแล้วล่ะค่ะ
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่ได้เป็นสาเหตุให้ลูกตัวเล็ก หรือมีน้ำหนักน้อยแต่อย่างใด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดู โภชนาการที่เหมาะสม ความเจ็บป่วยของเด็ก และพันธุกรรมเป็นสำคัญ ขอให้คุณแม่ภูมิใจว่า นมแม่เป็นสิ่งมหัศจรรย์และเป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับลูก ที่ช่วยป้องกันโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ทั้งยังเสริมสร้างสติปัญญา พัฒนาการให้ลูกเป็นเด็กฉลาด และอารมณ์ดี ซึ่งเป็นรากฐานที่ดีของการเติบโตอย่างมีคุณภาพต่อไปในอนาคต
อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก!
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่