เลือดปนในน้ำนมแม่ การมีเลือดปนในน้ำนมแม่อาจดูน่ากังวลเมื่อเห็นครั้งแรก แต่นี่เป็นเรื่องปกติโดยเฉพาะสำหรับคุณแม่มือใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นการบ่งชี้ถึงโรคร้ายอะไร ทีมงาน Amarin Baby & Kids ได้ไขข้องสงสัยที่ว่าทำไมน้ำนมแม่จึงมีเลือดปน มาให้ได้ทราบกันค่ะ
เลือดปนในน้ำนมแม่ อันตรายหรือไม่ ?
อันที่จริง เรามักมองไม่เห็นเลือดโดยตรง แต่จะสังเกตผ่านน้ำนมที่ปั๊มออกมา รวมถึงนมเจือสีเลือดที่ลูกบ้วนออกมา หรือปนอยู่ในอุจจาระของลูก ทั้งนี้ ไม่ต้องตื่นตกใจ เรามีข้อมูลว่าเลือดปนในน้ำนมแม่มีสาเหตุมาจากอะไรและคุณแม่ควรปฏิบัติตัวอย่างไร
จากหนังสือ The Womanly Art of Breastfeeding โดยสมาคมนมแม่ในสหรัฐฯ La Leche League International (LLLI) ยืนยันว่าโดยปกติแล้วน้ำนมแม่ที่มีเลือดปนอยู่นั้นปลอดภัย!
สมาคมเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แห่งออสเตรเลีย ระบุว่า น้ำนมแม่มีหลายสีและจะเปลี่ยนสีตลอดเวลา ขณะที่หัวน้ำนมหรือน้ำนมแรกคลอดมักมีสีเหลืองใส น้ำนมที่สมบูรณ์เต็มที่จะเปลี่ยนเป็นสีขาวปนฟ้าจาง หากมีเลือดปนจะทำให้น้ำนมแม่มีสีแตกต่างกันไปตั้งแต่สีแดง สีชมพู สีน้ำตาลกาแฟหรือสีช็อคโกแลต สีส้ม หรือสีเขียวมะกอก ซึ่งมักไม่เป็นอันตรายต่อทารกและไม่จำเป็นต้องหยุดให้นม
- ลูกน้อยอาจบ้วนน้ำนมเจือสีเลือดออกมา หรือปรากฏให้เห็นในอุจจาระของลูก
- บางครั้งลูกอาจอาเจียนเป็นสีเลือด หรือมีอุจจาระสีคล้ำ เพราะดูดนมที่มีเลือดปนอยู่มากจนจับตัวเป็นก้อนใหญ่ในกระเพาะอาหาร กรณีนี้ไม่ต้องกังวล แต่ควรไปปรึกษาแพทย์
- คุณแม่ต้องไม่มีโรคอื่นๆ ที่สามารถส่งต่อไปยังลูกน้อยผ่านการให้นมแม่ เช่น เชื้อเอชไอวีหรือโรคเอดส์ โรคตับอักเสบ หรือการติดเชื้อทั่วไป เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือด หากมี ควรหยุดให้นมและรีบไปพบแพทย์
สีของน้ำนมแม่ที่เปลี่ยนไปไม่ได้เกิดจากมีเลือดปนอย่างเดียว การบริโภคอาหารบางจำพวกก็ส่งผลต่อสีของน้ำนมแม่ได้เช่นกัน!
อ่านต่อ >> “เลือดปนในน้ำนมแม่ มีสาเหตุจากอะไร?” หน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
เลือดปนในน้ำนมแม่ สาเหตุจากอะไร ?
เลือดอาจปนในน้ำนมแม่ได้จากหลายสาเหตุ ส่วนใหญ่มักไม่มีอะไรน่ากังวลและจะหายไปได้เองภายในหนึ่งเดือน เว้นเสียแต่หัวนมยังคงเป็นแผลอยู่ ทั้งนี้ หากเกินหนึ่งเดือน คุณแม่ควรไปปรึกษาแพทย์ สาเหตุของเลือดปนในน้ำนมแม่มีดังต่อไปนี้
1. หัวนมแตก
- หัวนมแตกหรือเป็นแผล ทำให้มีเลือดปนออกมาในน้ำนม
- เป็นอาการปกติสำหรับคุณแม่ช่วง 2-3 สัปดาห์แรกหลังคลอด เมื่อลูกน้อยยังไม่รู้จังหวะเข้าเต้า หรือคุณแม่ยังจัดท่าให้นมไม่ถูกต้อง
- กรณีที่หัวนมถลอกหรือเป็นแผลเปิด เช่น มีรอยแตกหรือตุ่มขาวอุดตันหัวนม ทำให้มีเนื้อเยื่อฉีกขาด จะยังเห็นมีเลือดออกแม้หลังจากปั๊มนมแล้ว
- ถ้าปัญหาเกิดจากการเข้าเต้า คุณแม่ควรขอคำแนะนำจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านนมแม่
2. ภาวะท่อสนิม (Rusty Pipe Syndrome)
- ภาวะท่อสนิมหรือการคั่งคัดของหลอดเลือดในท่อน้ำนมเป็นสาเหตุที่พบทั่วไปของเลือดปนในน้ำนมแม่ โดยเฉพาะช่วง 2-3 วันแรกหลังคลอด
- ภาวะนี้ถูกตั้งชื่อตามสีของน้ำนมที่เหมือนสีสนิม
- การคั่งคัดนี้เกิดขึ้นเมื่อมีเลือดหรือของเหลวประเภทอื่นๆ จำนวนมากไหลเวียนมาหล่อเลี้ยงและสะสมในเต้านม
- แรงดันจากการไหลเวียนของเลือดจะทำให้ท่อน้ำนมขยาย และช่วยพัฒนาเซลล์ผลิตน้ำนมที่อยู่ภายในเต้านม
- เลือดบางส่วนยังคงหลงเหลือค้างอยู่ในท่อน้ำนม แต่จะถูกขับออกมาพร้อมกับนมแม่ โดยทั่วไปแล้วคุณแม่มักไม่มีอาการเจ็บปวด และภาวะนี้อาจเกิดที่เต้านมข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง
- ส่วนใหญ่แล้ว ร่องรอยของเลือดจะหายไปเองโดยไม่ต้องรักษา แต่ถ้ามีเลือดปนในน้ำนมแม่นานเกินหนึ่งสัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์ทันที
3. เนื้องอกชนิดไม่ร้ายในท่อน้ำนม (Intraductal Papilloma)
- แม้จะพบไม่บ่อย แต่ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งของเลือดปนในน้ำนมแม่
- เป็นก้อนเนื้อขนาดเล็กคล้ายหูดที่งอกขึ้นในท่อน้ำนม
- มักทำให้มีเลือดออกและปะปนออกมากับน้ำนมแม่ ซึ่งจะค่อย ๆ ลดหายไปเองโดยไม่ต้องรักษา
- คุณแม่อาจรู้สึกเจ็บเป็นครั้งคราว แต่จะไม่ปรากฏเป็นก้อนเนื้อบวมออกมา
- อีกสาเหตุหนึ่งซึ่งพบน้อยมาก คือ ซีสต์เต้านมหรือก้อนเนื้อชนิดไฟโบรซีสติค เป็นภาวะก้อนเนื้อชนิดไม่ร้าย สามารถคลำเจอได้บนเต้านม
4. หลอดเลือดฝอยฉีกขาด
- การบาดเจ็บหรือมีแผลที่หลอดเลือดฝอยในเต้านม ทั้งจากการปั๊มนมผิดวิธี หรือเกิดการบาดเจ็บรุนแรงที่เต้านมจนมีเลือดออกในท่อน้ำนมและปนออกมากับน้ำนมแม่
- บางครั้งการปั๊มนมที่ใช้แรงดันมากเกินไปก็อาจทำให้หัวนมเกิดการบาดเจ็บ
5. เต้านมอักเสบ
- เป็นอาการอักเสบของเต้านมที่ทำให้มีเลือดออก หากมีก้อนบวมนิ่มหลายก้อนอาจบ่งชี้ถึงอาการเต้านมอักเสบระยะแรกเริ่ม
- คุณแม่ที่เป็นเต้านมอักเสบจะสังเกตว่าบริเวณที่อักเสบมีลักษณะบวมแดงและเจ็บ รวมทั้งมีไข้อ่อน ๆ ควรไปพบแพทย์ทันที
6. มะเร็งเต้านม
- เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีเลือดปนในน้ำนมแม่ แต่พบได้น้อยมาก
- มะเร็งเต้านมบางประเภท เช่น มะเร็งท่อน้ำนมและมะเร็งหัวนม อาจเป็นสาเหตุทำให้หัวนมมีเลือดไหล จึงควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิฉัยและหาแนวทางการรักษาต่อไป
หมายเหตุ: ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตัดโรคร้ายใดๆ ออกไป
อ่านต่อ >> “น้ำนมแม่มีเลือดปนควรทำอย่างไร?” หน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ควรทำอย่างไรเมื่อพบว่าน้ำนมแม่มีเลือดปน
เนื่องจากอาการส่วนใหญ่ข้างต้นสามารถหายไปได้เอง จึงไม่ต้องใช้การรักษา ขอเพียงคุณแม่อย่าตื่นตระหนกและเชื่อในสัญชาตญาณของตัวเอง
- ถ้าเลือดที่พบมีน้อย คุณแม่สามารถให้นมลูกหรือปั๊มนมต่อไป
- ถ้าลูกน้อยไม่อาเจียนและดูดนมได้ดี คุณแม่สามารถให้ลูกดื่มนมที่มีเลือดปนนี้ได้
- ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านนมแม่เพื่อขอคำแนะนำเรื่องการเข้าเต้าและปรับท่าการให้นมที่ถูกต้อง
- ระวังการติดเชื้อต่างๆ เช่น มีไข้ บวม เจ็บ และแดง เป็นต้น
- การติดเชื้อบางประเภท เช่น เต้านมอักเสบ จำเป็นต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้ท่อน้ำนมอุดตันชั่วคราวและไม่สามารถให้นมลูกได้
- ทาครีมลาโนลิน (น้ำมันขนแกะ) เพื่อบรรเทาอาการแห้งแตกของหัวนม
- หากมีอาการเจ็บปวดขณะให้นม ควรพักเต้า โดยอาจใช้แผ่นประคบเต้าแบบเจลหรือทาครีมใด ๆ ที่ปลอดภัย ทั้งนี้ ควรเตรียมน้ำนมแม่ให้เพียงพอ ด้วยการปั๊มนมสำรองไว้ (8-10 ครั้งต่อวัน) และศึกษาวิธีให้นมแก่ลูกน้อยด้วยวิธีอื่น ๆ ร่วมด้วย
- หากหาสาเหตุของการเลือดออกไม่ได้และภาวะนี้ไม่หายไปภายใน 1 สัปดาห์ ควรรีบไปพบแพทย์
- การบีบนมออกด้วยมือ ควรทำด้วยความนุ่มนวล
- ตรวจสอบให้แน่ใจว่าปั๊มนมที่ใช้มีระดับแรงดันและแรงดูดที่เหมาะสม
เห็นได้ชัดว่า เลือดปนในน้ำนมแม่ไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายแก่ลูก ดังนั้นการให้นมก็ยังคงทำต่อไปได้ แต่เพื่อให้มั่นใจยิ่งขึ้น คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง รวมถึงข้อควรปฏิบัติที่เหมาะสมต่อไป …ด้วยความห่วงใยค่ะ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก!
สีน้ำนมแม่ น้ำนมส่วนหน้า น้ำนมส่วนหลัง มีประโยชน์อย่างไร
นมแม่ เปลี่ยนรสชาติได้ จริงหรือ?
กู้น้ำนมแม่ กู้โลก!!!
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิง
momjunction