AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ความจุในการเก็บน้ำนม ของเต้านมแม่มีเท่าไหร่?

มาทำความรู้จักเต้านมของคุณแม่กันสักหน่อย เพื่อให้คุณแม่ได้ใช้ในการให้นมลูกน้อยอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเริ่มจากช่วงตั้งท้อง เต้านมจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง คุณแม่หลายคนอาจเกิดคำถามว่า ความจุในการเก็บน้ำนม ของคุณแม่มีประมาณเท่าไหร่? ไปอ่านคำตอบกันเลยค่ะ

พัฒนาการของเต้านม

1.หลังจากปฏิสนธิประมาณ 4 สัปดาห์ เต้านม และท่อน้ำนมจะถูกพัฒนาขึ้นมา

2.เมื่อถึงวัยแรกเกิด – 2 ขวบแรก จะยังมีฮอร์โมนจากคุณแม่ผ่านทางสายสะดือ ทำให้คัดเต้านมคัด บางครั้งอาจมีน้ำนมไหลออกมา เต้านมจะพัฒนาอย่างรวดเร็วเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น

3.เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นเต้านมจะขยายขนาด และสะสมไขมันใต้ผิวหนังมากขึ้น ขนาดของเต้านมบอกถึงความจุในการเก็บน้ำนม

4.เมื่อตั้งท้อง ฮอร์โมนจะมีการเปลี่ยนแปลง คุณแม่จะสังเกตได้เมื่อตั้งท้องได้ 3 เดือน ขนาดของหัวนม และลานนมขยาย และสีเข้มขึ้น เต้านมตึง ขยายขนาด ซึ่งมีการขยายของต่อมผลิตน้ำนมข้างใน มีความรู้สึกไวต่อการสัมผัส ลานนมจะมีต่อมน้ำมันเป็นตุ่มๆ เหมือนสิว เพื่อขับน้ำมันสร้างความชุ่มชื้น ช่วยให้ลานนมนุ่ม เพื่อให้ลูกน้อยดูดได้ และประมาณเดือนที่ 4 – 6 จะเริ่มมีการผลิตน้ำนม

5.เมื่อหลังคลอด อาการคัดตึงเต้าจะไม่มีให้เห็น ถ้าน้ำนมถูกระบายออกไปอย่างพอเพียง แสดงว่าลูกน้อยได้รับน้ำนมอย่างเพียงพอ ควรให้ลูกดูดนมบ่อยๆ หลังจาก 3 เดือน คุณแม่จะรู้สึกว่าน้ำนมน้อยลง การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นเรื่องปกติ

การดูแลเต้านมหลังคลอด

1.อาบน้ำทำความสะอาดตามปกติ ซับให้แห้ง หลีกเลี่ยงครีมทาหัวนม เพราะจะอุดตันต่อมน้ำมันที่ลานนม

2.หลีกเลี่ยงการขัด ถูที่หัวนม กำจัดไขมันบนหัวนม เพราะอาจทำให้เกิดแผล สวมยกทรงที่พอดี

3.ถ้ามีน้ำนมหยดไหล ให้ใช้แผ่นซับน้ำนมที่มีทั้งแบบผ้า ทำความสะอาดง่ายและประหยัดสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ และแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งที่สะดวกพกพาง่าย มีให้เลือกหลากหลายในท้องตลาด

อ่านต่อ “ความจุของเต้านมแม่” คลิกหน้า 2

ความจุของเต้านมแม่

ความจุของปริมาณน้ำนมในเต้านมของแม่ อาจมีความเปลี่ยนแปลงได้ระหว่างลูกแต่ละคน โดยปกติเต้านมจะผลิตน้ำนมอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา น้ำนมจะสะสมในเต้านมจนเต็มความจุ เมื่อน้ำนมเต็ม คุณแม่จะรู้สึกคัดตึงเต้านม การผลิตจะช้าลงหรือหยุดการผลิต เต้านมของแต่ละคนไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับพื้นที่ว่างในต่อมผลิตน้ำนม

ความจุของนมแม่มีความสัมพันธ์กับความถี่ที่ลูกดูดนม ถ้าลูกดูดนมมากน้ำนมก็จะผลิตออกมาในปริมาณมาก และยังสัมพันธ์กับการนอนหลับ การรับประทานอาหารของคุณแม่ด้วย ขนาดของเต้านมแบ่งเป็น 3 ขนาด ได้แก่

1.คุณแม่เต้านมความจุน้อย ต้องดูดทั้ง 2 เต้าถึงจะอิ่ม ดูดวันละมากกว่า 10 ครั้ง ตื่นมาดูดตอนกลางคืนเสมอ ไม่สามารถปั๊มนมเก็บไว้ได้

2.คุณแม่เต้านมความจุปานกลาง บางครั้งดูดข้างเดียว บางครั้งดูดทั้ง 2 ข้าง ดูดวันละ 7-8 มื้อ ตื่นมาดูดนมตอนกลางคืนบ้าง ปั๊มนมได้ข้างละ 4 ออนซ์ หรือหลังลูกดูดปั๊มได้ข้างละ 2 ออนซ์

3.คุณแม่เต้านมความจุมาก ดูดนมข้างเดียวจนอิ่ม ดูดนมวันละ 5-6 ครั้ง กลางคืนจะนอนหลับยาว ปั๊มนมทั้ง 2 ข้างได้มากกว่า 4 ออนซ์

อ่านต่อ “น้ำนมแม่พอสำหรับลูกจริงหรือไม่?” คลิกหน้า 3

น้ำนมแม่พอสำหรับลูกจริงหรือไม่?

ช่วง 2-3 วัน หลังคลอด ลูกน้อยไม่ได้ต้องการนมมากมาย ในวันแรกลูกน้อยต้องการนมแม่ประมาณ 1.5-7 ซีซีต่อมื้อเท่านั้น ซึ่งพอดีกับความจุของกระเพาะลูกน้อย คือ 5-7 ซีซี ขนาดประมาณลูกแก้ว ถ้าทารกได้รับน้ำนมเกิน 7 ซีซีจะอาเจียนออกมา เพราะกระเพาะอาหารของลูกรับน้ำนมไม่ได้มาก น้ำนมแม่ช่วงวันแรกก็ผลิตได้ไม่มากเช่นกัน ลูกจะได้รับปริมาณน้ำนมที่เหมาะสม คือดูดน้อยๆ แต่บ่อยๆ ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันเต็มเปี่ยม

ปริมาณน้ำนมแม่จะผลิตมากขึ้นตามการดูดของลูก กระเพาะอาหารของลูกจะปรับขนาดใหญ่ขึ้นในวันที่ 3 มีความจุประมาณ 22-27 ซีซี หรือ 1 ออนซ์ ขนาดประมาณลูกปิงปอง

กระเพาะของลูกน้อยจะโตขึ้นเรื่อยๆ เพื่อปรับการรับน้ำนมที่ผลิตมากขึ้น ในวันที่ 10 ประมาณ 57-65 ซีซีต่อมื้อ เทียบเท่าไข่ไก่ 1 ฟอง

เครดิตภาพ: http://www.ardothai.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539535132&Ntype=1

จะรู้ได้อย่างไรว่ารับนมแม่เพียงพอ?

1.สังเกตอุจจาระลูกใน 1-2 วันแรก ลูกจะอุจจาระเหนียวสีเขียวเข้มถึงดำ เรียกว่าขี้เทา หลังจากวันที่ 3-4 สีอุจจาระจะค่อยๆ จางลงเป็นเขียวปนเหลือง และขับถ่าย 3-4 ครั้งต่อวัน

2.สังเกตที่ปัสสาวะ ปัสสาวะจะมีสีเหลืองอ่อนใสใน 5 วันแรก ควรถ่ายปัสสาวะวันละ 3-5 ครั้ง หลังจากนั้นอย่างน้อยวันละ 6 ครั้ง

3.หลังจากดูดนมอิ่ม จะปล่อยหัวนมออกมาเอง นอนหลับได้ ไม่งอแง เมื่อหิวก็ตื่นขึ้นมาดูดนม ช่วง 1 เดือนแรก ลูกจะตื่นขึ้นมาดูดนมแม่บ่อยๆ บางคนดูด 1-2 ชั่วโมง เป็นเรื่องปกติในการกระตุ้นการผลิตน้ำนม

4.ก่อนให้นมจะรู้สึกว่าเต้านมหนัก ตึง หลังดูดเสร็จเต้านมจะนิ่ม และรู้สึกน้ำหนักเบาลง

สัญญาณที่บอกว่าลูกหิว

เมื่อลูกหิว มือจะกำแน่น งอแขนขึ้นมา เอากำปั้นมาแตะที่ปาก ต่อมาเอากำปั้นเข้าปาก อม และเริ่มดูดมือตัวเอง เมื่อนำลูกเข้าเต้า ลูกจะไซ้หาเต้า อ้าปากงับนม และดูดนมจนเกลี้ยง แล้วปล่อยปากออกมา แต่ถ้าคุณแม่มือใหม่ยังไม่ทราบว่าลูกหิว ลูกจะอ้าปากแลบลิ้นออกมา กระวนกระวาย จนร้อนไห้ ถ้านำลูกมาดูดนมขณะร้องไห้ อาจทำให้เข้าเต้าไม่ถนัด จึงทำให้รับน้ำนมไม่เต็มที่ การสังเกตอาการเมื่อลูกหิวจะได้รับน้ำนมมากกว่า

เครดิต: www.birthababy.com, http://siripatana.myreadyweb.com, www.breastfeedingthai.com, www.feelmom.com

อ่านเพิ่มเติมคลิก!!

ลูกดูดนมแม่ไม่ได้ ปัญหาใหญ่ของทารกป่วย/คลอดก่อนกำหนด

ท่าให้นมลูกที่ถูกต้อง ป้องกันความเสี่ยงลูกน้อยเสียชีวิต

นมแม่เหม็นหืน ทำอย่างไรดี และมีวิธีเก็บรักษาอย่างไรบ้าง?

Save

Save

Save