คุณแม่มือใหม่ที่มีเต้านมเล็กอาจมีความกังวลว่า ขนาดของเต้านมจะส่งผลต่อปริมาณน้ำนม จนไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้นานตามที่ตั้งใจไว้ เรื่องนี้จะเป็นจริงหรือไม่ วันนี้เราจะมาไขข้อข้องใจให้กระจ่างกันค่ะว่า เต้านมเล็ก น้ำนมน้อย จริงหรือ?
เต้านมเล็ก น้ำนมน้อย จริงหรือ?
สร้างความเข้าใจ ‘กลไก’ การผลิตน้ำนม
น้ำนมจะถูกสร้างและผลิตมาจากเซลล์ที่บุอยู่ภายในกระเปาะเล็ก ๆ ของเนื้อเต้านม ซึ่งเซลล์เหล่านี้ได้รับการหล่อเลี้ยงจากเส้นเลือดบริเวณหน้าอก น้ำนมที่ผลิตได้ทีละเล็กละน้อยจะถูกเก็บสะสมไว้ภายใน ขณะที่คุณแม่ให้นมลูก น้ำนมที่เก็บไว้จะถูกขับออกมาจากกระเปาะผ่านไปตามท่อน้ำนมและไหลออกมาทางหัวนมให้ลูกได้ดื่ม1 ซึ่งน้ำนมจะผลิตอย่างต่อเนื่องก็เมื่อมีการนำออกจากร่างกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะด้วยการดูดของลูก การบีบด้วยมือ หรือการปั๊มด้วยเครื่อง โดยเฉพาะในสัปดาห์แรกหลังคลอด หากคุณแม่นำน้ำนมออกมามากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ประสบความสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น ที่สำคัญ ลูกจะได้รับน้ำนมเหลือง หรือ “คอลอสตรัม” ที่อุดมไปด้วยภูมิคุ้มกันโรคชั้นเยี่ยมที่หาไม่ได้จากอาหารชนิดใดนั่นเอง
เต้าเล็ก เต้าใหญ่ ก็ให้นมแม่ได้เหมือนกัน
ขนาดหน้าอกเล็กใหญ่ที่เราเห็นอยู่นั้น คือ ปริมาณไขมันในเต้านม แต่ส่วนที่สร้างน้ำนมจะเป็นต่อมและท่อน้ำนมซึ่งผู้หญิงทุกคนจะมีปริมาณเท่ากัน โดยแบ่งเป็นกลีบประมาณ 10-15 กลีบ ประกอบด้วยส่วนที่เป็นต่อมและท่อ มีหน้าที่ในการผลิตและลำเลียงน้ำนม และส่วนที่เป็นเนื้อเยื่อข้างเคียงที่มีไขมันเป็นส่วนประกอบหลัก มีลักษณะเป็นโครงช่วยประสานให้ส่วนของต่อมและท่อเกาะกลุ่มกันเป็นรูปทรง และทำให้ผู้หญิงแต่ละคนมีขนาดเต้านมเล็กใหญ่แตกต่างกันไป ดังนั้น คุณแม่ที่มีเต้านมเล็กจึงไม่ต้องกังวลใจว่าจะไม่สามารถผลิตน้ำนมให้ลูกได้ เพราะขนาดของเต้านมไม่ได้ส่งผลต่อปริมาณน้ำนมแต่อย่างใด ในทางกลับกันคุณแม่ที่มีเต้านมขนาดใหญ่จนเกินไป อาจกลายเป็นอุปสรรคทำให้ลูกดูดไม่ถนัดอีกด้วย2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
เต้านมกับความสามารถในการเก็บน้ำนม
ความสามารถในการเก็บน้ำนม คือ ปริมาณน้ำนมในแต่ละมื้อที่เต้านมสามารถเก็บไว้ได้ ซึ่งแม่แต่ละคนจะมีความสามารถนี้ไม่เท่ากัน ถึงแม้จะเป็นแม่คนเดียวกัน เต้านมแต่ละข้างก็เก็บน้ำนมได้ไม่เท่ากัน ความสามารถในการเก็บน้ำนมนี้ไม่ได้ถูกกำหนดด้วยขนาดของเต้า ไม่ว่าคุณแม่จะมีขนาดหน้าอกเท่าใด ก็สามารถผลิตน้ำนมให้ลูกน้อยได้อย่างมากมายอยู่เสมอ
คุณแม่ที่เก็บน้ำนมได้มากในแต่ละมื้ออาจช่วยให้ลูกมีระยะเวลาระหว่างมื้อนมนานกว่า ส่วนคุณแม่ที่เก็บน้ำนมได้น้อย อาจจะต้องให้นมถี่กว่า เพื่อตอบสนองความต้องการของลูก และสามารถคงปริมาณการผลิตน้ำนมไว้ได้ เนื่องจากเต้านมจะเต็มเร็ว เปรียบดั่งการดื่มน้ำในแก้วที่มีขนาดต่างกัน หากดื่มน้ำจากแก้วใหญ่ก็จะดื่มได้นานกว่า แต่ถ้าเป็นแก้วเล็กอาจต้องเติมน้ำบ่อยครั้งเสียหน่อย
อ่านต่อ>> ปริมาณน้ำนมขึ้นอยู่กับอะไร คลิกหน้า 2
ปริมาณน้ำนมขึ้นอยู่กับอะไร
ปริมาณน้ำนมมากหรือน้อยนั้น เกิดจากปัจจัยหลายประการ หากคุณแม่ทำความเข้าใจและปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง ก็จะสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้นานอย่างที่ตั้งใจไว้ ปัจจัยที่ว่าประกอบด้วย
- ฮอร์โมนโปรแลคติน
โปรแลคติน (Prolactin) เป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากต่อมใต้สมอง ช่วยกระตุ้นให้เซลล์ผลิตน้ำนม จะหลั่งออกมามากขณะตั้งครรภ์ และหลังจากที่ให้ลูกดูดนม ดังนั้น คุณแม่ต้องพยายามให้ลูกดูดนมตามเวลาที่กำหนดอย่างสม่ำเสมอ โดยให้เข้าเต้าทุก ๆ 2-3 ชม. เพื่อกระตุ้นการทำงานของฮอร์โมนโปรแลคติน ที่สำคัญ คุณแม่ต้องไม่เครียดจนเกินไปด้วย เพราะความเครียดเป็นตัวการสำคัญทำให้ฮอร์โมนนี้ทำงานได้ไม่ดีนั่นเอง
- การกระตุ้นด้วยการดูดของลูก
การดูดของลูกเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้คุณแม่มีปริมาณน้ำนมมากเท่าที่ต้องการ ยิ่งพยายามนำน้ำนมออกจากร่างกายเร็วและบ่อยมากเท่าไหร่ น้ำนมก็จะผลิตได้มากขึ้นเท่านั้น คุณแม่จึงควรให้ลูกดูดเต้าภายใน 1-2 ชม. หลังคลอด เพราะการให้ลูกได้ดูดเร็วจะช่วยให้ต่อมน้ำนมทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ พร้อมที่จะผลิตน้ำนมออกมาอย่างเต็มที่
- ดูดให้เกลี้ยงเต้า
นอกจากการดูดเร็วและบ่อยจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนมแล้ว การที่คุณแม่ให้ลูกดูดจนเกลี้ยงเต้าทั้ง 2 ข้าง หรือบีบด้วยมือหรือปั๊มด้วยเครื่องต่อหลังจากให้นมเสร็จก็จะช่วยให้น้ำนมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะกลไกของร่างกายจะสั่งการให้ต่อมน้ำนมผลิตน้ำนมมาเติมให้เต็มเต้าอยู่เสมอ จึงเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้คุณแม่มีน้ำนมเพียงพอในการเลี้ยงลูกน้อย
- ท่าเข้าเต้าที่ถูกต้อง
ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่คุณแม่มือใหม่หลายคนพบเจอ เพราะท่าให้นมที่ไม่ถูกต้อง จะทำให้น้ำนมผลิตได้น้อย เนื่องจากต่อมน้ำนมไม่ได้รับการกระตุ้นอย่างเต็มที่ ตัวลูกก็ได้รับนมน้อยหรือไม่ได้รับเลย จนเกิดอาการหิว ร้องไห้งอแง ทั้งตัวคุณแม่เองก็อาจเจ็บหัวนมหรือหัวนมแตกจากการดูดที่ผิดวิธีอีกด้วย ดังนั้น คุณแม่จึงควรศึกษาวิธีการเข้าเต้าที่ถูกต้อง หรือขอรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญในคลินิกนมแม่ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ เพื่อให้สามารถผลิตน้ำนมได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และลูกได้รับน้ำนมอย่างมีคุณภาพไปพร้อม ๆ กัน
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ>> เคล็ดลับพิชิต ผลิตน้ำนมดีเยี่ยม คลิกหน้า 3
เคล็ดลับพิชิต ผลิตน้ำนมดีเยี่ยม
จากการศึกษาวิจัยทางการแพทย์3 พบว่า อาหารที่คุณแม่รับประทานในแต่ละมื้อจะมีผลต่อการผลิตน้ำนมโดยตรง ดังนั้น คุณแม่จึงควรเลือกรับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่ และเพิ่มเมนูอาหารช่วยผลิตน้ำนมให้มากขึ้น เช่น แกงเลียง ยำหัวปลี ผัดใบกระเพรา ฟักทอง มะละกอ ซึ่งล้วนแต่เป็นอาหารหรือพืชผักที่หาซื้อง่าย และราคาถูก ทั้งนี้ อาจค่อย ๆ ทานทีละอย่าง หรือหลายอย่างพร้อมกันก็ได้ รวมถึงควรใส่ใจเรื่องการพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียดในการเลี้ยงลูก เพราะจะช่วยกระตุ้นให้น้ำนมผลิตได้ดี
น้ำนมแม่เปรียบเสมือนวัคซีนที่ดีที่สุดสำหรับลูก ที่จะทำให้ลูกน้อยเติบโตแข็งแรง มีพัฒนาการรอบด้านสมวัย ทั้งยังช่วยสานสัมพันธ์ความผูกพันระหว่างแม่และลูกให้แน่นแฟ้นอบอุ่น ขอให้คุณแม่ทุกคนมั่นใจว่า ขนาดของเต้าไม่ได้เป็นอุปสรรคในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แต่อย่างใด ไม่ว่าคุณจะมีขนาดเต้าเล็กหรือใหญ่ก็สามารถให้นมลูกได้นานตามที่ตั้งใจได้เช่นกัน
อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก!
ความจุในการเก็บน้ำนม ของเต้านมแม่มีเท่าไหร่?
เทคนิคเพิ่มน้ำนมแม่ ให้ลูกมีกินได้นานเป็นปี
แหล่งที่มาข้อมูล
1,3รศ.นพ.พฤหัส จันทร์ประภาพ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล.ใหญ่เล็ก…เกี่ยวหรือไม่กับปริมาณน้ำนม.
2พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ.ขนาดของเต้านมไม่มีผลกับปริมาณน้ำนม.
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่