นมแม่ล้างสบู่ ก่อนให้ลูกดูดนม หรือหลังจากนั้นจะเป็นอะไรไหม … ร่วมไขข้อข้องใจพร้อมวิธีการ ดูแลเต้านม ให้ถูกต้องได้ที่นี่!
คุณแม่มือใหม่ที่กำลังให้นมลูกกันอยู่ หลาย ๆ ท่านอาจจะเคยเผลอใช้สบู่ล้างหัวนมของตัวเองไม่ว่าจะตอนอาบน้ำ ก่อนหรือหลังให้นมแม่กับลูกกันมาบ้างใช่ไหมคะ เช่นเดียวกับน้องสาวของผู้เขียนเลยละค่ะ ไปเผลอใช้น้ำยาบางชนิดล้างหัวนมจนหัวนมแห้งแตก … ตอนแรกผู้เขียนเองไม่ทราบมาก่อน แต่พอเขามาบ่น ๆ ถาม ๆ ให้ฟัง ถึงถามว่า อ้าว? แล้วเวลาทำความสะอาด ดูแลเต้านม ทำอย่างไร? พอรู้ความจริงเลยมาถึงกับบางอ้อว่า “ใช้น้ำยาเช็ดและล้างหัวนม” เพราะกลัวไม่สะอาดนั่นเอง
ผู้เขียนจึงได้แนะนำการ ดูแลเต้านม ที่ถูกต้องไปให้เลยเกิดความคิดว่า จะต้องมีคุณแม่บางท่านอีกเป็นแน่ ที่เคยใช้วิธีเดียวกันนี้แน่นอน จึงเป็นที่มาของบทความนี้นั่นเอง ว่าแต่จะมีวิธีการดูแลอย่างไร เราไปดูพร้อม ๆ กันเลยนะคะ
สำหรับวิธีการ ดูแลเต้านมของคุณแม่ท่ีให้นมลูกนั้น ก็มีหลากหลายวิธีเลยละค่ะ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ที่เราต้องการ ยกตัวอย่างเช่น เช็ดทำความสะอาดเฉย ๆ หรือหัวนมแตก เป็นต้น
ดูแลเต้านม อย่างไรถึงจะถูกต้อง?
การทำความสะอาดเต้านม
สำหรับการทำความสะอาดเต้านมนั้น สามารถทำได้โดยวิธีดังต่อไปนี้ค่ะ
- ก่อนอื่นเลย ให้คุณแม่ทำความสะอาดมือทั้งสองข้างให้สะอาดก่อน หลังจากนั้นใช้ผ้าที่สะอาดเช็ดหรือซับให้แห้ง
- หาสำลี หรือผ้าสะอาดจุ่มน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว หรือถ้าหาไม่ได้ จะใช้น้ำประปา หรือว่าน้ำขวดก็ได้นะคะ เสร็จแล้วให้บีบพอหมาด
- หลังจากนั้นเช็ดทำความสะอาดเต้านม โดยให้เช็ดบริเวณที่ปากของลูกน้อยสัมผัสทั้งหมด โดยเช็ดจากหัวนมลงไปจนถึงลานนม และทั่วทั้งเต้านม ไม่ว่าจะเป็นทางด้านหน้าหรือว่าด้านหลัง หรือด้านข้าง
- เวลาอาบน้ำ หรือระหว่างวัน ก่อนให้ลูกกินม หรือปั๊มนมทำสต็อกนั้น ควรล้างด้วยน้ำสะอาดนะคะ และถ้าหากอาบน้ำละก็ใช้สบู่ทำความสะอาดตามปกติก็พอค่ะ ไม่จำเป็นต้องหาน้ำยาล้างเฉพาะส่วน หรือ น้ำยาพิเศษใดๆ มาใช้เพิ่มเติม เพราะน้ำยานั้นอาจไปขจัดไขมันตามธรรมชาติที่ผลิตมาเพื่อหล่อลื่นหัวนม และลานนมออก จะทำให้ผิวบริเวณนั้นแห้ง และแตกง่ายได้
แล้วถ้าเกิดหัวนมแตกละ จะดูแลได้อย่างไร
หัวนมแตก สามารถดูแลได้โดยไม่ต้องเสียเงินเลยละค่ะ ก็อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า นมแม่คือหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ที่โลกสร้างให้แถมดีทั้งต่อตัวคุณแม่เองและตัวลูกน้อยอยู่แล้ว ดังนั้น หากพบว่าคุณแม่มีอาการหัวนมแตกละก็ ไม่ต้องไปเสียเงินซื้อยาราคาแพงกันเลยนะคะ เพราะวิธีแก้นั้นแสนง่าย แถมฟรีอีกด้วย นั่นคือ การใช้น้ำนมของตัวเองนี่ละค่ะเยียวยา วิธีการมีดังนี้ค่ะ
- เวลาที่ให้นมลูกเสร็จ ให้คุณแม่บีบใช้น้ำนมของตัวเองจะใส่แก้วเล็ก ๆ ไว้ก็ได้นะคะ
- เสร็จแล้วให้ทาละเลงลงบริเวณหัวนมของคุณแม่ค่ะ (แต่ต้องไม่ลืมล้างมือให้สะอาดก่อนทุกครั้งนะคะ)
- หลังจากนั้นปล่อยให้หัวนมแห้งเองค่ะ
น้ำนมจะช่วยป้องกันการแห้งแตกของผิวบริเวณหัวนมได้ แต่ถ้าหากพบว่า หัวนมเป็นแผลแตกมาก ๆ ละก็ควรงดให้ลูกดูดนมก่อนนะคะ แล้วไปพบคุณหมอเพื่อหาครีมมาทาค่ะ
หัวนมแตกให้นมลูกต่อจะเป็นอะไรไหม?
ในกรณีที่คุณแม่หัวนมแตกนั้น ไม่จำเป็นต้องหยุดให้นมลูกไปเลยนะคะ ให้หยุดเฉพาะข้างที่มีอาการเท่านั้นพอค่ะ แต่ถ้าหากแตกมากจนมีเลือดไหลละก็ อาจส่งผลให้น้ำนมของคุณแม่อาจมีเลือดเจือปนด้วย ทำให้ทารกกลืนนมที่มีเลือดเจือปน ส่งผลให้มีเลือดเจือปนในอุจจาระของเด็ก หรือในนมที่เด็กสำรอกออกมาได้ แต่ก็ไม่เป็นอันตรายต่อเด็ก แต่ถ้าหากคุณแม่มีอาการรุนแรงละก็ คุณแม่ก็อาจจะต้องใช้การปั้มนมเพื่อป้อนลูกน้อยแทนไปก่อนจนกว่าจะหาย และควรปรึกษาแพทย์หรือพยาบาลผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับมือกับปัญหาอื่น ๆ ที่อาจตามมาจะดีที่สุดค่ะ
ส่วนเสื้อชั้นในสำหรับให้นมแม่ก็สำคัญเช่นกันนะคะ บางท่านอาจจะเลือกแบบมีโครง คับไป ดันไป แบบนี้ก็อาจจะไม่ค่อยดีเท่าไร ซึ่งวิธีการเลือกที่ถูกต้องมีดังต่อไปนี้ค่ะ
- ให้เลือกเสื้อในที่ไม่มีโครง เนื่องจากเต้านมของคุณแม่ในช่วงให้นมลูกนั้นจะขยายและใหญ่ขึ้น การใส่แบบมีโครงนั้นจะทำให้รู้สึกอึดอัด และทำให้ระบบการไหลเวียนโลหิตนั้นไม่ค่อยดีเท่าที่ควรค่ะ
- เสื้อในที่จะใส่ ควรเลือกแบบที่สามารถหุ้มเต้านมของคุณแม่ไว้ได้ทั้งหมด เก็บเนื้อส่วนเกินด้านข้างไว้ได้
- ควรเลือกแบบมีตะขอเกี่ยวอย่างน้อย 3 แถว จะได้สามารถปรับให้เหมาะสมกับรอบตัวของคุณแม่ได้
- เลือกเนื้อผ้าที่นุ่ม จะได้ช่วยลดการเสียดสี เพื่อไม่ทำให้เกิดการระคายเคือง และทำให้คุณแม่รู้สึกสบายตัวได้ เป็นต้น
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ กับวิธีการดูแลเต้านมที่ทีมงาน Amarin Baby and Kids นำมาฝากในวันนี้ ไม่ยากเลยใช่ไหมละคะ เชื่อมั่นว่า คุณแม่ที่กำลังให้นมลูกหลาย ๆ คนจะได้สบายใจและหายข้อข้องใจ และสามารถดูแลเต้านมของตัวเองได้อย่างถูกต้องเสียที
เรียบเรียงเนื้อหาโดย กองบรรณาธิการ Amarin Baby and Kids
อ่านต่อบทความอื่นที่น่าสนใจ:
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่