AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ท่อน้ำนมอุดตัน เพราะกินของทอด ของมัน

จากคุณแม่ในกลุ่มเฟสบุ๊ค คุณแม่นักปั๊มทำทุกอย่างเพื่อลูก ที่โพสต์เตือนคุณแม่ท่านอื่นเรื่องการรับประทานอาหารจนมีผลทำให้น้ำนมจากของเหลวกลายเป็นก้อน โดยคุณแม่ปั๊มนมแล้วรู้สึกเจ็บที่เต้านม 2-3 วัน สาเหตุมาจากคุณแม่ชอบกินน้ำหวาน ขนม ของมัน ทำให้ ท่อน้ำนมอุดตัน

ท่อน้ำนมอุดตัน เพราะกินของทอด ของมัน

สาเหตุน้ำนมเป็นก้อน

น้ำนมเป็นก้อน คือ อาการน้ำนมอุดตัน ไหลออกมาไม่สะดวก น้ำนมมากจนเกินไป ไม่ได้ระบายออกมาตามเวลา ปล่อยให้เต้านมคัดเป็นเวลานาน เพราะดื่มน้ำไม่เพียงพอ ใส่เสื้อชั้นในคับแน่นทำให้น้ำนมไหลเวียนไม่สะดวก หรือบริโภคไขมันมากจนเกินไป เช่น เนย ชีส ของทอด ของมัน ทำให้มีก้อนน้ำนม หรือก้อนเนื้อน้ำนมออกมา และอุดตันเต้านม และทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บมากบริเวณเต้านม

1.น้ำนมที่ผลิตออกมาแล้ว ไม่ได้นำออกมาจนหมด ค้างอยู่ในเต้านมจนจับตัวเป็นก้อน บางครั้งทำให้คุณแม่เป็นกังวลว่าจะเป็นเนื้องอกหรือไม่ คุณแม่ไม่ต้องกังวลเพราะก้อนน้ำนมนี้สามารถสลายไปได้

2.ลูกน้อยดูดนมไม่เก่ง โดยเฉพาะเด็กแรกเกิด ตัวเล็ก เกิดก่อนกำหนด แรงดูดน้อย ไม่สามารถเคลียร์เต้าได้ หรือดูดนมผิดท่า ลูกดูดนมแล้วหลับ ลูกติดจุกขวดนมเพราะไม่ต้องออกแรง เมื่อมาดูดนมแม่แล้วไม่ค่อยดูด

3.น้ำนมคุณแม่มากจนเกินไป เกิดจากการปั๊มกระตุ้น พยายามเพิ่มน้ำนมด้วยเครื่องปั๊มหรือใช้ยามากจนเกินไป แล้วเอาน้ำนมออกไม่สำเร็จ ไม่เกลี้ยงเต้า หรือลูกดูดน้ำนมแล้วยังมีน้ำนมค้างอยู่ในเต้านม

4.ไม่ได้ให้ลูกน้อยดูดนม หรือไม่ได้ปั๊มนมออกตามรอบของน้ำนม เพราะโดยปกติร่างกายของคุณแม่จะจำว่าต้องนำน้ำนมออกมาทุกๆ กี่ชั่วโมง เมื่อถึงเวลาผลิตน้ำนมออกมาใหม่ แต่คุณแม่ไม่ได้ปั๊มน้ำนมออก

5.การรับประทานอาหาร ของทอด ของมัน เช่น ขนมเค้ก ข้าวขาหมู กล้วยแขก ดื่มน้ำเย็น ของเย็นๆ จะทำให้น้ำนมข้น และแข็งได้ง่าย

6.ปั๊มน้ำนมผิดวิธี สำหรับคุณแม่นักปั๊ม ถ้าปั๊มผิดวิธีไม่ว่าจะทำอย่างไรน้ำนมก็ไม่ออกมา เมื่อน้ำนมไม่ออกมา น้ำนมก็จะค้างอยู่ในเต้านม

อ่านต่อ “วิธีการแก้ไขน้ำนมเป็นก้อน” คลิกหน้า 2

วิธีการแก้ไขน้ำนมเป็นก้อน

1.ประคบเต้านมด้วยผ้าอุ่นจัดประมาณ 3 – 5 นาที ก่อนให้นมลูก

2.ให้ลูกดูดนมจากเต้าที่มีปัญหา เพื่อระบายน้ำนมออกจากท่อน้ำนมมากขึ้น

3.จัดท่าให้ลูกดูดนมให้ถูกต้อง โดยจัดท่าลูกให้คางลูกชี้ไปบริเวณที่เป็นก้อน เพื่อให้ลิ้นของลูกรีดน้ำนมออก

4.นวดเต้านมเบาๆ ขณะลูกกำลังดูดนม นวดเหนือบริเวณที่อุดตัน ไล่ลงไปถึงหัวนม เพื่อดันก้อนที่อุดตัน

5.จัดให้ลูกดูดนมในท่าต่างๆ กันในแต่ละมื้อ เพื่อระบายน้ำนมจากส่วนต่างๆ ของเต้านมได้ดีมากขึ้น

6.ให้ลูกดูดนมบ่อยๆ ทุกๆ 2 ชั่วโมง โดยเฉพาะเวลาลูกหิวจัดจะดูดแรงนานอย่างน้อยข้างละ 15 – 20 นาที

7.หลังจากให้ลูกดูดนมเสร็จแล้ว ให้บีบนมออกมาเพื่อระบายน้ำนมเพิ่ม จะช่วยให้หายเร็วขึ้น

8.ตรวจสอบยกทรงว่ารัดเกินไปหรือไม่ เลือกชุดชั้นในที่ใส่ได้พอดี และไม่กดทับเต้านม

อ่านต่อ “คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ” คลิกหน้า 3

คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ

พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ  กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด ได้ให้คำแนะนำไว้ ดังนี้

1.อย่าหยุดให้นมข้างที่เป็น เพราะกลัวว่าลูกจะกินไม่ได้ ความจริงคือ ต้องให้ลูกดูดเป็นข้างแรกเสมอ ดูดให้บ่อยขึ้น ปั๊มให้บ่อยขึ้น นมที่ปั๊มอย่าทิ้ง เก็บได้ตามปกติ ให้คางลูกอยู่ตรงตำแหน่งที่เป็นก้อน อาจต้องตีลังกาดูด ถ้าก้อนอยู่ด้านบน ให้พ่อแปรงฟันให้สะอาด ลองช่วยดูดดู

2.การประคบอุ่นหรือร้อน ด้านนอก อาจไม่ช่วยอะไรมาก เพราะเป็น superficial heat แต่ไม่เสียหายที่จะลองทำดู วิธีที่ได้ผลคือ deep heat โดยการทำอัลตราซาวด์

3.ต้องใช้ยาแก้อักเสบร่วมด้วย ถ้าเป็นนานเกิน 24 ชั่วโมงแล้ว ไม่เช่นนั้น อาจพัฒนาจนกลายเป็นฝีได้ ยาแก้อักเสบที่ใช้ ไม่มีปัญหากับการให้นม เช่น dicloxacillin ถ้าแพ้เพนนิซิลลิน ให้ใช้ clindamycin

4.ถ้ามี white dot ที่หัวนม ถ้าให้ลูกดูดขณะหิวจัดแล้วไม่หลุด ให้ใช้เข็มสะอาดอันใหญ่ๆจิ้มให้หลุด (เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ควรปรึกษาคลินิกนมแม่ถึงวิธีที่ถูกต้องและปลอดเชื้อ)

5.ถ้าเป็นฝีแล้ว ห้ามให้หมอกรีดแผลเด็ดขาด ขอลองให้ใช้เข็มเบอร์ใหญ่ พยายามดูดออกให้หมด อาจดูดซ้ำหลายๆ ครั้ง และยาแก้อักเสบให้เปลี่ยนเป็นชนิดฉีดเข้ากล้ามหรือเข้าเส้นเลือดก็ได้ และห้ามหยุดให้นมลูกเด็ดขาด เมื่อคุณไม่มีแผลที่เต้า คุณก็ไม่เจ็บเวลาดูด ถ้ากรีดเป็นแผลแล้ว จะลงเอยด้วยการที่น้ำนมจะรั่วออกทางแผลตลอดเวลา ทำให้แผลไม่ปิด แล้วในที่สุด ต้องใช้ยาหยุดน้ำนม ที่ชื่อ parlodel

ถ้าคุณแม่แก้ไขปัญหาน้ำนมเป็นก้อนด้วยตัวเองแล้วไม่ได้ผล แนะนำให้คุณแม่รีบไปปรึกษากับคุณหมอเพื่อหาทางแก้ไขด้วยวิธีการที่ปลอดภัย เพื่อที่จะได้ไม่กระทบถึงการให้น้ำนมลูกน้อยค่ะ

เครดิต: พญ.นฤมล  เปรมปราโมทย์, พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ  กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด